[:th]CrCF Logo[:]
เเม่สามเเลบ

เเม่สามเเลบ… พื้นที่ที่ถูกลืม ตอนที่ 1

Share

ความเป็นมาของพื้นที่

หมู่บ้านเเม่สามเเลบ ตำบลเเม่สามเเลบ อำเภอสบเมย จังหวัดเเม่ฮ่องสอน เดิมชื่อซอเเหละทะ เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ตามไหล่เขา มีที่ราบเพียงเล็กน้อยตามลำห้วย โดยมีอาณาเขตทางทิศเหนือติดกับบ้านท่าตาฝั่ง ทิศใต้ติดกับเขตบ้านกอมูเดอ ทิศตะวันออกติดกับเขตบ้านเเม่สองเเคว เเละทิศตะวันตกติดกับเเม่น้ำสาละวิน ที่กั้นพรมเเดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า

หมู่บ้านเเม่สามเเลบเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2504 ขณะที่ก่อตั้งนั้นมีบ้านอยู่เพียง 3 หลัง ซึ่งชาวบ้านจะตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งเเม่น้ำสาละวิน หลังจากที่การค้าขายเเละการทำไม้ชายเเดนเฟื่องฟู จำนวนคนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านนั้นก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นคนที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขาย เช่น ร้านอาหาร และร้านของชำ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัย เเละบางส่วนเข้ามารับจ้างกับบริษัททำไม้ รวมถึงการค้าวัวควาย ที่ไปรับซื้อมาจากประเทศพม่าเเล้วนำมาขายต่อให้เเก่พ่อค้า ซึ่งจะมามารอรับที่หมู่บ้าน

ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผู้ลี้ภัยสงครามจากประเทศพม่า โดยเริ่มเเรกเดินทางเข้ามาบุกเบิกพื้นที่ตามลำห้วยเล็กๆ ชื่อห้วยอุ้ทิละ ที่ไหลลงมาสู่เเม่น้ำสาละวิน เพื่อตั้งบ้านเรือนเป็นหลังเเรกเเละผู้คนที่เดินทางผ่านไปมาเรียกที่นี่ว่า “บ้านซอเเหละทะ”

วาวิน ฐิติวาณิช หัวหน้าชาวบ้านกลุ่มไทใหญ่ หมู่บ้านเเม่สามเเลบ เล่าว่า ตนเติบโตขึ้นที่นี่ ในบ้านที่อยู่ริมเเม่น้ำสาละวิน ใกล้กับสถานที่ที่เป็นท่าเรือในปัจจุบัน เช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่นๆ โดยพ่อเเม่ของตนเข้ามาอยู่ตั้งเเต่ปีพ.ศ.2516 ซึ่งอพยพมาจากประเทศพม่า ที่มีการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าเเละกองกำลังเคเอ็นยู (KNU) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงในพม่าที่ทำการสู้รบกับรัฐบาลพม่าตามเเนวชายเเดนไทย ที่มีการสู้รบมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

“เริ่มจากที่ตาได้หนีเข้ามาอยู่ในไทย เพราะสมัยก่อนตาเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อกองกำลังเคเอ็นยูเข้ามาก็จะรีดไถเงินทองข้าวของชาวบ้านไปหมด พอกองกำลังเคเอ็นยูกลับไป กองทัพพม่าก็มาเก็บข้าวของเงินทองไปอีก ซึ่งชาวบ้านก็ต้องให้ เพราะถ้าไม่ให้ไปจะเกิดอันตรายได้ อีกทั้งยังมีปัญหากันระหว่างกองกำลังเคเอ็นยู เเละกองกำลังดีเคบีเอ(DKBA) ซึ่งเป็นกองกำลังทหารกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย ที่เเยกตัวออกมาจากกองกำลังเคเอ็นยูเเล้วมาเข้าร่วมกับรัฐบาลพม่าเพื่อโจมตีเคเอ็นยู

01

วาวินเล่าว่า คุณตาหนีเข้ามาก่อน เเละให้ครอบครัวตามมาทีหลัง ซึ่งตอนที่เข้ามาอยู่นั้นมีบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ก่อนเเล้ว 7 – 8 หลังคาเรือน โดยหลังจากที่ครอบครัวของตนย้ายเข้ามาอยู่ ก็มีครอบครัวอื่นอพยพเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีประชากรกว่า 1,000 คน หรือประมาณ 300 ครัวเรือน

สำหรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนั้น มีสาเหตุมาจากบ้านซอเเหละทะอยู่ติดกับเเม่น้ำสาละวิน ถือเป็นจุดที่เดินทางจากตัวอำเภอเเม่สะเรียงไปสู่เเม่น้ำสาละวินได้ในระยะทางที่ใกล้ที่สุด ทำให้ชาวบ้านทั้งคนไทยเเละพม่าตามเเนวชายเเดนเดินทางมาค้าขายกันโดยง่าย โดยที่ไม่รู้ว่าที่นี้คือเขตเเดนระหว่างประเทศ ผู้คนต่างไปมาหาสู่กันอย่างพี่น้องตลอดมา

เมื่อมีการค้าขายมากขึ้น บ้านซอเเหละทะก็มีผู้คนเข้ามาปลูกบ้านเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้หมู่บ้านขยายทั้งเพราะผู้คนเเละในเเง่เศรษฐกิจที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมของเมืองท่าของผู้เดินทางมาจากทุกสารทิศ มีทั้งคนค้าขาย คนขับเรือโดยสาร คนขับเรือส่งเเร่ ผู้คนที่ทำธุรกิจไม้สัก(สักท่อน,สักแปรรูป) เป็นต้น จึงทำให้ที่นี่กลายเป็นเเหล่งวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่รวมกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งคนพื้นเมือง คนกะเหรี่ยง คนไทใหญ่ คนพม่า และคนกะลา(มุสลิม)

เมื่อบ้านซอเเหละทะใหญ่ขึ้น ทางราชการจึงเข้ามาจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ โดยขึ้นกับตำบลเเม่คง อำเภอเเม่สะเรียง จังหวัดเเม่ฮ่องสอน เเละมีบ้านบริวาร 1 หย่อม คือบ้านเเม่กองก๊าด ต่อมาได้มีการตั้งชื่อหมู่บ้านโดยใช้ชื่อว่า บ้านเเม่สามเเลบ หลังจากนั้นเมื่ออำเภอเเม่สะเรียงถูกเเบ่งออกเป็นอีก 1 อำเภอ คืออำเภอสบเมย บ้านเเม่สามเเลบได้เปลี่ยนมาขึ้นกับอำเภอสบเมย ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลเเม่สามเเลบ จังหวัดเเม่ฮ่องสอนสืบมา

วิถีชีวิตชาวบ้าน

เพราะเป็นหมู่บ้านที่ติดชายเเดน ทำให้ผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยนั้น มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ถึง 4 กลุ่มได้เเก่ กลุ่มไทใหญ่ กลุ่มกะเหรี่ยงมุสลิม กลุ่มกะเหรี่ยง เเละกลุ่มคนไทดั้งเดิม โดยกลุ่มไทใหญ่นั้น อพยพมาจากประเทศพม่าในรัฐกะเหรี่ยง จังหวัดผาปูน กลุ่มกะเหรี่ยงมุสลิมอพยพมาจากจังหวัดผาปูนเเละจังหวัดผาอ่าง ส่วนกลุ่มกะเหรี่ยงก็อพยพมาจากประเทศพม่าเช่นกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มเเรกที่บุกเบิกมาตั้งถิ่นฐาน เเละเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุดในหมู่บ้าน ส่วนไทยดั้งเดิม คือคนไทยที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ตั้งเเต่เเรก

“ความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านดี รู้จักกันดี เข้ากันได้ เเละคอยช่วยเหลือกัน”วาวิน เล่าถึงการอยู่ร่วมกันของคนในหมู่บ้าน ถึงเเม้จะมีความเเตกต่างกันทางชาติพันธุ์

05

เมื่อเกิดความหลากหลายของคนที่มาอยู่ด้วยกันในพื้นที่เดียวกัน จึงทำให้เกิดวัฒนธรรมเเละประเพณีของชาวบ้านที่เป็นศูนย์รวมของความเชื่อที่เเตกต่างกัน เเต่คงเอกลักษณ์อันงดงามของวิถีชีวิตในเเต่ละกลุ่มได้เป็นอย่างดี เเละมีการผสมผสานเข้ากันได้อย่างลงตัว จึงทำให้ประเพณีที่สะท้อนตัวตนของคนในพื้นที่เเตกต่างจากประเพณีของที่อื่นๆ ได้เเก่ ประเพณีนอนจอง ที่คนเฒ่าคนเเก่ทั้งหญิงชายจะไปนอนที่วัดพร้อมกับถือศีล 8 ในวันพระ ระหว่างช่วงเข้าพรรษา ประเพณีต่างซองก่อหลง(กินสล่า) เป็นพิธีที่มีการปั้นข้าว 49 ปั้นประเพณีปอยส่างลอง(ประเพณีเเห่ลูกเเก้ว) ซึ่งเป็นงานสำคัญของชาวไทใหญ่ เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันงานนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเเม่ฮ่องสอน ประเพณีกั่นตอ คือการขอขมาผู้ใหญ่ พร้อมกับการนำขมิ้นส้มป่อยมารดน้ำผู้ที่เราขอขมา เเละประเพณีฮอมลีกหรือถ่อมลีก คือการอ่านหนังสือธรรมะของผู้ทรงรู้(จเร)

ประเพณีต่างๆ นอกจากจะสวยงามทางวัฒนธรรมเเล้ว ยังมีคุณค่าทางจิตใจของคนในพื้นที่ ที่หลอมรวมให้พวกเขาเป็นหนึ่งเดียวกัน

ส่วนการนับถือบูชานั้น ชาวบ้านที่นี่จะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม เเละนับถือผีเจ้าที่ เเละเชื่อในพิธีส่งเคราะห์ เช่น ถูกทำนายว่ากำลังมีเคราะห์ จะมีการนำกาบกล้วยมาทำเป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยม เเล้วใส่ข้าวของประกอบการทำพิธีลงไป เช่น เหล้า ข้าว ขนม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเคราะห์เเต่ละเรื่อง โดยอาจทำพิธีเองหรือสล่า(หมอดู)ทำให้

ส่วนวัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัยนั้น ชาวบ้านจะนิยมมุงหลังคาบ้านด้วยหญ้าเเห้งหรือใบตองตึง ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับคนท้องถิ่นทางภาคเหนือ ตัวบ้านจะใช้ไม้หรือไม้ไผ่มาเป็นวัสดุ โดยบ้านเรือนของชาวบ้านจะยกพื้นสูงประมาณ 8 ฟุต

“ไม้นั้นจะมาจากฝั่งพม่า ซึ่งในสมัยก่อนการนำไม้เข้ามาไม่ได้เข้มงวด เพราะคนหมู่บ้านอื่นนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ เตียง ตู้เสื้อผ้า เเล้วนำมาขายที่นี่ซึ่งบางทีไม้ที่นำมาสร้างบ้านนั้นก็เอามาจากในป่า มีคนมาขายเป็นเเผ่น ก็เลยซื้อไว้ สะสมทีละเเผ่นสองเเผ่น เเล้วเอามาสร้างบ้านทีละนิด”วาวิน เล่า

สิ่งที่อยู่รอบข้าง อาจจะสะท้อนวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการที่คนใช้ชีวิตอยู่ใกล้ป่า การดำรงชีวิตจึงต้องพึ่งพาซึ่งกันเเละกัน เเละเกื้อหนุนกัน

ด้านอาชีพของคนในหมู่บ้านต้องยึดเเม่น้ำสาละวินในการทำมาหากินเเละพื้นที่ติดกับชายเเดนอาชีพขับเรือรับจ้างขนของลงเรือเเละค้าขายกับฝั่งพม่าเป็นไปได้ดี จึงเป็นทางเลือกของคนในหมู่บ้านเพราะที่ติดกับชายเเดน เเม่สามเเลบจึงเป็นเมืองท่าเเห่งการค้าขายเป็นศูนย์รวมของนักธุรกิจตามเเนวชายเเดนเเละของผู้คนที่เดินทางมาชมธรรมชาติเเห่งเเม่น้ำสาละวินในช่วงปี พ.ศ.2536 จนทำให้คนในหมู่บ้านเเทบไม่มีใครออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน

“เพราะไม่มีที่ดินทำกินมาตั้งเเต่ต้นอาชีพเกษตรกรรมจึงไม่เป็นอาชีพที่ชาวบ้านจะทำกันเพราะทำไม่เป็น”วาวินเล่าถึงการไม่มีพื้นที่ทำกินของชาวบ้านว่าเพราะตั้งเเต่บรรพบุรุษก็ไม่ได้ยึดอาชีพนี้ นอกจากจะทำเเค่สวนเล็กๆ ส่วนคนที่จะทำไร่ทำสวนนั้น จะเป็นคนที่อาศัยบนดอย มีการปลูกกล้วย มะม่วง ถั่ว ซึ่งจะกินเองเเละเดินขายในพื้นที่บ้าง ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงต้องหารายได้ตามที่หาได้

“ชาวบ้านใช้ชีวิตกันไปวันต่อวัน หาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงินเก็บกันหรอก”วาวินเล่า

โดยวาวินได้เล่าต่อว่า ชาวบ้านก็มักจะหาอย่างอื่นเพื่อการประทังชีวิตด้วย เช่น หาปลา ปลูกพืชริมน้ำ หรือเก็บเห็ด หน่อไม้เเละ ใบตองตึงจากในป่าออกมาใช้สอยหรือบริโภค ซึ่งทางอุทยานฯไม่ได้ห้ามอะไร เพราะเห็ดถ้าไม่เก็บก็จะเน่า หรือใบตองตึง ถ้าไม่เก็บก็จะเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่จะทำให้เกิดไฟป่าได้ เเละในอดีตเพราะชาวบ้านไม่มีอาชีพจึงไปเรียกร้องยังทหารพรานในพื้นที่ จึงได้ถามถึงความต้องการของชาวบ้าน เเละไปหาครูจากศูนย์อพยพมาสอนทอผ้า จึงสามารถเป็นอาชีพเสริมที่ชาวบ้านบางคนยังใช้หารายได้ รวมทั้งตัววาวินเอง โดยการทอผ้าฝ้ายเป็นเสื้อเเละผ้าถุง ซึ่งไปรับฝ้ายมาจากเชียงใหม่หรือซื้อต่อจากคนในหมู่บ้านที่นำมาขาย

นอกจากการทอผ้าเเล้ว วาวินยังค้าขาย เเละรับจ้างถ่ายเอกสาร ซึ่งมีรายได้เเค่เดือนละ 4,000 บาท ถ้ามากสุดคือ 7,000 บาท ซึ่งถ้าต้องการใช้ให้พอนั้น ต้องประหยัดเงินเพื่อมาใช้จ่ายในบ้าน ซึ่งยังไม่รวมการส่งลูก 2 คนเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เเละ 4 เพราะสามีของตนที่ทำงานอยู่ที่กรมที่ดิน เป็นคนส่งเสียเอง

“จะส่งลูกเรียนที่เรียนสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงเเม้จะไม่ค่อยมีเงิน เพราะอยากให้เอาตัวรอดได้ อยากให้มีงานที่มั่นคง เเละจะได้มีที่อยู่ที่ถาวร ไม่ต้องคอยระเเวงอย่างที่อยู่ตอนนี้ เเละเผื่อเห็นลู่ทางที่จะออกไปอยู่ข้างนอกได้”วาวินเล่า

ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

“ทั้งๆที่เราอยู่ตรงนี้มาตั้งเเต่เกิด เเต่กลับไม่มีความมั่นคงอะไรเลย บัตรประชาชน  หรือเอกสารสิทธิ์ใดๆก็ไม่มี”

วาวินเล่าถึงความรู้สึกของตนที่ต้องใช้เวลาถึง 25 ปี กว่าที่จะได้รับบัตรประชาชนที่ยืนยันความเป็นคนไทยเมื่อ พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา รวมทั้งคนในหมู่บ้านเองมีคนที่ถือบัตรประชาชนที่ยืนยันความเป็นคนไทยน้อยมาก โดยชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีบัตรประชาชนเลข 0 เป็นผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่จะมีคือบ้านเลขที่ เพราะตอนที่ทำบัตรประชาชน เจ้าหน้าที่ทางอำเภอได้เขียนที่อยู่ของบ้านให้ เเละเขียนกำกับว่าเป็นบ้านชั่วคราว ส่วนโฉนดที่ดินหรือเอกสารยืนยันสิทธิอื่นๆ ล้วนไม่มี

วาวินเล่าต่อว่า เพราะระยะทางจากหมู่บ้านไปอำเภอสบเมยเพื่อทำบัตรประชาชนนั้นห่างไกลกว่า 50 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาเดินทางพอสมควร อีกทั้งยังเป็นทางโค้งคดเคี้ยวตลอดระยะทาง ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านไม่สะดวกในการเดินทาง ประกอบกับหลักฐานที่ใช้ในการทำบัตรนั้น เช่น การลำดับเครือญาติ ก็อาจจะยุ่งยากสำหรับคนที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่ที่เข้ามาทำงาน ซึ่งพวกเขาต่างเป็นญาติกับคนที่เข้ามาอยู่ดั้งเดิมจึงอาจจะเป็นปัญหาสำหรับคนที่ไม่มีบัตรประชาชนเเต่บางครั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านก็จะช่วยเหลือโดยเป็นรถรับส่ง พาชาวบ้านไปทำบัตรประชาชน หรือรวบรวมรายชื่อเเล้วไปเเจ้งที่อำเภอให้

หัวหน้าชาวบ้านกลุ่มไทใหญ่ เล่าต่อว่า ถ้าคนในหมู่บ้านมีปัญหา จะไปปรึกษาผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เพราะผู้ใหญ่บ้านจะอยู่อีกหย่อมบ้านหนึ่งคือห้วยก่องกาด ห่างออกไปไกลจากหมู่บ้าน โดยตอนนี้กำลังจะเเยกหมู่บ้านเเละหาผู้ใหญ่บ้านอีกคน เพื่อความสะดวกในการดูเเลลูกบ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจึงเปรียบเป็นพ่อบ้านของหมู่บ้านเเม่สามเเลบ เเต่ถ้าผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านไม่อยู่ ชาวบ้านก็จะปรึกษาหัวหน้ากลุ่มศาสนาของตนเเทน โดยวิธีการเเก้ปัญหาก็จะปรึกษาหารือร่วมกัน หรือบางครั้งก็จะปรึกษากับเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่  เช่น ถ้าออกนอกพื้นที่เเล้วโดนจับ

“มันก็ไม่มีปัญหาอะไรมากนะถ้าไม่มีบัตรประชาชน เพราะเราก็อยู่แต่ในหมู่บ้าน”วสันต์ นำชัยทศพล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแม่สามแลบ เล่า

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเล่าว่า หมู่บ้านของตนมีชาวบ้านอยู่อาศัยกว่า 1,000 คน รวมเป็น300 ครัวเรือน ซึ่งมีเพียงแค่ 300 คนที่ได้สัญชาติไทย ส่วนอีก 700 คนนั้นยังไม่ได้สัญชาติใดๆ ซึ่งตนจะพาไปที่อำเภอ เเละช่วยรับรองเพื่อยืนยันของคนในหมู่บ้านให้ เพื่อขอสถานะทางทะเบียน และขับรถรับส่งให้ชาวบ้านเพื่ออำนวยความสะดวก

“บางครั้งเจ้าหน้าที่ของอำเภอในการทำบัตรประชาชนหรือนโยบายในพื้นที่ก็สำคัญ เพราะเวลาพอจะได้บัตร เจ้าหน้าที่ก็โดนย้าย พอเจ้าหน้าที่คนใหม่เข้ามาเเทน ก็จะไม่รู้เเละอาจทำให้การได้บัตรประชาชนล่าช้า หรือไม่ก็ไม่ได้เลย เพราะถ้าไม่มีสัญชาติไทย การเดินทางออกนอกเขตหมู่บ้านหรือพื้นที่อื่นๆจะลำบาก ต้องขอใบอนุญาต และต้องเซ็นต์รับรองจากผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แล้วไปเสนอให้อำเภอเซ็นต์รับทราบอีกครั้ง เพื่อออกใบอนุญาต ชาวบ้านจึงสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น ซึ่งระยะเวลาในการขอใบอนุญาตจะค่อนข้างช้า และไม่สะดวกในกรณีที่ชาวบ้านจำเป็นต้องออกจากพื้นที่โดยเร็ว ซึ่งถ้าไม่มีใบอนุญาตก็โดนจับ

ด้านนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ทนายความอิสระที่ทำงานกับชาวบ้านในหมู่บ้านเเม่สามเเลบ เล่าว่าสาเหตุของปัญหาการตกเป็นคนไร้สัญชาติของคนในพื้นที่ เเบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ หนึ่งกลุ่มคนที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศมานานเเล้ว เเละอยู่อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดเเต่ตกสำรวจ ซึ่งเหตุผลประการหนึ่งคือหมู่บ้านอยู่ห่างไกลเเละการคมนาคมลำบาก ในจำนวนนี้บางหมู่บ้านไม่มีทางรถเข้าไปถึง ประกอบกับการประชาสัมพันธ์ของรัฐไม่ทั่วถึงเเละตัวผู้นำชุมชนเเละชาวบ้านไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ดังนั้นในอดีต เมื่อเจ้าหน้าที่ออกสำรวจประชากร คนกลุ่มนี้จึงไม่เคยได้รับการสำรวจ

ส่วนสองคือกลุ่มคนที่อพยพหรือเดินทางข้ามชายเเดนไปมาเพื่อประกอบอาชีพ เนื่องจากในอดีตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เฟื่องฟูมาก โดยเฉพาะการค้าขายเเละการทำไม้โดยอาศัยเเม่น้ำสาละวินเป็นเส้นทางขนส่งสินค้า จึงมีผู้คนเดินทางข้ามชายเเดนไปมาเพื่อทำการค้าเเละทำงานต่างๆ ซึ่งในอดีตการควบคุมคนข้ามชายเเดนไม่เข้มงวดดังเช่นปัจจุบันนี้ บางคนแต่งงานในประเทศพม่าและนำสามีหรือภรรยาเข้ามาด้วย บางคนไปทำงานและเกิดลูกขณะที่อยู่ประเทศพม่า จึงไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่ได้รับเอกสารใดๆ เเละสามคือกลุ่มคนที่เพิ่งอพยพเข้ามาใหม่ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐล่าช้า สิทธิประชาชนก็ไม่เกิด

ทนายความอิสระเล่าว่า การเเก้ปัญหาสัญชาติในหมู่บ้านเเม่สามเเลบเเบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มเเรกคือกลุ่มที่มีสิทธิขอสัญชาติไทย ซึ่งกฎหมายได้กำหนดไว้เเล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นคนไทยดั้งเดิม หรือไม่ใช่ดั้งเดิม เเต่อยู่ในพื้นที่มานาน เมื่อพิสูจน์หลักฐานเเล้ว สามารถดำเนินการได้ เหลือเพียงการขอเอกสารเเล้วไปดำเนินการได้เลย เเต่กลับเกิดปัญหาในทางปฏิบัติเกิดขึ้น คือ เจ้าหน้าเลือกปฏิบัติหรือมีการรับสินบนเกิดขึ้น โอกาสที่ชาวบ้านจะได้รับบัตรประชาชนจึงมีน้อย โดยตั้งเเต่ปี พ.ศ.2552เป็นต้นมา ยื่นคำร้องขอบัตรประชาชนไป 120 คน เเต่อนุมัติเเค่ 20 คน

เลาฟั้งเล่าต่อว่า กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ไม่มีสิทธิขอสัญชาติ เเต่สามารถขอเป็นบุคคลต่างด้าวที่มีถิ่นถาวรอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มนี้จะมีหนังสือเดินทาง 2 เล่มที่ติดตัวคือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เเละใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งกลุ่มนี้มีสิทธิตามกฎหมายในการขอ เเต่การปฏิบัติงานของหน่วยราชการล่าช้า โดยที่ได้เร็วสุดคือ 3 ปี เเละช้าสุดคือ 7 ปี ซึ่งตอนนั้นคนก็อาจจะลืมไปหมดเเล้ว

“กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มคนที่ยังไม่มีสิทธิที่จะขอ เพราะเมื่อมีการสำรวจ เกิดการตกสำรวจ หรือไม่เเน่ใจในช่วงเวลาที่เข้ามาอยู่หรือเวลาที่เกิด เเละเป็นคนที่อพยพเข้ามาใหม่ ซึ่งกลุ่มนี้จะถือบัตรเลขศูนย์ ซึ่งยังไม่มีสิทธิใดๆในการดำรงชีวิต เเละเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุดในหมู่บ้านเเม่สามเเลบ” เลาฟั้งเล่า

ส่วนการเดินทางออกนอกพื้นที่ของกลุ่มคนที่ไม่มีบัตรประชาชนคนไทยนั้น เลาฟั้งเล่าต่อว่า ถ้าออกนอกพื้นที่จังหวัดเเม่ฮ่องสอนต้องขออนุญาต ซึ่งจำนวนวันที่ขออนุญาตนั้นก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เเต่ละเรื่องไป เช่น ออกไปซื้อของหรือเยี่ยมญาติ ได้ 15 วัน ขอไปทำงานจะขึ้นอยู่กับงาน อย่างต่ำได้ 6 เดือน หรือการขอไปเรียน ก็จะขอได้ตามหลักสูตรที่เรียน เป็นต้น

ส่วนการเเก้ปัญหาเรื่องการไม่มีสัญชาตินั้น ในมุมมองของทนายความอิสระ เห็นว่าระเบียบกฎหมายที่มีอยู่ถือว่าดีเเล้ว เเต่อยากให้ขยายขอบเขตไปครอบคลุมกลุ่มคนที่ถือบัตรเลขศูนย์ด้วย ส่วนในทางปฏิบัตินั้น เจ้าหน้าที่มีการเรียกรับสินบน ถ้าไม่ให้ก็จะไม่ทำ ประกอบกับผู้ที่มาขอสัญชาตินั้นอยากจะจ่ายให้เองเพื่อให้เสร็จเร็วขึ้น ซึ่งต้องเเก้ปัญหากับทั้งสองฝ่าย เเละต้องเเก้ในเรื่องการทำงานอย่างล่าช้าในการออกบัตรให้ ซึ่งบางครั้งเจ้าหน้าที่เองก็ละเลยการทำบัตรให้ชาวบ้าน