เขาเชื่อของเขา เราก็เชื่อของเรา มาตรฐานการพิจารณาคดีสากลเท่านั้นจะเป็นคำตอบกรณีเกาะเต่า
ลองมาดูคำว่า fair หรือยุติธรรมในมาตรฐานสากล
โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
เรามาลองทำความเข้าใจกับคำว่า fair หรือยุติธรรมในมาตรฐานสากลว่าหมายถึงอย่างไร
ความเป็นยุติธรรมในการนำคนผิดมาลงโทษเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้เสียหาย ญาติผู้เสียหายและทั้งต่อผู้ต้องหา เพื่อให้แน่ใจว่าผู้กระทำความผิดทุกคนได้รับการลงโทษสมควรแก่ความผิดที่ได้ก่อไว้ ไม่มีผู้ใดลอยนวลเหนือความผิด ซึ่งจะทำให้สังคมยังคงตกอยู่ในความหวาดกลัว ไม่ปลอดภัยหากอาชญกรรมนั้นสร้างความสะเทือนขวัญให้กับประชาชนและสาธารณชน อย่างในกรณีฆาตกรรมที่เกาะเต่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีผู้เสียหายเป็นชาวอังกฤษ และมีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นชาวพม่า เหตุเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นเขตอำนาจศาลไทยที่จะต้องนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษอย่างเป็นธรรมความเป็นธรรมในกรณีนี้จึงมีมาตรฐานเดียวคือมาตรฐานสากล ทั้งในขั้นตอนก่อนการพิจารณา ระหว่างการพิจารณาและ หลังการพิจารณา
การสืบสวนสอบสวนคดีอาญาในประเทศไทยตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานับว่ามีมาตรฐานทัดเทียมกับต่างประเทศในหลักการสากลเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายและสิทธิของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เราได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความหลายครั้งเพื่อให้สิทธิในกระบวนการพิจารณาเป็นที่ยอมรับของสากล หากแต่ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยตลอดมาที่นำมาสู่คำว่า “แพะ” และนำมาสู่คำว่า “fair” เป็นปัญหาในทางปฏิบัติโดยผู้รักษากฎหมายและผู้มีอำนาจโดยตรงในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ซึ่งงานนี้องค์กรที่ตกเป็น “แพะ” คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในคดีเกาะเต่านั้นเอง
ทำไมผู้คนทั้งกลุ่มพูดเขียนอ่านภาษาไทย ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมต้นทางของไทยช่วงก่อนการพิจารณาคดี (สืบสวน จับกุม คุมขัง สอบสวน สั่งฟ้องในชั้นตำรวจและสั่งฟ้องในชั้นอัยการ) แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพยายามอย่างยิ่งยวดในการอ้างอิงถึงหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นวิทยาศาสตร์ และไม่อาจเป็นอื่น เช่น กรณีที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า ถ้าตรวจดีเอ็นเอ ตรงกันในร่างของผู้ตายกับในตัวของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดแน่นอน 100% หรือ กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าผู้ต้องหาคดีเกาะเต่าเป็นแพะ ถูกทรมานบังคับให้สารภาพกลายเป็นเพียง”ข้อสันนิษฐาน” ที่หลายคนเชื่อโดยอาจไม่ต้องการหลักฐาน เป็นต้น
ดังนี้รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องนำคนผิดมาลงโทษอย่างโปร่งใส ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และด้วยระบบตุลาการที่มีประสิทธิภาพ ระบบตุลาการในที่นี้หมายรวมถึงขั้นตอนการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นตำรวจและในชั้นอัยการชั้นศาลตามหลักการสากลที่ทุกฝ่ายยอมรับ