คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) สมัยประชุมที่ 28 สมัยสามัญ การอภิปรายทั่วไป วาระ 4 สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่คณะมนตรีควรใส่ใจ (การอภิปรายทั่วไป) คำแถลงของ นส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ในนาม Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA) วันอังคารที่ 17 มีนาคม 2558
ท่านประธาน, FORUM-ASIA ขอแสดงความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เสื่อมโทรมลงในหลายประเทศในเอเชีย
เราขอเรียนให้ที่ประชุมคณะมนตรีได้ทราบเกี่ยวกับการใช้กลไกยุติธรรมเพื่อปราบปรามเสียงที่เห็นต่าง เพื่อขจัดฝ่ายค้าน และเพื่อคุกคามผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ในมาเลเซีย และมัลดีฟส์ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านได้ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลานาน ภายหลังการไต่สวนคดีที่ละเมิดหลักการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมระหว่างประเทศ และปราศจากกลไกคุ้มครองสิทธิที่เหมาะสม
นอกจากนั้น รัฐยังปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์การไต่สวนคดีเหล่านี้ มีการจับกุมผู้สนับสนุนนาย Mohamed Nasheed ผู้นำพรรคฝ่ายค้านในมัลดีฟส์ ส่วนในมาเลเซีย มีการอ้างพระราชบัญญัติการกระทำที่เป็นการล้มล้างระบอบปกครองเพื่อปราบปรามผู้วิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาล กรณีที่มีคำสั่งให้ลงโทษนาย Anwar Ibrahim ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน โดยในกรณีล่าสุด Nurul Izzah Anwar สมาชิกรัฐสภาและลูกสาวของนายอิบราฮิมได้ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 16 มีนาคมในข้อหาล้มล้างระบอบปกครอง แม้ในขณะที่อยู่ในสมัยประชุมของคณะมนตรีชุดปัจจุบัน นับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 มีการอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการกระทำที่เป็นการล้มล้างระบอบปกครองและประมวลกฎหมายอาญาเพื่อจับกุมบุคคลกว่า 40 คนในมาเลเซีย จากการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก นับแต่เดือนพฤษภาคม 2556 มีการจับกุมในกรณีเช่นนี้กว่า 70 ครั้ง
ในเวลาเดียวกันที่ประเทศไทย มีพลเรือนอย่างน้อย 200 คนได้ถูกฟ้องข้อหาต่อศาลทหาร ในบางคดี บุคคลเหล่านี้ได้ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุกเพียงเพราะใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมสามคนถูกตั้งข้อหาละเมิดคำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป และกำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลทหาร
ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 นางสาวภรณ์ทิพย์ มั่นคงและนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม นักกิจกรรมไทยสองคนได้ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลาสองปีและหกเดือนในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีเนื้อหากำกวม
และถูกตีความอย่างกว้างขวาง โดยทั้งสองถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการแสดงละคร นับแต่การทำรัฐประหาร มีการฟ้องคดีหมิ่นฯ อย่างน้อย 20 คดีต่อศาลทหาร
เรายังกังวลกับร่างกฎหมายที่จำกัดสิทธิหลายฉบับซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะซึ่งหากมีการเห็นชอบต่อร่างกฎหมายเหล่านี้ตามเนื้อหาที่เป็นอยู่ทั้งหมด จะยิ่งทำให้สถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมในประเทศเสื่อมทรามลง
ประการสุดท้าย เรายังกังวลเกี่ยวกับรายงานที่เพิ่มขึ้นและข้อกล่าวหาที่ยังไม่ได้ตรวจสอบเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการ การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายในประเทศไทย โดยเฉพาะที่กระทำต่อผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวตามนโยบายปราบปรามการก่อการร้ายและนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่เข้มงวด
ขอบคุณค่ะ ท่านประธาน
Asian Forum for Human Rights and Development
http://www.forum-asia.org una@forum-asia.org