น้ำตา คน ป่า: จุดเริ่มต้นของหยดน้ำตา กรณีศึกษา บ้านเลาวู ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ โครงการเข้าถึงความยุติธรรม และการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับศูนย์พิทักษ์ และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
‘คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้…’ จากคำสั่งฉบับดังกล่าวส่งผลให้มีการเข้าตรวจสอบพื้นที่ผืนป่าทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือครอบครอง ทำลายหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าและหนึ่งในนั้นคือพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเลาวูตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าอุทยาน ทหาร ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดงหรือชื่อเดิมว่าอุทยานแห่งชาติภูเชียงดาว ต่อมาในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เจ้าหน้าที่คณะเดิมเข้ามาอีกครั้งพร้อมเฮลิคอปเตอร์ และสื่อมวลชนสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 พร้อมทั้งแถลงข่าวยึดคืนพื้นที่ 1,500 ไร่ ระหว่างหมู่บ้านปานกลางและหมู่บ้านเลาวูและมีคำสั่งให้ชาวบ้านรื้อถอนผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่อุทยานผาแดง
ซึ่งอุทยานแห่งชาติผาแดงหรือเดิมชื่อว่าอุทยานแห่งชาติเชียงดาว ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 มีเนื้อที่ประมาณ 702,085 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอในจังหวัดคือเชียงดาว เวียงแหง และไชยปราการ ทิศเหนือติดกับประเทศสหภาพพม่า
“เขาไม่ได้สนใจว่าเราจะอยู่มาก่อนหรืออะไร เขายืนยันว่าบ้านเลาวูในเขตของอุทยานผาแดง เป็นพื้นที่ปลูกป่าทั้งหมด ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง พ่อแม่ผมอยู่มาเกือบ 70 ปี ทำมาหากินบนพื้นที่นี้ สมัยดั้งเดิมนั้นปลูกฝิ่นจนมาถึงปัจจุบันปลูกผักปลูกผลไม้กัน เขาบอกว่ารื้อถอนให้หมด ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทำมาก่อนแล้ว ก็ไม่เคยฟังเสียงของชาวบ้าน” ผู้นำชาวบ้านของหมู่บ้านเลาวูระบายถึงความไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น
“เราก็อยากจะถามว่าเขาจะให้คนตาย หรือจะให้คนอยู่เท่านั้นเอง ชาวบ้านเลาวู” ชาวบ้านเลาวูตั้งคำถามถึงสิ่งที่เขาได้รับ
ประวัติศาสตร์บ้านเลาวู
หมู่บ้านเลาวูตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 11 ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2474 ปัจจุบันอายุได้ราว 83 ปีมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 530 คน แบ่งเป็น 120 ครัวเรือน
ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเลาวูเล่าว่าชาวบ้านเลาวูเป็นชนเผ่าลีซูซึ่งอพยพมาจากประเทศจีนหลายสิบปีแล้ว เนื่องจากมีความเป็นอยู่ลำบาก ข้าวยากหมากแพง และได้รับการชักชวนจากพ่อค้าฝิ่นว่าในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกฝิ่นและผลผลิตเยอะ จึงอพยพเข้ามาโดยการนำของนายอ่าเลปาหมึก เลายี่ปา นายอาซาปลุกซา ยี่ปา นายอาซาฟืน เลาฉี่ และนายใส่มาเก๊ยะ เล่าหมี่ เดิมได้ก่อตั้งหมู่บ้านอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ต่อจากนั้นได้อพยพมาอยู่ที่เก่า(ใกล้กับหนองคาย) และต่อมาได้ก่อตั้งหมู่บ้าน (นาหลา) แห่งใหม่ ที่บ้านเก่าใหญ่ ซึ่งตอนนั้นขึ้นการปกครองกับ ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านเลาวูในปัจจุบัน ประมาณ 2 กิโลเมตร ในขณะนั้นมีประชากรประมาณ 300 ครัวเรือน สาเหตุการย้ายถิ่นฐาน เพื่อต้องการพื้นที่ ทำกิน การเกษตรและอีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งกันเองระหว่างกลุ่ม เพราะการที่มีความต้องการขึ้นเป็นผู้นำของหมู่บ้าน
ต่อมารัฐบาลไทยได้ส่งตำรวจตระเวนชายแดนเข้ามาดูและส่งเสริมความเป็นอยู่ทุกด้าน จากนั้นได้มีการคัดเลือกผู้นำชนเผ่าหรือหัวหน้าชนเผ่าโดยแบ่งเป็นกลุ่ม คือ กลุ่มแรกนำโดยนายฟู่แหนสาม เลาฉี่ ย้ายไปตั้งหมู่บ้านปู่แหนสาม(ขุนคองในปัจจุบัน) กลุ่มที่สองนำโดยผู้เฒ่าหลวงสา เลายี่ปา ย้ายไปตั้งหมู่บ้านดอยสามหมื่น อำเภอเวียงแหง และกลุ่มที่สาม นายแกสาม เล่า ยี่ปา ย้ายไปตั้งหมู่บ้านเลาวู
พื้นที่ของหมู่บ้านบ้านเลาวูแบ่งออกเป็นสองฝั่งคือหนึ่งในส่วนของบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจะตั้งอยู่ในเขตของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูเชียงดาวซึ่งประกาศเป็นเขตรักษาพันธ์เมื่อปี พ.ศ. 2525และในส่วนของที่ดินทำกินในปลูกพืชผลทางการเกษตรจะอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติผาแดงซึ่งได้ประการเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเมื่อปีพ.ศ. 2543
“ผมเกิดที่นี้จนตอนนี้อายุได้ 50 ปีแล้ว รุ่นพ่อแม่อพยพมาจากทางอำเภอฝางประมาณ 83 ปีละ เพราะอำเภอฝางแต่เดิมทำอาชีพสวนฝิ่น ซึ่งที่นี้เป็นพื้นที่สูงและอากาศเย็นเหมาะก็การปลูกฝิ่นก็เลยย้ายมาอยู่ตรงนี้ ภายหลังก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกฝิ่นบริเวณนี้ และต่อมาก็มีการปลาบปามไม่ให้ปลูก จึงเลิกไป ปัจจุบันก็ปลูกผลไม้ เมืองหนาวอย่างอื่น เช่น กาแฟ ผัก ผลไม้” ผู้นำชาวบ้านบ้านเลาวูเล่าถึงที่มาของอาชีพเกษตรกรในปัจจุบัน
ชาวบ้านในหมู่บ้านเลาวูอธิบายถึงวิธีการทำเกษตรของคนในหมู่บ้านว่า พวกเขาทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนคือหากในปีนี้ทำตรงพื้นที่แรก ปีต่อไปก็จะไปที่ในพื้นที่ที่สอง ที่สาม ที่สี่ แล้วกลับมาทำที่เดิม หมุนเวียนเป็นวัฏจักร ซึ่งเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพื่อจะทิ้งพื้นที่ให้ดินกลับมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ซึ่งวิธีการทำไร่หมุนเวียนแทบจะไม่ต้องอาศัยสารเคมีเลย เรียกได้ว่าเป็นการให้ธรรมชาติฟื้นฟูธรรมชาติ
โดยในช่วงที่ชาวบ้านเว้นพื้นที่ไว้คนที่อื่นจะไม่สามารถเข้ามาทำได้ เนื่องจากชาวบ้านที่นี้จะรู้จักกันหมดว่าสวนนี้ของใครๆและคอยช่วยกันดูแลไม่ให้คนที่อื่นเข้ามาทำ
“ผมเกิดมาก็ทำแบบนี้ ทำอาชีพนี้ตามบรรพบุรุษ ซึ่งการทำไร่หมุนเวียนเราจะเว้นไว้สามถึงสี่ปีแล้วไปทำใหม่ เพราะถ้าทำที่เดิมทุกปีซ้ำกันสองถึงสามปี ดินจะมีการเสื่อมสภาพทำให้ต้องพึ่งพาปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและสารเคมีเยอะ ซึ่งวิถีชีวิตบนบ้านเลาวูจะเป็นแบบพอเพียงมีกินมีใช้ไปวันๆ ไม่ต้องพึ่งอะไรมาก อย่างปลูกข้าวโพดเราก็จะเอาไว้เลี้ยงหมู เอาไว้กิน ที่เหลือบางส่วนก็เอาไปขาย”ชาวบ้านในหมู่บ้านเลาวูกล่าว
ผู้นำชาวบ้านหมู่บ้านเลาวูเล่าว่าแต่เดิมชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินกันมาโดยไม่มีปัญหาใดใด เนื่องจากฝั่งที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ในส่วนของเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าจะมีเจ้าหน้าของเขตรักษาพันธ์สัตว์เข้ามาแวะเวียน พูดคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าสิ่งใดทำได้ สิ่งได้ทำไม่ได้ แต่ในส่วนของพื้นที่ทำกินด้านอุทยานผาแดงถึงแม้ว่าจะไม่มีเจ้าหน้าที่มาพูดคุยกับชาวบ้าน แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้ามาไล่หรือมาจับกุมพวกเขา
ผู้นำชาวบ้านเล่าต่อว่าปัญหาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่อุทยานผาแดงจะมีก็เพียงในปี 2542 เกิดไฟไหม้ขึ้นในพื้นที่ที่ชาวบ้านทำการเกษตร จึงเกิดเป็นคดีความขึ้น แต่ก็มีการพูดคุยกันจนเกิดข้อยุติลง
“หลังจากนั้นก็คุยกันไม่ได้มีปัญหา ทำกันมาเรื่อยๆ ซึ่งระยะที่ผ่านมา 80 กว่าปี เจ้าหน้าผาแดงไม่เคยมาคุย ไม่เคยมาจัดระเบียบ มาแบ่งจัดสรรให้กับชาวบ้าน แต่พอมาปี 2545 ก็มีเข้ามาในพื้นที่แต่ไม่ได้จัดระเบียบแบบจริงจัง พอมาถึงปี 2557 ภายใต้คำสั่งของ คสช. จึงมีการมาประกาศยึดที่ทำกินทั้งหมดของชาวบ้าน”นายอมรเทพกล่าว
เจ้าบ้านหรือผู้อาศัย
ซึ่งหน่วยงานราชการได้ให้คำจำกัดความ “ชาวเขา” หมายถึงบุคคลที่อยู่ใน 9 เผ่า คือ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า มูเซอ ลีซอ อีก้อ ลัวะ ขมุ และถิ่น ซึ่งนายสุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นเล่าถึงที่มาที่ไปของจุดเริ่มในการที่คนในชนเผ่าต่างๆ เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าว่าชนเผ่าหมายถึงชนชาติอื่นที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ซึ่งชายแดนพื้นที่ภาคเหนือตรงนี้มันเป็นพื้นที่สีชมพูเดิมซึ่งคือพื้นที่เป็นแนวร่วมของพรรคอมมิวนิสต์ในในยุคสงครามเย็นโดยในมุมทหารก็จะมองว่าพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ความมั่งคงจึงมีการตั้งศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาขึ้นและมีการจัดตั้งหมู่บ้านบริเวณแนวชาติแดนขึ้นเพื่อให้ชาวเขาอยู่อาศัยและเป็นการพลักดันกลุ่มคอมมิวนิสต์ออกจากพื้นที่ไป
นายสุมิตรชัยอธิบายต่อไปว่า ในส่วนการปลูกฝิ่นและการค้าไม้ในพื้นที่ป่าแต่เดิมนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากอังกฤษ ตั้งแต่ยุคสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งไทยมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษเพื่อเอกราชอธิปไตยของประเทศ ซึ่งกรมป่าไม้แต่เดิมตั้งขึ้นมาเพื่อทำการค้าไม้ซึ่งก็คือสัมปทานป่าไม้นั่นเอง โดยพื้นที่ภาคเหนือเกือบทุกพื้นที่จะเป็นพื้นที่ให้สัมปทานไม้ ทั้งแม่ฮ่องสอน ทั้งฝาง ทั้งเวียงแหง ก็เป็นเขตสัมปทานเก่าทั้งสิ้น โดยบริษัททำไม้เดิมล้วนเป็นบริษัทของอังกฤษทั้งหมด
โดยชาวเขาเหล่านี้เดิมก็เป็นคนงานในพื้นที่สัมปทาน ตัดไม้ เลี้ยงช้างอะไรต่างๆ รวมทั้งการปลูกฝิ่นบนพื้นที่ภูเขาแล้วลงมาขายข้างล่าง เนื่องจากสมัยนั้นฝิ่นเป็นสินค้าถูกกฎหมายและไทยก็มาการตั้งโรงฝิ่น เพราะฉะนั้นคนที่ปลูกฝิ่นซึ่งนำมาสู่การขายในท้องตลาดคนสูบกันทั้งบ้านทั้งเมืองในอดีตก็คือชาวเขาภายใต้การส่งเสริมของรัฐบายในสมัยนั้น นั่นหมายว่าก็ต้องล้มป่าปลูกฝิ่น และตัดไม้ภายในเขตสัมปทาน
“สภาพของการทำลายป่าในภาคเหนือเกิดจากนโยบายรัฐทั้งสิ้นนี้คือภูมิหลังของมัน แต่ปัจจุบันคนที่เป็นจำเลยของสังคมคือชาวเขาทั้งเรื่องยาเสพติด ทั้งเรื่องตัดไม้ทำลายป่า ทั้งๆที่ประวัติศาสตร์ของมันทั้งสองเรื่องรัฐเป็นส่งเสริมทั้งสิ้น” นายสุมิตรชัยกล่าว
ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นขยายความว่าแผนแม่บทของการแก้ไขปัญหายาเสพติดรวมถึงแผนแม่บทของการจัดการทรัพยากรเกิดขึ้นมาภายหลัง เนื่องจากพื้นที่ป่าในประเทศเหลือน้อยเต็มที จึงเกิดแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์และปิดสัมปทานป่าไม้ถาวรเมื่อป่าพ.ศ. 2532 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปิดสัมปทานป่าไม้ครั้งแรกปีพ.ศ. 2527หลังจากนั้นก็มีการอนุโลมเปิดสัมปทานป่าไม้อีกสองถึงสามปี เพื่อให้บริษัทที่มีการตัดไม้ทิ้งไว้แล้วยังไม่มาเก็บผลผลิตทำไม้ต่อได้บางส่วน
เพราะฉะนั้นการทำสัมปทานไม้ก็จะทำกันมายาวนานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2505เป็นต้นมาจนถึงปีพ.ศ. 2532ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแต่ประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนในบางส่วน เนื่องจากหากประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแล้วจะไม่สามารถทำไม้ แต่ป่าสงวนสามารถทำได้ดังนั้นเขตพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่ในอดีตจะเป็นป่าสงวนทั้งหมด คือรัฐสงวนไว้เพื่อจะทำไม้ ชาวบ้านทำไม่ได้เป็นได้เพียงแค่คนงานในสัมปทานเท่านั้น
“เพราะฉะนั้นกลุ่มชาติพันธ์ทั้งหมดที่ถูกกล่าวหาในวันนี้ว่าบุกรุกป่า ถ้าในประวัติศาสตร์จริงๆแล้วเขาไม่ใช่คนบุกรุกป่า เพราะเขาอยู่กับป่ามาตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนที่จะมีนโยบายป่าไม้ด้วยซ้ำ แล้วส่วนใหญ่ก็จะเป็นชนเผ่าพื้นเมืองติดแผ่นดิน คือเขาเกิดที่นี้”
กลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ศัตรูคู่อาฆาตหรือมิตรผู้อารีในผืนป่าอุทยาน
ด้านนายวัชระ ลายประวัติหัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแดงเล่าว่าแต่เดิมพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศเป็นพื้นที่ป่า แต่เมื่อเริ่มมีวิวัฒนาการการบริหารประเทศ ก็เริ่มให้ที่ป่าเพื่อให้คนทำกิน จึงเป็นที่มาของความผูกพันธุ์ระหว่างคนกับป่า
“สมัยโบราณเราไม่ได้พูดเรื่องเงิน เราพูดเรื่องกินอยู่ปัจจัยสี่ ก็คือความอยู่รอด แต่สิ่งที่เหนือกว่าความอยู่รอดก็คือเป็นตัวเงิน ซึ่งทุกวันนี้ภัยคุมคามที่เกิดขึ้นเยอะก็คือตัวเลขทางเศรษฐกิจมันโต คนเราต้องมีรายได้ มีค่าครองชีพ และเมื่อคนยิ่งมากค่าครองชีพก็ยิ่งสูงเพราะฉะนั้นการที่ค่าครองชีพสูงถ้าตีเป็นตัวเลข ก็ต้องใช้ป่าทำอะไรให้เป็นเงินได้เท่านี้ ใช้ทรัพยากรจากป่าไม้หรือว่าที่ดิน เพื่อให้เท่ากับตัวเลขของค่าครองชีพณ ปัจจุบัน”
หัวหน้าอุทยานอธิบายให้ฟังต่อไปว่าทุกวันนี้สังคมเติบโตขึ้นมากเท่าไหร่ ความต้องการใช้ทรัพยากรจากป่าก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน ความเป็นป่ากลับจะผกผันลดลงเรื่อยๆ ซึ่งตัวเลขที่ลดลงจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ที่คนในสังคม
ซึ่งนายวัชระ มองว่าแนวทางแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่ลดลงของป่าต้องเริ่มจากการนำทรัพยากรมาออกแบบใหม่ เช่นการนำพื้นที่อุทยานมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะได้ผลตอบแทนสูงเนื่องจากไม่ต้องใช่ต้นทุน หรือเป็นพื้นที่สำหรับศึกษาวิจัย เมื่อเกิดกิจกรรมขึ้นในพื้นที่อุทยานสิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือผลิตภัณฑ์ จากนั้นเมื่อมารายได้เข้ามาในอุทยานแล้วจึงนำรายได้ตรงนี้บางส่วนไปให้ประชาชนที่ไม่มีที่ทำกินต้องพึ่งพาป่าเพื่อเรียกร้องที่ทำกิน
“เพราะฉะนั้นการออกแบบเรื่องคนกับป่าตอนนี้เรามาถูกทางแล้วหรือเปล่า เช่นการแบ่งที่ทำกินให้คนไม่มีที่ทำกิน ผมอยากรู้ว่าคนที่อยากแบ่งที่ไปคนไม่มีที่ดินทำกินเขารู้ไหมว่าประเทศไทยที่มันไม่งอกและมันจะลดลงด้วยซ้ำแต่ถ้าคนที่อยู่ในพื้นที่ เราใช้กติกาบนเงื่อนไข ทำยังไงให้คนในพื้นที่ป่าตระหนักว่าใช้เท่าที่จำเป็น คือให้ใช้ได้แต่ใช้แล้วทดแทนปัญหามันก็อาจจะลดลง”
ซึ่งส่วนตัวหัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแดงมองว่าคนในป่าควรนำกระบวนการความคิดของคนในเมืองมาใช้คือหากอยากเป็นเจ้าของที่ดิน ก็ต้องมีกระบวนการสร้างรายได้ให้มีความมั่งคงเสียก่อนจากนั้นจึงนำไปซื้อที่ดินเป็นของตนเอง
“แต่คนที่อยู่ในป่าเขาไม่ได้คิด เขาว่าเขาเกิดตรงนี้ เขาต้องได้สิทธิ์ในที่ดินตรงนี้ แต่ที่ดินของป่ามันเป็นที่ดินของคนคนเดียวไหม ที่ดินของป่าไม้ในประเทศไทยมันเป็นที่ดินของคนทั้งประเทศเพราะฉะนั้นการบริหารจัดการป่าหรือการบริหารจัดการที่ดินก็ต้องมานั่งคิดต่อว่าถ้าเราเปิดให้หมดมันไม่พอแจกถ้าคนกรุงเทพมาแค่เขตเดียว บอกว่าฉันก็อยากได้ที่ดินทำกินเหมือนกันเพราะฉันเป็นคนไทย ฉันก็มีสิทธิ์ที่จะได้ที่ดินทำกิน มันก็เหนื่อยนะถ้าคนไปลงชื่อว่าไม่มีที่ดินทำกิน อยากได้ที่ดินทำกิน”
ด้านผู้นำชาวบ้าน บ้านเลาวูมีความคิดเห็นว่าชาวบ้านที่อยู่ในป่าเป็นผู้ช่วยทำนุบำรุงป่า ซึ่งหากชาวบ้านคิดร้ายกับป่าพื้นที่ทุกวันนี้คงไม่มีเหลือแล้วเพราะชาวบ้านอยู่กับป่าตลอดเวลา หากคิดจะทำลายป่าก็เป็นการยากที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามาควบคุม แต่ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่ได้คิดจะลายป่า ชาวบ้านคิดว่าป่าก็คือป่าบ้านของพวกเขา คือที่ทำกินของพวกเขา
“บางครั้งก็เครียดอยากตอบโต้ กรณีที่บอกว่าเราเป็นคนทำลายป่า บ้านผมนี้ผมท้าได้เลยว่าป่ามีเป็นไม่รู้กี่แสนต้น แล้วจะมาโทษว่าเราทำลายป่ามันก็ไม่ถูก ข้างล่างมีไหมป่า ไม่มีเลยเป็นปูนหมดแล้ว พอน้ำไหลมาไม่มีที่ดูดที่ซึมมันก็ท่วม บางครั้งการกระทำของเจ้าหน้าที่มันก็ไม่ถูกต้อง อย่างการมีปิดล้อม ชาวบ้านทำอะไรไม่ถูกนิดหน่อยก็มาปิดล้อมตรวจค้น คุณจะมาปิดล้อมตรวจค้นคุณอยู่ได้นานเท่าไหร่ แต่ชาวบ้านเขาอยู่ที่นี้ 24 ชั่วโมง ถ้าเขาจะไปตัด เขาไปตัดเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะฉะนั้นการปราบปรามหรือว่าการกำจัดมันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ”
ซึ่งผู้นำชาวบ้านบ้านเลาวูเห็นว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดและจะทำให้ได้ผลที่ยั่งยืนคือเจ้าหน้าต้องมาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และมีการกำหนดพื้นที่ที่ชัดเจนให้ชาวบ้าน มีนักวิชาการมาให้ความรู้ชาวบ้านถึงประโยชน์ของป่าไม้และชี้ให้เห็นถึงโทษหากเราทำลายป่า แทนการที่จะมาตรวจยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งการทำเช่นนั้นหน่วยงานภาครัฐอาจจะได้ตัวเลขพื้นที่ปริมาณป่าที่ยึดคืนมากขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้คืนมาจริงๆ
จุดจบ
ผู้นำชาวบ้านกล่าวทิ้งท้ายขอความเห็นใจว่า หากพื้นที่ทั้งหมดนี้โดนยึดไป ก็เหมือนกับการทำลายแหล่งทำมาหากินของชาวบ้านในหมู่บ้านเลาวู เนื่องจากอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพหลักของคนในหมู่บ้านที่ทำกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ หากหมดสิ้นที่ดินบริเวณนั้นไปชาวบ้านก็หมดหนทางทำกิน
“เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นเราก็เครียด ข้างล่างเขาบอกคืนความสุขให้ประชาชน คนข้างล่างเขามีความสุข แต่เราคนดอยทำไมต้องมีความตึงเครียด ชาวบ้านก็อยู่กันอย่างหวาดระแวงต้องหลบๆซ่อนๆแอบทำการเกษตรกัน เขาไม่มาเราก็ทำ เขามาเราก็หนี หลบๆเอา เขาก็ให้รื้อถอน แต่ผมว่าผมไม่ถอนเพราะว่าไม่มีเหตุผลที่จำเป็นต้องไปถอน เพราะว่าแรกๆตอนที่ทำใหม่ๆเขาก็ไม่บอก แล้วพอมาอยู่ๆเราทำมาสี่สิบห้าสิบปีแล้ว เราปลูกพืชปลูกอะไรมาแล้วให้เรามารื้อออก มันไม่มีเหตุผลเลย”
โดยผู้นำชาวบ้านคิดเห็นว่าทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องนี้คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรงมาพูดคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้านเพื่อหาทางออก ต้องมาเจรจากันว่าจุดไหนที่ต่างฝ่ายรับได้ และหาแกนกลางเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของทั้งสองฝ่าย
และถึงแม้ว่าในวันนี้ยังไม่ข้อสรุปว่าชาวบ้านเลาวูจะสามารถปลูกพืชผลทางการเกษตรบนพื้นที่อุทยานผาแดงได้ต่อไปได้หรือไม่ แต่ชาวบ้านก็ยังคงดำเนินอาชีพเกษตรกรต่อไป และรอคอยว่าจะมีปฏิหารย์เกิดขึ้นกับพวกเขาให้ได้อยู่ ทำกินและดำรงชีวิตในวิถีที่เขาคุ้นเคยโดยไม่ตกเป็นจำเลยของสังคมและพ้นจากข้อกล่าวหาว่า เป็นผู้ร้ายทำลายผืนป่า…