แถลงการณ์ด่วน
ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำวังสะพุงยังคงถูกข่มขู่คุกคามถึงชีวิตเป็นครั้งที่สอง
เราองค์กรที่ร่วมลงนามในท้ายหนังสือฉบับนี้ มีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความปลอดภัยของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด พี่น้องอำเภอวังสะพุง เราทราบว่ามีการคุกคามต่อชีวิตของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ปกป้องชุมชนของตน ซึ่งได้รับกระทบจากการทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลยเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรกในเดือนมิถุนายนปีนี้ มีการจ้างวานมือปืนเพื่อวางแผนสังหารผู้นำชุมชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ล่าสุดหนึ่งวันก่อนที่จะมีการนัดเจรจาระหว่างตัวแทนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ และตัวแทนของกรรมการบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยเวลา 19.00 น ของวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ หนึ่งในแกนนำของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และพึ่งคลอดลูกได้เดือนเศษได้รับโทรศัพท์จากชายลึกลับผู้อ้างว่าเป็นผู้หวังดี แจ้งว่าให้นางวิรอน บอกกับนาย สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ซึ่งเป็นสามีและหนึ่งในแกนนำของกลุ่มว่าให้ระวังตัวไว้ให้ดี อย่าให้เคลื่อนไหว
เราเห็นว่าการสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นการข่มขู่คุกคามต่อชีวิตในครั้งที่สองที่เกิดขึ้นกับแกนนำของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เรามีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของแกนนำของกลุ่มที่ยังคงต้องเผชิญภัยคุกคามถึงชีวิตและจะส่งผลกระทบถึงความมั่นคงปลอดภัยของชุมชนในส่วนรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น ขณะนี้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างบริษัท ทุ่งคำ
จำกัด และชุมชนที่ได้รับผลกระทบ มีความตึงเครียดมาก โดยอาทิตย์นี้ระหว่างวันที่
19 – 22 สิงหาคม 2557 ศาลจังหวัดเลย จะเริ่มพิจารณาคดีอาญาและแพ่งสองคดีที่บริษัทได้ทำการฟ้องสมาชิกของชุมชน จำนวน 33 คน การถูกคุกคามโดยถูกฟ้องคดีความในชั้นศาลนี้ทำให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม
ทั้งนี้เราได้รับการแจ้งจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ถึงผลของเวทีเจรจายุติความขัดแย้งเหมืองแร่ทองคำ ระหว่างชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง กับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่เกิดขึ้นวันที่ 17 สิงหาคม 2557 ที่วัดศรีสะอาด บ้านห้วยผุก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยมี พล.ต.วรทัต
สุพัฒนานนท์ ผู้บังคับการจังหวัดทหารบก (ผบ.จทบ.) เลย ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเลย พร้อมด้วยนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายยิ่งยศ ธนะจันทร์
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายธนวัฒน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พล.ต.ต.ศักดา วงศ์ศิริยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด (ผบก.ภ.จว.) เลย นายบรรพต ยาฟอง นายอำเภอวังสะพุง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง บริษัทมิได้เสนอข้อเสนอที่แตกต่างจากสภาพในปัจจุบัน เพราะขณะนี้กิจการของเหมืองได้ทำการปิดชั่วคราวอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่ชาวบ้านจะถูกทำร้ายจากกองกำลังชายฉกรรจ์ติดอาวุธจำนวนกว่า 300 คนในวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ชาวบ้านขอให้เหมืองแร่ทองคำเพิกถอนคดีที่เหมืองฟ้องชาวบ้านทั้งเจ็ดคดีเพื่อสร้างบรรยากาศสมานฉันท์ แต่ข้อเสนอดังกล่าวรวมถึงข้ออื่นๆ ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากบริษัท เจ้าหน้าที่ได้สรุปผลการเจรจาจึงไม่มีข้อตกลงใดๆระหว่างทั้งสองฝ่าย และเจ้าหน้าที่จะเรียกทั้งสองฝ่ายมาดำเนินการเจรจาครั้งใหม่
เราเชื่อว่าชาวบ้านชุมชนวังสะพุงจะยังคงเข้าร่วมการเจรจาที่ฝ่ายรัฐพยายามดำเนินการ
ทั้งนี้เพราะชุมชนเองได้รับผลกระทบทั้งในส่วนของผลกระทบจากการดำเนินการของเหมืองและการที่ต้องถูกคุกคามถึงชีวิตอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิชุมชนในการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดและเรียกร้องในสิทธิที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีตามหลักสิทธิมนุษยชน
ดังนั้นหากมีการแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้อันจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริงจะส่งผลดีต่อชุมชนและสังคมโดยรวม เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนดังนี้คือ
1. จัดให้มีการดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระต่อเหตุการณ์การคุกคามต่อชีวิตของ นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ และแกนนำคนอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมายในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและการลงโทษตามหลักมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล และเปิดเผยผลการสอบสวนดังกล่าวต่อสาธารณชน
2. ดำเนินการมาตรการต่างๆที่จำเป็นเพื่อสร้างหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิในชีวิตร่างกายและจิตใจของ นาย สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ และแกนนำกลุ่มคนอื่นๆรวมถึงครอบครัวของพวกเขา ให้มีความปลอดภัย และมั่นคงซึ่งรวมถึงการบังคับใช้มาตรการการปกป้องคุ้มครองที่มีอยู่แล้วหากมีความจำเป็น
3. ต้องมีการรับประกันว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคนในประเทศจะสามารถดำเนินกิจกรรมและทำหน้าที่ที่ชอบธรรมของการเป็นนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนได้โดยปราศจากความหวาดกลัวต่อการถูกตอบโต้และปราศจากการถูกจำกัดใดๆ จากรัฐ
เราขอเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการต่อไปนี้คือ
1. ประณามการข่มขู่และคุกคามที่เกิดขึ้นต่อแกนนำ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด
และชุมชนวังสะพุงโดยรวม
2. ต้องรับฟังเหตุผลการโต้แย้งของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการครอบงำด้วยความเชื่อเพียงด้านเดียวต่อมุมมองของความขัดแย้งซึ่งจะนำไปสู่ความรุนแรงที่จะกระพือมากขึ้น จนเป็นเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง
ท้ายที่สุดเราขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ของตนให้เที่ยงตรงและให้พื้นที่ที่สำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม
รายนามองค์กรที่สนับสนุนแถลงการณ์นี้
1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
2. ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
3. เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน
4. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
5.ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
6.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
7.เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรแร่ ประเทศไทย
8.ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนในลุ่มน้ำชีตอนล่าง
9 .นักศึกษากลุ่มดาวดิน
10. กลุ่มผู้เดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศล สมัชชาคนจน
11 กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู
12 กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา
13 กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
14 ศูนย์ข้อมูลสิทธิชุมชน
15 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
16 Protection International
17 . มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
สอบถามราละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ โทร 0981055324