อย่าทอดทิ้งเด็กจังหวัดชายแดนใต้

อย่าทอดทิ้งเด็กจังหวัดชายแดนใต้ โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

Share

บทความ: อย่าทอดทิ้งเด็กจังหวัดชายแดนใต้

ชารู ลาทา ฮ็อก ชายด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ในวันเด็กแห่งชาติที่มีการจัดกิจกรรมกันอย่างหลากหลายในเพื่อฉลองกันในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เด็กบางคนจะได้รับโอกาสในไปเยี่ยมชมตึกทำเนียบรัฐบาลและนั่งในเก้าอี้ของนายกรัฐมนตรี เด็กหลายคนก็จะได้เห็นการแสดงยุทโธปกรณ์และแสนยานุภาพของรถถังอาวุธ ปืน เฮลิคอปเตอร์ ที่จัดแสดงโดยกองทัพไทย ขณะที่เด็กอีกหลายคนยังคงเผชิญกับการสู้รบทางอาวุธอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปีนี้พ.ศ. 2558 ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนใต้กำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 11

นับตั้งแต่ในเดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2547 กลุ่มติดอาวุธได้โจมตีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นพลเรือน ประชาชนชาวพุทธ และชาวมุสลิมในท้องถิ่นที่สงสัยว่าให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ จากความขัดแย้งนี้จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 6,100 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 11,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นพลเรือนซึ่งรวมไปถึงผู้หญิงและเด็ก เด็กๆ ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอื่นๆ อีกมากมาย กว่า 10 ปีที่ความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และศาสนาระหว่างชาวมลายูมุสลิมซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่กับรัฐไทยได้ฝังรากลึกมานานนับศตวรรษประทุเป็นความรุนแรงทางอาวุธ ความรุนแรงนี้ไม่เพียงแต่ไม่ได้ทุเลาเบาบางลงแต่ดูเหมือนกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น

งานวิจัยโดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและชายด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่เดือนมกราคม ปีพ.ศ. 2557 พบว่า เด็กอายุเพียง 14 ปี ได้เข้าร่วมและถูกนำไปใช้โดยกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ของประเทศไทย ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 พบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี อยู่ในฝ่ายกองกำลังของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani หรือ BRN) ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านติดอาวุธกลุ่มสำคัญ ชายด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้สัมภาษณ์อดีตสมาชิกและสมาชิกปัจจุบันของกลุ่มติดอาวุธ 26 คน ซึ่งมีอย่างน้อย 13 คนที่เข้าร่วมขบวนการขณะที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ในจำนวนนี้มีเด็กอยู่ 5 คน ซึ่งได้เข้าร่วมในช่วงปีพ.ศ. 2554-2555 ในจังหวัดนราธิวาสและยังคงปฏิบัติการให้กับกลุ่ม BRN ในช่วงปลายปีพ.ศ. 2556

การเข้าร่วมกับกลุ่ม BRN นั้นเกิดจากปัญหาความอึดอัดคับข้องใจและการไม่ได้รับความยุติธรรมที่สั่งสมมานาน และตามพันธกิจทางศาสนาซึ่งเชื่อว่าจะต้องต่อสู้กับกลุ่มที่เป็นตัวแทนหรือผู้ให้การสนับสนุนรัฐบาลไทย การนำเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าไปร่วมปฏิบัติการกับกองกำลัง BRN เป็นไปด้วยความสมัครใจซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันของชุมชนและความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกันของชุมชนมลายูมุสลิม ประกอบกับความโกรธแค้นต่อการปราบปรามของรัฐและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เด็กส่วนใหญ่ที่เข้าร่วม BRN มักได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูต้นทางและดูความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง นอกจากนี้ งานวิจัยของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและชายด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังพบหลักฐานว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เข้าร่วมปฏิบัติการต่อสู้ที่มีการใช้อาวุธ อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น เป็นสายข่าว เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมขบวนการ เด็กๆ จะต้องผ่านกระบวนการปลูกฝังความคิดและฝึกฝนอย่างเข้มข้น ผู้ที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมกับฝ่ายทหารของกลุ่มติดอาวุธจะได้รับการฝึกฝนด้านอาวุธและทางการทหารเพิ่มเติม ในปีหลังๆ ระยะเวลาในการปลูกฝังความคิดและฝึกฝนสั้นลงอย่างมากเนื่องจากการตรวจตราของรัฐที่เข้มงวดมากขึ้น

ในจังหวัดชายแดนใต้เด็กๆ ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในหลายรูปแบบรวมทั้งการฆ่าสังหารครู และเด็กในพื้นที่ หรือการเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์ความไม่สงบ สิ่งเหล่านี้สภาพจิตใจของเด็กอย่างรุนแรง และกระทบต่อการเรียนการสอนและการรับรู้ของเด็กตามวัยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกรณีที่เด็กในพื้นที่ถูกตกเป็นผู้ต้องสงสัยในการมีส่วนร่วมกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ เขาก็จะถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษหรือถูกบังคับให้ร่วมโครงการอบรมตามคำสั่งของหน่วยงานความมั่นคง

เมื่อมีการเปิดการเจรจาสันติภาพกันในปีพ.ศ. 2556 ซึ่งกลายเป็นสัญญานของการกล่าวไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาอย่างเป็นทางการครั้งแรกๆ แต่ขณะนี้แนวทางดังกล่าวก็เริ่มมีความไม่แน่นอนชัดเจนขึ้น ในสถานการณ์ทางการเมืองและการทหารปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าไม่มีแนวทางว่าจะมีการปล่อยหรือยุติการใช้ทหารเด็กของกลุ่มติดอาวุธหรือมีแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาเด็กที่มีประสบการณ์การร่วมใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ กลับคืนสู่สังคมและกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มองย้อนไปยังสถานการณ์ของตนในวัยเด็กอย่างสำนึกและเข้าใจ เมื่อไม่มีแนวทางเหล่านี้เด็กก็ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเราจะต้องปกป้องคุ้มครองอย่างเร่งด่วน

แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบจะเป็นอุปสรรคในการทำงานแต่ภาคประชาสังคมยังคงทำงานเพื่อตรวจสอบติดตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กโดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายพิเศษกับเด็กเยาวชน อย่างไรก็ตามภาคประชาสังคมยังคงต้องการการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติและประชาคมระหว่างประเทศในการให้ทุนสนับสนุนการทำงานเพื่อตรวจตรา รายงาน สร้างความเข้าใจให้สังคมในเรื่องสิทธิเด็ก

รัฐบาลไทยเป็นรัฐภาคีในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาสิทธิเด็กว่าด้วยเรื่องเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือที่เรียกว่า the Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child on the involvement of children in armed conflict (OPAC) พิธีสารฯต้องการให้รัฐคุ้มครองไม่ให้เด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งตกอยู่ในอันตรายใดใด รวมทั้งสร้างมาตรการป้องกันทั้งทางนโยบายและกฎหมายให้สอดคล้องกับกรอบกฎหมายสิทธิมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาสิทธิเด็ก ความล้มเหลวที่จะปกป้องเด็กจากความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธไม่ใช่แค่เพียงการไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีในทางกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นการทอดทิ้งให้เด็กในจังหวัดชายแดนใต้ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงโดยลำพัง

ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังว่ามีการใช้ทหารเด็กในการเข้าร่วมปฏิบัติการกับกลุ่มติดอาวุธมากน้อยเพียงใด รัฐบาลปฏิเสธว่าไม่มีการใช้ทหารเด็กทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐและกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ องค์การสหประชาชาติเองก็ยังไม่มีแผนการที่ครอบคลุมถึงการแก้ไขปัญหานี้ในประเทศไทย ทั้งๆที่การรายงานเรื่องการใช้ทหารเด็กและการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ได้รายงานในการประชุมประจำปีของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเรื่องเด็กและสถานการณ์ความขัดแย้งแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 และในปีพ.ศ. 2554 ชายด์ โซวเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลและมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้เผยแพร่รายงานเรื่องการป้องกันไม่ให้เด็กมีส่วนร่วมในกองกำลังป้องกันตนเองของหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ระบุว่ามีหลักฐานว่ามีการให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในการทำหน้าที่เป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และในเดือนกุมภาพันธุ์ ปีพ.ศ. 2555 คณะกรรมการสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ประเทศไทยกำหนดให้การจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นกองกำลังติดอาวุธเป็นความผิดอาญา ข้อเสนอแนะเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นจริง

ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่จะตระหนักดีถึงสิ่งนี้ อันที่จริงแล้ว รัฐบาลไทยปฏิเสธมาโดยตลอดว่าสถานการณ์ในภาคใต้ถือเป็นสถานการณ์ของความขัดแย้งด้วยอาวุธตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งขัดแย้งกับสถานการณ์ในพื้นที่ซึ่งความขัดแย้งด้วยอาวุธที่ยืดเยื้อระหว่างรัฐไทยและกลุ่มกองกำลังติดอาวุธนับว่าเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธที่มิใช่สถานการณ์ระหว่างประเทศ (non-international armed conflict) แต่เด็กเป็นอนาคตของชาติ ในปีนี้ประเทศไทยมีคำขวัญวันเด็กว่า “ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต” ของเด็กไทยทุกคน การที่จะสร้างอนาคตของชาติให้เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศได้นั้นยุทธศาสตร์การแก้ไขผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดกับเด็กในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างในจังหวัดชายแดนใต้ต้องเป็นยุทธศาสตร์เร่งด่วนที่ครอบคลุมหลายมิติที่จะยุติ ห้าม และป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธใดใดอย่างเด็ดขาด

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading

Discover more from มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading