ที่ ชชช. ๐๐๕/๒๕๕๗
วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๗
เรื่อง: การจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ของ สปป.ลาว ตามกระบวนการ PNPCA
เรียน: อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ (นายจตุพร บุรุษพัฒน์) ผ่านคุณพรรณพร สุวรรณ
อ้างถึง: หนังสือที่ ชชช.๐๐๔/๒๕๕๗ เรื่องการคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ของ สปป.ลาว
ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๗
ด้วยกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้กำหนดให้มีการจัดเวทีการดำเนินการให้ข้อมูลโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ของรัฐบาล สปป.ลาว ตามกระบวนการ PNPCA ขึ้นในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๘ ณ สโมสรทหารบก (วิภาวดี) ที่สำคัญการจัดเวทีในครั้งนี้ เป็นการจัดเวทีครั้งที่ ๖ โดยจะมีการรวบรวมข้อเสนอจากเวทีต่างจังหวัด ๕ เวที เพื่อสรุปประมวลเป็นท่าทีของประเทศไทยเสนอต่อ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง ผ่าน MRCS
การจัดเวทีตามกระบวนการ PNPCA ซึ่งเป็นการดำเนินการถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งจะมีข้อมูลหลากหลายแตกต่างจากแต่ละมุมมองของแต่ละภาคส่วน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเวทีวิชาการทั่วไป และที่สำคัญหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการจัดเวทีมีบทบาทสำคัญที่จะต้องอำนวยการให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และจำเป็นที่จะต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียจะได้มีโอกาสในการนำเสนอข้อมูลในเวทีด้วย
สมัชชาคนจน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพประมงในพื้นที่ปลายแม่น้ำมูน และยังชีพในแม่น้ำโขง พวกเรามีประสบการณ์ที่เคยได้รับจากการสร้างเขื่อนปากมูลที่ทำการปิดกั้นแม่น้ำมูน และหากมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ของ สปป.ลาว ในการปิดกั้นแม่น้ำโขง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเรา และที่สำคัญการที่กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการจัดเวที “การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง” (PNPCA) กรณีโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง (เขื่อนดอนสะโฮง) สปป.ลาว นั้น ในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๘ ณ สโมสรทหารบก (วิภาวดี) นั้น พวกเราเห็นว่าเวทีดังกล่าวเป็นเวทีวิชาการ จึงไม่ควรใช้สถานที่ของทหารในการดำเนินการ ที่สำคัญขณะนี้ประเทศไทยยังมีการบังคับใช้กฎอัยการศึก ซึ่งก็ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวอยู่แล้ว และยังจะจัดเวทีวิชาการในค่ายทหารอีก ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ดังนั้น พวกเราจึงขอเรียกร้องต่อกรมทรัพยากรน้ำ ดังนี้
๑. ให้กรมทรัพยากรน้ำเปลี่ยนสถานที่จัดเวที จากสโมสรทหารบก (วิภาวดี) มาเป็นสถาบันทางวิชาการ
๒. ให้กรมทรัพยากรน้ำเชิญตัวแทน สปป.ลาว มาร่วมเวทีในครั้งนี้ เพื่อจะได้ตอบข้อซักถามของพวกเรา
๓. ให้กรมทรัพยากรน้ำเชิญตัวแทนของชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำโขงทั้ง ๘ จังหวัด ให้ได้เข้าร่วมเวทีในครั้งนี้อย่างทั่วถึงและครบคลุมทุกกลุ่ม
ท้ายนี้ พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรมทรัพยากรน้ำและรัฐบาลไทยจะตระหนัก และเห็นความสำคัญในการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน และร่วมมือกับภาคประชาชนในการคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง ของ สปป.ลาว อย่างเต็มที่
จึงเรียนมาเพื่อได้โปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถือ
(นายกฤษกร ศิลารักษ์)
ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล