รายงานสรุป “1 ปี กับการใช้กลไกทางกฎหมาย กรณีการหายตัวของบิลลี่”

Share

รายงานสรุป “1 ปี กับการใช้กลไกทางกฎหมายกรณีการหายตัวของบิลลี่” สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน Human Rights Lawyers Association (เผยแพร่วันที่ 17 เมษายน 2558)

นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 จนบัดนี้ เป็นเวลา 1 ปีเต็ม ที่นายพอละจี รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ได้หายตัวไป หลังเดินทางกลับมาจากบ้านโป่งลึก-บางกลอย เพื่อเตรียมข้อมูลที่จะใช้ในเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2554 โดยมีชาวบ้านพบเห็นนายบิลลี่ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 17.00 น. ขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งทำการค้นตัวแล้วพบว่านายบิลลี่มีรังผึ้งและน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ทำการตักเตือนและปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานที่อ้างเกี่ยวกับการจับกุมและหลักฐานการปล่อยตัวแต่อย่างใด

นายบิลลี่เป็นแกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และผู้ช่วยทนายความ ในคดีที่ชาวบ้านบางกลอยยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อศาลปกครองกลาง จากกรณีที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกว่า 20 ครอบครัว ที่บ้านบางกลอยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ตาม“โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า” มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยุทธการตะนาวศรี” เพื่อผลักดันให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่แม้ปรากฏผลการศึกษายืนยันว่าชาวบ้านเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมชาวปาเกอญอที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่มาเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปีแล้ว ขณะที่นายบิลลี่หายตัวไปนั้นอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อต่อสู้คดีดังกล่าว ซึ่งศาลนัดไต่สวนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ นายบิลลี่ยังอยู่ระหว่างการเตรียมถวายฎีกาเพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่านายบิลลี่มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีและกรณีร้องเรียนดังกล่าวอยู่กับตัวด้วยในขณะที่หายไป

การดำเนินการทางกฎหมายเริ่มต้นขึ้น เมื่อนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายบิลลี่ ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 เมื่อทราบข่าวการหายตัวไปของนายบิลลี่หลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

22 เมษายน 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ทราบข่าวกรณีการหายตัวของนายบิลลี่ จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และออกจดหมายเปิดผนึกขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

23 เมษายน 2557 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล(ICJ) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ลงพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ และญาติของนายบิลลี่ โดยในวันเดียวกันทนายความได้ประชุมเตรียมคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามความประสงค์ของญาติ

24 เมษายน 2557 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ พร้อมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินและขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 ซึ่งศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน โดยมีการสืบพยาน 2 ปากในวันดังกล่าว คือ นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยานายบิลลี่ ในฐานะผู้ร้อง และนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย และศาลได้นัดสืบพยานอีก 10 ปาก ในวันที่ 30 เมษายน 2557 วันที่ 12 พฤษภาคม 2557 วันที่ 2 มิถุนายน 2557 วันที่ 16 มิถุนายน 2557 และสิ้นสุดการสืบพยานในวันที่ 7 กรกฎาคม 2557 โดยมีพยานที่ขึ้นเบิกความต่อศาล ได้แก่ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอีกจำนวน 4 คน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักศึกษาฝึกงาน 2 คน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และพยานผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

25 เมษายน 2557 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการประชุมเพื่อตรวจสอบเรื่องการหายตัวของนายบิลลี่ โดยในวันเดียวกัน พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วยตำรวจภูธรภาค 7 กองบังคับการปราบปราม และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เข้าร่วมประชุมเพื่อเร่งรัดติดตามคดี ต่อไป พร้อมกันนี้ พ.ต.อ.สุขสวัสดิ์ สุขแสวง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี นำภรรยาของนายบิลลี่เข้าพบ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รับปากว่าจะดูแลความปลอดภัยให้กับครอบครัวของนายบิลลี่ และจะเร่งติดตามตัวนายบิลลี่ให้พบโดยเร็ว

27 เมษายน 2557 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ประชุมคณะสืบสวนสอบสวนติดตามคดีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ พร้อมเชิญนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ นายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย และญาตินายบิลลี่ เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมและร่วมรับฟังความคืบหน้า

28 เมษายน 2557 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) และ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ดำเนินการสืบสวนอย่างละเอียดและเป็นกลางกรณีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่

2 พฤษภาคม 2557 องค์การสหประชาชาติ (UN) มีคำแถลงต่อกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ (หรือนายบิลลี่) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยโฆษกขององค์การสหประชาชาติ นาย Rupert Colville ว่ามีความห่วงกังวลเรื่องความไม่ก้าวหน้าของการสืบสวนสอบสวน กรณีการหายตัวไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย นายพอละจี รักจงเจริญ (หรือนายบิลลี่) ที่ทำงานเพื่อเรียกร้องสิทธิในที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย มีคนพบนายบิลลี่ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังจากที่เขากลับมาจากชุมชนเพื่อเตรียมข้อมูลที่จะใช้ในเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องคดีที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้านชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2553 และ 2554 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าวว่าเขาจับกุมตัวบิลลี่และได้สอบสวนเขาในวันที่ 17 เมษายนกล่าวหาว่าเขามีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง และได้ปล่อยตัวบิลลี่ไปแล้ว แต่ไม่มีใครพบบิลลี่อีกเลยนับแต่นั้น

15 พฤษภาคม 2557 สื่อมวลชนได้ทำการเผยแพร่ผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีนายธรรมรัตน์ วงศ์โสภา ผู้อำนวยการส่วนอุทยาน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เป็นประธาน ซึ่งผลการสอบสวนระบุว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กรณีมีมูลความผิดวินัย ตามพระราชบัญญัติระเบียบวินัยข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ และฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ส่วนความผิดวินัย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง แก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น ผู้กระทำแม้จะมีหน้าที่ราชการจะต้องปฏิบัติ ได้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบแล้วก็ตาม แต่มิได้กระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามพฤติการณ์ยังไม่พอรับฟังได้ว่า ผู้กระทำกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด สำหรับกรณีนายพอละจี หรือบิลลี่ หายตัวไป เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หรือบุคคลใดหรือไม่ เพียงใดนั้น คณะกรรมการเห็นว่ากรณีอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยในวันเดียวกัน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งย้ายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม ไปประจำอยู่ที่สำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

20 มิถุนายน 2557 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองค์การสหประชาชาติสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อร้องเรียนให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับการหายตัวไปของนายบิลลี่

17 กรกฎาคม 2557 ศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งยกคำร้องของนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ที่ยื่นขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว แม้ทนายความฝ่ายผู้ร้องจะนำพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานมาเบิกความต่อศาล ได้ความว่าคำให้การนักศึกษาฝึกงานในชั้นพนักงานสอบสวนจะขัดกับคำให้การในชั้นศาลแต่พยานปากพนักงานสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าจึงไม่อาจรับฟังได้ จากการไต่สวนพยานทั้งหมดแล้วยังฟังไม่ได้ว่านายบิลลี่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง

19 สิงหาคม 2557 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่ อำเภอแก่งกระจาน การลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากจะมีการสอบปากคำพยานชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้จุดที่มีการอ้างว่าบิลลี่ ถูกนำตัวมาปล่อยไว้ก่อนจะหายตัวไป จุดประสงค์เพื่อต้องการหาเส้นทางการหายตัวที่แน่ชัด พร้อมกันนี้ยังได้นัดเก็บวัตถุพยาน “ดีเอ็นเอ” ลูกชายของนายบิลลี่ เพื่อจะนำไปเปรียบเทียบกับวัตถุพยานสำคัญที่เก็บได้ก่อนหน้านี้ในรถปิกอัพที่ใช้เป็นพาหนะนำตัวบิลลี่ไปสอบปากคำและนำตัวไปปล่อย การเก็บดีเอ็นเอครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บดีเอ็นเอไปใช้เปรียบเทียบกับหลักฐานในคดีดังกล่าว

22 สิงหาคม 2557 คำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ 1939 /2557 ลงวันที่ 22 สิงหาคม ให้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ ส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งถูกคำสั่งให้เดินทางมาปฏิบัติราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ ช่วยปฏิบัติราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรุงเทพฯ ตั้งแต่เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ให้เดินทางกลับมาปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2557

16 กันยายน 2557 นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ พร้อมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีที่มียกคำร้องไต่สวนการควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557

19 กันยายน 2557 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ลงพื้นที่เก็บหลักฐานเพิ่มเติม และส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบอีกครั้ง หากผลดีเอ็นเอตรงกันก็จะนำไปสู่การดำเนินคดีได้ โดยดีเอ็นเอที่เจ้าหน้าที่เก็บมาตรวจมีเพียงคราบเลือดเท่านั้น และผลการตรวจสอบดีเอ็นเอดังกล่าวพบว่าเป็นคราบเลือดของมนุษย์เพศชาย

25 กันยายน 2557 พนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 7 สอบปากคำนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กรณีการควบคุมตัวนายบิลลี่ เพื่อเตรียมสรุปสำนวนส่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการ ทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

1 ตุลาคม 2557 นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คำสั่งที่ 2383/2557 โยกย้ายให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้ไปปฏิบัติราชการให้ไปปฏิบัติราชการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 5 ตุลาคม 2557 และให้ไปปฏิบัติราชการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) ในตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นน้ำเป็นต้นไป โดยให้นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก มาปฏิบัติหน้าที่หัวอุยานแห่งชาติแก่งกระจานแทน มีผลตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2557

29 มกราคม 2558 คณะพนักงานสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 7 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมกรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรวม 4 คน จับกุมและควบคุมตัวนายพอละจี รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่ดังกล่าวฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในวันเดียวกัน นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรม และขอให้เร่งรัดการสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ ต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หลังจากที่นายบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมและควบคุมตัวด้วย

26 กุมภาพันธ์ 2558 ศาลจังหวัดเพชรบุรี ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 7 กรณีขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่จากการถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเนื้อหาในคำพิพากษาระบุว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว แม้คำเบิกความจะมีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดหาใช่ข้อสาระสำคัญอันเป็นพิรุธไม่ พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

อย่างไรก็ดี คณะทนายความ เห็นว่าคดีนี้ เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม จึงได้เตรียมยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต่อไป เนื่องจากการบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ
วราภรณ์ อุทัยรังษี (ทนายความ) 084-8091997
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 02-6930682

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading