บทความ มายาคติและอคติทางชาติพันธุ์ในกระบวนการยุติธรรม สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
ส่วนหนึ่งของบทความ
“การตัดไม้ทำลายป่า” เป็นข้อหาที่กล่าวโทษชาวป่าชาวเขามาช้านาน ผ่านบทเรียนในตำราเรียน ผ่านสื่อสารสาธารณะ ผ่านคำกล่าวของเจ้าใหญ่นายโต ผ่านข้าราชการชั้นผู้หลักผู้ใหญ่…อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่ขาดตอนไม่ขาดสายมาหลายสิบปี จนกลายเป็นมายาคติที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมที่พร้อมจะเชื่อเมื่อมีใครสักคนมาบอกว่า “กะเหรี่ยงเผาป่า ตัดไม้ ทำไร่เลื่อนลอย” โดยไม่ต้องค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ “ความจริง” ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงของผู้ถูกกล่าวหา และต่อให้ฟังก็ไม่ได้ยินเสียง
มายาคตินี้ส่งผลไปในทุกวงการไม่เว้นแม้แต่กระบวนการยุติธรรม คดีข้อหาบุกรุกป่า ป่าสงวนแห่งชาติ หรืออุทยานแห่งชาติ เป็นคดีที่มีสถิติจำนวนคดีแต่ละปีนับเป็นหมื่นคดีที่ขึ้นสู่ศาล ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือชาวเขาที่ถูกเรียกขานในสังคม และน้อยของน้อยมากที่จะสามารถต่อสู้จนชนะคดีได้ ไม่ว่าจะใช้เหตุผลใดๆ มาอ้างก็ตาม ไม่ว่าจะใช้ทนายความที่เก่งกล้าสามารถแค่ไหน ก็ยังไม่มีคดีใดที่จะเปลี่ยนแปลงหรือทำลายมายาคตินี้ได้เลย ผู้เขียนไม่ขอยกตัวอย่างคดีใดๆ ขึ้นมาประกอบบทความเพราะคงประจักษ์ชัดอยู่แล้วในพื้นที่สาธารณะที่ผ่านมา”