พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เรื่อง ความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ
(Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child – OPAC)
รัฐภาคีแห่งพิธีสารฉบับนี้ ได้รับการกระตุ้น โดยการสนับสนุนอย่างท่วมท้นต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งแสดงให้เห็น ถึงความยึดมั่นที่มีอยู่อย่างแพร่หลายเพื่อมุ่งมั่นไปสู่การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก เน้นย้ำว่า สิทธิของเด็กต้องการการคุ้มครองเป็นพิเศษ และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสถานการณ์ ของเด็กให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการแบ่งแยก รวมทั้งพัฒนาการและการศึกษาของเด็กภายใต้สันติภาพและความมั่นคง มีความเศร้าสลดใจในเรื่องผลกกระทบที่เป็นอันตรายอย่างแพร่หลายจากความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ ที่มีต่อเด็ก และผลที่เกิดตามมาในระยะยาวที่มีต่อสันติภาพ ความมั่นคงและการพัฒนาที่ถาวร
ประณามการใช้เด็กเป็นเป้าในสถานการณ์ความขัดแย้งกันด้วยอาวุธและการโจมตี โดยตรงต่อวัตถุ ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งสถานที่ทั้งหลายที่โดยทั่วไปมีเด็ก อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น โรงเรียนและโรงพยาบาล
รับทราบการรับรองธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ธรรมนูญนั้นให้อาชญากรรมสงครามรวมถึงการเกณฑ์ หรือการกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือการใช้เด็กเหล่านั้นให้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสู้รบในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธทั้ง ระหว่างประเทศ และที่ไม่ใช่ระหว่างประเทศด้วย
จึงพิจารณาว่า เพื่อสร้างเสริมการปฏิบัติตามสิทธิที่ได้ยอมรับในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กต่อไป มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการคุ้มครองเด็กจากการเข้าไปเกี่ยวพันในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ
รับทราบว่า ข้อ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุว่า เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานั้น เด็กหมายถึง มนุษย์ทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมาย ที่ใช้บังคับแก่เด็กนั้น
เชื่อว่า พิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาที่เพิ่มอายุของบุคคลที่อาจได้รับการคัดเลือกเข้าสู่กองทัพและ การเข้ามีส่วนร่วมในการสู้รบจะมีส่วนช่วยอย่างมีประสิทธิภาพที่จะปฏิบัติตามหลักการ ที่ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นข้อพิจารณาก่อนสิ่งอื่นในทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับเด็ก
รับทราบว่า การประชุมระหว่างประเทศของกาชาดสากลและสภาซีกวงเดือนแดงครั้งที่ 26 เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1995 เสนอแนะว่า นอกเหนือจากสิ่งอื่น ให้คู่กรณีในความขัดแย้งดำเนินการทุกขั้นตอนที่เป็นไปได้เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสู้รบ
แสดงความยินดีต่อการรับรองโดยเอกฉันท์ ซึ่งอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศเลขที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการกระทำโดยทันที เพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของแรงงานเด็ก เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งอื่น ยังห้ามการคัดเลือกโดยการใช้กำลังหรือการบังคับเพื่อการใช้เด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ
ประณามด้วยความวิตกห่วงใยอย่างที่สุดต่อการคัดเลือก การฝึกอบรมและการใช้เด็ก ทั้งภายในและข้ามเขตแดนประเทศในการสู้รบ โดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่กองทัพของรัฐรับว่าเป็น ความรับผิดชอบของบุคคลเหล่านั้นผู้ซึ่งคัดเลือก ฝึกอบรมและใช้เด็กเพื่อการนี้
ระลึกว่า เป็นพันธกรณีของแต่ละฝ่ายในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมนุษยธรรม
เน้นว่า พิธีสารฉบับนี้ไม่มีผลกระทบต่อความมุ่งประสงค์และหลักการที่อยู่ในกฎบัตรของสหประชาชาติ รวมทั้งข้อที่ 51 และบรรทัดฐานที่เกี่ยวข้องของกฎหมายด้านมนุษยธรรม
คำนึงถึงว่า สภาวะของสันติภาพและความมั่นคงบนพื้นฐานของความเคารพอย่างเต็มที่ต่อความมุ่งประสงค์และหลักการที่อยู่ในกฎบัตรนั้น และการให้ความยอมรับต่อตราสารทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ใช้บังคับอยู่ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการคุ้มครองเด็กอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่าง ความขัดแย้งกันด้วยอาวุธและการยึดครองของต่างชาติ
ยอมรับ ความจำเป็นเป็นพิเศษของเด็กเหล่านั้น ผู้ซึ่งอยู่ในภาวะอ่อนแอและล่อแหลมเป็นอย่างยิ่ง ต่อการถูกคัดเลือกหรือถูกใช้ในการสู้รบที่ขัดกับพิธีสารฉบับนี้ เนื่องมาจากสถานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม หรือเพศของเด็กเหล่านั้น
คำนึงถึง ความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในเรื่องสาเหตุพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ
เชื่อมั่น ในความจำเป็นที่จะต้องสร้างเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการปฏิบัติตามพิธีสาร ฉบับนี้ ร่วมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ และบูรณาการทางสังคมของเด็กที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้งด้วยอาวุธ
กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาคม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก และเด็กที่เป็นเหยื่อ ในการเผยแพร่โครงการข้อสนเทศและด้านการศึกษาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพิธีสารนี้
ได้ตกลงกันดังนี้
ข้อ 1
รัฐภาคีทั้งหลายจะดำเนินมาตรการที่สามารถกระทำได้ทั้งปวงเพื่อประกันว่า สมาชิกของกองทัพ ของตน ซึ่งอายุไม่ถึง 18 ปี จะไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบ
ข้อ 2
รัฐภาคีทั้งหลายจะประกันว่า บุคคลที่อายุไม่ถึง 18 ปี จะไม่ถูกคัดเลือกโดยการบังคับให้เข้าร่วมในกองทัพของตน
ข้อ 3
- รัฐภาคีทั้งหลายจะเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำ สำหรับการคัดเลือกบุคคลโดยสมัครใจเพื่อเข้าร่วม ในกองทัพแห่งชาติของตนจากที่กำหนดไว้ในข้อ 38 วรรค 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยคำนึงถึงหลักการที่อยู่ในข้อนั้น และโดยยอมรับว่า ภายใต้อนุสัญญาฯ บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ
- รัฐภาคีแต่ละรัฐจะมอบคำประกาศที่มีลักษณะผูกพันเมื่อให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติต่อพิธีสารฉบับนี้ ซึ่งกำหนดอายุขั้นต่ำที่รัฐนั้นจะอนุญาตให้บุคคลรับการคัดเลือกโดยสมัครใจเข้าร่วมกองทัพแห่งชาติของตน และคำอธิบายของการพิทักษ์ความปลอดภัยที่รัฐได้รับรองเพื่อประกันว่าการคัดเลือกเช่นว่านั้น ไม่ได้เป็นการใช้กำลังบังคับ หรือเป็นการบีบคั้น
- รัฐภาคีทั้งหลายที่อนุญาตให้มีการคัดเลือกเข้าร่วมกองทัพแห่งชาติของตนโดยสมัครใจด้วยเกณฑ์อายุต่ำกว่า 18 ปี จะคงไว้ซึ่งการพิทักษ์ความปลอดภัยเพื่อประกันว่าอย่างน้อยที่สุด
(ก) การคัดเลือกเช่นว่านั้นเป็นไปด้วยความสมัครใจอย่างแท้จริง
(ข) การคัดเลือกเช่นว่านั้น ดำเนินไปด้วยความยินยอมของบิดา มารดาของบุคคลดังกล่าว หรือของผู้ปกครองตามกฎหมาย ซึ่งได้รับการแจ้งข้อมูลแล้ว
(ค) บุคคลผู้นั้นได้รับแจ้งข้อมูลอย่างเต็มที่ถึงภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ ทางทหารเช่นว่านั้น
(ง) บุคคลผู้นั้นให้ข้อพิสูจน์ที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับอายุก่อนที่จะได้รับให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ ทางทหารของชาติ
- รัฐภาคีแต่ละรัฐอาจสร้างเสริมคำประกาศของตนในเวลาใด ๆ โดยการแจ้งให้มีผลดังกล่าว ต่อเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ซึ่งจะต้องแจ้งให้รัฐภาคีทั้งปวงทราบ การแจ้งเช่นว่าให้มีผล ในวันที่เลขาธิการสหประชาชาติได้รับการแจ้งนั้น
- ข้อกำหนดที่จะเพิ่มอายุตามวรรคที่ 1 ของข้อนี้ไม่ใช้บังคับกับโรงเรียนที่ดำเนินการโดย หรือ อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพของรัฐภาคีทั้งหลาย เพื่อให้เป็นไปตามข้อ 28 และ 29 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
ข้อ 4
- กลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ไม่ใช่กองทัพของรัฐไม่ควรคัดเลือกหรือใช้บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ในการสู้รบไม่ว่าภายใต้สภาวการณ์ใด ๆ
- รัฐภาคีทั้งหลายจะต้องดำเนินมาตรการทั้งปวงที่สามารถกระทำได้ เพื่อป้องกันการคัดเลือกและการใช้เช่นว่านั้น รวมทั้งการรับรองมาตรการทางกฎหมายที่จำเป็นที่จะห้ามและกำหนดให้ การกระทำเช่นว่าเป็นความผิดอาญา
- การบังคับใช้ข้อนี้จะไม่กระทบต่อสถานะทางกฏหมายของฝ่ายใดในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ
ข้อ 5
ไม่มีสิ่งใดในพิธีสารฉบับนี้ที่จะได้รับการพิจารณาตีความเป็นการห้ามใช้ข้อบทในกฎหมายของรัฐภาคีหรือในตราสารระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมนุษยธรรมที่เอื้อต่อการบรรลุซึ่งสิทธิเด็กที่มากกว่า
ข้อ 6
- รัฐภาคีแต่ละรัฐจะดำเนินมาตรการทั้งปวงที่จำเป็นทางกฎหมาย ทางการบริหารและมาตรการอื่น ๆ เพื่อประกันการปฏิบัติตามและการใช้บังคับที่มีประสิทธิภาพของข้อบทของพิธีสารนี้ภายในขอบเขตอำนาจของตน
- รัฐภาคีทั้งหลายจะดำเนินการที่จะทำให้หลักการและข้อบทของพิธีสารนี้เป็นที่รับทราบ โดยกว้างขวางและได้รับการส่งเสริมโดยวิธีการที่เหมาะสมแก่ผู้ใหญ่และเด็กเช่นเดียวกัน
- รัฐภาคีทั้งหลายจะดำเนินมาตรการทั้งปวงที่สามารถจะกระทำได้เพื่อประกันว่า บุคคลภายใต้ เขตอำนาจของตนซึ่งได้รับการคัดเลือกหรือถูกใช้ในการสู้รบที่ขัดกับพิธีสารฉบับนี้ จะได้รับ การสลายกำลังไปหรือมิฉะนั้นจะได้รับการปลดประจำการ ในกรณีจำเป็น รัฐภาคีทั้งหลายจะให้ความช่วยเหลือทั้งปวงที่เหมาะสมแก่บุคคลเช่นว่านั้น สำหรับการฟื้นฟูทางร่างกายและจิตใจ และการกลับคืนสู่สังคมของบุคคลเหล่านั้น
ข้อ 7
- รัฐภาคีทั้งหลายจะร่วมมือในการปฏิบัติตามพิธีสารฉบับนี้ รวมทั้งในการป้องกันกิจกรรมใด ๆ ที่ขัดต่อพิธีสาร และร่วมมือในการฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคมของบุคคลซึ่งเป็นเหยื่อของ การกระทำที่ขัดต่อพิธีสาร รวมทั้งโดยผ่านความร่วมมือด้านวิชาการและความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ความช่วยเหลือและความร่วมมือเช่นว่านั้นจะดำเนินการโดยการหารือกับรัฐภาคีทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
- รัฐภาคีทั้งหลายที่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการดังกล่าว จะต้องให้ความช่วยเหลือเช่นว่านั้นโดยผ่านโครงการที่มีอยู่ในระดับพหุภาคี ทวิภาคี หรือโครงการอื่น ๆ หรือนอกเหนือจากสิ่งอื่นโดยผ่านกองทุนบริจาค โดยสมัครใจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎของสมัชชาสหประชาชาติ
ข้อ 8
- รัฐภาคีแต่ละรัฐจะต้องเสนอรายงานต่อคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กภายในสองปีหลังจากการมีผลใช้บังคับของพิธีสารฉบับนี้ต่อรัฐภาคีนั้น โดยให้ข้อสนเทศที่ครบถ้วนว่าด้วยมาตรการที่รัฐ ได้ดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามข้อบทของพิธีสาร รวมทั้งมาตรการที่ดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามข้อบทว่าด้วยการมีส่วนร่วมและการคัดเลือก
- ภายหลังการเสนอรายงานที่ครบถ้วน รัฐภาคีแต่ละรัฐจะรวบรวมไว้ในรายงานที่รัฐได้เสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กตามข้อ 44 ของอนุสัญญาฯ ซึ่งข้อสนเทศเพิ่มเติมใด ๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพิธีสาร รัฐภาคีอื่น ๆ ของพิธีสารจะเสนอรายงานทุก ๆ ห้าปี
- คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กอาจร้องขอข้อสนเทศเพิ่มเติมจากรัฐภาคีทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับ การปฏิบัติตามพิธีสารนี้
ข้อ 9
- พิธีสารนี้เปิดให้มีการลงนามโดยรัฐใด ที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ หรือได้ลงนามในอนุสัญญาฯ
- พิธีสารฉบับนี้ต้องได้รับการให้สัตยาบันและเปิดให้มีการภาคยานุวัติโดยรัฐใด ๆ สัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารจะเก็บรักษาไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ
- เลขาธิการสหประชาชาติในฐานะผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาและพิธีสาร จะต้องแจ้งตราสารของ คำประกาศตามข้อ 3 แต่ละฉบับให้รัฐภาคีทั้งปวงของอนุสัญญาฯ และรัฐทั้งปวงที่ได้ลงนามอนุสัญญาฯ ทราบ
ข้อ 10
- พิธีสารฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับสามเดือนภายหลังการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่สิบ
- สำหรับรัฐภาคีแต่ละรัฐที่ให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติต่อพิธีสารฉบับนี้ภายหลังการมีผลใช้บังคับของพิธีสาร พิธีสารนี้จะมีผลใช้บังคับหนึ่งเดือนหลังจากวันที่มอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารของรัฐนั้น
ข้อ 11
- รัฐภาคีใดอาจถอนตัวจากพิธีสารนี้ได้ในทุกเวลาโดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ซึ่งจะต้องแจ้งให้รัฐภาคีอื่น ๆ ของอนุสัญญาฯ และรัฐทั้งปวงที่ได้ลงนาม ในอนุสัญญาฯ ทราบภายหลังจากนั้น การถอนตัวจะมีผลหนึ่งปีหลังจากวันที่เลขาธิการฯ ได้รับการแจ้ง อย่างไรก็ตาม หากภายในเวลาที่จะพ้นกำหนดหนึ่งปีนั้น รัฐภาคีที่ถอนตัวนั้นได้เข้าร่วมในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ การถอนตัวจะไม่มีผลก่อนการสิ้นสุดของความขัดแย้งกันด้วยอาวุธนั้น
- การถอนตัวเช่นว่านั้นจะไม่มีผลเป็นการปลดปล่อยรัฐภาคีจากพันธกรณีภายใต้พิธีสารฉบับนี้ ในกรณีที่มีการกระทำใด ๆ เกิดขึ้นก่อนวันที่การถอนตัวจะมีผล ทั้งการถอนตัวเช่นว่าจะไม่มีผลกระทบในทางใดต่อการพิจารณาที่ยังคงดำเนินอยู่ในเรื่องใดที่อยู่ภายใต้การพิจารณา ของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กแล้วก่อนวันที่การถอนตัวจะมีผล
ข้อ 12
- รัฐภาคีใดอาจเสนอข้อแก้ไข และยื่นต่อเลขาธิการสหประชาชาติ จากนั้นเลขาธิการฯ จะต้อง ส่งข้อแก้ไขที่เสนอมาแก่รัฐภาคีทั้งหลาย พร้อมกับคำร้องขอที่ให้รัฐภาคีระบุว่า รัฐภาคีนั้นเห็นชอบให้จัดการประชุมของรัฐภาคีเพื่อวัตถุประสงค์ในการพิจารณาและลงคะแนนเสียง ต่อข้อเสนอนั้นหรือไม่ ในกรณีที่ภายในสี่เดือนนับจากวันที่ได้แจ้งข้อเสนอเช่นว่านั้น มีรัฐภาคีจำนวนอย่างน้อยที่สุดหนึ่งในสามเห็นชอบกับการจัดประชุมเช่นว่านั้น เลาขาธิการสหประชาชาติจะจัดให้มีการประชุมภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ ข้อแก้ไขใด ๆ ที่รับรองโดยรัฐภาคีส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมและลงคะแนนเสียงในที่ประชุมจะต้องเสนอต่อสมัชชาสหประชาชาติเพื่อให้ความเห็นชอบ
- ข้อแก้ไขที่ได้รับการรับรองตามวรรคที่ 1 ของข้อนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อได้รับความเห็นชอบโดยสมัชชาสหประชาชาติ และได้รับการยอมรับด้วยคะแนนเสียงข้างมากจำนวนสองในสาม ของรัฐภาคี
- เมื่อข้อแก้ไขมีผลบังคับใช้ ข้อแก้ไขนี้จะมีผลผูกพันแก่รัฐภาคีทั้งหลายที่ให้การยอมรับ รัฐภาคีอื่นจะยังคงผูกพันตามข้อบทของพิธีสารฉบับนี้และข้อแก้ไขอื่น ๆ ก่อนหน้านั้นที่รัฐภาคีเหล่านั้น ได้ยอมรับแล้ว
ข้อ 13
- พิธีสารฉบับนี้ ซึ่งตัวบทภาษาอาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปนมีความถูกต้อง เท่าเทียมกัน จะเก็บรักษาไว้ ณ หอเก็บเอกสารของสหประชาชาติ
- เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดส่งสำเนารับรองถูกต้องของพิธีสารฉบับนี้ให้แก่รัฐภาคีทั้งปวง ของอนุสัญญาฯ และรัฐทั้งปวงที่ได้ลงนามในอนุสัญญาฯ