ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เผยแพร่ วันที่ 9 มิถุนายน 2558
ใบแจ้งข่าว ประชาชนกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 13 คน ยื่นถอนฟ้องคดี เมื่อนายอำเภอสบเมยดำเนินการให้สัญชาติหลังถูกฟ้องต่อศาลปกครอง
วันนี้ (9 มิ.ย. 2558) ประชาชนกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ฟ้องคดี 13 คน ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดี เมื่อนายอำเภอสบเมยได้พิจารณาอนุมัติให้สัญชาติหลังจากได้รับคำฟ้องที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบสามได้ฟ้องนายอำเภอสบเมย กรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 กรณีทางราชการเพิกเฉยหรือดำเนินการล่าช้าในการพิจารณาคำร้องขอสัญชาติ เป็นเวลานานกว่า 7 ปี การดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม แม้จะดำเนินการถอนฟ้อง แต่การยื่นฟ้องดังกล่าวของ ผู้ฟ้องคดีก็ย่อมถือได้ว่าเป็นแบบอย่างสำหรับผู้ที่ยังมีปัญหาในเรื่องดังกล่าวได้ ขณะนี้ทางอำเภอสบเมยกำลังพิจารณาให้สัญชาติแก่ประชาชนกลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เข้าหลักเกณฑ์อีกจำนวนหลายสิบรายที่ยังไม่ได้ยื่นฟ้องคดีด้วย
ศาลปกครองเชียงใหม่กำหนดให้วันที่ 9 มิถุนายน 2558 เวลา 10.00 น. เป็นวันไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 13 คน ( 6 ครอบครัว) ได้ยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2558 รวมเป็น 6 คดี ได้แก่ คดีหมายเลขดำที่ 75/2558 , 76/2558 , 77/2558 , 78/2558 , 79/2558 , 80/2558 โดยผู้ฟ้องคดียื่นฟ้อง นายอำเภอสบเมย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, กรมการปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, กระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ฐานกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรและเป็นการสร้างภาระขั้นตอนให้เกิดกับประชาชนเกินจำเป็น
ข้อเท็จจริงตามกรณี คือ เมื่อปี พ.ศ. 2550 ทางอำเภอสบเมยได้จัดบริการอำเภอเคลื่อนที่เข้าไปสำรวจรับคำร้องขอแจ้งเกิดเกินกำหนดและการขอเพิ่มชื่อเข้าสู่ทะเบียนราษฎร (ขอสัญชาติไทย) ที่ หมู่บ้านแม่หาด หมู่ที่ 7 ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ฟ้องคดีจึงได้ไปยื่นคำขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้าน ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 7 (1) และในครั้งนั้น ทางปลัดอำเภอสบเมยได้ทำการสอบปากคำผู้ฟ้องคดีและสอบปากคำพยานบุคคล ต่างก็รับรองและยืนยันว่าผู้ฟ้องคดีเป็นบุตรของผู้ที่มีสัญชาติไทย อีกทั้งเมื่อปี พ.ศ. 2553 ปลัดอำเภอ (จพง.ปค.ชำนาญการ) ซึ่งรักษาการแทน ได้ทำหนังสือส่งตัวผู้ฟ้องคดีไปตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และผลการตรวจพิสูจน์นั้นแสดงความสัมพันธ์ทางเครือญาติอย่างชัดเจน หลังจากนั้นก็ไม่มีความหน้าใด ๆ ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าในการพิจารณาคำร้องของทางอำเภอผ่านผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านได้ติดต่อสอบถามด้วยวาจากับฝ่ายทะเบียนอำเภอสบเมยหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าคำร้องดังกล่าวอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาใด
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ผู้ฟ้องคดีโดยผู้รับมอบอำนาจ ได้ทำหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อติดตามความคืบหน้าของการพิจารณาคำร้องของผู้ฟ้องคดีและขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชี้แจงตอบกลับมาภายใน 15 วัน แต่ทางผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับหนังสือแล้ว เพิกเฉยไม่ชี้แจงตอบกลับมายังผู้ฟ้องคดีหรือผู้รับมอบอำนาจแต่อย่างใด
จากนั้น วันที่ 23 มีนาคม 2558 ผู้ฟ้องคดีโดยผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 13 คน จึงได้ยื่นฟ้องนายอำเภอสบเมย กรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย ต่อศาลปกครองเชียงใหม่เป็น 6 คดีดังกล่าวข้างต้น ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรและเป็นการสร้างภาระขั้นตอนให้เกิดกับประชาชนเกินจำเป็น และผู้ฟ้องคดีแต่ละคนได้เรียกค่าเสียหาย จากการไปตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ (DNA) จำนวน 2,060 บาท ค่าเดินทาง 2,000 บาท และค่าเสียหายที่ต้องดำรงชีวิตอย่างยากลำบากขาดโอกาสในการเข้าถึงการบริการและสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐและขาดเสรีภาพในการดำรงชีวิต ปีละ 10,000 บาท
หลังจากถูกฟ้องคดี นายอำเภอสบเมย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการพิจารณาคำร้องขอสัญชาติของผู้ฟ้องคดี ที่ค้างคามานานเกือบทศวรรษ และได้อนุมัติเพิ่มชื่อผู้ฟ้องคดีเข้าสู่ฐานทะเบียนราษฎร (ท.ร.14) หรือให้สัญชาติไทยแก่ผู้ฟ้องคดีเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นแม้คดีจะยังไม่ได้รับการพิจารณาจากศาลปกครองเชียงใหม่ แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับการอนุมัติเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนราษฎร (ท.ร.14) ได้สัญชาติไทยแล้วนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอีกต่อไป จึงยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องออกจากสารบบความของศาล ในวันที่ 9 มิถุนายน 2558
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
นายสุทธิเกียรติ ธรรมดุล ทนายความ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น 053-230072, 083-6284239
หรือ นายปรีดา นาคผิว ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 089-6222474