การเคารพสิทธิมนุษยชนคือพื้นฐานแห่งความปรองดอง โดย โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เผยแพร่ครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
คุณโสต สตานนท์ กรุณาส่งหนังสือที่ท่านเขียนชื่อ “นิติศาสตร์แนวพุทธ” มาให้ผมอ่าน ซึ่งมีข้อคิดน่าสนใจเรื่องกฎธรรมชาติ กฎหมาย และความยุติธรรม สรุปตามภาษาผมได้ว่า กฎหมายควรสอดคล้องกลมกลืนกับกฎธรรมชาติ และความยุติธรรมควรเป็นหน้าที่หลักของผู้พิพากษา ซึ่งแม้จะต้องใช้กฎหมายแต่ก็ต้องคำนึงถึงความยุติธรรม ในความหมายที่วิญญูชนพึงเห็นว่าเป็นเรื่องแห่งความเป็นธรรมนั่นเอง
ผมตีความว่ากฎธรรมชาติตรงกับกฎของพระเจ้าที่นักนิติศาสตร์ตะวันตกถกเถียงกันมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 ข้อคิดนี้จึงได้ถูกเบียดขับโดยข้อคิดด้านสิทธิมนุษยชน ยิ่งเมื่อร้อยกว่าปีมานี้ ที่การขับเคี่ยวกันในฝรั่งเศสระหว่างอาณาจักรและศาสนจักร ได้ลงเอยด้วยการแยกกันอยู่โดยอาณาจักรได้เถลิงการปกครองแบบโลกยธรรม (secular state) ด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าหลักสิทธิมนุษยชนในกฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ได้เข้ามาแทนที่กฎธรรมชาติหรือกฎของพระเจ้าอย่างเต็มภาคภูมิ ส่วนการให้ความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมก็เน้นในเรื่องการใช้หลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรม มากกว่าการยึดกฎหมายตามตัวอักษรมากขึ้นทุกที
กล่าวโดยเฉพาะในกรณีประเทศไทย มาตราที่เกี่ยวข้องกับ หลักสิทธิเสรีภาพและหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มี อาทิ
มาตรา 3 … “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” (หมายความว่าทุกฝ่ายต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก)
มาตรา 27 “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง” (ผมตีความว่าหลักสิทธิเสรีภาพต้องมาก่อนในการบังคับใช้กฎหมาย) และ
มาตรา 197 “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการ ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” (ผมตีความว่าศาลต้องยึดหลักความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ)
เห็นได้ว่า หลักสิทธิเสรีภาพและหลักนิติธรรมมีผลผูกพันทุกองค์กรของรัฐ น่าเสียดายที่ว่า พอนำไปใช้จริง ดูเหมือนว่ามาตราต่าง ๆ ที่อ้างถึงข้างต้นจะสู้การตีความของผู้ใช้ไม่ได้ ผู้ใช้บางคนยึดหลักความสะดวกก็มี บางคนตีความตามธงที่ตั้งไว้ก็มี แต่กระนั้น การบัญญัติไว้ย่อมมีผลเป็นหนทางการต่อสู้ จนกว่าจะเกิดจิตสำนึกทางสังคม ที่ทำให้หลักนิติธรรมได้รับการยอมรับและการปฏิบัติที่ได้ผลจริงในที่สุด
โปรดสังเกตว่า ผมเริ่มจากการกล่าวถึงหลักสิทธิมนุษยชน แต่พอยกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาอ้าง กลับต้องใช้ศัพท์ของรัฐธรรมนูญคือหลักสิทธิเสรีภาพ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหมวด “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” ผมรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้แคบไปหน่อย ชื่อหมวดควรจะเขียนไว้กว้าง เช่น “สิทธิและเสรีภาพของบุคคล” เพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคคลทุกคนที่อยู่เขตอำนาจของรัฐไทย แต่ก็ควรมีบทบัญญัติให้ออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยได้ เฉพาะส่วนที่ไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยอาจอ้างสิทธิเกินจำเป็นเพื่อเอารัดเอาเปรียบคนไทยได้ การรักษาดุลภาพระหว่างสิทธิมนุษยชนและสิทธิของชนชาวไทยอาจทำได้ โดยการบัญญัติมาตรา 27 ข้างต้นเสียใหม่ ดังนี้
มาตรา 27 ใหม่ “สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยจะกระทำได้ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่”
สรุปก็คือว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างกันอยู่นี้ ควรให้ความสำคัญแก่หลักการพื้นฐานที่ให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยรู้สึกว่า ดินแดนนี้มีขื่อมีแป (มีหลักนิติธรรม) ซึ่งสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ (กฎของมนุษย์ทุกคน) ให้มากที่สุด และมีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้เป็นหลักของการอยู่ร่วมกันโดยเคารพความแตกต่างระหว่างกันนั่นเอง
ผมเคยเสนอความคิดเกี่ยวกับความปรองดอง รวมทั้งบทบัญญัติที่ควรมีในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับความปรองดองไว้บ้างแล้ว แต่ไม่ได้โยงความปรองดองเข้ากับเรื่องสิทธิเสรีภาพ ในที่นี้จึงขอเสนอเพิ่มเติมว่า คนเราจะปรองดองกันไม่ได้ถ้ารู้สึกว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน จะปรองดองกันยากหากรู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม และจะไม่ปรองดองถ้าไม่มีการคุยกัน ในแง่นี้ ขอเสนอว่าความปรองดองเป็นผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ยาก หากไม่มีความพยายามอย่างจริงจังของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในอันที่จะแสวงจุดร่วมอันเป็นอุดมคติ และหายุทธศาสตร์ตลอดจนหนทางที่จะไปยังจุดร่วมนั้น
ในแง่หนึ่ง ความปรองดองเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง จากความเป็นปฏิปักษ์ที่มุ่งหวังแต่จะเอาชนะอีกฝ่าย มาเป็นความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ ด้วยอุดมการณ์แห่งภราดรภาพ คือการอยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง ถึงจะต้องแข่งขันกัน ก็ทำตามกติกา (ตามกฎหมายที่เป็นธรรม) รู้แพ้รู้ชนะในความไม่เที่ยงทั้งหลาย
อันที่จริงควรจะมีตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อเพิ่มโอกาสการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งไปในทางสร้างสรรค์ รัฐธรรมนูญจึงควรเปิดทางให้มีการจัดตั้ง “องค์กรเพื่อการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง” (Conflict Transformation Organisation) ให้มีอำนาจหน้าที่ทั้งการเยียวยาอดีต การป้องกันความบาดหมางใหม่ การจัดให้มีกระบวนการคนกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการพูดคุยกันระหว่างผู้ที่มีความขัดแย้ง การสร้างวาทกรรมการอยู่ร่วมกันโดยเคารพความแตกต่าง และการสร้างคุณค่าและวิสัยทัศน์ร่วม เป็นต้น
ในประวัติศาสตร์ เราเรียนรู้และทุมเททรัพยากรมากมายในศาสตร์ของการสู้รบเพื่อหวังในชัยชนะ หรือเพื่อป้องกันตัวเองและหมู่คณะให้มีชีวิตรอด แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่การสู้รบของผู้ทรงพลานุภาพต้องถูกจำกัดด้วยการหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ อีกทั้งยังต้องหลีกเลี่ยงการสู้รบแบบจนตรอกของผู้ก่อการร้ายที่ไปไกลถึงขั้นพลีชีพ เราจำเป็นต้องหันมาเรียนรู้ว่า เราทุกคนเหมือนกันตรงที่ไม่อยากให้ใครมารังแก หากอยากให้เคารพตัวเราที่แตกต่าง เคารพสิทธิของเราอย่างถ้วนหน้า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเรียนรู้และทุมเททรัพยากรให้มากขึ้น เพื่อการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งอย่างมีอารยะ มีจินตนาการ มีความสร้างสรรค์
จึงหวังว่ารัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกัน จะมีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพ “ของบุคคล” ที่พึ่งได้ในทางปฏิบัติ และมีการกำหนดกลไกที่พึ่งได้ในยามขัดแย้ง เพื่อไม่ให้ไปสู่ความรุนแรง โดยหาทางกลับมาสู่จุดแห่งความปรองดองและการอยู่ร่วมกันได้เสมอ