[:th]CrCF Logo[:]
เเม่สามเเลบ

เเม่สามเเลบ… พื้นที่ที่ถูกลืม ตอนที่ 2

Share

บ้านเเม่สามเเลบ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้

“สะพานไม่เเข็งเเรง ถนนไม่ดี ไฟฟ้าก็ไม่มา”

นอกจากเรื่องที่คนในหมู่บ้านไม่มีสัญชาติ หรือมีเเค่บัตรหมายเลข 0 ที่ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้เเล้ว ยังมีปัญหาเรื่องปัจจัยพื้นฐานอย่าระบบการสาธารณูปโภคที่นี่ยังห่างไกลกับความเจริญมากนัก

“หมู่บ้านที่มีเเค่เสา ไม่มีไฟฟ้าใช้ ถนนที่ถือว่าเป็นเส้นหลักเเละเป็นเส้นเดียวที่คนในหมู่บ้านใช้ในการเดินทางเข้าออกก็ไม่มั่นคง เพราะถ้ามีดินถล่ม ก็จะปิดทางเข้าออกเเละสะพานเล็กๆที่ใช้เคลื่อนย้ายรถมอเตอร์ไซค์ ก็รอวันที่ฤดูน้ำหลากมาพัดพาไป อย่าถามถึงรถยนต์เพราะไม่สามารถผ่านน้ำที่ท่วมสูง เมื่อรถยนต์ผ่านไม่ได้ การเดินทางของเด็กๆไปโรงเรียนก็ต้องหยุดชะงัก การค้าขายหรือเศรษฐกิจการขนของข้ามเรือก็ยากขึ้น รายได้ของคนในหมู่บ้านก็ลดลง” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่า

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เล่าต่อว่า ตอนนี้หมู่บ้านของเราไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้พลังงานโซล่าเซลล์เเทน เพราะถ้าย้อนกลับไปตอนเเรกหมู่บ้านจะได้มีไฟฟ้าใช้เเล้ว มีการขนเสาไฟฟ้ามาติดตั้ง เเต่ได้เกิดการเเตกเเยกกันระหว่างชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธเเละชาวกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์ที่อยู่ของฝั่งพม่า ก็เลยขนเสาไฟฟ้ากลับ ประกอบกับครั้งที่สอง มีข่าวเรื่องการลักลอบตัดไม้ที่สาละวิน ก็เลยไม่มีการมาติดตั้งตลอดมา เพราะเจ้าหน้าที่กลัวจะมีปัญหาระหว่างการติดตั้ง เเต่นายอำเภอบอกว่าไฟฟ้ากำลังจะเดินทางมาภายในปี 2558

“เราใช้เส้นทางนี้ประจำ ถ้าเส้นทางดี สะพานดีก็สบายใจเเล้ว”ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าทิ้งท้าย

ทนายความอิสระ เสริมเรื่องปัญหาที่ไม่มีไฟฟ้าใช้นี้ว่า เดิมการที่ไฟฟ้าจะเข้าไปนั้น จะมีต้องมีโครงการเเละเขียนเเบบเข้าไปแล้ว   ซึ่งถ้าส่วนกลางไม่อนุมัติก็จะไม่สามารถนำไฟฟ้าเข้าไปได้ เเละอาจเพราะหมู่บ้านอยู่ในเขตพื้นที่อุทยาน การเข้ามาติดตั้งเสาไฟฟ้าในเขตอนุรักษ์เช่นนี้อาจจะทำไม่ได้  อีกทั้งคนในหมู่บ้านมีกว่า 1,000 คน อาจจะไม่เยอะหรือถ้าลงทุนไปก็อาจไม่คุ้มทุน ซึ่งความจริงเเล้วการไฟฟ้าเป็นหน่วยงานของรัฐที่จะมาอ้างเรื่องการคุ้มทุนไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญปีพ.ศ.2550  กำหนดชัดเจนเเล้วว่าโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าไฟฟ้า หรือถนน เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลที่ต้องดำเนินการให้ทั่วถึง ถึงเเม้จะเป็นเขตในพื้นที่อุทยาน ก็สามารถที่จะทำเรื่องขออนุญาตจากกรมป่าไม้ได้ เป็นต้น

จากหมู่บ้านกลายเป็นเขตประกาศพื้นที่อุทยาน

“เพราะเราไม่มีบัตร ไม่มีสิทธิ เขาก็ไปตั้งอุทยานเลย ไฟไหม้เพราะหาสาเหตุไม่ได้ เเต่คนที่ลำบากคือชาวบ้าน”

วาวินเล่าต่อถึงเหตุการณ์ก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานว่า เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ในหมู่บ้านถึง 4 ครั้ง ในช่วงระหว่างพ.ศ.2528-2540 ถึงเเม้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่มีคนตายหรือได้รับบาดเจ็บ เเต่ปัญหาความเดือดร้อนอื่นๆก็ตามมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาเอกสารสูญหาย ซึ่งหมายถึงเอกสารสิทธิที่ชาวบ้านพอจะมีนั้นก็สูญหายไปพร้อมๆกัน สาเหตุบางครั้งสามารถระบุได้ว่าเป็นความไม่รอบคอบของชาวบ้าน ประกอบกับบ้านที่อยู่ติดกันเเละปูหลังคาบ้านด้วยใบตองตึง ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว เเต่บางครั้งก็หาสาเหตุที่เเท้จริงไม่ได้ซึ่งมีข้อสันนิษฐานมากมายจากเรื่องสาเหตุจากความขัดเเย้งตามเเนวชายเเดนเเต่ผลกระทบก็ได้สร้างความเสียหายให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดนั้นมีชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 140 หลังคาเรือน ซึ่งก่อนที่หมู่บ้านจะโดนไฟไหม้ สภาพชุมชนค่อนข้างเจริญ หรืออาจเรียกว่า ดีกว่าทุกยุคทุกสมัย กล่าวคือ มีผู้คนอาศัยเป็นจำนวนมากกว่า1,000คน มีคนเดินทางค้าขายผ่านไปมาทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งบ้านเรือนได้สร้างกันไว้อย่างดีและเป็นระเบียบเรียบร้อย

หลังจากเกิดไฟไหม้ครั้งที่ 4 แล้ว สภาพชุมชนก็ได้เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นจุดศูนย์กลางของหมู่บ้าน กล่าวคือ หน่วยงานรัฐ คือองค์การบริหารราชการระดับตำบล (อบต.) ได้เข้ามามีบทบาทจัดสรรที่อยู่และที่พักชั่วคราวแก่ชาวบ้านที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นคนไทย ( มีสัญชาติไทย ) ประมาณ 15 หลังคา และเป็นคนไทใหญ่ โดยการจัดการของ อบต. คือให้ชาวบ้านไปสร้างที่พักชั่วคราวในลำห้วยแม่สามแลบ แล้วจะทำการปรับที่และจะจัดสรรที่ให้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม แต่หลังจากมีการปรับที่เสร็จแล้วทาง อบต. เพียงแต่จัดที่ให้แก่บางคนและบางที่เท่านั้น

“เขาให้คนที่มีบัตรประชาชนที่เป็นคนไทย คนที่บ้านโดนไฟไหม้ก็ได้บ้านคืน เเต่คนที่ไม่มีบัตรก็ไม่ได้อะไรเลย ก็ย้ายไปอยู่ตามลำห้วยเเทน ช่วงหลังก็ไม่ให้สร้างบ้านสองฟากเเล้วอุทยานอ้างว่าควบคุมยาก”วาวินเล่า

ประกอบกับเรื่องปัญหาไม้ในพื้นที่ที่มีผู้มีอำนาจเข้ามาลักลอบตัดไม้สาละวิน ซึ่งป่าสาละวินถือเป็นป่าสงวนเเละเป็นถิ่นของไม้สักทอง ที่มีความสวยงามเเละเหมาะเเก่การนำไปธุรกิจอย่างการสร้างบ้าน หรือเฟอร์นิเจอร์ตบเเต่ง จึงมีผู้คนมากมายที่อยากจะเข้ามาตัดไม้ออกไป แต่ชาวบ้านในพื้นที่กลับโดนกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่เข้าไปตัดไม้ทำลายป่า ทั้งๆที่จริงแล้ว มีชาวบ้านส่วนน้อยเท่านั้นที่ถูกจ้างไปเป็นแรงงานในการตัดไม้ ข่าวต่างๆจึงออกมาในแง่ที่ชาวบ้านเป็นคนผิด ซึ่งเรื่องนี้นอกจากชาวบ้านจะถูกมองในแง่ที่ไม่ดีแล้ว ยังส่งผลถึงเรื่องปัญหาสัญชาติของชาวบ้านด้วย

ต่อมาจึงได้มีการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย จึงมีการประกาศเขตอุทยานเเห่งชาติสาละวิน เมื่อปีพ.ศ.2537พื้นที่หมู่บ้านเเม่สามเเลบตั้งเเต่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านจนถึงท่าเรือสาละวิน ก็ถูกประกาศเป็นพื้นที่ของอุทยาน โดยเเบ่งชัดเจนว่าถนนเเละพื้นที่เกือบทั้งหมดยกเว้นหลังหมู่บ้านขึ้นไป ให้เป็นของเขตอุทยานสาละวิน เเละอนุญาตให้ชาวบ้านอาศัยอยู่บริเวณริมห้วยได้

โดยอุทยานเเห่งชาติสาละวินนั้น มีเนื้อที่โดยประมาณ 450,950 ไร่ หรือ 721.52 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอสบเมยเเละอำเภอเเม่สะเรียง จังหวัดเเม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ติดชายเเดนระหว่างประเทศไทยเเละประเทศพม่า

ถึงเเม้จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยานเเล้วนั้น เเต่การลักลอบตัดไม้สักทองของนายทุนยังคงมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อย่างข่าวการลักลอบตัดไม้สักทองกว่า 100 ท่อนที่สามารถยึดเก็บมาเป็นของกลางเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 สิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเเล้ว  ยิ่งสร้างความขัดเเย้งให้เกิดขึ้นในใจระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานเเละชาวบ้านผู้ที่อยู่ในพื้นที่อย่างสุจริต

02

ต้องหนีต่อไปเรื่อยๆเพราะความไม่แน่นอน

เมื่อประกาศเป็นเขตอุทยานชาวบ้านจึงต้องอพยพมาอยู่บริเวณริมห้วย อีกทั้งอยู่ใกล้บริเวณป่าที่มีดินที่พร้อมจะถล่มตลอดเวลาเมื่อมีฝนตกหนักๆหรือมีน้ำป่า

“บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังที่ 5 แล้ว เพราะหนีกับไฟไหม้มา 3 ครั้ง หนีกับน้ำมา 2 ครั้ง ครั้งเเรกน้ำพัดบ้านหายไปครึ่งหลัง ยอมรับว่าเครียดมากเพราะต้องหนีมาเรื่อยๆ”วาวินเล่า

นอกจากเรื่องไฟไหม้เเล้ว ยังมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม เพราะเมื่อชาวบ้านมาอยู่ตามริมห้วย ที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดเวลา ถ้าช่วงไหนฝนตกหนัก อย่างเดือนกันยายนนี้ น้ำจะหลาก เเละมากกว่าเดือนอื่นๆ ทำให้น้ำท่วมสูงขึ้น ชาวบ้านก็จะได้รับผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะบ้านชำรุดเสียหาย บางส่วนของบ้านลอยหลุดไปกับน้ำ หรือเเม้กระทั่งบ้านจมลงไปในน้ำ

“เมื่อน้ำท่วม ดินถล่มก็ตามมา”วาวินเล่า

วาวินเล่าต่อว่า เพราะพื้นที่ในหมู่บ้านเเม่สามเเลบนั้น เเบ่งเป็น 2 ส่วนโดยยึดเส้นถนนที่ผ่ากลางหมู่บ้าน โดยเมื่อเข้าไปในหมู่บ้าน พื้นที่ด้านขวามือจะเป็นพื้นที่ของอุทยานที่ห้ามชาวบ้านเขาไปปลูกที่อยู่อาศัยหรือทำไร่ต่างๆ ส่วนด้านซ้ายมือ เป็นพื้นที่ริมห้วย จะเป็นที่พักอาศัยของชาวบ้านในปัจจุบัน โดยพื้นที่ที่จะเกิดดินถล่มได้นั้น จะเป็นพื้นที่ของอุทยาน ที่ดินจะสามารถถล่มลงมาทับบ้านเรือนของชาวบ้านได้อย่างง่ายดาย เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กัน

“อย่างน้ำท่วมปี53 มี40 กว่าครอบครัวต้องอพยพไปที่อื่นเเละจากเหตุดินถล่มทำให้มีผู้สูญหายไป 1 คนเเละบ้านเรือนเสียหายไป 8 หลังคาเรือน”หัวหน้ากลุ่มไทใหญ่ เล่าต่อ

หัวหน้ากลุ่มไทใหญ่ เล่าว่า ตนเคยคิดว่าจะออกไปซื้อที่ดินข้างนอก เพราะจะได้มีที่ดินเป็นของตัวเอง เเละอยากให้ลูกได้มีที่อยู่อย่างถาวรเเต่ก็เเพงเกินไป  มีเงินไม่พอ  เเต่ถ้าอยู่ที่นี่ ก็ต้องอยู่พร้อมกับความระเเวง ต้องหนีน้ำเเละระวังดิน

“ถ้าขอความช่วยเหลือจากใครได้ จะขอเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยอย่างถาวร เเละที่ดินที่ใช้ทำกิน เราไม่ต้องออกไปหากินข้างนอก มีเป็นของตัวเอง ปลูกพืชกินเอง ไม่ใช่ตื่นเช้ามาต้องซื้อกินอย่างทุกวันนี้ เพราะพื้นที่ใช้สอยในหมู่บ้านเเทบจะไม่มีเลย”

เมื่อกฎอัยการศึกเข้ามาครอบคลุมเเม่สามเเลบ

นับเป็นเวลากว่า 100 ปีเเล้วที่เกิดการประกาศกฎอัยการศึกขึ้นในประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ.2457 เเละยังคงใช้ฉบับนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรง ปรับเปลี่ยนเเก้ไขจากเดิมที่เป็นกฎอัยการศึก ร.ศ.126 เมื่อปีพ.ศ.2450 เพื่อให้มีความเหมาะสมเเละสอดคล้องกับประเทศไทยมากขึ้น

การประกาศใช้กฎอัยการศึกในไทยนั้นเกิดขึ้นเเล้ว 8 ครั้ง บางครั้งจะประกาศใช้ทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย เเละบ่อยครั้งจังหวัดที่อยู่ชายเเดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มักจะได้รับผลกระทบจากการประกาศกฎอัยการศึกเพื่อควบคุมพื้นที่ในจังหวัดนั้นๆ อย่างเช่นจังหวัดเเม่ฮ่องสอน จังหวัดเล็กๆที่อยู่ในอ้อมกอดของขุนเขาทางภาคเหนือของประเทศ ที่เชื่อมติดกับประเทศพม่า

เเม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกทั่วทั้งจังหวัด ครอบคลุม 7 อำเภอคืออำเภอเมือง อำเภอเเม่สะเรียง อำเภอขุนยวม อำเภอปาย อำเภอเเม่ลาน้อย อำเภอปางมะผ้า เเละอำเภอสบเมย  มายาวนาน ถึงเเม้จะมีการยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกบ้างบางช่วงเวลา เเต่จากการศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา พบว่า เเม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึกตั้งเเต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2527 จนถึงปัจจุบัน นับเวลารวมกว่า 30 ปี ต่อเนื่องกัน

โดยเฉพาะอำเภอสบเมย มีพื้นที่ที่ใกล้เเม่น้ำสาละวิน ซึ่งถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความสำคัญในการติดต่อค้าขายของคนในพื้นที่อย่างบ้านเเม่สามเเลบ ตำบลเเม่สามเเลบ อำเภอสบเมย จังหวัดเเม่ฮ่องสอน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการประกาศกฎอัยการศึกครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย พลตำรวจเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก จะส่งผลกระทบถึงชาวบ้าน

“กฎอัยการศึกเพิ่งมีเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา”นางพอดี ชลธารกุล ชาวบ้านหมู่บ้านเเม่เเลบเล่า ซึ่งเป็นความเข้าใจตรงกันของชาวบ้านในหมู่บ้านเเม่สามเเลบ เพราะจากการเก็บข้อมูล ก็ตอบเป็นเสียงเดียวกัน ว่ากฎอัยการศึกเพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ถึงเเม้ว่าจะประกาศมานานเกือบ 3 ทศวรรษ

“หลังการประกาศกฎอัยการศึกที่ผ่านมาพี่รู้สึกเฉยๆเพราะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเราดำเนินชีวิตแบบนี้มานานเพราะตนนั้นไม่ได้ประกอบอาชีพขับเรือหรือรับจ้างขนของ ซึ่งจะได้รับผลกระทบ และก็ไม่ได้เข้าไปในป่า”

นางพอดีเล่าต่อว่า ในพื้นที่นั้น มีทหารเข้ามาตั้งด่านมานานเเละตั้งอยู่อย่างถาวร ตั้งเเต่ที่ตนจำความได้ ซึ่งด่านนั้นจะตั้งอยู่ที่ริมเเม่น้ำสาละวิน เพียงจุดเดียวเท่านั้น เพราะหมู่บ้านมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว เเต่บางครั้งก็มีทหารอีกกลุ่มมาตั้งด่านอยู่ที่ทางเข้าหมู่บ้าน เเต่มาเพียงน้อยครั้ง ซึ่งถือเป็นปกติที่ทหารจะดูเเลเรื่องความปลอดภัยของพื้นที่ชายเเดน ซึ่งไม่ได้เข้ามาตรวจคนบ้านหรือยึดอะไรไป เหตุการณ์ทุกอย่างไม่มีการเปลี่ยนเเปลงถึงเเม้จะประกาศกฎอัยการศึก

09

“ความสัมพันธ์เรากับทหารคือต่างคนต่างอยู่เราก็ไม่ได้ทำผิดอะไรเราอยู่เฉยๆเขาก็ไม่ได้มาทำอะไรเขาไม่ยุ่งเราไม่ยุ่งเวลาเจอกันก็ทักทายปกติรวมทั้งเวลาที่มีการประชุมหมู่บ้านทุกเดือนไม่ว่าจะทหารตำรวจเจ้าหน้าที่อุทยานเองก็จะเข้ามาร่วมประชุมตลอดโดยจะกำชับชาวบ้านห้ามตัดไม้ทำลายป่าเเละห้ามเรื่องยาเสพติด”พอดีเล่า

ถ้าย้อนไปเมื่อก่อน พอดีเล่าว่า เเรกๆที่คนอพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ไม่มีการต่อสู้ใดๆเกิดขึ้น ไม่มีเจ้าหน้าที่ทหารมาไล่ให้ออกจากพื้นที่ เเต่มีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เข้ามาไล่จับคนในหมู่บ้านอยู่บ่อยครั้ง เเละจับคนไปครั้งละหลายคน

“ส่วนใหญ่จะจับเฉพาะผู้ชาย ตอนนั้นจับไปทีเดียว 6 คน ติดคุกอยู่ 2 ปี เพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่า ไม่มีบัตรหรือเอกสารสิทธิใดๆหลังจากนั้นก็มีคนโดนจับเรื่อยๆ ซึ่งจะโดนจับขณะกำลังทำงานอยู่ในหมู่บ้าน เเต่บางครั้งถ้าเจ้าหน้าที่รู้ว่าบ้านไหนมีผู้ชาย ก็จะขึ้นมาจับ”

พอดีเผยว่า คนที่โดนจับคือคนที่เข้ามาพร้อมกัน ซึ่งการที่พวกเขาโดนจับนั้น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเเค่สอบถามถึงบัตรประชาชน ซึ่งถ้าไม่มีก็โดนจับไปเลย โดยไม่ได้สนใจว่าเขาอยู่ที่นี่มากี่ปีเเล้ว เเละอีกข้อหาคือนำพาคนต่างด้าวเข้ามา ซึ่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็จะไปประกันตัว

ส่วนทหารในพื้นที่เคยมีปัญหาการทะเลาะวิวาทกันบ้างกับชาวบ้าน เเต่เป็นปัญหาส่วนตัวในการเเย่งจีบสาวกัน ส่วนการรื้อบ้านหรือการปิดล้อมบ้าน ยังไม่เคยเกิดขึ้นโดยในอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเหล่านั้นที่เข้ามาพื้นที่ ก็ไม่มีการอ้างกฎอัยการศึกในการดำเนินการเรื่องใดๆเลย จนกระทั่งปัจจุบัน ถึงเเม้จะมีการประกาศกฎอัยการศึกของคสช. เเต่ยังไม่มีใครโดนจับเพราะอ้างกฎอัยการศึกเลย

“ได้ยินมาว่าหมู่บ้านข้างๆ ทหารอ้างกฎอัยการเข้าไปรื้อบ้าน เราก็กลัวนะ แต่คิดไปคิดมาเขาไม่น่าจะทำ เพราะเราไม่มีที่อยู่แล้ว”

เพราะหลังประกาศกฎอัยการศึก ในตำบลเเม่สามเเลบ ซึ่งมีทั้งหมด 10 หมู่บ้านก็โดนทหารรื้อบ้านไปเเล้ว 2 หมู่บ้านคือห้วยเเห้งเเละกองมูเดอ โดยการรื้อเอาไม้ไป หรือไม้ที่อยู่ใต้ถุนบ้านก็เอาไปด้วย ซึ่งชาวบ้านก็กลัว เพราะบ้านที่อยู่อาศัยนั้น ไม่มีเลขที่บ้าน เเละยังมีไม้ที่ซื้อมาเป็นเเผ่นๆอยู่ ไม่รู้จะเก็บอย่างไร ก็กลัวที่จะโดนเอาไป

ผลกระทบต่อชาวบ้านหลังประกาศกฎอัยการศึก

เมื่อเขตพื้นที่ติดต่อกับสายน้ำสายสำคัญ ที่เชื่อมต่อความสัมพันธ์ของคนไทยกับประเทศพม่า ผ่านธุรกิจการค้าขาย เรือจึงเป็นพาหนะที่จำเป็นในการขนย้ายสินค้า หรือการเดินทางสัญจรไปมาทั้งคนในพื้นที่เเละผู้มาเยือน เเต่ครั้งประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทหารในพื้นที่รับคำสั่งในการสั่งห้ามประชาชนในพื้นที่ห้ามเดินเรือ

“หลังจากประกาศกฎอัยการศึกไม่นาน หัวหน้าชุดทหารพรานเข้ามาแจ้งผมว่าสถานการณ์ไม่ค่อยดี เบื้องบนสั่งห้ามเรือวิ่งเเละไม่มีกำหนดเปิด”ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เล่า

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า ช่วงที่หยุดเดินเรือ ชาวบ้านก็ได้ผลกระทบ เพราะไม่ได้ทำมาหากิน ทั้งคนขับเรือเอง หรือชาวบ้านไม่ได้ขายของ ท่าเรือก็เงียบ เพราะไม่มีใครเข้ามา ตนจึงปรึกษากับผู้นำในหมู่บ้าน ถึงการเข้าไปพูดคุยต่อรองกับทหารพราน ที่กรมทหารที่ 36 ตำบลเสาหิน อำเภอเเม่สะเรียง ถึงการขอให้เรือสามารถสัญจรได้ตามปกติขณะที่เรากำลังจะไปต่อรองนั้น ตอนเย็นก็มีชุดประสานชายเเดนไทย-พม่า ฝ่ายความมั่นคง เข้ามาพูดคุยให้คำปรึกษาว่า ถ้าจะทำก็รีบทำ เเต่เมื่อถึงตอนเช้า ทางกรมทหารพรานก็โทรมาเเจ้งว่า สามารถเดินเรือได้ 3 วัน

“เราอยากต่อรอง เพราะเคยได้ยินจากทหารพรานในพื้นที่ว่าหมู่บ้านอื่น มีการต่อรองกับทหาร หลังจากที่ประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งถ้าในเรื่องที่ขัดความกับเป็นปกติของชาวบ้าน ก็จะมีการอนุโลมกันบ้างในบางที่ โดยหมู่บ้านของเราเอง เมื่อได้รับคำสั่งมาก็ทำตาม เเต่ช่วงหลังบางคนถึงกับไม่มีเงินที่จะซื้อข้าวกิน เราจึงคิดว่าถ้ายกเลิกกฎอัยการศึก เราก็น่าจะวิ่งเรือได้ตามปกติ”

ทีเซ ไม่มีนามสกุล ชาวบ้านหมู่บ้านเเม่สามเเลบที่ประกอบอาชีพขับเรือ เล่าว่า เริ่มเเรกสั่งปิดห้ามเดินเรือเลยเกือบ 2 สัปดาห์ เเล้วก็เปิดให้วิ่ง 3 วันคือวันพฤหัสบดี วันศุกร์เเละวันเสาร์เปิดได้ไม่นานก็สั่งให้ปิดยาวอีก 1 เดือน หลังจากนั้นก็ประกาศใหม่ให้เดินเรือได้ในวันจันทร์ วันพุธเเละวันศุกร์ในระยะเวลาเกือบเดือน รวมเวลาที่ให้หยุดวิ่งทั้งสิ้นเกือบ 2 เดือน เเละช่วงนี้ก็เปิดให้เรือวิ่งได้ตลอด

“              ตอนนั้นลำบากมากๆ ครอบครัวมีกันอยู่ 9 คนทั้งลูก หลาน เเละสะใภ้ ถ้าไม่เดินเรือก็ไม่มีเงินส่งให้ลูกเรียน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในบ้านด้วยเสียรายได้กว่าหมื่นบาทต่อเดือน ต้องอาศัยเงินเก็บที่มีอยู่บ้าง หรือรับจ้างเล็กๆน้อยๆ ซึ่งถ้าห้ามเดินเรือนานกว่านี้ ก็จะไม่มีเงินเลย”

ทีเซเล่าต่อว่าปกติ ตนจะเดินเรือสัปดาห์ละ 3 วันหรือเดือนละ 15 วัน โดยเรือจะมีขนาดกลาง บรรทุกได้ถึง 10 คน ถ้าว่างจากการขนของรับจ้างเเล้วก็จะตระเวนหาผู้โดยสารทุกวัน โดยคนขับเรือในหมู่บ้านจะมีถึง 20 คน เเต่ลูกค้าจะมีจำนวนมากโดยไม่ต้องเเย่งกัน ระยะทางที่ไกลสุดก็จะเก็บค่าเรือได้ถึง 600  บาท โดยค่าเรือจะขึ้นอยู่กับระยะทางในการขนส่งของเเละเป็นเรือโดยสารเช่น เเม่ละอู แม่ตะวอ สบเมย แม่สะเกิบ ออเลาะ แม่ดึ๊ก นอปะนา จอท่า สะคอท่า และผะจอเป็นฝั่งพม่า เป็นต้น ซึ่งปกติการเดินทางไปยังที่ต่างๆนั้นต้องใช้เรือเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเดินทางด้วยรถได้เพราะไปไม่ถึง เเละเรือก็จะสะดวกกว่า ช่วงที่ปิดการเดินเรือนั้น นอกจากคนขับเรือจะขาดรายได้เเล้ว ยังส่งผลกระทบถึงผู้โดยสารจำนวนมาก ที่ต้องเดินทางด้วยเรืออีกด้วย

นอกจากการห้ามเดินเรือที่เป็นผลกระทบจากการประกาศกฎอัยการศึกเเล้วนั้น ก็ยังมีการประกาศขอยึดคืนพื้นที่ของชาวบ้านให้เป็นพื้นที่อุทยานเเห่งชาติสาละวิน โดยที่ไม่มีการบอกชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว มีเเต่เพียงป้ายไวนิลสีขาว เขียนด้วยตัวอีกษรสีเเดงว่า “พื้นที่ตรวจยึด” เเละลงท้ายข้อความด้วยว่า “พื้นที่นี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดเเล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดมายึดถือเเละครอบครอง”

จากการที่ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสอบถามถึงการติดป้ายดังกล่าว ไปยังอุทยานเเห่งชาติสาละวิน ได้ความว่าเป็นประกาศของคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ(คสช.) ให้ยึดพื้นที่คืน ซึ่งชาวบ้านได้นัดเจรจากับหัวหน้าอุทยาน เเต่การเจรจานั้นยังไม่เกิดขึ้น เพราะไปกี่ครั้งก็ไม่เคยเจอหัวหน้าอุทยาน

เมื่อพิจารณาคำสั่งคณะรักษาความสงบเเห่งชาติที่ 64 / 2557 เรื่องการปราบปรามเเละการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยมีสาระสำคัญที่ว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม กองกำลังรักษาความสงบเเละเรียบร้อย กองกำลังป้องกันชายเเดนของกองทัพบก เป็นต้น ดำเนินการปราบปรามเเละจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือครอบครอง ทำลาย หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียเเก่สภาพป่า รวมทั้งสกัดกั้นการลักลอบตัดไม้มีค่าหรือไม้หวงห้าม การนำเข้าเเละส่งออกไม้ผิดกฎหมาย ตลอดเเนวชายเเดน ตลอดจนปราบปรามเครือข่ายกระบวนการตัดไม้ทำลายป่าในทุกหมู่บ้านเเละชุมชนทั่วประเทศ ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 ประกอบกับคำสั่งที่ 66 / 2557เรื่องเพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เเละนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน

โดยคำสั่งที่ 66/2557 ที่ออกมาเเก้ไขเพิ่มเติมนั้น เพราะคำสั่งที่ 64/2557 ไม่ได้สนใจถึงความเป็นมาดั้งเดิมของพื้นที่ หรือไม่ได้นึกถึงกลุ่มคนที่อยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่อุทยาน เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เเละลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม เเละสิ่งเเวดล้อมของประเทศโดยรวมคสช.จึงได้เพิ่มสาระสำคัญมาในประการที่ 2 ของคำสั่งที่ 66/2557 ที่ว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย เเละผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ จะต้องดำเนินการสอบสวนเเละพิสูจน์ทราบเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมเเละดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ประกอบกับมาตรการเเละนโยบายของกรมป่าไม้ที่ต้องการจะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็นร้อยละ 40 จากเดิมมีเเค่ ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิดว่าอีกร้อยละ 10 ที่จะหาเพิ่มนั้นจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากการยึดที่ดินคืนจากชาวบ้าน ซึ่งบางคนอาจจะเป็นผู้ที่อยู่ดั้งเดิมมาก็ตามที

การที่หมู่บ้านเเม่สามเเลบโดนปิดป้ายประกาศอยู่นั้น  เจ้าหน้าที่อุทยานจะต้องยึดตามคำสั่งที่ 66/2557 ที่ว่า “การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย เเละผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้” ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านตรงกับลักษณะที่กล่าวมาคือไม่มีที่ดินทำกิน เเละอาศัยอยู่ในพื้นที่มาก่อนคำสั่งนี้บังคับใช้

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า พื้นที่ที่อุทยานเตรียมประกาศเพิ่มหรือขอยึดนั้น จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในบริเวณท้ายหมู่บ้านไปจนถึงบนดอย ซึ่งเป็นอยู่อาศัยเเละพื้นที่ทำกินของชาวบ้านกว่า 8 ครัวเรือน โดยที่ชาวบ้านเหล่านั้นเองยังไม่รู้ตัว โดยพื้นที่นี้ จากเดิมที่อุทยานได้ตกลงกับชาวบ้านเเล้วว่าตรงไหนให้ชาวบ้านอยู่ได้ เเละตรงไหนเป็นพื้นที่ของเขตอุทยาน ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดนั้นชาวบ้านได้เข้ามาอยู่ก่อนอุทยานฯชาวบ้านก็ไม่พอใจ เพราะเห็นว่าที่ตรงไหนเป็นที่ทำกินของชาวบ้านก็ควรให้ชาวบ้านไป เเละเป็นการยึดพื้นที่ที่ไม่มีการบอกกล่าวชาวบ้านเลย

“เราจะต่อรองว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อน จะยึดไม่ได้ ถ้าจะยึดจริงๆ ต้องมาคุยกันก่อน ไม่ใช่อยู่ๆก็ปักป้ายเเล้วยึดไปเลย ต้องลงมาบอก เพื่อเเบ่งให้ชัดว่าตรงไหนของชาวบ้าน ไม่ใช่ว่ายึดภาพถ่ายทางอากาศถ่ายอยู่บนเครื่องบิน ถ้ามันคลาดเคลื่อนนิดเดียวก็ผิด เเต่คุณต้องลงมาฟังชาวบ้าน มาบอกเเนวพื้นที่ให้ชัดเจน เเต่นี่เขาเอาภาพที่อบต.ไปประชุมสภาที่บ้านห้วยเเห้ง เเล้วก็เอาภาพนั้นมายืนยันว่าชาวบ้านยินยอมที่จะให้ประกาศ

พื้นที่ ซึ่งเป็นการเอาภาพมาใช้เป็นเท็จ เราจึงต้องต่อต้านว่าเขาไม่พูดความจริง”