แถลงการณ์เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ กรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนายมูหาหมัดยากี สาและ ฉบับที่ 2
สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 นายมูหาหมัดยากี สาและ ประธานเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ (JOP) ถูกเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิดที่ห้างเซนทรัล อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตลอดเวลาที่มีการควบคุมตัวและเข้าสู่กระบวนการซักถามนายมูหาหมัดยากีฯ ได้ให้ความร่วมมือตอบข้อซักถามเป็นอย่างดี และให้การปฏิเสธไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แต่อย่างใด
กระทั่งมีการนำรายงานผลการซักถามให้นายมูหาหมัดยากีฯ ลงลายมือชื่อในรายงานผลการซักถามตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2558 และเพื่อเป็นการยืนยันการเสร็จสิ้นกระบวนการซักถามนายมูหาหมัดยากีฯ ได้เขียนบันทึกข้อความ ส่งต่อให้ภรรยาผู้เข้าเยี่ยม “ในระยะเวลานี้ผมได้ให้การซักถามหมดแล้ว หากผมเป็นอะไร ขอความเป็นธรรมด้วยครับ…..มูหาหมัดยากี สาและ” ต่อมาภรรยานายมูหาหมัดยากีฯ เข้าร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ได้พิจารณายื่นคำร้องขอคัดค้านการขอขยายเวลาการควบคุมตัวต่อ และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ศาลจังหวัดยะลาพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมาย คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด การกักขังหรือควบคุมตัวโดยไม่ปรากฏข้อหาที่ชัดเจน ไม่ควรกระทำอีกต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวนและให้ปล่อยตัวนายมูหาหมัดยากี สาและ
แต่ในการดำเนินการปล่อยตัวของนายมูหาหมัดยากี เจ้าหน้าที่ดำเนินการปล่อยตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยไม่ได้มอบหนังสือรับรองสถานภาพว่าผ่านกระบวนการซักถามแล้วแต่อย่างใด และภายหลังจากได้รับอิสรภาพจากการควบคุมตัวแล้ว ได้ปรากฏเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 มีบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่แต่งกายนอกเครื่องแบบ ไปหานายมูหาหมัดยากีฯ ที่บ้านมารดาที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลที่ต้องการพบ
และในวันเดียวกันรับแจ้งจากภรรยาว่ามีบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์ติดต่อให้นายมูหาหมัดยากีฯ ไปพบที่ค่ายอิงคยุทธบริหารเพื่อลงชื่อในเอกสารที่ยังไม่สมบูรณ์ แต่เนื่องจากขณะนั้นนายมูหาหมัดยากีฯ อยู่ระหว่างปรึกษาข้อกฎหมายกับทนายความที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จึงแจ้งให้นำเอกสารมาให้ลงชื่อที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดนำเอกสารมาแต่อย่างใด นอกจากนั้นในวันเดียวกันเวลาประมาณ ๒๐ นาฬิกาเศษมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งกายนอกเครื่องแบบอ้างว่ามาจากสถานีตำรวจภูธรยะรัง จังหวัดปัตตานี ไปหาที่บ้านตำบลสะนอ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ในขณะที่นายมูหาหมัดยากีฯ ยังไม่กลับมา มีเพียงแต่ภรรยากับบุตรอายุ ๒ ขวบ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารสั่งให้มาเยี่ยมและทำความรู้จัก พฤติการณ์ดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวหวาดวิตกต่อครอบครัวของมูหาหมัดยากีฯ เป็นอย่างยิ่ง
นายมูหาหมัดยากี สาและ เป็นอดีตจำเลยคดีความมั่นคง สามารถถือได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษและผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบตลอด 9 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นจำเลย และได้ยืนหยัดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางศาล โดยตกเป็นจำเลยในคดีความมั่นคงทั้งหมด 6 คดี เป็นคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง 1 คดี ศาลพิพากษายกฟ้องจำนวน 5 คดี และภายหลังจากได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ นายมูหาหมัดยากีฯ ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ อดีตจำเลย ก่อตั้งกลุ่มเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ (JOP) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือแนะนำความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ได้เข้าร่วมโครงการยะลาสันติสุข ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และได้ให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดีมาโดยตลอด
เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์ลักษณะคุกคาม ความปลอดภัยต่อประชาชนยุติการกระทำดังกล่าวและขอเรียกร้องให้หน่วยงานความมั่นคงยึดมั่นในการบังคับใช้กระบวนการทางกฎหมายอาญาปกติอย่างจริงจัง ปราศจากอคติใดๆ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดแต่ยันหยัดต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามแนวทางของกฎหมาย มักจะถูกเพ่งเล็งและเป็นเป้าหมายจากฝ่ายรัฐมาโดยตลอด เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ ขอเรียกร้องต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อนายมูหาหมัดยากี สาและ และบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดและได้ยืนหยัดต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามแนวทางของกฎหมาย ดังต่อไปนี้
1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส ทันที
2.ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักการของกฎหมายและเคารพหลักสิทธิมนุษยชน สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนโดยการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน
3.ขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตระหนักในการปฏิบัติตามกฎหมายและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างทั่วถึง
เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ
10 พฤษภาคม 2558