บทเรียนของ NGO ในพื้นที่ความขัดแย้ง โดย กลุ่มด้วยใจ

Share

องค์กร NGO เป็นองค์กรที่มีความหลากหลายสูง หนึ่งในเป้าหมายร่วมกัน คือ จะไม่เน้นเป้าหมายระยะสั้น และพวกเขามักจะอุทิศตัวต่อการแก้ไขปัญหาระยะยาวเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างการถือครองที่ดิน การจัดการทรัพยากร การป้องกันโรคมาลาเรีย เป็นต้น

หรือเป็นองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในหลายๆ ด้านเช่น สิทธิเด็ก สิทธิสตรี สิทธิของผู้พิการ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการทำงานเพื่อส่งเสริมสันติภาพ และยุติภาวะสงคราม นอกจากนี้ จากการสำรวจพบว่า เอ็นจีโอมักจะได้รับความไว้วางใจของประชาชน ทำให้ NGO นำเสนอข้อเท็จจริงแทนหรือเป็นตัวแทนของสังคมได้

และเป็นประโยชน์ต่อการเข้าใจสถานการณ์การละเมิดสิทธิ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับต่างๆ ได้อย่างดีในฐานะที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชน โดยบทบาทขององค์กรพัฒนาเอกชนอาจแบ่งได้เป็นกลุ่มดังนี้ (1) การพัฒนาสังคม การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน (2), (3) ความยั่งยืน ที่สามารถพัฒนาได้ และ (4) การบริโภคที่ยั่งยืน

โดยเฉพาะในพื้นที่ขัดแย้ง NGO มีบทบาทที่ดีมากในการเข้าถึงประชาชน และนำเสนอสภาพปัญหาตลอดจนแนวทางการแก้ไขให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่เมื่ออ่านข้อความของ คุณ โซรยา จามจุรี เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมชายแดนใต้ แสดงความกังวลเรื่องเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ในโครงการ “พาสู่อ้อมกอด รอมฎอนการีม” ณ ค่ายกัลยาณิวัฒนา เมือง นราธิวาส ในทำนองว่า

ประชาสังคมผู้หญิง ที่ถูกตีตราเป็นปาร์ตี้บีในเวทีพูดคุยและในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐวันนี้ ไม่เพียงแต่รอมละห์ (รอมือละห์ แซแยะ) ที่ถูกจัดอยู่ในปาร์ตี้บี (กลุ่มเห็นต่างจากรัฐ/จูแว) ก๊ะแยนะ (แยนะ สะแลแม) ตากใบ ก็ถูกจัดอยู่ในปาร์ตี้บี ด้วยงานนี้ แทนที่จะถูกจัดที่นั่งให้อยู่กับบรรดาประชาสังคมคนอื่นๆ ซึ่งมีที่นั่งเฉพาะ กลับถูกจัดให้ไปอยู่ที่นั่งของกลุ่มปาร์ตี้บี และแถมถูกประกาศในงานให้เป็นผู้แทนปาร์ตี้บี ในการนำเสนอปัญหา ความต้องการของปาร์ตี้บีอีกด้วย

ข้าพเจ้าก็ได้โทรศัพท์ไปคุยกับนางแยนะ สะละแม (ก๊ะแยนะ) ด้วยตนเองเพื่อสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งก๊ะแยนะ ก็ได้เล่าให้ฟังว่า วันนั้นเธอได้รับเชิญไปในงานจริง และก็ได้ไปตามคำเชิญ และไม่ได้เข้าไปงานสายตามที่มีการกล่าวอ้าง พอไปถึงเจ้าหน้าที่ของนายทหารท่านหนึ่งก็เอาบัตรที่มีสายห้อยคอมาให้สวม และบอกว่าบัตรหมดให้ใส่บัตรนี้ หลังจากนั้นก็ไปนั่งที่ตำแหน่งที่เขาจัดให้ เมื่อเขาให้พูดก็ได้พูดตามที่ได้คุยไว้ แต่ภายหลังเมื่อได้รับทราบว่า PARTY B คืออะไร ก็รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อติดตามข่าวสารก็มีหลายกระแสที่แสดงความคิดเห็นบ้างก็บอกว่าผู้หญิงทั้งสองคนเลือกและแสดงตนเป็น PARTY B เอง บ้างก็บอกว่าไม่เต็มใจ บ้างก็ไหลไปตามน้ำ แล้วข้อเท็จจริงคืออะไร

ข้าพเจ้าได้เจอเหตุการณ์หนึ่งกับตนเองเมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวจากการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ ผ่านทาง FACEBOOK

ต่อมาก็มีนายทหารท่านหนึ่งโทรมาเพื่อบอกว่าการที่ผู้ที่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ หากมีการรับสารภาพในชั้นซักถามหรือพบว่า (สงสัยว่า หรือไม่ ถ้าพบก็ต้องมีหลักฐาน) เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบ จะไม่มีสิทธิ ในการรับเงินเยียวยาตาม หลักเกณฑ์การเยียวยา และขอให้ข้าพเจ้าชี้แจงข้อความใน Facebook ของข้าพเจ้า

โดยข้าพเจ้ายืนยันว่าหากมีพยานหลักฐานหรือคำรับสารภาพก็ควรที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมิใช่ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่แจ้งข้อหา แต่กลับบอกกับสังคม และเจ้าหน้าที่ด้วยกันว่าเขาคือผู้ก่อความไม่สงบ และที่ผ่านมาการเยียวยา (โดยไม่เลือกปฏิบัติคือจ่ายเงินเยียวยาให้ทุกกรณีที่ถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ) ซึ่งในการดำเนินการและประชาชนก็มีการตอบรับที่ดี

ต่อมาในระหว่างการพูดคุยข้าพเจ้าจึงทราบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบการเยียวยาขอให้นายทหารท่านนี้โทรมาคุยกับข้าพเจ้า และได้มีความพยายามในการสอบถามถึงเหตุผลและแสดงความคิดเห็นจนทำให้นายทหารท่านนั้นไม่พอใจ และพูดว่าจะดำเนินการฟ้องร้องข้าพเจ้าเกี่ยวกับข้อความใน facebook

หลังจากวันนั้น ก็มีเพื่อนโทรศัพท์มาหาข้าพเจ้าเพื่อให้ข้าพเจ้าติดต่อกับเจ้าหน้าที่เยียวยาท่านนั้นเพราะเขาต้องการเชิญข้าพเจ้าเข้าร่วมการประชุมเรื่องหลักเกณฑ์การเยียวยาแต่อ้างว่าไม่สามารถติดต่อข้าพเจ้าได้ จึงขอให้เพื่อนข้าพเจ้าติดต่อข้าพเจ้าแทน แต่ในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ท่านนั้นไม่เคยติดต่อข้าพเจ้าเลย ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าตระหนักถึงความจริงใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่ามีหรือไม่

เมื่อมาถึงเหตุการณ์นี้ ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐก็ลดน้อยลงจนไม่แน่ใจว่าความสัมพันธ์ต่อไปในอนาคตระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับ NGO จะเป็นอย่างไร

นี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยที่มองเห็นได้ว่าความจริงใจของเจ้าหน้าที่ในการทำงานนั้น NGO มองไม่เห็น เมื่อ NGO มองไม่เห็น ประชาชนก็มองไม่เห็นเช่นเดียวกัน ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชม ก๊ะแยนะ มานานพอสมควร และรู้สึกได้ว่า เธอมีความตั้งใจ มุ่งมั่น ที่จะช่วยทั้งประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จำได้ว่ามีครั้งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่มาค้นบ้าน เราก็ได้ไปเยี่ยมให้กำลังใจ มาครั้งนี้เธอก็ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐอีก ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับก๊ะแยนะ และขอเป็นกำลังใจให้เธอ

แต่สำหรับการทำงานระหว่าง NGO รวมไปถึงกลุ่มด้วยใจ กับเจ้าหน้าที่รัฐ คงต้องทบทวน และสื่อสารให้ชัดเจนว่า การประชุม สัมมนา หรือการร่วมกิจกรรม ของเจ้าหน้าที่รัฐหรือ NGO ว่า มีวัตถุประสงค์อะไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร ต้องการให้เราสื่อสารถึงใคร เพื่ออะไร และหากพบเห็นหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สบาย ใจ การแสดงจุดยืน และ การยึดหลักการนั้นควรมีมาตรการอย่างไร

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแพงต่อทุกฝ่าย มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลสะเทือนถึงความมั่นคงเลยทีเดียว

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading