[:th]CrCF Logo[:]
คดีปีนรั้วรัฐสภา

ขอเชิญเข้าร่วมฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีปีนรั้วรัฐสภา เหตุจำเลยทั้ง 10 คัดค้านการออกกฎหมาย สนช.

Share

ใบแจ้งข่าว ขอเชิญเข้าร่วมฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีปีนรั้วรัฐสภา เหตุจำเลยทั้ง 10 คัดค้านการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมัยรัฐประหารปี 49

ในวันพุธที่ 26 พฤศจิกายน 2557 เวลา 09.30 น. นี้ ณ ห้องพิจารณาคดี 611 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีพนักงานอัยการฟ้อง นายจอน อึ้งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยกรณีปีนเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4383/2553 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1092/2556

เหตุในคดีนี้จำเลยทั้งสิบและประชาชนจำนวนมากได้เรียกร้องทุกวิถีทางเพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับฟัง ใช้ทุกช่องทางเท่าที่สามารถทำได้มาเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อมีการชุมนุมและการสื่อสารกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติถูกปิดกั้นในวันเกิดเหตุ จึงมีเหตุจำเป็นที่ต้องหาช่องทางเข้าไปในรัฐสภาเพื่อยับยั้งผลร้ายที่จะเกิดกับประชาชน สังคม และระบบกฎหมายในอนาคต

คดีนี้พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายจอน อึ้งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหาบุกรุกรัฐสภา ยุยงให้ประชาชนละเมิดต่อกฎหมาย และชุมนุมมั่วสุมเกิน 10 คนโดยเป็นแกนนำ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 มาตรา 116(3) มาตรา 215 วรรคสามตามลำดับ) ศาลรับฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4383/2553 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 จากสถานการณ์บ้านเมืองภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติ ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและรัฐสภา พิจารณาร่างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างรีบเร่งและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะกฎหมายที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เช่น พระราชบัญญัติความมั่นคง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 เครือข่ายภาคประชาชนจึงได้ร่วมตัวกันใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเพื่อคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่และเรียกร้องการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตยบริเวณหน้ารัฐสภา ต่อมามีประชาชนจำนวนมากร่วมกันปีนเข้าไปภายในรัฐสภา เพื่อขอให้สภานิติบัญญัติ รับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน เนื่องจากประตูรัฐสภาถูกปิดโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปในรัฐสภาได้ ประกอบกับไม่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติหรือเจ้าหน้าที่รัฐสภาคนใดออกมารับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน นำมาสู่การถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลในคดีนี้

โดยศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ (ฝ่ายพนักงานอัยการ) และจำเลยทั้งสิ้นรวม 51 ปาก โดยเริ่มสืบพยานนัดแรกตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 และสิ้นสุดการสืบพยานในวันที่ 7 มีนาคม 2556 ในช่วงการสืบพยานมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน และผู้ร่วมสังเกตการณ์คดีทั้งภายในและจากต่างประเทศเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี เพราะเล็งเห็นความสำคัญของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามมาตรา 63 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้คุ้มครองไว้ อีกทั้งยังเป็นการใช้สิทธิพลเมืองในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 อีกด้วย

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2556 ศาลอาญามีคำพิพากษา “ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 2 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 คนละ 1 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 1 ปี ปรับคนละ 6,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 คนละ 8 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและจำเลยทั้งสิบกระทำความผิดไปโดยมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี”

ประเด็นท้าทายสำหรับคดีนี้คือทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมรับฟังถึงหลักการและคุณค่าที่จำเลยทั้งสิบยึดถือปฏิบัติ อันเป็นเหตุผลที่มาของการปีนเข้าไปในรัฐสภาซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาและกฎหมายอาญา ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนอันเป็นหัวใจสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

รายละเอียดข้อมูลคดีติดตามย้อนหลังได้ที่ http://www.naksit.org/2012-02-03-08-40-11/2012-02-03-09-22-49/45-2012-02-23-09-24-40/231–10-.html

http://naksit.org/2012-02-03-08-40-11/2012-02-03-09-22-49/45-2012-02-23-09-24-40/432–10-49.html

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คุณนคร ชมพูชาติ ทนายความ 081-8473086
คุณวราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ 084-8091997

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
โทรศัพท์ /แฟ๊กซ์ : 02-6930682
อีเมล์ : hrla2008@gmail.com
http://www.naksit.org