[:th]CrCF Logo[:]
ศาลปกครอง

ตุลาการรับฟังปากคำ นายรายู ดอคอ ผู้แถลงคดีเชื่อ มีการทำร้ายร่างกายอย่างสาหัสต่อผู้ฟ้องคดี ขณะอายุเพียง 18 ปี

Share

ใบแจ้งข่าว ตุลาการองค์คณะรับฟังปากคำผู้เสียหายจากการทรมาน นายรายู ดอคอ ผู้แถลงคดีฯ เชื่อมีการทำร้ายร่างกายอย่างสาหัสต่อผู้ฟ้องคดี ขณะอายุเพียง ๑๘ ปี

เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๑๕ น. ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก คดีหมายเลขดำที่ อ. ๔๖๔ / ๒๕๕๕ ณ ห้องพิจารณาคดีที่ ๑๒ ชั้น ๓ อาคารศาลปกครอง ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ในคดีระหว่างนายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี กับ กระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึง ที่ ๔ ตามลำดับ เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

คู่กรณีที่มาศาล ได้แก่ นายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี นายปรีดา นาคผิว และนายรัษฎา มนูรัษฎา ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ไม่มาศาล

​บุคคลจากหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้ารับฟังการพิจารณาคดี ได้แก่ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติและสถานทูตแคนนาดาเข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี

ตุลาการศาลปกครองสูงสุด(องค์คณะที่ ๕) ออกนั่งพิจารณาคดี โดยตุลาการเจ้าของสำนวนสรุปข้อเท็จจริงและประเด็นของคดีให้คู่กรณีที่มาศาลฟัง แล้วรับฟังปากคำผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการทรมาน และรับฟังคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีฯ

ตุลาการผู้แถลงคดีเชื่อตามข้อเท็จจริงในสำนวนซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีการโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยเชื่อว่ามีการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีไปแถลงข่าวที่ปราศจากความจริง มีการทำร้ายร่างกายและจิตใจผู้ฟ้องคดีอย่างสาหัส ขณะอายุเพียง ๑๘ ปี ซึ่งยังเป็นเยาวชน นำทั้งยังนำตัวไปควบคุมรวมกันกับผู้ใหญ่ มีผลการตรวจร่างกายปรากฏเป็นหลักฐานตามใบรับรองแพทย์ทั้งแพทย์จากโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และจากองค์กรระหว่างประเทศการฟื้นฟูผู้เสียหายจากการทรมาน (IRCT)

จึงเห็นสมควรให้ผู้ถูกฟ้องที่ ๔ คือสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กร.รมน.) ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดี ในความผิดต่อร่างกาย อนามัย จิตใจ และสิทธิเสรีภาพค่าสินไหมทดแทนค่าเสียหายอันทำให้เสียชื่อเสียงจากการนำตัวไปแถลงข่าว เป็น ค่าขาดประโยชน์ ทำมาหาได้ จากการรับจ้างกรีดยางและรับจ้างทั่วไป เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๒๓๓,๐๓๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๒๐๒,๖๔๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยแบ่งเป็นสองประเด็นสรุปได้ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกฟ้องทั้งสี่ ควรชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ วินิจฉัยแล้ว
เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ (กระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ได้บรรจุกำลังพลเข้าสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค ๔ ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า) ซึ่งสังกัดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ กอ.รมน. จัดตั้งขึ้นในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการกระทำภายใต้สังกัด กอ.รมน. อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดังนั้นผู้ถูกฟ้องที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่เป็นความรับผิดของผู้ถูกฟ้องที่ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้อง ในความผิดต่อร่างกาย อนามัย จิตใจ และสิทธิเสรีภาพ

ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องที่ ๔ อุทธรณ์ต่อศาลว่าค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ฟ้องเรียกเป็นเงินสูงเกินไป
หรือไม่ วินิจฉัยแล้วเห็นว่า จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ทั้งเป็นการไม่สมควรที่ควบคุมและกักขังผู้ฟ้องคดีซึ่งเยาวชนรวมกับบุคคลที่เป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งยังมีการนำตัวไปแถลงข่าวโดยปราศจากความผิด มีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ จึงเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนค่าเสียหายต่อร่างกายและอนามัย เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และค่าสินไหมทดแทนค่าเสียหายอันทำให้เสียชื่อเสียงจากการนำตัวไปแถลงข่าว เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ค่าขาดประโยชน์ ทำมาหาได้ จากการรับจ้างกรีดยางและรับจ้างทั่วไป เป็น เวลา ๒๒ วัน วันละ ๑๒๐ บาท เป็นเงิน ๒,๖๔๐ บาท

รวมเป็นเงิน ๒๐๒,๖๔๐ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับจากวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๒ ปี คิดเป็นเงินจำนวน ๓๐,๓๙๖ บาท รวมค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๓๓,๐๓๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๒๐๒,๖๔๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดียื่นคำแถลงเป็นหนังสือ และนายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี แถลงด้วยวาจาต่อหน้าองค์คณะฯ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ นำกำลังเข้าปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวจากบ้านพักอาศัยของตน ขณะที่ตน มารดา และน้อง ๆ นอนหลับพักผ่อนอยู่ นำตนไปรวมกับคนในครอบครัวอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ผู้นำศาสนาในชุมชน แล้วนำไปแถลงข่าว ที่สถานีตำรวจ

จากนั้นนำไปคุมขังในรถยนต์บรรทุกผู้ต้องหาของหน่วยงานตำรวจซึ่งจอดอยู่ในค่ายทหารฐานปฏิบัติการทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ ๓๙ ที่ตั้งอยู่ในวัดสวนธรรม ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ตนถูกเจ้าหน้าที่ทหารทรมานทำร้ายร่างกายจริงด้วยการกระทำที่โหดร้าย ทารุณ ทั้งตบ ต่อย เตะ มัดขาทั้งสองข้างแขวนห้อยหัว ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมง ใช้เข็มแทงบริเวณใต้ตา เล็บ อวัยวะเพศ สับพริกสดทาหน้าอก นำเบียร์มาสาดรดหน้าอกและใบหน้า ทำให้เกิดความบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ

และนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี ได้ขอแถลงด้วยวาจาเพิ่มเติมต่อจากผู้ฟ้องด้วยในสองประเด็น คือ เหตุการณ์การทรมานเกิดขึ้นพร้อมกับนายยะผา กาเซ็ง ซึ่งเสียชีวิตภายหลังถูกทรมานแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการกระทำของเจ้าหน้าที่ อยากให้ศาลปกครองพิจารณาคดีนี้เป็นบรรทัดฐานเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก และขอให้ศาลปกครองสูงสุดได้โปรดพิจารณาค่าเสียหายจากการถูกทำรายร่างกายและทรมานตามมาตรา ๓๒ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ และตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน

องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดจะได้ประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป โดยศาลจะได้มีหมายแจ้งกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาคดีส่งทางไปรษณีย์ให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายทราบต่อไป​

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่​
นายปรีดา นาคผิว ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ๐๒-๖๙๓๔๙๓๙, ๐๘๙-๖๒๒๒๔๗๔