เรียนสื่อมวลชน และผู้สนใจทุกท่าน
ผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) ผมเขียนเอกสารนี้เพื่ออธิบายถึงคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรี กรณีนายบิลลี่
ICJ ได้ติดตามกระบวนการไต่สวนการควบคุมตัวมิชอบ (habeas corpus) ตามมาตรา 90 ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ในกรณีการหายตัวไปของนายบิลลี่ ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรีอย่างใกล้ชิด และเราคิดว่าเราควรสร้างความเข้าใจในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น
คำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีไม่ได้เป็นการตัดสินหรือพิพากษายกฟ้องอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ตามที่มีการรายงานในสื่อต่างๆ เพราะนั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการยื่นคำร้องไต่สวนการควบคุมตัวมิชอบตามมาตรา 90 เนื่องจากการยื่นคำร้องดังกล่าวไม่ใช่การฟ้องคดีอาญา หรือการพิจารณาคดีอาญาที่นายชัยวัฒน์ตกเป็นคู่กรณีแต่อย่างใด
คำร้องไต่สวนการควบคุมตัวมิชอบตามมาตรา 90 (habeas corpus) มีวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ เพื่อไต่สวนหาความจริงว่าบุคคลนั้นยังคงอยู่ในการควบคุมตัวหรือไม่ ถ้ายังคงอยู่ในการควบคุมตัว การควบคุมตัวนั้นเป็นการควบคุมตัวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในกรณีนายบิลลี่ ศาลพิจารณาไต่สวนแล้วระบุได้แต่เพียงว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าบิลลี่ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเท่านั้น ศาลไม่พบว่าขณะนี้บิลลี่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ ศาลจึงไม่ได้พิจารณาไปถึงประเด็นว่า”ทำไม” บิลลี่จึงหายตัวไป เพราะไม่ใช่ภาระของศาลในการไต่สวนตามคำร้องนี้
ICJ ได้ข้อมูลจากทางการไทยว่ากำลังมีการสืบสวนสอบสวนกรณีการหายตัวไปของบิลลี่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งทาง ICJ มีความห่วงกังวลว่านายบิลลี่จะถูกบังคับให้หายตัวไป ซึ่งเป็นอาชญกรรมที่ร้ายแรงภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
คำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีเมื่อวานนี้ที่ “ยกคำร้อง” นั้นไม่ได้กระทบต่อการสืบสวนสอบสวนกรณีการหายตัวไปของบิลลี่แต่อย่างใด หากเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนพบว่ามีการกระทำความผิดทางอาญาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับบิลลี่ ผลของการยกคำร้องมาตรา 90 ไม่เป็นการตัดบทหรือห้ามไม่ให้ตั้งข้อหาคดีอาญาต่อผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด
ICJ ได้เผยแพร่ใบแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 ตามเอกสารที่แนบนี้
Thailand: “Disappearance” of Billy demands special investigation
ด้วยความเคารพ
Kingsley