เดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชน และสันติศึกษา
ความรุนแรงในชายแดนใต้เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ สำหรับช่วงปัจจุบันซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี 2547 ก็จะนับเป็นเวลาได้กว่า 11 ปีแล้ว ในช่วงเวลานี้ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 6,000 คน เฉลี่ยประมาณวันละ 1.5 คน หรือ 3 คนใน 2 วัน อย่างไรก็ดี สำนักข่าวหัวเขียวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 รายงานว่า การก่อเกตุรุนแรงในช่วงเดือน พฤศจิกายน ธันวาคม 2557 และมกราคม 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อหนึ่งปีก่อนอย่างชัดเจน ประมาณ เกือบ 50 % และวิเคราะห์ว่าการลดลงเช่นนี้มีสาเหตุสำคัญ 3 ประการคือ 1) ผู้ก่อการหมดกำลังใจ เพราะเริ่มตระหนักว่าความพยายามแบ่งแยกจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกจากประเทศไทยไม่มีโอกาสสำเร็จ 2) เมื่อฝ่ายความมั่นคงระมัดระวังไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่มเติม ผู้ก่อการก็ไม่สามารถสร้างแนวร่วมเพิ่มเติมได้ 3) แกนนำของฝ่ายก่อการแย่งชิงการนำกันเอง จึงอ่อนแรงลง
อ่านแล้วดูจะมีกำลังใจขึ้นหรือไม่ แต่ก็เกรงว่าจะเป็นมุมมองของฝ่ายความมั่นคงเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม หากความรุนแรงลดลง ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับรายงานดังกล่าวที่บอกว่า เป็นเรื่องดีที่ไม่มีแรงกดดันให้รัฐบาลต้องรีบร้อนแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ “ไม่ต้องเร่งรัดเปิดเวทีพูดคุยสันติภาพให้อึกทึกคึกโครม” ที่ไม่เห็นด้วยเพราะว่าถึงความรุนแรงจะลดลงตามที่รายงาน แต่ความสูญเสียก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นว่าดีแล้วที่ไม่ต้องเร่งรัดเปิดเวทีพูดคุยสันติภาพนั้น อันที่จริงเวทีดังกล่าวได้เปิดอย่างเป็นทางการมา 2 ปีแล้ว มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ 2 ครั้ง และกว่า 8 เดือนหลังยึดอำนาจ คสช. ก็ยังไม่ได้เข้าสู่เวทีนี้เลย (อ่านต่อในไฟล์แนบ)