[:th]CrCF Logo[:]
โคทม อารียา

ข้อคิดเรื่องสันติวิธี โคทม อารียา | ไทยโพสต์

Share

ข้อคิดเรื่องสันติวิธี โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (เผยแพร่ครั้งแรกหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์)

​ผมเริ่มสนใจสันติวิธีในตอนที่เป็นนักศึกษาที่ฝรั่งเศส ตอนนั้นรัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลทหาร มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากมาย เมื่อเทียบกับการเมืองการปกครองในฝรั่งเศสแล้ว ทำให้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศเราให้เป็นประชาธิปไตยเหมือนในฝรั่งเศส ซึ่งมีคำขวัญจับใจว่า เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า ผมจึงเริ่มที่จะศึกษา

กระแสความคิดหนึ่งก็คือกระแสปฏิวัติ ซึ่งชูคำขวัญว่า อำนาจรัฐมาจากปากกระบอกปืน เสรีภาพจักได้มาต้องต่อสู้ ผมจึงถามตัวเองว่า จริงอยู่เราต้องต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่จะใช้วิธีอะไร ใช้ความรุนแรง ใช้ปืนกระนั้นหรือ หรือจะใช้สันติวิธี ขณะที่หาคำตอบอยู่นั้น ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Les Justes ของ Albert Camus ซึ่งขอแปลชื่อเป็นภาษาไทยว่า ผู้เที่ยงธรรม

ผู้เที่ยงธรรมในหนังสือเล่มนี้หมายถึงตัวละครคนหนึ่งซึ่งเป็นนักปฏิวัติ ที่เห็นการปกครองแบบกดขี่ขูดรีดประชาชนในรัสเซียสมัยนั้นแล้ว ต้องการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า ในบทละครนี้ มีการขับเคี่ยวทางความคิดระหว่างนักปฏิวัติสองคน คนหนึ่งมีแรงบันดาลใจที่ความรักอันมีต่อประชาชนชาวรัสเซีย แม้จะเป็นความรักที่เป็นนามธรรม ไม่มีเสียงขานตอบ และเป็นความรักที่ทำให้ไม่มีเวลาให้แก่ความรักธรรมดาของคนหนุ่มสาว ส่วนอีกคนหนึ่งมีแรงบันดาลใจจากความเกลียดต่อความชั่วร้ายต่าง ๆ ที่เห็นอยู่รอบตัว และต่อการทารุณกรรมที่ตัวเขาเองได้รับ

นักปฏิวัติผู้มีความรักไม่สามารถโยนระเบิดสังหารได้ในครั้งแรกที่พยายาม เพราะว่ามีเด็กนั่งไปด้วยกับแกรนด์ดุกย์ที่เป็นเป้าหมาย หากประสบความสำเร็จในความพยายามครั้งที่สอง แต่แทนที่จะหลบหนี เขากลับยอมให้จับกุมโดยดุษฎี และเดินขึ้นสู่ตะแลงแกงด้วยความแน่วแน่ เขาเห็นว่าเป็นความเที่ยงธรรมแล้วที่จะชดใช้ด้วยชีวิต มิฉะนั้นเขาจะกลายเป็นฆาตกร หากเขาพรากชีวิตผู้อื่น ก็ต้องพร้อมที่จะให้ผู้อื่นตัดสินชีวิตเขาด้วย จึงจะเที่ยงธรรม

จากการอ่านหนังสื่อชื่อ ผู้เที่ยงธรรม นี้ ผมได้ตัดสินใจว่า การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมควรใช้สันติวิธี เพราะผมไม่มั่นใจว่าผมถูกจนพร้อมจะไปพรากชีวิตผู้อื่นและชดใช้โดยการให้ผู้อื่นพรากชีวิตของผมไปด้วย ผมไม่อาจเป็นผู้เที่ยงธรรมได้ถึงปานนั้น

ผมจึงเริ่มอ่านหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับสันติวิธี มีอยู่เล่มหนึ่งที่เป็นชีวิตจริงและประทับใจผมขณะที่อ่าน เท่าที่จำได้คร่าว ๆ เป็นเรื่องของชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งซึ่งขอเรียกว่าเป็นนักสันติวิธี เขาเป็นผู้ที่มีความรักแก่เพื่อนมนุษย์ และปฏิญาณตนว่าจะไม่ทำให้ผู้ใดเสียชีวิต แม้ตนเองจะต้องตายก็ยอม ครั้งหนึ่งเขาตกเป็นเชลยศึก และใช้โอกาสที่ถูกคุมขังอยู่ เผยแผ่ความเชื่อเรื่องความรักเพื่อนมนุษย์ให้ทั้งแก่นักโทษด้วยกันและผู้คุม พอดีเกิดเหตุร้ายในที่คุมขัง มีนักโทษคนหนึ่งถูกฆ่าตาย ผู้คุมประกาศว่าถ้าไม่มีใครรับสารภาพ ก็จะสังหารนักโทษที่จะสุ่มชื่อขึ้นมาทีละคน บังเอิญคนที่ชื่อถูกจับสลากขึ้นมาคนแรกก็คือนักสันติวิธีคนนี้ อันที่จริง เขาเองรู้ระแคะระคายว่าใครเป็นคนทำ แต่คนคนนั้นหาทางปิดปากเขาโดยไปพบและทวงถามว่า ถ้าเปิดโปงเรื่องออกมา เท่ากับส่งคนทำสู่ความตาย ไหนบอกเล่าว่าจะไม่ทำเช่นนั้นไม่ใช่หรือ ตัวนักสันติวิธีต้องเผชิญกับเรื่องที่ยากลำบากมาก เขาจะยอมตายเพื่ออุดมการณ์ของเขาได้ไหม เวลาผ่านไปจนถึงเส้นตายที่เขาจะถูกสังหาร เขาก็ยังยืนหยัดอยู่กับอุดมการณ์นั้น เหตุการณ์กับตาลปัตรกลายเป็นว่า ผู้ที่ทำความผิดกลับทนละอายแก่ใจและแรงกดดันทางมโนสำนึกไม่ได้ เมื่อเห็นความเด็ดเดี่ยวของนักสันติวิธีของเรา เลยเปลี่ยนใจสารภาพและรับโทษประหารจากการกระทำของตน นักสันติวิธีจึงรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิด

เมื่ออ่านหนังสือเล่มแรกผมคิดจะใช้สันติวิธี ส่วนหนึ่งเพราะความขลาดเขลา ไม่สามารถเป็นผู้เที่ยงธรรมพอที่จะเอาชีวิตเข้าแลกกับชีวิตของผู้ที่เราใช้ความรุนแรงไปเอาชีวิตเขา แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มที่สอง จึงคิดว่าเมื่อถึงที่สุด สันติวิธีอาจหมายถึงการเสี่ยงชีวิตเพื่อไม่ให้ตนเองเป็นต้นเหตุแห่งการทำร้ายผู้อื่น การยืนยันในอุดมการณ์จนกระทั่งยอมเป็นมรณสักขี ย่อมต้องการความรักในเพื่อนมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน แล้วจะฝึกฝนอุดมการณ์เช่นนี้ขึ้นมาได้อย่างไร หรือจะฝึกให้หย่อนลงมาหน่อย ตามตัวอย่างของเนลสัน แมนเดลลา ผู้ปฏิเสธที่จะตอบความเกลียดชังด้วยความเกลียดชังได้อย่างไร หรือจะให้หย่อนลงมาอีก จะฝึกให้ห่วงใยคนที่ไม่รักเราแถมยังถือว่าเราเป็นศัตรูได้อย่างไร

เมื่อขบคิดไม่ตก ผมก็ลดระดับลงมาอีก เอาเป็นว่าต้องฝึกฝนความรักไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นพื้นฐานของสันติวิธี แต่จะฝึกสำเร็จหรือไม่สักเพียงใดก็ตาม ยังต้องพยายามฝึกสติอยู่เสมอ เพื่อไม่ใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง และจะไม่ยอมจำนนต่อการใช้ความรุนแรงแบบอำนาจบาตรใหญ่ของผู้ใด

ผมเชื่อในสันติวิธี เพราะสันติวิธีเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีความรัก ไม่ใช่ความเกลียดชังเป็นพื้นฐาน สันติวิธีเป็นวิธีการต่อสู้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความห่วงใยกันมากขึ้น แต่ผมก็ยังยอมรับหลักของความคลุมเครือ คือเราไม่อาจแน่ใจได้เต็มที่ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นว่าดีนั้น จะดีจริง ๆ หรือ เช่นเราเห็นด้วยกับรัฐสวัสดิการ แต่ก็ยังต้องเผื่อทางถอย หากมาตรการบางอย่างของรัฐสวัสดิการไม่มีประสิทธิผล ก็ต้องมีหนทางเปลี่ยนกลับมาได้โดยไม่ชอกช้ำนัก

ผมเชื่อในสันติวิธี เพราะเป็นวิธีที่ได้ผล คือสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง และมีโอกาสถอยได้มากกว่าวิธีการรุนแรงที่เมื่อปลิดปลงชีวิตผู้คนแล้ว แทบไม่มีทางถอยหรือการเยียวยาบาดแผลทางใจที่เป็นจริง ในช่วงเวลา 40 กว่าปีนับแต่ที่ผมกลับมาจากการเรียนหนังสือ ผมเห็นว่าสันติวิธีได้ช่วยให้สังคมไทยผ่านวิกฤตมาหลายครั้งโดยไม่สะบักสะบอมนัก จริงอยู่ เราเข่นฆ่ากันมากสมัยที่มีการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เราเข่นฆ่ากันในการต่อสู้ทางการเมืองในท้องถนนของกรุงเทพฯและที่อื่น ๆ และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะต้องดำเนินต่อไปโดยไม่มีหลักประกันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันอีก แต่สังคมไทยส่วนใหญ่เริ่มเชื่อในสันติวิธี เริ่มปฏิเสธการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ทางการเมืองมากขึ้นตามลำดับ แม้จะมีเหตุการณ์ที่ถดถอยบ้าง แต่นี่คือทิศทางของความหวัง