[:th]CrCF Logo[:]
วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ปฏิรูปตำรวจอย่างไร? พันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร | ไทยโพสต์

Share

ปฏิรูปตำรวจอย่างไร?

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ — จันทร์ที่ 15 ธันวาคม 2557

การจับผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและเครือข่ายนายพลข้อหารับสินบนตรวจพบทรัพย์นับหมื่นล้านนั้น แท้จริงเป็นเรื่องที่รู้กันดีมานานแล้ว ปัญหาที่ต้องตั้งคำถามคือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ผ่านมาปล่อยให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ขี้ขลาดหรือรู้เห็นเป็นใจ เพราะมีมือไม้ตั้งแต่รอง ผบ.ตร. มากมาย จเรตำรวจแห่งชาติและพลตำรวจโท พลตำรวจตรีอีกกว่าสามสิบคน แต่ละปีใช้ภาษีนับร้อยล้าน นอกจากนั้น ก.ตร.ควบคุมการแต่งตั้ง กระทั่ง กต.ตร. ตรวจสอบการบริหารงานตำรวจ

หากจะอ้างกันว่าไม่มีหน้าที่ งั้นก็ไม่ควรมีตำแหน่งเหล่านี้ให้เปลืองภาษีประชาชนอีกต่อไป นี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและประชาชนต้องหาคำตอบเพื่อการปฏิรูปตำรวจ

ตำรวจผู้ใหญ่รับส่วยสินบนล้มคดีจนรวยเป็นเศรษฐีมีเงินร้อยพันล้านไม่ใช่มีแต่สอบสวนกลางเท่านั้น แทบทุกกองบัญชาการก็ไม่ต่างกัน สะท้อนว่าปัญหาไม่ใช่บุคคล แต่เป็นผลของระบบที่เลวร้ายเปิดช่องโอกาสให้ก่ออาชญากรรม ที่สำคัญคือการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไร้หลักเกณฑ์เป็นธรรม ทำให้ทุกคนหวาดหวั่นต้องส่งส่วย คนไม่มีตัวช่วยหรือเครือข่ายอุปถัมภ์ไม่ต้องเจริญก้าวหน้ากับเขา ประกาศ คสช.เรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งแต่แรกเหมือนเป็นความหวัง แต่สุดท้ายเหมือนเดิม

อย่างขายตำแหน่ง ก่อนนี้มีแต่ซื้อสูงขึ้นหรือย้าย ระยะหลังต้องจ่ายเพื่อไม่ให้ถูกย้ายอีกด้วย แม้กระทั่งนายเวรบางคนก็มีราคา และสองสามปีนี้มีพัฒนาการจ้างเงินหลายล้านให้คนใกล้เกษียณลาออกเปิดหลุมให้ลื่นไหลทำกันเป็นขบวนการ ระบบงานตำรวจเสียหายทำลายการปกครองประชาธิปไตยย่อยยับตลอดมา

อย่างเปิดบ่อนพนัน สอบสวนกลางจะเปิดได้อย่างไร ถ้าผู้บัญชาการนครบาลถึงผู้กำกับพื้นที่ไม่รู้เห็นเป็นใจ มีการดำเนินคดีอาญาวินัยใครบ้างหรือไม่ ไม่ใช่ตั้งโจทย์รับสินบนนั่งรอประชาชนหาหลักฐานใส่พานไปส่งมอบ เจตนาไม่สอบสวนล้มคดี และเวลานี้กลายเป็นเรื่องทวงหนี้และน้ำพริกไปแล้ว เปิดบ่อนที่ไหน มีใครสมคบรู้เห็น ขายตำแหน่งอะไรให้ใคร จ่ายกันอย่างไร ไม่มีใครได้ยิน

น้ำมันเถื่อนมีบัญชีจ่ายผู้การนั่น ผู้กำกับนี่ สอบสวนพิเศษ และอีกมากมายที่ปิดไว้ สั่งสำรองราชการก็ยังได้ นี่กลับบอกว่าเป็นหลักฐานทำฝ่ายเดียว จะนั่งรอหนังสือลงชื่อสองฝ่ายหรืออย่างไร?

ตำรวจผู้ใหญ่ทุจริตฉ้อฉลรับส่วยสินบนสารพัดไม่เคยถูกลงโทษ ผู้น้อยรับเงินริมถนนบอกทุจริตน่าอับอาย ทำเป็นขึงขัง ประชาชนก็อยากรวยมั่งจึงฉ้อโกง คนจนลักทรัพย์ มีแรงก็วิ่งราว มีพรรคพวกก็ปล้นขนค้ายาเสพติดถูกจับไปแถลงข่าวได้ผลงานกันมากมาย ข้อมูลด้านลบแซงทุกประเทศ ความตายบนถนน อาชญากรรม ยาเสพติด ทุจริต การค้ามนุษย์และโสเภณี แต่เรื่องดีๆ อย่างการศึกษา วิทยาศาตร์ สิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรม และความปลอดภัย ประชาธิปไตย อยู่รั้งท้าย

เหล่านี้คือตัวชี้วัดความวิบัติของสังคม หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ระบอบประชาธิปไตยต้องล่มสลายแน่นอน เพราะประชาธิปไตยคือการปกครองโดยกฎหมาย เมื่อการรักษากฎหมายไร้ประสิทธิภาพจะเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร?

นายสเตเพิลตัน นักข่าวชาวออสเตรเลียกลับจากไทยไปเขียนบทความ Thailand : Deadly Destination “ประเทศไทย ปลายทางแห่งความตาย” ว่า ประเทศไทยเต็มไปด้วยความรุนแรงอาชญากรรมและตำรวจฉ้อฉล เมื่อเกิดเหตุถูกจี้ปล้นก็ไม่สนใจช่วยเหลือ ผับบาร์ต่างๆ ล้วนต้องจ่ายสินบนให้ตำรวจทั้งสิ้น

ต่างชาติเขามองตำรวจไทยอย่างไรในแง่มุมที่พบเห็นเป็นจริง ควรที่รัฐบาลและนักวิชาการต้องตระหนัก ไม่ควรยินดีไปกับสถิติคดีเกิดจับที่ปรับแต่งให้สวยงามทุกปี เพราะที่ไม่จับรับแจ้งจากคนยากจนมากมายไม่พูดถึง เน้นแต่การประชาสัมพันธ์โครงการฉาบฉวย พูดเองเออเองว่าทำงานกันสำเร็จดีเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องปฏิรูปอะไร?

ปัญหาตำรวจที่หมักหมมถึงวันนี้ไม่มีการแก้ไขเหมือนมะเร็งร้ายกัดกินใกล้สิ้นใจ เพราะนายกรัฐมนตรีทุกสมัยรวมทั้งสื่อและนักวิชาการส่วนใหญ่เสพข้อมูลเท็จเรื่องคนน้อย เงินเดือนต่ำ ทำงานหนักไม่ได้พักผ่อน งบประมาณไม่พอสารพัด ฟังแล้วเหมือนหมดปัญญาแก้ไข จริงหรือไม่ไม่มีใครตรวจสอบ ถูกหลอกให้เพิ่มยศตำแหน่งและงบประมาณอีกมากมาย เกิดปัญหาวุ่นวายหนักขึ้นอีก เพราะเป็นตำรวจเหมือนกันแต่ได้เงินไม่เท่ากัน ใส่เงินไปเท่าไรก็ไม่ถึงผู้น้อย อย่างเงินเดือนละแสนหลายสถานีเวลานี้กลายเป็นเงินกินเปล่าของผู้กำกับ รับแล้วใส่กระเป๋าหายไปเลยชดเชยกฎอัยการศึก ทุกคนจึงอยากเป็นผู้กำกับพื้นที่ดีกว่านายพลอำนวยการ บางสถานีมีตำรวจไม่ถึงห้าสิบ หัวหน้าเป็นพันตำรวจเอก นายร้อยนายพันมากกว่าชั้นประทวนก็มี

ยศก็คือบรรดาศักดิ์ข้าราชการไปจนตายเมื่อหลายร้อยปีที่ถูกยกเลิกไปเพื่อความเสมอภาคของประชาชนปี 2476 แต่ทหารยังจำเป็นเพื่อการรบก็คงยศไว้ และในระยะแรกที่โอนทหารมาเป็นตำรวจยศก็ติดตัวมา อย่างพลตำรวจเอกและโทนั้นเทียบเท่าเจ้าพระยา จะกินอยู่ไปไหนต้องโอ่อ่าใช้รถฉุกเฉินนำ มีพิธีรีตอง ตั้งสำนักงานให้ตำรวจกรองงานลงชื่อ “ดำเนินการตามเสนอ” มีนายเวรเดินหน้าต้อนหลังเปิด-ปิดประตูรถให้นั่ง ไปประชุมที่ไหนก็ลำบาก นั่งใกล้ใครก็คิดว่าเขาไม่คู่ควร ส่งพันตำรวจเอกไปแทน งานราชการเสียหาย เพราะคนประชุมไม่มีอำนาจ คนมีอำนาจไม่ไปประชุม แม้กระทั่งจังหวัดที่ผู้ว่าฯ เป็นประธาน ผู้การบางคนไม่เคยเข้าประชุม ส่วนประชาชนนั้นไม่ต้องพูดถึง เข้าพบไม่ได้ หาตัวไม่เจอ แบกโลงศพไปก็ไม่ได้พบ

ทั่วโลกเขาไม่ได้จัดโครงสร้างตำรวจมีชั้นยศและระบบงานแบบทหารเหมือนไทย ที่ทำให้ต้องแบ่งเป็นสัญญาบัตร-ชั้นประทวน Non Commissioner = ผู้ไม่มีอำนาจ ประชาชนดูถูกว่าต่ำต้อยเป็นตำรวจผู้น้อย ทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีปัญหา

ตำรวจไทยมีสองแสนสองหมื่น คิดอัตราส่วนประชากร 65 ล้าน หารดูได้ เท่ากับหนึ่งต่อสามร้อยมากกว่าอเมริกา อังกฤษ เกาหลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ หนึ่งต่อห้าหกร้อยด้วยกันทั้งสิ้น ขับรถตรวจคนเดียว งานหนักกว่าตำรวจไทยหลายเท่า แต่งเครื่องแบบไปเดินห้างยังถูกร้องเรียน ไม่ต้องพูดถึงเอาเวลาราชการไปตีกอล์ฟพนันขันต่อกันจนหน้าดำเหมือนตำรวจผู้ใหญ่ไทย ใครไม่รู้ก็นึกว่าทำงานหนักตรากตรำ

การสั่งการจากส่วนกลางทำให้ผู้ปฏิบัติในพื้นที่มีปัญหา เดี๋ยวให้พัฒนานั่นนี่ ระบบไอที ทาสีโรงพัก ขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์พร้อมรูปสารพัดเงินไม่พูดถึง ที่ได้ไม่ต้องการ ที่ต้องการไม่ได้ ตำรวจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสภาพปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนได้ ตื่นเช้าขึ้นมาต้องแต่งเครื่องแบบรอประชุมฟังคำสั่งจาก ผบ.ตร.วันนี้จะให้ทำอะไร?

นอกจากนั้นวินัยแบบทหารก็ใช้กับงานตำรวจปัจจุบันไม่ได้ เห็นเจ้านายมาแต่ไกลต้องวิ่งไปรายงานตัวเสียงดัง สั่งราชการถูกหรือผิดต้องเงียบไว้ ไม่สบอารมณ์ก็โยนแฟ้มใส่ คำว่าวินัยเอาไว้ใช้เฉพาะผู้น้อยเรื่องแต่งเครื่องแบบ บกพร่องเวรยามเท่านั้น ตำรวจผู้ใหญ่ใช้อีกฉบับหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด ตำรวจจบใหม่เจอตู้ม้าถึงกับตกใจต้องรีบขี่มอเตอร์ไซค์หนีก็มี หรืออย่างการเรียกหน่วยแบบทหารเช่น กก.2 จร. และ บก.น.8 ใครรู้บ้างว่าเหล่านี้มีหน้าที่อะไร อยู่ที่ไหน

การปฏิรูปตำรวจคือการจัดรูปแบบใหม่ Reform หรือ Modernize คือทำให้ทันสมัย ต้องเริ่มจากเข้าใจว่าตำรวจคือบทบาทหน้าที่ ไม่ได้มีเฉพาะตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ป่าไม้ นายอำเภอ เทศกิจ สรรพสามิต ศุลกากร ประมง ขนส่ง ทางหลวง เกษตร สาธารณสุข และอีกมากมาย คือตำรวจตามกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องแก้ไขให้มีอำนาจสอบสวนส่งอัยการได้ไม่ต้องพึ่งตำรวจแห่งชาติที่ผูกขาดไว้ในปัจจุบัน ตำรวจเกี่ยวข้องต้องโอนไปเป็นมือไม้ให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบ ตรวจคนเข้าเมืองไปมหาดไทย รถไฟ ตำรวจท่องเที่ยว ปราบปรามการค้ามนุษย์ คุ้มครองผู้บริโภคและอีกมากมาย

กรุงเทพมหานครต้องมีตำรวจรักษากฎหมาย แก้ปัญหาอาชญากรรมและจราจร จะโอนตำรวจนครบาลก็ต้องทำ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเลือกตั้งหรือไม่ก็ต้องตรวจสอบควบคุมย้ายตำรวจได้ด้วยความเห็นชอบของสภากิจการตำรวจจังหวัดมีตัวแทนประชาชนร่วมพิจารณา ตรวจสอบร้องเรียนประเมินผลการรักษากฎหมายของผู้การจังหวัดทุกหกเดือน

อัยการต้องมีอำนาจสอบสวนสั่งคดีที่สำคัญตั้งแต่รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษ คดีสั่งไม่ฟ้องผู้เสียหายต้องมีสิทธิขอเอกสารการสอบสวนและความเห็นทุกระดับ สร้างหลักประกันความสุจริตและประสิทธิภาพการสอบสวนคดีอาญา

เหล่านี้สามารถเกิดได้ด้วยสภาปฏิรูปฯ ยืนยันให้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหมวดการบริหารราชการแผ่นดินรวมทั้งกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมจึงจะสำเร็จ