ทุกวันนี้เราสังเกตได้ว่า มีกลุ่มชนต่างๆ หลากหลายที่เดินขบวนหรือชุมนุมกัน เพื่อเรียกร้องสิทธิที่เขาว่าเป็นของเขา เราเองแต่ละคนอาจเคยทําเช่นนั้นอยู่เหมือนกัน แต่เราก็พบด้วยว่าบางทีการเคลื่อนไหวเหล่านั้นก็นําไปสู่การทะเลาะกัน ขัดแย้งกัน จนถึงกับมีความรุนแรงต่อกันเกิดขึ้นด้วยซ้ํา แทนที่จะเอื้ออํานวยต่อการใช้ชีวิต อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข บางคนอาจจะบอกว่ามันต้องเป็นไปเช่นนี้แหละ บางคนบอกว่า การรณรงค์เคลื่อนไหวอย่างนั้นควรหยุดได้แล้ว “อย่าชักใบให้เรือเสีย” และอื่นๆ อีกมากหลายเรื่อยไป
จะไม่ดีกว่าหรือถ้าเราจะ “หยุดฟัง ฟังให้ได้ยิน และคิดคํานึง” รวมทั้งถามให้ลึกลง ไปในจิตวิญญาณของเราว่า เรามีอะไรร่วมกัน?
หนังสือเล่มนี้เปิดฉากด้วยประเด็นนี้เลยทีเดียว ด้วยการบอกว่า “คนทุกคนมี ‘คุณค่าภายใน” หรือ “ศักดิ์ศรี” หรือ “เกียรติ” เป็นของตนเองซึ่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับ เกียรติของมนุษย์ แล้วบอกต่อไปว่า “แนวคิดสิทธิมนุษยชน” จึงหมายถึง เสรีภาพ ของความเป็นมนุษย์อันควรค่าแก่การเคารพที่สมาชิกทุกคนพึงมี (หน้า 2 ผมเป็นผู้เน้นค่า)
ผมอ่านแล้วเข้าใจว่าอย่างนี้ สิ่งที่มนุษย์เรามีเหมือนกันหมด คือ เสรีภาพ มากกว่า ที่จะเป็น สิทธิ กล่าวอย่างหนึ่งได้ว่า เราต่างเกิดมามีเสรีภาพ โซ่ตรวนที่ฉุดรั้งเรา ไว้นั้นเกิดขึ้นทีหลัง ทําไมจึงมีการกล่าวเช่นนี้?
ประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตกได้มีข้อสรุปว่า มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์โลกอื่นๆ ตรงที่เรามีความสามารถที่จะคิด ที่จะใช้เหตุผล และจึงสร้างสรรค์และพัฒนาตนเองได้ นี่คือคุณลักษณะที่เรามีเหมือนกันหมด และคุณลักษณะนี้ก็คือสิ่งที่เราควรที่จะได้ เคารพในมนุษย์คนอื่น “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” มีความหมายอย่างนี้
ดังนั้น ผมจึงเลือกที่จะใช้ว่า “เสรีภาพและสิทธิ” แทนที่จะเป็น “สิทธิและเสรีภาพ เพราะจากที่กล่าวมา สิทธิเกิดขึ้นหลังเสรีภาพ “สิทธิมนุษยชน” ก็คือสิ่งที่ผู้คนจาก มุมต่างๆของโลกได้ร่วมกันแยกแยะออกมาให้เห็นว่าเสรีภาพที่มนุษย์เรามีมาแต่กําเนิดนั้น คือ อะไรบ้าง
แต่ “สิทธิมนุษยชน” ไม่ได้เป็นแนวคิดตะวันตกหรอกหรือ? หลายคนมีคําถามนี้ อยู่ในใจไม่มากก็น้อย
ผมขอตอบว่า แม้ว่าแนวคิดสิทธิมนุษยชนจะได้รับการประกอบขึ้นในตะวันตกเพราะผู้คนจากมุมต่างๆของโลกไปประชุมถกกันที่นั่น ว่ามนุษย์เรามีเสรีภาพอะไร และจึงมีสิทธิอะไรบ้าง แต่นั่นไม่ได้จําเป็นต้องหมายความว่า สิทธิมนุษยชนเป็น แนวคิดตะวันตกเท่านั้น
บางที นี่อาจไม่ใช่คําตอบที่ดีนัก หนังสือเล่มนี้พยายามตอบในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะว่าไป ง่ายกว่า ตรงกว่า ด้วยซ้ํา คือ โดยการนําวจนะจากศาสนา 8 ศาสนา (หรือระบบความเชื่อ) มาจัดวางให้เห็น (ที่หน้า 5) ว่า ต่างก็ชูศีลธรรมจรรยาอย่างหนึ่ง เหมือนกัน คือ ให้เราปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความเคารพ เพราะว่าเขาก็เป็นมนุษย์ เหมือนกับเรา นี่คือสิ่งที่บรรดานักคิดหรือศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ของโลกสรุปไว้ หลังจาก ที่ท่านได้ตั้งสติ คิดคํานึงด้วยปัญญาแล้ว
ดังนั้น วัตถุประสงค์หนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การชักชวนให้ท่านผู้อ่านสืบค้น ลงไปในจิตวิญญาณของท่านว่า ในวัฒนธรรม ศาสนา และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ไทยเราเองนั้น มีเค้าความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเสรีภาพและสิทธิของมนุษย์อยู่ที่ก้นบึง หรือไม่ประการใด เช่น แต่ก่อนนี้ผู้ใหญ่มักสอนว่า “อย่าเบียดเบียนกัน” เป็นต้น ขอท่านได้พิจารณาว่า ในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ตลอดจนกระบวนการทางสังคม และการปกครองของไทยเรานั้นไปกันได้ หรือฉีกแนวออกจากความรู้สึกนึกคิด ดังกล่าว สุดท้าย ขอเชิญชวนให้ท่านได้เปรียบเทียบข้อค้นพบของท่านกับสิ่งที่หนังสือนี้ เรียกว่า “กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน” (international human rights law)
เราได้พยายามทําให้ขั้นตอนสุดท้ายนี้ง่ายขึ้น โดยการเรียงลําดับบรรดาสิทธิและ เสรีภาพต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับกันระหว่างประเทศไว้เป็นตอนๆ พร้อมคําอธิบายสั้นๆ แต่ได้ใจความสําคัญ โดยได้จัดทําตารางแสดงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับแต่ละสิทธิ แต่ละเสรีภาพ จากกฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ไว้ด้วย เพื่ออํานวยความสะดวก
สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หวังว่าหนังสือเล่มเล็กๆนี้จะช่วยให้ท่านสามารถ เข้าใจสิทธิของท่านในฐานะสิทธิมนุษยชนได้ง่ายขึ้น โดยกรุณาอย่าลืมว่า แท้ที่จริง สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นการแยกแยะว่าเรามีเสรีภาพเช่นใด ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เพื่อเสรีภาพ(เหล่านั้น) จะได้มีโอกาสเป็นรูปธรรมขึ้นมา หากเข้าใจเช่นนี้ว่าสิทธิ ก็คือสิ่งที่เชื่อมร้อยมนุษย์เราไว้ด้วยกัน แทนที่จะเป็นสิ่งที่ทําให้เราแตกแยกกัน ก็น่าจะเป็นไปได้มากขึ้นที่เราจะอยู่ร่วมกันได้โดยสงบสันติด้วยเหตุที่เรามีระบบค่านิยม ที่เรียกว่า “สิทธิมนุษยชน” ร่วมกัน โดยที่ระบบค่านิยมนี้ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันเชิง จริยธรรมกับศาสนาและระบบความเชื่อต่างๆ บรรดามีในโลกมนุษย์
ส่วนท่านที่ทํางานด้านสิทธิมนุษยชน น่าจะพบว่าหนังสือเล่มนี้สามารถใช้เป็น “คู่มือ ของท่าน ไว้ใช้ประกอบการเจรจาต่อรองให้มีการยอมรับและการปกป้องคุ้มครอง สิทธิและเสรีภาพมากขึ้นในแต่ละกรณี และพื้นที่ ทั้งนี้ใคร่เรียนเสนอว่าทัศนคติ ที่เป็นอุดมคติในการทํางานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ได้มีเพียงแต่การต่อต้านท่าที และการกระทําของรัฐ ที่ละเลยหรือไม่ยอมทําหน้าที่ตามพันธกรณีในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน อีกทั้งการต่อต้านนั้น บางครั้งอาจไม่ใช่วิถีทางที่ดีที่สุด หากแต่เราสามารถใช้วิธีกระตุ้นเตือน ให้กําลังใจ และร่วมทํางานกับรัฐได้ด้วย หากการทําเช่นนั้นเป็นไปเพื่อเป้าหมายร่วมกันในนามของมนุษยชาติและมนุษยธรรม
แน่นอน สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย พร้อมเสมอที่จะน้อมรับคําวิจารณ์ที่ สร้างสรรค์อันจะเป็นประโยชน์แก่การปรับปรุงแก้ไขหนังสือเล่มนี้
สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความชื่นชมในความอุตสาหะพยายามของคุณกัลป์ปลัดดา คุตตา ผู้อํานวยการสถาบันฯ คุณโสธรสินี สุภานุสร ผู้ประสานงาน และท่านอื่นๆ ซึ่งได้ อํานวยให้หนังสือเล่มนี้ได้เผยโฉมสู่บรรณพิภพ
รศ. ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
ประธานสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย