[:th]CrCF Logo[:]

ใบแจ้งข่าว นายสุรกริช เสียชีวิตในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขาดการสืบสวน ที่เป็นกลางมีประสิทธิภาพ คนรับผิดอาจลอยนวล

Share

เผยแพร่วันที่ 8 เมษายน 2558

ใบแจ้งข่าว กรณีนายสุรกริช เสียชีวิตในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขาดการสืบสวนสอบสวนที่เป็นกลางมีประสิทธิภาพ คนรับผิดอาจลอยนวล

เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558 ศาลอาญา ห้องพิจารณา 905 มีการไต่สวนคดีชันสูตรศพ หมายเลขคดีดำที่ อช.9/2557 คดีดังกล่าวเป็นกรณีที่นายสุรกริช ชัยมงคล อายุ 35 ปี ผู้ต้องหาคดีกรณียิงนายสุทิน ธราทิน แกนนำประท้วงขัดขวางการเลือกตั้งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 และต่อมานายสุรกริช ชัยมงคล หลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 โดยอำนาจกฎอัยการศึก และถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2557 ต่อมาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครโดยผิดธรรมชาติและไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน

ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายในการเป็นทนายผู้คัดค้านในคดีไต่สวนการตาย โดยญาติต้องการขอความเป็นธรรม และเรียกร้องให้มีการค้นหาสาเหตุการตายที่แท้จริง เนื่องจากก่อนเสียชีวิตนายสุรกริชมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง อีกทั้งสภาพศพ และร่องรอยตามเนื้อตัวร่างกายของนายสุรกริชที่มีบาดแผลตามร่างกายหลายแห่ง และเสียชีวิตกระทันหัน ญาติจึงติดใจในสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าวทำให้เป็นที่สงสัย

ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่าการสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในคดีนายสุรกริช ชัยมงคล มีความล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจมีการปกปิดไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง

ในวันที่ 2 เมษายน 2558 ศาลอาญา ถ. รัชดาได้เปิดห้องพิจารณาไต่สวนคดีโดยมีการรับฟังพยานจำนวน 3 ปาก ได้แก่ นางอารีย์ ชัยมงคล มารดาของนายสุรกริช นายเสวียน แสงพันธ์ ขณะเกิดเหตุเป็นหัวหน้าฝ่ายควบคุมผู้ต้องขัง แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และนักโทษชายรายหนึ่งที่อยู่ในแดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพซึ่งเป็นแดนเดียวกันกับผู้ตาย

มารดานายสุรกริชได้ยื่นคำร้องขอเข้าซักถามพยานและนำพยานเข้าสืบ โดยแต่งตั้งทนายความเป็นผู้แทนในวันดังกล่าวด้วย ภายหลังสืบพยานทั้ง 3 ปากแล้ว ทนายความได้แถลงขอให้ศาลเลื่อนไปสืบพยานแพทย์ผู้ที่ทำการชันสูตรพลิกศพ และพนักงานสอบสวน ในนัดหน้า เนื่องจากเป็นพยานปากสำคัญที่จะให้รายละเอียดเพื่อระบุสาเหตุการตายและใครทำให้ตายตามหลักมาตรา 150 และ 151 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานอัยการไม่คัดค้าน ศาลจึงนัดไต่สวนในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558

การเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวรวมทั้งการเสียชีวิตในเรือนจำเป็นสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่คณะกรรมการต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาติให้ความสำคัญ โดยระบุในข้อสังเกตเชิงสรุปลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ว่า “คณะกรรมการฯรู้สึกเสียใจที่ยังขาดข้อมูลที่ครอบคลุมและที่มีการจำแนกประเภทการร้องเรียน การสอบสวน การดำเนินคดี และการตัดสินโทษกรณีการกระทำทรมานและการประติบัติที่โหดร้าย โดยเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ และข้อมูลการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว วิสามัญฆาตกรรม การบังคับให้สูญหาย ความรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์ รัฐบาลไทยควรรวบรวมข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาในระดับชาติ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียน การสอบสวน การดำเนินคดี และการตัดสินลงโทษกรณีการกระทำทรมานและการประติบัติที่โหดร้าย การเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว การวิสามัญฆาตกรรม การบังคับให้บุคคลสูญหาย ความรุนแรงอันมีทางเพศ การค้ามนุษย์ และข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการชดเชย การชดใช้และการฟื้นฟูเยียวยาให้กับผู้ประสบการกระทำทรมาน เมื่อรวบรวมแล้วพึงส่งข้อมูลดังกล่าวไปยังคณะกรรมการฯ”

ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่าการสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในคดีนายสุรกริช ชัยมงคล มีความล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจมีการปกปิดไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในคืนวันที่ 27 สิงหาคมในเรือนนอน และเวลาเช้าก่อนส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลภายในเรือนจำในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 และรวมทั้งขาดข้อมูลที่โปร่งใสตรวจสอบได้ในเรื่องผลการรักษาพยาบาลทั้งในหน่วยพยาบาลภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งพบว่านายสุรกริชเสียชีวิตในเวลา 17.20 น. การชันสูตรศพและการไต่สวนการตายในชั้นศาลที่ขาดข้อเท็จจริงที่เป็นอิสระมักจะไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตในเรือนจำได้ และไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เสียชีวิตและญาติได้

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้พนักงานสอบสวนและรวมทั้งกรมราชทัณฑ์ได้กำหนดให้มีหลักเกณฑ์การสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตในเรือนจำโดยพลัน อย่างเป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพในทุกกรณี เพื่อเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เสียชีวิตในเรือนจำด้วยเหตุว่ามีละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ญาติได้เข้าถึงวิธีการชดเชย การชดใช้และการฟื้นฟูเยียวยาอย่างเหมาะสมและเพียงพอ อีกทั้งหากปรากฏว่ามีผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนในการทำให้ผู้ต้องขังเสียชีวิตจะต้องมีการนำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรม โดยไม่ให้กระทำการละเมิดและผู้รับผิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงดังกล่าวลอยนวล

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Tel. 02-6934939

บันทึกการสังเกตการณ์คดีชันสูตรพลิกศพ หมายเลขดำที่ อช. 9/2557 ศาลอาญา

ผู้พิพากษาสามท่าน พนักงานอัยการ และทนายความฝ่ายผู้ค้านมาศาล

พยานปากที่หนึ่ง นางอารีย์ ชัยมงคล

นายสุรกริช บุตรชายถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ในข้อหาความผิด พรบ. อาวุธปืน ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยได้ไปเยี่ยมทุกอาทิตย์ สภาพร่างกายแข็งแรงดี มีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวานที่ได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชวิถีก่อนถูกควบคุมตัว และต้องทานยาวันละหนึ่งเม็ดทุกวันมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว นายสุรกริชเป็นคนที่มีบุคลิกภาพเรียบร้อยและอยู่ตามปกติ เชื่อว่าเขาไม่ทะเลาะกับใครในเรือนจำ แต่ครั้งที่ได้ไปเยี่ยมวันที่ 21 สิงหาคม ก่อนการเสียชีวิตนายสุรกริชได้บอกกับแม่ว่าอยากให้ประกันตัว หากไม่ได้รับการประกันตัวตนจะเสียชีวิตในเรือนจำแน่นอน โดยร้องไห้และตาแดงเวลาพูดถึงเรื่องดังกล่าว ไม่ทราบว่าบุตรของตนมีเพื่อนสนิทหรือไม่ในเรือนจำ ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม ได้รับการติดต่อว่านายสุรกริชเสียชีวิตแล้วจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้มารับศพ และได้สอบถามพบว่านายสุรกริชเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคมเวลา 17.20 น.ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้แจ้งว่าเสียชีวิตจากเลือดตกในกระเพราะอาหารจำนวนมาก ต่อมาได้ติดต่อขอใบมรณบัตรและได้ไปให้การต่อพนักงานสอบสวน

ในระหว่างการไต่สวน พนักงานอัยการได้ให้พยานดูรูปถ่ายของบุตรชายที่เสียชีวิต พยานด้ร้องไห้เสียงดังขึ้น พร้อมยืนยันว่าเป็นรูปศพของบุตรของตน

ทนายผู้คัดค้านได้ซักถามเพิ่มเติม ได้ใจความว่า บุตรของพยาน มีอาชีพเป็นคนขับรถแท็กซี่เป็นเวลา 10 ปีมาแล้ว โดยมักจะขับในเวลาห้านาฬิกาตอนเย็นถึงห้านาฬิกาตอนเช้าของทุกวัน ในวันจับกุมมีเจ้าหน้าที่กว่า 100 นายมาล้อมที่บ้านที่เป็นกระต๊อบ นายสุรกริชกำลังนอนพักผ่อน ไม่มีการทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุม เมื่อย้ายการควบคุมตัวไปที่แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพ นายสุรกริชเริ่มมีอาการเครียด และได้เคยบอกกับนางอารีย์ว่าตายแน่ๆ เมื่อถามว่าเพราะอะไร นายสุรกริชบอกว่าพูดไม่ได้ นางอารีย์ให้การเพิ่มเติมว่า ศพที่เห็น นอนตะแคง มีรอยที่แขนข้างซ้ายเขียวมาก เห็นรอยช้ำที่หน้าอก พลิกศพข้างหลังเห็นเป็นรอยแผยเป็นรู เขียวช้ำ โดยได้นำเสนอรูปถ่ายภาพศพต่อศาล ศาลรับไว้เป็นหลักฐานในการไต่สวน เมื่อได้รับศพมาประกอบพิธีทางศาสนา ได้ขอให้มีการผ่าชันสูตรศพโดยมีการผ่าศพที่โรงพยาบาลตำรวจ แต่มีหมออีกท่านหนึ่งที่พยานไว้วางใจให้เข้ามาร่วมสังเกตการณ์การผ่าชันสูตรศพด้วย

พนักงานอัยการ ซักถามเพิ่มเติม ได้ใจความว่า เวลาที่นางอารีย์ เยี่ยมหรือพูดคุยกับนายสุรกริชที่เรือนจำมีเจ้าหน้าที่ยื่นอยู่ห่าง ๆ ประมาณ 1-2 เมตร แต่ไม่ได้ยินที่พูดคุยกัน ที่นางอารีย์ให้การว่าใบหน้าของศพดำ ได้เห็นจากรูปศพว่ามีลอยดำๆ ไม่ได้เห็นแต่จากเพียงรูปภาพเท่านั้น นายอารีย์ให้การเกี่ยวกับแพทย์ที่ทำการผ่าชันสูตรว่าทั้งผู้ที่ผ่าชันสูตรและแพทย์ที่สังเกตการณ์ขณะนั้นไม่ได้ให้ความเห็นสรุปสาเหตุของการตาย และแจ้งว่าจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

พยานปากที่สอง นายเสวียน แสงพันธุ์ อายุ 55 ปี

ขณะเกิดเหตุรับราชการเป็นหัวหน้าฝ่ายควบคุมเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขัง ปฏิบัติงานที่แดน 4 ปัจจุบันได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่เรือนจำกลางคลองเปรมตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 นายสุรกริชย้ายมาที่แดน 4 จากแดน 1 ซึ่งเป็นแดนแรกรับหลังจากอยู่ที่แดน 1 สองอาทิตย์ ซึ่งเป็นการย้ายตามปกติ ในแดน 4 มีผู้ต้องขังจำนวน 600 กว่าคน เป็นหนึ่งเรือนนอน ที่มีการแบ่งสัดส่วนเป็น 12 ห้อง ผู้ต้องขังนอนห้องละ 50 คน นายสุรกริชผู้ตายนอนอยู่ในห้องใดนั้นนายเสวียนจำไม่ได้ พยานระบุว่าผู้ตายเป็นคนมีโรคประจำตัวเป็นความดันหรือเบาหวาน มีเพื่อนสนิทเป็นผู้ต้องขังด้วยกันชื่อนายเจริญ นายมงคลและนายวิรัช (สงวนนามสกุล) ในแดน 4 ไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน ไม่มีการทำร้ายร่างกาย ในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 นายเสวียนเข้าทำงานตามปกติและได้รับรายงานว่าเจ้าหน้าที่เวร ได้แจ้งให้ทราบว่านายสุรกริช มีอาการซึมเศร้า เวียนหัว หน้ามึด ได้นำตัวส่งหน่วยพยาบาลในเรือนจำตอนเช้า ต่อมาพากลับมาที่แดน 4 เวลา 14.00 น. นายเสวียนให้การว่าเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้น หน้าเขียว อาการแบบนี้ไม่ปลอดภัยจึงได้สั่งให้ไปส่งตัวรับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ นายเสวียนจึงหมดหน้าที่เพราะได้ส่งตัวให้อยู่ในการดูแลของแพทย์ แต่ยังคงอยู่ในการควบคุมของทางราชทัณฑ์ ทางโรงพยาบาลไม่ได้แจ้งสาเหตุการเสียชีวิตและต่อมาได้แจ้งให้ทางพนักงานท้องที่ทราบที่สถานีตำรวจประชาชื่น และได้แจ้งให้มาชันสูตรศพ และให้การกับพนักงานสอบสวนในคดีแล้ว

ทนายผู้คัดค้านได้ซักถามนายเสวียนได้ใจความว่า ในขณะที่พบนายสุรกริชที่ถูกนำตัวกลับมาที่แดน 4 ไม่พบว่ามีสายน้ำเกลือ หรือการเจาะเข็มฉีดยา เห็นแต่เพียงสภาพอิดโรย ไม่มีร่องรอยฟกช้ำ แต่เห็นว่าสภาพร่างกายไม่พร้อมก็ขอส่งตัวกลับไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ นายเสวียนไม่ทราบว่านายสุรกริชรู้สึกตัวหรือไม่ มีการส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตอนประมาณบ่ายสองโมงกว่า ๆ นายเสวียนไม่ได้มาเข้าร่วมการชันสูตรพลิกศพ เพราะเป็นหน้าที่ของแพทย์

พยานปากที่ 3 นายวิรัช (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังแดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพ นายสุรกริชเป็นคนสมุทรปราการด้วยกันจึงให้ความช่วยเหลือกัน ก็เลยให้มาอยู่ในห้องพักในเรือนนอน (บ้าน) ด้วยกัน นายสุรกริชเป็นคนพูดน้อย ไม่มีเรื่องกับใคร ไม่ทะเลาะกับใคร มักจะอยู่ด้วยกันเกือบตลอดเวลา นายสุรกริชกินยาเบาหวานอยู่ตลอด โดยเอายามาฝากไว้ในตู้เพราะนายสุรกริชยังไม่มีตู้เก็บของ ไม่เคยพูดว่าจะทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวเองแต่อย่างไร วันเกิดเหตุ วันที่ 28 สิงหาคม นายสุรกริชลงมาจากเรือนนอนไม่ได้ ต้องมีคนพาลงมาเห็นว่าเพราะไม่สบาย พยานก็ให้ผู้ต้องขังอื่นพานายสุรกริชลงมาแล้วนำส่งหน่วยพยาบาลในเรือนจำเพื่อนำไปรักษาในตอนเช้า ต่อมาก็มีนายสุรกริชถูกเข็นใส่รถนั่งมา พยานเห็นว่าอาการไม่ดี ให้มานอนหน้าตู้ใกล้ๆ แดน 4 เห็นว่ามีรอยฉีดยา มีเลือดตามตัวและตามเสื้อที่ใส่เปียกเลือด ก็เปลี่ยนเสื้อให้ และเห็นรอยช้ำตามหน้าอกหลายแห่ง ตามภาพถ่ายศพผู้ตายที่ทนายให้พยานดู แล้วก็ไปแจ้งผู้ควบคุมแดน 4 ให้นำตัวไปรักษา นายสุรกริชไม่ได้พูดอะไรกับนายวิรัชเลย เพราะอาการหนัก พูดไม่ไหว นายวิรัชไม่เคยโกรธเคืองกับนายสุรกริชและได้ให้การกับพนักงานสอบสวนแล้ว

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [338.43 KB]