เผยแพร่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558
แถลงการณ์ ขอให้ยุติการคุกคามและการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมในการจัดกิจกรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรง
ตามที่กลุ่มพลเมืองโต้กลับได้มีการจัดกิจกรรมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้ง ในชื่อกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (ลัก) รัก” และในระหว่างการดำเนินกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (ลัก) รัก” ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัวผู้ดำเนินกิจกรรม คือ นายอานนท์ นำภา นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ และนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ไปเเจ้งข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. โดยมีการตั้งข้อกล่าวหาตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง เเละเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำนักกิจกรรมทั้งสี่คนฟ้องคดีต่อศาลทหารต่อไป นักกิจกรรมทั้งสี่คนได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 2.50 น. ผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหาสามในสี่คนยังปฏิเสธไม่ลงชื่อยอมรับเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่ทหารว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) มีความเห็นว่าการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกการเลือกตั้งเป็นการแสดงออกโดยสันติปราศจากความรุนแรง ถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองของรัฐ ซึ่งประชาชนย่อมมีสิทธิในการจัดกิจกรรมการแสดงออกทางความคิดเห็นในการมีส่วนร่วมทางการเมืองตามครรลองของรัฐที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงนี้เป็นสิทธิที่ถูกรองรับไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง ข้อ 19 โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ อันมีผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
แม้ว่ารัฐธรรมนูญที่มีการรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะถูกยกเลิกโดยผลของการรัฐประหาร แต่อย่างไรก็ตามในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวได้รับรองไว้ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้” ด้วยเหตุนี้ การคุกคามสิทธิเสรีภาพในการเเสดงออกในพื้นที่สาธารณะโดยการจับกุมนักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมกิจกรรมและการฟ้องคดีการชุมนุมเกินห้าคนในศาลทหาร นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้เรียกร้องการเลือกตั้งโดยสันติ เเละเป็นการใช้มาตรการลงโทษที่มีความรุนแรงเกินกว่าเหตุ
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเเละองค์กรผู้ลงนามข้างท้ายมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ข้างต้นอย่างยิ่ง จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. รัฐบาลไทยต้องยกเลิกคำสั่งห้ามการชุมนุมเกินห้าคน เเละพิจารณายกเลิกคำสั่งให้นำพลเรือนขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยเฉพาะกรณีการแสดงออกด้วยการชุมนุมโดยสันติโดยเร็วที่สุด
2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรตรวจสอบประกาศของคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ที่ให้พิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องสิทธิในการชุมนุมในศาลทหาร รวมทั้งตรวจสอบนโยบาย การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มิให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และสิทธิมนุษยชนโดยรวม
3. องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศเเละต่างประเทศควรร่วมตรวจสอบมาตรฐานสิทธิมนุษยชนไทย โดยการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเคารพสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสรีภาพในการชุมนุม การเรียกร้องให้รัฐบาลทหารไทยยุติการดำเนินคดีต่อผู้ขัดคำสั่ง คสช. เรื่องการชุมนุม เเละเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ให้นำพลเรือนขึ้นพิจารณาคดีในศาลทหาร
ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)