วันที่ 17 กรกฎาคม 2557 เวลา 10.00 น. ศาลจังหวัดเพชรบุรี ได้อ่านคำสั่งกรณีที่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ จากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2550
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวฐานมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง และได้หายไปในระหว่างควบคุมตัวดังกล่าว ภรรยานายพอละจีฯ ได้ร่วมกับทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน ประกอบด้วยพยานทั้งสิ้นจำนวน 12 ปาก ได้แก่
ภรรยานายพอละจีฯ (ผู้ร้อง) ผู้ใหญ่บ้านบ้านบางกลอย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ อีกจำนวน 4 คน นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักศึกษาฝึกงาน 2 คน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และพยานผู้เชียวชาญจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
วันที่ 17 กรกฎาคม 2557 เวลา 10.00 น. ศาลได้นัดอ่านคำสั่งขอให้ปล่อยตัวฯ โดยมีนางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ผู้ร้อง ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) นางอังคณา นีละไพจิตร เจ้าหน้าที่จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Crcf) รวมถึงนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรและเจ้าหน้าที่อุทยาน ได้เข้าร่วมฟังการอ่านคำสั่งของศาลด้วย
โดยเนื้อหาในคำสั่งระบุว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปากนายชัยวัฒน์ และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวนายพอละจีฯไปแล้ว แม้ทนายความฝ่ายผู้ร้องจะนำพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานมาเบิกความต่อศาล ได้ความว่าคำให้การนักศึกษาฝึกงานในชั้นพนักงานสอบสวนจะขัดกับคำให้การในชั้นศาลแต่พยานปากพนักงานสอบสวนเป็นพยานบอกเล่าจึงใม่อาจรับฟังได้ จากการไต่สวนพยานทั้งหมดแล้วยังฟังไม่ได้ว่านายพอละจีฯ ยังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้อง
อย่างไรก็ดี คณะทนายความ เห็นว่าคดีนี้ เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย