[:th]CrCF Logo[:]
Equality before the law

ลักษณะสำคัญของกฎหมายสมัยใหม่ อ้างใน ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย แสวง บุญเฉลิมวิภาส

Share

ความจำเป็นในการรับกฎหมายสมัยใหม่เพื่อให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นตะวันตก และทำให้ไม่สูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จึงจำต้องปรับปรุงระบบกฎหมายให้ทันสมัย ดังนี้

ลักษณะสำคัญของกฎหมายสมัยใหม่

1. หลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (equality before the law) หลักการนี้รับรองว่าทุกคนทุกนามเป็นบุคคลและเป็นตัวการของกฎหมาย (Subject of law) คือเป็นการรับรู้ศักดิ์ศรีของมนุษย์ว่า จะตกต่ำกลายเป็นวัตถุหรือทรัพย์ไม่ได้   ระบบทาสจึงมีอยู่อีกต่อไปไม่ได้ บุคคลมีความเท่าเทียมกันในสายตาของกฎหมาย

2.  หลักการเคารพในดินแดนอิสระของเอกชน  ความคิดเกี่ยวกับทรัพย์สิน ถือว่าทรัพย์สินเป็นสิทธิที่สมบูรณ์ และเด็ดขาดที่สุด ในบรรดาสิทธิของเอกชนทั้งหลายแม้ว่าวามคิดเรื่องสิทธิในทรัพย์สินนี้จะเป็นเรื่องที่ได้รับรู้มาตั้งแต่กฎหมายเดิมแล้ว แต่ในรัฐสมัยใหม่่ รับรองสิทธิว่า ชีวิตของมนุษย์มีเขตแดน Sphere ที่เป็นอิสระของเอกชนจะทำอะไรก็ได้ ตามใจสมัครของตน  ที่เรียกว่า Sphere of Private Autonomy ปลอดจากการแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวโดยรัฐ ในเรื่องคู่สมรส อาชีพ มิตรสหาร สมาชิกกลุ่ม ใดๆที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งเสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วย

3. หลักการไม่มีโทษ ไม่มีกฎหมาย ในสมัยกลางของยุโรป รัฐหรือศาสนาจักรใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง  การจับกุมและพิจารณาคดีอย่างเลื่อนลอย ใช้วิธีทารุณโหดร้าย เพื่อให้คำรับสารภาพเนื่่องจากทนการทรมานร่างกายไม่ไหว ไม่ถูกต้องตามหลักมนุษยธรรม จึงได้ยกเลิกและถือหลักการว่าการกระทำของบุคคลนั้นให้มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ การพิจารณาคดีต้องเปิดเผย ฟังความทุกฝ่าย การสืบพยานต้องชอบด้วยเหตุผล และให้ถือว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์  จนกว่าจะพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่าผู้นั้นกระทำความผิดจริงจึงจะลงโทษได้

4. ความคิดทางด้านกฎหมายมหาชน ถือหลักการปกครองและการบริหารราชการต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย (Principle of Legality in Administration) เจ้าพนักงานผู้ใช้อำนาจในการปกครองหรือบริหารบ้านเมืองจะลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของเอกชนได้ก็เฉพาะที่กฎหมายให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น และต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายด้วย  การปกครองในรัฐสมัยใหม่จึงจำเป็นต้องยอมรับหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) ออกเป็นนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ การแยกอำนาจดังกล่าวก็เพื่อเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ตกอยู่ใต้อำนาจอำเภอใจ (Arbitrary Power) ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

5.ความคิดเกี่ยวกับหลักนิติธรรม หรือที่เรียกว่าหลักกฎหมายเป็นใหญ่ Rule of Law ทุกคนไม่ว่าประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับย่อมต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเสมอกัน การให้อภิสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษแก่บุคคลเฉพาะรายในโดยปราศจากเหตุผลเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชนสาธารณะ ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและน่ารังเกียจในสังคมสมัยใหม่

หน้า 134-136

ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย
ศจ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส