วันที่ 16 มกราคม 2558
ใบแจ้งข่าว
ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก
คดีนายรายู ดอคอ ผู้เสียหายที่ถูกซ้อมทรมาน ฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี
ศาลปกครองสูงสุดกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 20 มกราคม 2558 เวลา 09.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 12 อาคารศาลปกครองชั้น 3 (ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ) ในคดีของศาลปกครองสูงสุด หมายเลขดำที่ อ.464/2555 ซึ่งคดีดังกล่าว นายรายู ดอคอ ในฐานะผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2553 เรียกค่าเสียหายจาก กระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง ที่ 3 ตามลำดับ และต่อมาในระหว่างพิจารณาคดี ศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งเรียกสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ามาในคดี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ ๓๙ อยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาและรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี. ศาลปกครองสงขลาได้แสวงหาข้อเท็จจริงทั้งจากผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเวลากว่า2ปี จนมีคำสั่งศาลปกครองสงขลาเมื่อวีนที่14มีนาคม2555
ทั้งผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต่างก็ได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสุดสุดจึงได้กำหนดออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 20 มกราคม 2558 เวลา09.30 น. ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งในวันนัดดังกล่าวนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างก็มีสิทธิทำคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรและแถลงด้วยวาจา ต่อองค์คณะตุลาการผู้พิจารณาคดี
คดีนี้เป็นคดีสองคดีแรกที่เหยื่อผู้ถูกควบคุมตัวและซ้อมทรมานตามอำนาจของกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานรัฐ(กองทัพบกและกระทรวงกลาโหม) รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ซึ่งอยู่ในสังกัดของตนที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 และต่อมาศาลแพ่งได้โอนคดีไปศาลปกครองสงขลา เนื่องจากการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดี ได้นำคดีมาฟ้องใหม่ที่ศาลปกครองเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 ศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงทั้งจากผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเวลากว่า2ปี จนมีคำสั่งศาลปกครองสงขลาเมื่อวีนที่14มีนาคม2555
อีกทั้งคดีนี้จึงเป็นคดีหนึ่งในสองคดีแรกในกระบวนการยุติธรรมไทยที่มีการยื่นรายงานทางการแพทย์จากการทรมานเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลและเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการเยียวยาความเสียหายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา32 ซึ่งบัญญัติถึงสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกทรมานและสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม[1] ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไป
ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์
เมื่อวันที่ 19 ถึง 21 มีนาคม 2551 ต่อเนื่องกัน เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ควบคุมตัวนายรายู ดอคอ รวมทั้งอิหม่ามยะผา กาเซ็ง และบุคคนอื่น ๆ ในครอบครัวอิหม่ามยะผา ไปแถลงข่าวว่าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วนำตัวไปควบคุมในรถคุมขังผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจอดอยู่ฐานปฏิบัติการทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 และเจ้าหน้าที่ทหารหลายคนได้ร่วมกันซ้อมทรมานนายรายู และอิหม่ามยะผา เพื่อให้รับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหตุให้นายรายูได้รับบาดเจ็บต่อร่างกายและความทุกข์ทรมานต่อจิตใจ ส่วนอิหม่ามยะผาถึงแก่ความตาย
นายรายูขณะเกิดเหตุอายุเพียง 18 ปี ขณะถูกนำตัวไปซักถาม และถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ จากการทรมานอย่างทารุณโหดร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เป็นเหตุให้นายรายู ดอคอฟ้องคดีโดยขอความช่วยเหลือทางคดีจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และศาลปกครองสงขลารับคดีไว้พิจารณา โดยศาลได้ไต่สวนและมีคำสั่งอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลตามที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอด้วย
การดำเนินคดีและผลของคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นจังหวัดสงขลา
คดีนี้ นายรายู ได้ฟ้องขอให้ศาลปกครองได้โปรดมีคำพิพากษาให้หน่วยงานของรัฐ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง ที่ 3 รับผิดชอบดังต่อไปนี้
1. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าสินไหมทดแทนค่าเสียหาย
ต่อร่างกายและอนามัย ค่าเสียหายอันเกิดจากการได้รับทุกขเวทนาต่อจิตใจ จำนวน จำนวน 918,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้องเงินจำนวน 750,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี
2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนค่าค่าเสียหายต่อชื่อเสียงจำนวน
306,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 250,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี
3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าสินไหมทดแทนค่าขาดไร้
ประโยชน์จากการทำมาหาได้ และค่าเยียวยาความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย อนามัย และจิตใจจากการที่ถูกเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม จับกุม คุมขัง ทำร้ายร่างกาย ทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายไร้มนุษยธรรม จำนวน 773,465 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 631,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดี
รวมท้ั้งสิ้น
รวมเรียกร้องค่าเสียหายทั้งส้ิน 1,998, 465 บาทรวมดอกเบี้ย
ในวันที่ 14 มีนาคม 2555 ศาลปกครองชั้นต้น(ศาลปกครองสงขลา) ได้มีคำสั่ง
ให้สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดให้แก่ผู้ฟ้องคดี เป็นค่าเสียหายต่อร่างกายและอนามัย การได้รับความทุกขเวทนาต่อจิตใจ ความเสียหายต่อสิทธิและเสรีภาพ เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ เป็นเงินจำนวน 10,800 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 210,800 บาท และเมื่อหนี้ดังกล่าวเกิดจากการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 19 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นวันกระทำละเมิด โดยดอกเบี้ยดังกล่าวคิดถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2553 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นเวลา 827 วัน เป็นเงิน 35,821.56 บาท และต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2553 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ฟ้องคดีด้วย โดยให้ชำระให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขอนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทั้งนี้เนื่องจากศาลปกครองสงขลาได้วินิจฉัยว่าการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ซึ่งสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดี
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 02-6934939 หรือทนายความ – นายรัษฎา มนูรัษฎา 081-4394938, นายปรีดา นาคผิว 089-6222474
หมายเหตุ
การทรมานถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงในทางสากล เนื่องจากเป็นการกระทำโดยผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รูปแบบการทรมานในปัจจุบันมักไม่ปรากฏร่องรอยทางร่างกาย ทำให้เป็นปัญหาในทางคดีที่ไม่สามารถพิสูจน์ความเสียหายจนไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากการละเมิดได้ อย่างไรก็ตาม เหยื่อการทรมานที่ผ่านสภาพเลวร้ายจากการทรมาน แม้จะไม่ปรากฏร่องรอบทางร่างกาย แต่มีปรากฏร่องรอยผลกระทบทางจิตใจคงอยู่ยาวนาน ดังนั้น ปัญหาผลกระทบจากการทรมานในลักษณะดังกล่าวจึงถูกคลี่คลายลงด้วยการตรวจสอบผลกระทบทางจิตใจจากการผ่านเหตุการณ์เลวร้ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในคดีนี้ นายรายูได้รับการตรวจร่างกายและผลกระทบทางจิตใจหลังผ่านเหตุการณ์เลวร้าย(Post-traumatic stress disorder) หรือ PTSD และจัดทำเป็นรายงานทางการแพทย์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นอิสระ 2 ท่านที่เป็นสมาชิกของสภาเพื่อฟื้นฟูผู้ถูกทรมานระหว่างประเทศ (International Rehabilitation Council for torture victims) หรือ IRCT ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งอยู่ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และมีวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและพัฒนาการทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์และนิติจิตเวชศาสตร์ต่อเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมานทั่วโลกภายใต้พิธีสารอิสตันบูล ซึ่งเป็นคู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานอย่างมีประสิทธิภาพกรณีการทรมานหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Istanbul Protocol: Manual on the Effective Investigation and Documentation of Torture and other cruel, Inhuman or Degrading Treatment of Punishment) หรือที่เรียกว่าพิธีสารอิสตันบูล เป็นหลักการมาตรฐานสากลในการบันทึกรวบรวมพยานหลักฐานกรณีการทรมานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือคุ้มครองและเยียวยาเหยื่อผู้เสียหายจากการถูกซ้อมทรมานอย่างมีประสิทธิภาพ
กลไกการคุ้มครองและป้องกันการซ้อมทรมานในระดับสากลจะช่วยลดช่องว่างและข้อบกพร่องในการสืบสวนสอบสวนกรณีการซ้อมทรมานในประเทศไทย และในขณะที่ PTSD ยังไม่ได้ถูกนำมาพัฒนาใช้ในการพิจารณาให้การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อการทรมาน แต่เป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีที่จะสามารถยืนยันความร้ายแรงของการทรมานที่ส่งผลกระทบทางจิตใจของเหยื่ออย่างยาวนานมากกว่าอาการบาดเจ็บทางร่างกาย ส่งผลให้เหยื่อการทรมานไม่สามารถได้รับการเยียวยาหรือชดใช้ค่าเสียหายอย่างเป็นธรรม และยังส่งผลให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามอำเภอใจเนื่องจากไม่ถูกลงโทษจากความผิดที่ตนกระทำ และหน่วยงานผู้บังคับบัญชาอาจละเลยไม่กำกับดูแลจนหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้สถานการณ์ความไม่สงบยิ่งลดน้อยและถูกทำลายลง