การรัฐประหารกับความมุ่งมั่นในสันติวิธี โดย โคทม อารียา
ลักษณะเฉพาะลักษณะหนึ่งของประชาธิปไตยคือความสามารถในการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ประชาธิปไตยหมายถึงการใช้ความชอบธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินไม่ใช่ใช้กำลังในความหมายนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าการรัฐประหารเกิดขึ้นเพราะความล้มเหลวของประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี ทั้งรัฐประหารและประชาธิปไตยต่างก็มีแรงขับเคลื่อนด้วยตัวมันเอง และอาจกล่าวในทำนองกลับกันได้ว่า รัฐประหารจะถดถอยไปด้วยความสำเร็จของประชาธิปไตย บทความนี้พยายามวิเคราะห์พลวัตของรัฐประหารและประชาธิปไตยไทย ด้วยหวังให้เกิดความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นในเรื่องความขัดแย้งตลอดจนแรงขับเคลื่อนและตัวละครต่าง ๆ อีกทั้งยังหวังจะช่วยให้ผู้ใช้สันติวิธีเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้มากขึ้น โดยจะเริ่มต้นจากเหตุการณ์รัฐประหารเหตุการณ์ในปี 2519ที่มีความคล้ายคลึงแม้ไม่เหมือนกันทีเดียวกับเหตุการณ์ในปี 2557
ความคล้ายและความต่างระหว่างการรัฐประหารครั้งนี้กับเมื่อ 38 ปีก่อน
คณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลา 2519 อ้างความชอบธรรมจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และการยับยั้งขบวนการนักศึกษาซึ่งตนกล่าวหาว่าถูกแทรกแซงโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)ในครั้งนั้น ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นทันที โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2519 และแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2519 หมายความว่าคณะรัฐประหารไม่รวบอำนาจไว้ที่ตน หากจัดให้มีผู้ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติที่แยกต่างหากขึ้นโดยเร็วสถานการณ์ในครั้งนั้นมีความล่อแหลมพอสมควร เนื่องจาก พคท. ถือคติว่าอำนาจรัฐมาจากปากกระบอกปืน และใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐบาลซึ่งมีกองทัพหนุนอยู่อย่างเต็มที่สิ่งที่แตกต่างระหว่างการรัฐประหารทั้งสองครั้ง คือในครั้งนี้คณะรัฐประหารไม่รีบกระจายอำนาจออกไป หากประกาศว่าจะรวบอำนาจไว้หลายเดือน
การรัฐประหารทั้งสองครั้งมีความเหมือนกันในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในครั้งนั้นมีนักศึกษาถูกคุมขังประมาณ 3000 คน โดยถูกดำเนินคดีอยู่เกือบ 2 ปี ตอนนั้น หลายคนมีความระทึกใจและคอยตามข่าวว่า นอกจากนักศึกษาที่ถูกจับในวันที่ 6 ตุลาแล้ว จะมีใครอีกบ้างที่ถูกจับและถูกดำเนินคดีในข้อหาภัยสังคมแทบทุกคนในเวลานั้นบอกว่าสันติวิธีใช้ไม่ได้แล้ว เมื่อรัฐบาลและทหารใช้กำลังและอาวุธเข้าปราบปรามนักศึกษาที่หนีเข้าป่าหลายคนบอกว่าถ้าไม่ยอมจำนนก็เหลือเพียงการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ อย่างไรก็ดี มีนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งที่เห็นว่า นี่เป็นโอกาสสำคัญที่จะต้องแสดงความมุ่งมั่นในสันติวิธี จึงร่วมกันจัดตั้งองค์กรที่ใช้ชื่อว่ากลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) ขึ้น โดยมีนิโคลัส เบ็นเนตต์เป็นผู้ขับเคลื่อน กศส. เน้นงานสามด้านคือ (1) ด้านสิทธิมนุษยชนโดยติดตามกรณีการคุมขังนักศึกษาและผู้ต้องหาภัยสังคม การทำร้ายผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกหรือสนับสนุน พคท. และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดย พคท. แล้วนำมาวิเคราะห์และเรียบเรียงเป็นรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเพื่อเผยแพร่เป็นประจำ (2) ด้านสันติวิธีโดยจัดการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในโอกาสต่าง ๆ เช่นจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์ครบหนึ่งปีในวันที่ 6 ตุลาคม 2520 ณ จุดที่มีการแขวนคอผู้ชุมนุมที่ต้นมะขามสนามหลวง (3) ด้านการใช้คำสอนของศาสนาต่าง ๆ เพื่อเข้าใจสังคมและเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อสังคม
หลังการรัฐประหารครั้งนี้ มีคนเห็นดีเห็นงามไปกับเหตุการณ์จำนวนมาก โดยเห็นคล้อยตามคณะรัฐประหารว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมาร่วมแปดเดือน และถึงจะกระทบสิทธิมนุษยชนบ้างก็ขอเวลาดำเนินการในช่วงเวลาอันสั้น ส่วนในบรรดาคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารซึ่งก็มีจำนวนมากเช่นกัน ส่วนหนึ่งจะพูดออกมาเหมือนครั้ง 6 ตุลาว่า เห็นทีสันติวิธีจะไม่ได้ผล และผู้ที่เคยใช้สันติวิธีบางคนเปรยให้ฟังว่าถึงจะใช้สันติวิธีก็อาจถูกรังแกได้อยู่ดี ครั้งนี้ไม่มีทางเลือกที่จะไปร่วมกับ พคท.แล้วจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ในเมื่อสู้ผู้ถือปืนไม่ได้ จึงเหลือแต่การยอมจำนนชั่วคราว รอให้พลังของฝ่ายรัฐประหารครั้งนี้ไปจนสุดแล้วอาจแพ้ภัยตนเอง หรือหวังว่าจะมีทหารประชาธิปไตยเกิดขึ้นเพื่อมาคานอำนาจคณะรัฐประหารในครั้งนี้และพร้อมจะใช้ปืนต่อต้านผู้ที่จะกระทำรัฐประหารอีกในครั้งต่อไป
แต่ผมคิดว่าครั้งนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับปี 2519 คือยิ่งมีการยอมรับว่าอำนาจมาจากปากกระบอกปืนมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งจะต้องยืนยันการต่อสู้ด้วยสันติวิธีอย่างแข็งขันมากขึ้นเท่านั้น คือไม่ยอมจำนน ไม่คิดว่าอีกฝ่ายจะพ่ายแพ้ภัยตนเอง และไม่คิดที่จะต่อต้านด้วยอาวุธ ในขณะเดียวกัน ก็ยอมรับความเสี่ยง ไม่คิดว่าสันติวิธีจะประกันชัยชนะหรือประกันความปลอดภัย ไม่คิดว่าถ้าเราไม่มุ่งประทุษร้ายเขาแล้วเขาจะไม่ประทุษร้ายเรา สรุปก็คือ ต้องเชื่อมั่นในสันติวิธี แม้ใครจะใช้วิธีอื่น แต่เราควรใช้สันติวิธีอย่างคงเส้นคงวาเสมอโดยมุ่งแก้ไขความขัดแย้งที่ตัวระบบอันมิชอบแต่ไม่มุ่งแก้ไขหรือทำร้ายตัวบุคคล หากเปิดทางหรือกดดันให้เขาเปลี่ยนจากแนวทางที่มิชอบด้วยตนเอง
การวิเคราะห์การรัฐประหารในเบื้องต้น
นอกจากจะต้องทำความเข้าใจและยึดมั่นในสันติวิธีแล้ว เรายังต้องพยายามทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่เข้าข้างตนเอง ไม่เข้าใจผิดว่าสิ่งใดที่เราปรารถนา สิ่งนั้นก็น่าจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี เราทำความเข้าใจสถานการณ์ตามที่เป็นจริงได้ยาก เพราะเราเองก็มักจะมีความยึดมั่นถือมั่นและได้รับผลจากบริบทและข่าวสารที่เราเลือกรับตลอดเวลา ดังนั้น เราต้องพยายามอยู่เสมอที่จะสดับตรับฟัง และทบทวนความเข้าใจร่วมกับผู้อื่น ข้อวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะนำเสนอต่อไปนี้นั้น เป็นเพียงข้ออธิบายต้น เพื่อเชิญชวนให้มีข้ออธิบายแย้ง จนในที่สุดอาจมีข้ออธิบายที่ก้าวพ้นข้ออธิบายทั้งสองไปเป็นข้ออธิบายที่ลึกซึ้ง ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจบริบทและสาเหตุความขัดแย้งได้ดียิ่งขึ้น
ในการวิเคราะห์ความขัดแย้งเบื้องต้น เราเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก และมีการใช้ความรุนแรงบ่อยครั้งมากทั้งในประเทศไทยและที่อื่น ๆ ที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย และเห็นว่าบริบทโลกเองก็เปลี่ยนแปลงไปเสมอ จากยุคสงคราม สู่ยุคสงครามเย็น สู่ยุคที่เสรีประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ครอบงำ และเป็นไปได้ว่าเสรีประชาธิปไตยกำลังถูกตั้งคำถาม และอำนาจของโลกตะวันตกกำลังถูกท้าทาย จากความชะงักงันภายในโลกตะวันตกเองโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ จากการท้าทายโดยขบวนการติดอาวุธชาวมุสลิม จากการขัดขืนของกระแสชาตินิยม และการขัดขืนจากจีนและรัสเซีย
สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนว่าการรัฐประหารทุกครั้ง ส่วนหนึ่งอ้างเหตุผลภายในประเทศแต่อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากอิทธิพลภายนอกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างไรก็ดี ลักษณะเฉพาะของการเมืองไทยลักษณะหนึ่งคือการรัฐประหารเกิดขึ้นอย่างมีแบบแผน ในช่วงต้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การรัฐประหารมักเป็นการแย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่เชื่อกับอีกส่วนหนึ่งที่ไม่เชื่อในประชาธิปไตย ในช่วงเวลาดังกล่าว เราอาจรวมการรัฐประหารที่เกิดติดต่อกันสองหรือสามครั้งเป็นครั้งเดียวเพราะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน (ปี 2476 สองครั้ง, 2490-91-94, 2500-01-2514) ต่อมามีตัวละครใหม่เกิดขึ้นคือขบวนการนักศึกษาซึ่งเป็นพลังที่ช่วยขับไล่รัฐบาลทหารในปี 2516แต่ก็ถูกลดทอนพลังไปโดยการรัฐประหารในปี 2519-20 หลังจากนั้น ยังมีการรัฐประหารที่สำเร็จอีก 3 ครั้ง (ปี 2534, 2549, 2557)ซึ่งทั้ง 3 ครั้งเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีการขับไล่รัฐบาลโดยการชุมนุมที่ทำสำเร็จอีกครั้งในปี 2535
กล่าวโดยสรุป หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 รัฐไทยถูกครอบงำโดยข้าราชการทหารและพลเรือน หลังปี 2516 อำนาจของข้าราชการเริ่มลดลงโดยต้องประนอมกับนักการเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคหบดี แต่ทุกครั้งที่ฝ่ายข้าราชการรู้สึกว่าสูญเสียอำนาจมากไป ก็ตอบโต้กลับ เช่น ตอบโต้เหตุการณ์ 14 ตุลาภายใน 3 ปี ด้วยการรัฐประหารในปี 2519แล้วรัฐบาลที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารประกาศแผนการคืนสู่ประชาธิปไตยภายใน 12 ปี แต่ก็ถูกรัฐประหารเสียก่อนในปี 2520แม้แผน 12 ปีเป็นอันยกเลิกไปแต่เอาเข้าจริงก็ใช้เวลา 12 ปีพอดี กว่าจะได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2531 อย่างไรก็ดี ฝ่ายข้าราชการก็อดรนทนอยู่ได้ประมาณ3 ปีซึ่งพอ ๆ กับช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลานายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งก็พ้นจากตำแหน่งไปด้วยการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 แต่ข้อแตกต่างในคราวนี้คือ ฝ่ายประชาธิปไตยตอบโต้อย่างรวดเร็ว และนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งต้องลาออกในปี2535 จากนั้นก็มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งได้ยาวนานถึง 14 ปี แล้ว “ท ทหาร” ก็ไม่อดทนอีกจึงกลับสู่วงจรเดิมโดยการรัฐประหารในปี 2549 และอีกครั้งในปี 2557
มีคนเรียกแบบแผนนี้ว่าวงจรอุบาทว์ ซึ่งมีลักษณะดังนี้(1) รัฐบาลทหารถูกขับ ปี 2516 (2) รัฐประหารปี 2519-20 (3) สู่ประชาธิปไตย (4) รัฐประหารปี 2534 (5) รัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้งถูกขับในปี 2535 (6) สู่ประชาธิปไตย (7) รัฐประหาร ปี 2549 และปี 2557เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คำถามสำคัญคือจะตัดตอนวงจรอุบาทว์นี้ได้อย่างไร กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทำอย่างไรจึงจะให้รัฐบาลประชาธิปไตยมีอายุยาวขึ้น หรือยาวไปตลอด
มีคำตอบเป็นการทั่วไปอยู่ว่า ถ้าไม่อยากให้ใครทำสิ่งใด ต้องทำให้สิ่งนั้นมีผลตอบแทนที่ต่ำแต่มีภัยหรือความเสี่ยงภัยสูงในกรณีของเรา ถ้าไม่อยากให้ทหารทำรัฐประหารหรือไม่อยากให้รัฐบาลทหารใช้อำนาจอยู่นาน (เพราะเกรงว่าจะเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า “อำนาจย่อมฉ้อฉล อำนาจเต็มย่อมฉ้อฉลเต็มที่”)ก็ต้องทำให้ผลตอบแทนต่ำ เช่นไม่มีอภิสิทธิ์ใด ๆ รวมทั้งการไม่ต่ออายุราชการ และทำให้มีความเสี่ยงสูง เช่นไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเองเพื่อให้พร้อมรับผิดชอบต่อการกระทำของตน หรือถ้ามีการนิรโทษกรรมเหมือนครั้งก่อน ๆ ก็ต้องพึ่งศาลและ/หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ให้วินิจฉัยความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว เช่นในชิลี และตุรกีในทางกลับกัน ถ้าอยากให้ใครทำสิ่งใด สิ่งนั้นควรให้ผลตอบแทนสูงแต่มีภัยหรือความเสี่ยงภัยต่ำ เช่น ถ้าประชาชนอยากให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ได้นานเท่านานประชาชนพึงตอบแทนด้วยการสนับสนุนพรรคการเมืองที่ไม่ฉ้อฉล และลงคะแนนให้ผู้สมัครที่มีความสามารถและไม่ฉ้อฉล เพื่อทหารจะได้ไม่มีข้ออ้างเดิม ๆ ในการทำรัฐประหารหรือประชาชนพึงสนับสนุนให้ ส.ส. และรัฐมนตรีมีเงินเดือนสูงพอจนไม่อยากเสี่ยงต่อการถูกจับได้ว่าคอร์รัปชันและอดรับเงินเดือนดังกล่าว ในทำนองเดียวกัน การที่จะให้รัฐบาลบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยเงินทองไม่รั่วไหล ประชาชนผู้เห็นประโยชน์จากการบริหารงานดังกล่าว ก็พึงที่จะเลือกตั้งให้รัฐบาลนั้นเข้ามาบริหารงานต่อไป รัฐบาลที่ทำดีจึงมีความเสี่ยงน้อยที่จะสูญเสียอำนาจ อนึ่ง เสียงสนับสนุนของประชาชนก็จะเป็นภูมิคุ้มกันการรัฐประหารที่ดีด้วยกล่าวโดยสรุป ยาขนานที่จะรักษาโรครัฐประหารน่าจะอยู่ที่พลเมืองผู้รู้เท่าทัน
การวิเคราะห์ตัวละครความขัดแย้ง
เราได้กล่าวถึงบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ กล่าวถึงแบบแผนการรัฐประหารที่ยังวนเวียนอยู่เรื่อยไป เพราะเรายังไม่มีมาตรการป้องกันที่ดีพอคราวนี้จะขอวิเคราะห์ตัวละครความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ้าง การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ มีผู้กล่าวว่าสาเหตุความขัดแย้งมาจากการแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายราชการกับฝ่ายนักการเมือง ผู้ที่แย่งอำนาจมาครองได้ก็จะมักใช้อำนาจเพื่อจัดสรรผลประโยชน์และทรัพยากรให้แก่ฝ่ายตนเป็นสำคัญ แต่ก็มีอีกมิติหนึ่งของอำนาจที่น่าสนใจคืออำนาจควบคุม ซึ่งในทางการเมือง จะหมายถึงการควบคุมการสื่อสารและการศึกษาเป็นหลัก ทั้งนี้เพื่อใช้การสื่อสารและการศึกษาตอกย้ำอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจ
การจัดสรรทรัพยากรให้ฝ่ายตนและการควบคุมการสื่อสาร ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำรงตนอยู่ในอำนาจหรือสืบทอดอำนาจในฝ่ายตนและดำรงอุดมการณ์ต่อ ๆ กันไป ทั้งหมดนี้ฟังดูเหมือนเป็นเกมชิงอำนาจและใช้อำนาจในหมู่ชนชั้นนำ ถ้าเป็นช่วงต้น ๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ก็คงเป็นเช่นนั้น แต่หลังเหตุการณ์ปี 2516 นอกเหนือจากฝ่ายข้าราชการและฝ่ายนักการเมืองแล้ว ยังมีตัวละครที่สำคัญคือประชาชน ซึ่งคาดหวังจะได้รับบริการที่ดีและการคุ้มครองที่เป็นธรรมจากรัฐ อีกทั้งยังคาดหวังว่ารัฐจะไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย โดยปกติ ประชาชนแสดงพลังโดยมอบอำนาจให้หรือปลดนักการเมืองออกจากอำนาจผ่านการเลือกตั้ง แต่เมื่อเกิดการรัฐประหาร ฝ่ายนักการเมืองได้กลายเป็นตัวละครรองในความขัดแย้ง โดยตัวละครหลักในความขัดแย้งกลายมาเป็นระหว่างฝ่ายข้าราชการและพลเมืองส่วนที่สนับสนุนรัฐประหาร กับพลเมืองอีกส่วนหนึ่งที่ไม่สนใจคำชวนเชื่อในเรื่องคืนความสุข หากต้องการการ “คืนสิทธิแด่ชนชาวไทย” มากกว่า
ความขัดแย้งเชิงคุณค่า
การวิเคราะห์ความข้ดแย้งในระดับที่สำคัญแต่คลุมเครือมากที่สุด คือระดับคุณค่า/อุดมการณ์ หากเข้าใจในส่วนนี้ ก็จะช่วยให้เข้าใจว่าทำไมความขัดแย้งครั้งนี้จึงหยั่งรากลึกและมีการแบ่งแยกแม้คนในครอบครัวเดียวกัน การศึกษาและสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือหลักในการปลูกฝังและถ่ายทอดคุณค่าและอุดมการณ์ ฝ่ายรัฐประหารเข้าใจดี และไม่รอช้าที่จะเข้าควบคุมและแทรกแซงในเรื่องนี้ ยังความอึดอัดเป็นอย่างยิ่งแก่ฝ่ายที่ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพในการแสดงออกและการค้นหาความจริง คำถามที่พึงช่วยกันหาคำตอบคือ แล้วเราขัดแย้งในเรื่องคุณค่าอะไรกัน
จะขอเริ่มการวิเคราะห์จากในสู่นอก (inside-out) หรือในกรอบสารัตถนิยม (essentialist) ในกรอบนี้ เราจะพยายามจัดกลุ่มประเภทของคนที่มีคุณค่าทางการเมืองต่าง ๆ กัน พระพรหมคุณากรณ์ได้แบ่งระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตย (ประชาชนคือผู้ตัดสินใจ) คณาธิปไตย (คณะบุคคลเป็นผู้ตัดสินใจ) และเผด็จการ (ตัดสินใจโดยคนคนเดียวหรือไม่กี่คน) และแบ่งเกณฑ์การตัดสินใจเป็นธรรมาธิปไตย (มีหลักการและเหตุผล) โลกาธิปไตย (คล้อยตามกระแสโลก) และอัตตาธิปไตย (ตามอำเภอใจตน) สมมุติฐานคือคนส่วนใหญ่คงไม่อยากได้ระบบที่เผด็จการเป็นผู้ตัดสินใจตามอำเภอใจ ขณะที่ส่วนใหญ่คงอยากได้ระบบประชาธิปไตยที่ใช้ธรรมเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ ขอยกส่วนที่เห็นพ้องและไม่ก่อความขัดแย้งออกไปก่อนเหลือส่วนที่ขัดแย้งกันซึ่งน่าจะได้แก่คนสองกลุ่มประเภทคือ คนที่มีคุณค่าประชาธิปไตยเป็นหลักและพอยอมรับเกณฑ์โลกาธิปไตยได้ (ขอเรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตยทางโลกหรือสั้น ๆ ว่าฝ่ายประชาธิปไตย) กับคนที่มีคุณค่าธรรมาธิปไตยเป็นหลักและพอยอมรับระบบคณาธิปไตยได้ (ขอเรียกว่าฝ่ายคณาธิปไตยทางธรรมหรือสั้น ๆ ว่าฝ่ายจารีต)
ในอีกมิติหนึ่ง เมื่อฟังการถกเถียงทางการเมือง เราพบว่าคนจำนวนหนึ่งมักอ้างเหตุผลว่าระบบการเมืองของเราดีแล้ว สิ่งที่ต้องแก้คือคนหรือทำคนให้เป็นคนดี และป้องกันคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ (ขอเรียกว่าฝ่ายที่มุ่งคน) และมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่อ้างเหตุผลว่าการแก้กิเลสของคน แก้เท่าไรก็ไม่หมด เราควรวางระบบที่มีตรวจสอบและคานดุลที่ดี หรือควรแก้ไขปัญหาที่ระดับโครงสร้างซึ่งจะป้องปรามการกระทำของคนที่เอาเปรียบผู้อื่นและสังคม (ขอเรียกว่าฝ่ายที่มุ่งระบบ) ถึงตอนนี้ เราอาจจัดกลุ่มประเภทของพลเมืองได้ดังนี้ (1) ฝ่ายจารีต ได้แก่ฝ่ายคณาธิปไตยทางธรรมที่มุ่งคน (2) ฝ่ายจารีตอิงเหตุผล ได้แก่ฝ่ายคณาธิปไตยทางธรรมที่มุ่งระบบ (3) ฝ่ายประชาธิปไตยอิงบุคคล ได้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยทางโลกที่มุ่งคน (4)ฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยทางโลกที่มุ่งระบบเรามีฝ่ายจารีตกับฝ่ายประชาธิปไตยเป็นคู่ขัดแย้งหลัก ขณะที่ฝ่ายจารีตอิงเหตุผลกับฝ่ายประชาธิปไตยอิงบุคคลก็ขัดแย้งระหว่างกันและกับฝ่ายอื่นบ้าง แต่ไม่รุนแรงนัก แน่นอนว่าการจัดกลุ่มประเภททำนองนี้ ไม่สามารถแทนความซับซ้อน และหลากหลายของผู้คนให้ใกล้เคียงได้ สิ่งที่หวังในการนำเสนอคือ เพื่อที่จะเข้าใจพฤติกรรมทางการเมืองของผู้คน เรื่องสำคัญคือการศึกษาคุณค่าและอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขา
การวิเคราะห์อีกแบบหนึ่งเป็นแบบจากนอกสู่ใน (outside-in) หรือในกรอบบริบทนิยม แนววิเคราะห์นี้ไม่คิดว่าคนจะอยู่แต่ในกล่องคุณค่ากล่องหนึ่งกล่องใดได้ หากมีความคิด/ความรู้สึก/พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปตามบริบทและกาลเวลา อิทธิพลภายนอกมีผลต่อการระบุว่าเราเป็นใครในขณะใดขณะหนึ่ง ชีวิตของเราประกอบสร้างด้วยเรื่องเล่าต่าง ๆ มากมาย ในบริบททางวัฒนธรรมบริบทหนึ่ง จะมีชุดเรื่องเล่าหลายชุดที่เกือบทุกคนในวัฒนธรรมนั้นจะคุ้นเคยจนยอมรับเข้ามาเป็นคุณค่าภายในโดย (แทบ) ไม่รู้ตัว คนคนหนึ่งจะเลือกคุณค่าหนึ่งขึ้นมาอ้างในขณะจิตหนึ่ง ๆ แต่คุณค่าย่อมไม่เที่ยงคือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อัตลักษณ์ก็ไม่เที่ยงและขึ้นกับบริบทเช่นกัน ความไม่เที่ยงนอกจากจะเป็นลักษณะเฉพาะของจิตแล้ว ยังอาจอธิบายในเชิงสังคมได้ด้วยแนวคิดเกี่ยวกับวาทกรรม เรื่องเล่าชุดใด หากภาคีความขัดแย้งต้องการใช้เพื่อตอกย้ำคุณค่าของตน ก็จะเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นเรื่องเล่าเดิมหรือเติมแต่งรายละเอียดหรือข้อมูลทั้งที่จริงและไม่จริง แต่หากสอดคล้องกับคุณค่าที่ต้องการตอกย้ำก็ถือว่าใช้ได้ จนเมื่อปั้นถ้อยคำให้เป็นตัวเป็นตน ดูน่าเชื่อถือหรือดูเป็นจริง ก็เรียกได้ว่าเป็นวาทกรรม ความขัดแย้งกลายมาเป็นการทำให้วาทกรรมของฝ่ายตน เป็นวาทกรรมครอบงำ (hegemonic discourse) ถ้าทำสำเร็จก็ถือว่าฝ่ายตนชนะ เมื่อหลังสงครามเย็น วาทกรรมเสรีประชาธิปไตยเป็นกระแสครอบงำระดับโลก และคิดว่าตนชนะแล้ว
แต่วาทกรรมครอบงำเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมลงเป็นธรรมดา วาทกรรมของฝ่ายจารีตคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ วาทกรรมชาติเน้นประวัติศาสตร์ชาติที่แต่งเติมจนงดงามและครอบงำประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ อีกทั้งยังเน้นหน้าที่พลเมือง และเอกภาพตามหลังผู้นำ วาทกรรมศาสนาเน้นความซื่อสัตย์สุจริต และระเบียบวินัย ส่วนวาทกรรมพระมหากษัตริย์เน้นการเป็นบุคลาธิษฐานแห่งคุณธรรม และการเฉลิมพระเกียรติอย่างหาที่สุดมิได้ เป็นต้น วาทกรรมของฝ่ายประชาธิปไตยคือการปกครองที่ผู้ปกครองได้รับความเห็นชอบจากประชาชน การมีเสรีภาพทางการแสดงออกเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้และตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างรู้เท่าทัน และความสามารถของสังคมที่จะแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เป็นต้น
การใช้วาทกรรมเมื่อเกิดความขัดแย้งนอกจากจะทำให้วาทกรรมของฝ่ายตนเป็นวาทกรรมครอบงำแล้ว ยังจะต้องพยายามตั้งโจทย์หรือวางตำแหน่งคู่ถกเถียงไว้ในวาทกรรมที่ตนได้เปรียบ เช่น วางอยู่ในวาทกรรม “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” แล้วก็มีเรื่องเล่ามากมายว่าทำไมต้องเป็นเช่นนั้น อีกฝ่ายหนึ่งถ้าไม่อยากเสียเปรียบ ก็ต้องถักทอวาทกรรม เช่น “เลือกตั้งคือทางออกที่เคารพเสียงของประชาชน”ด้วยเรื่องเล่าต่าง ๆ นานาเช่นกัน หนักเข้าก็ไม่มีใครยอมไปอยู่ในวาทกรรมของอีกฝ่าย การพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันจึงเป็นไปได้ยาก มีการปิดเครื่องรับถ้าข่าวสารไม่สอดคล้องกับวาทกรรมฝ่ายตน หากไปสอดคล้องกับวาทกรรมของอีกฝ่าย
อันที่จริง ความเข้าใจเรื่องวาทกรรมจะช่วยให้ไม่กล่าวโทษเจตนาของอีกฝ่ายว่าการกระทำของเขาแอบแฝงด้วยเจตนาร้าย ตัวอย่างเช่น เราเข้าใจว่าคนที่ยึดในวาทกรรมชาตินิยมอาจละเลยเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันที่จริง เขาอาจไม่มีเจตนาหยียดหยามเพื่อนมนุษย์เพียงแต่พยายามวางตำแหน่งคู่สนทนาให้อยู่ในวาทกรรมที่ตนสนใจเท่านั้น เช่น พยายามให้ปัจเจกบุคคลเสียสละเพื่อชาติเป็นต้น ส่วนคนที่มีค่านิยมชายเป็นใหญ่จะขาดความละเอียดอ่อนในเรื่องเพศสภาวะ และไม่พร้อมที่จะปฏิบัติต่อสตรีในสถานภาพที่เท่าเทียมกัน หากพร้อมที่จะปฏิบัติต่อสตรีด้วยความอ่อนโยนในสไตล์ชายชาตรี ในวัฒนธรรมผู้ใหญ่-ผู้น้อย ผู้ใหญ่คาดหวังเสมอในความภักดีโดยสำคัญตนว่าเป็นผู้ให้ความอุปภัมภ์แก่ผู้น้อย เป็นต้น
ความเข้าใจเรื่องวาทกรรมที่ไม่เที่ยง ช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนวาทกรรมไปตามบริบท เช่น วันนี้ เราอาจอยู่ในวาทกรรมที่ว่า “เห็นด้วยกับประชาธิปไตยสมบูรณ์และเห็นด้วยกับผู้นำที่เสนอเรื่องนี้ แม้เขาจะเคยเป็นนักการเมืองที่ไม่น่าไว้วางใจมาก่อน แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนไปแล้ว” ส่วนวันรุ่งขึ้นคนคนเดียวกันก็อาจขยับเลื่อนไปอยู่ในอีกวาทกรรมหนึ่ง เช่น “รัฐประหารนั้นจำเป็นและหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นคนดี” การไม่เข้าใจเรื่องวาทกรรมและการขยับเลื่อนทางวาทกรรม จะทำให้ไม่เข้าใจว่าทำไมคู่ขัดแย้งจึงมักมองว่าอีกฝ่ายคือผู้ร้าย และไม่อยากคุยกัน ทั้ง ๆ ที่การคุยกัน กับการตั้งสติอยู่เสมอ จะขาดเสียไม่ได้สำหรับการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง
ข้อเสนอแผนที่เดินทาง
การวิเคราะห์ทั้งจากในสู่นอกและจากนอกสู่ในที่นำเสนอเพียงคร่าว ๆ ข้างต้น ยังต้องการการศึกษาสำรวจเพิ่มเติมอีกมาก แต่ก็หวังว่าจะช่วยฝ่ายสันติวิธีในการพัฒนาแผนที่เดินทางในสถานการณ์ปัจจุบันที่ยากลำบาก แผนที่เดินทางเบื้องต้นที่ขอเสนอในที่นี้มีดังนี้
1) ในระดับปรากฏการณ์ ฝ่ายสันติวิธีควรให้ความสำคัญแก่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งโดยโจ่งแจ้ง เช่นการคุมขังผู้ที่ขัดขืนโดยสันติวิธีต่อคำสั่งที่แสดงอำนาจของฝ่ายรัฐประหาร ผู้ถูกคุมขังเหล่านี้เรียกชื่อว่านักโทษโดยมโนธรรม (prisoners of conscience) เพราะกระทำการโดยมโนสำนึกโดยไม่ไปทำร้ายใคร และการละเมิดโดยปริยาย เช่น การโยกย้ายข้าราชการโดยมีเหตุผลเพียง “ความเหมาะสม” และการใช้อำนาจในเชิงข่มขู่ เป็นต้น สิ่งที่ควรทำคือการรวมรวมข้อมูลข้อเท็จจริงต่าง ๆ แล้ววิเคราะห์และจัดทำเป็นรายงาน โดยไม่ประสงค์จะประณามและทำให้ได้อาย (blame and shame) หากประสงค์จะให้หยุดการละเมิดสิทธิ์ รวมทั้งคืนสิทธิ์อันชอบให้แก่ประชาชน
2) ช่วงเวลาที่ยังไม่มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว เป็นช่วงเวลาการรวมศูนย์อำนาจที่ คสช.ตามคติปฏิฐานนิยมที่ถือว่าประกาศและคำสั่งต่าง ๆ ของ คสช. เป็นเหมือนกฎหมาย เพราะมีอำนาจรัฐที่จะนำประกาศและคำสั่งไปบังคับใช้ ซึ่ง คสช. จะออกประกาศอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพื่อลดทอนการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เราจึงควรมีการศึกษาว่าประกาศและคำสั่งฉบับใดเป็นการลุแก่อำนาจโดยไม่ตั้งใจ ฉบับใดเป็นการละเมิดประเพณีในระบอบประชาธิปไตยของไทย ฉบับใดเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีและฉบับใดน่าจะขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ไทยให้การรับรอง ทั้งนี้เพื่อเสนอแนะการแก้ไขเพิ่มเติมหรือการยกเลิกประกาศและคำสั่งฉบับนั้น ๆ
3) เมื่อยังไม่มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ก็ควรมีการแสดงความเห็นในเรื่องเนื้อหาของธรรมนูญดังกล่าวซึ่งนอกจากจะต้องพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังจะต้องกำหนดแผนที่เดินทางการคืนอำนาจแก่ประชาชน และการปฏิรูปการเมืองที่มีเจ้าภาพร่วม ไม่ใช่ คสช. เป็นเจ้าภาพผู้กำหนดว่าใครควรเข้าร่วมบ้าง หรือกำหนดพิมพ์เขียวเบื้องต้นไว้แล้ว อันที่จริง ถ้ามีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องสาระของธรรมนูญโดยเฉพาะในเรื่องแผนที่เดินทางการคืนอำนาจที่มีความเห็นพ้องกันพอสมควร ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจนำไปสู่การเข้าใจกันและการปรองดอง
4) ยังไม่แน่ชัดว่าสภาปฏิรูปการเมืองจะมีที่มาอย่างไรและมีอำนาจหน้าที่อะไร หากจะมีอำนาจหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ก็ต้องระวังมิให้ซ้ำรอยว่าจะเป็นฉบับที่ 20 ของ คสช. เช่นเดียวกับที่เคยมีฉบับที่ 18 ของ คมช. หรือฉบับที่ 15 ของ รสช. เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดลบรรดาลโดยการรัฐประหาร จึงขอเสนอว่า ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวควรบัญญัติให้สมาชิกสภาที่จะมีอำนาจหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น มาจากการเลือกตั้งเป็นสำคัญ
5) หลังการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ควรศึกษาติดตามการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่ คสช. จะแต่งตั้งขึ้น อันที่จริงในระบบรัฐสภาที่เป็นประเพณีการปกครองของไทย อำนาจนิติบัญญัติเป็นอำนาจสูงสุดซึ่งได้มาโดยการเลือกตั้ง แม้ คสช. จะยึดอำนาจนี้ไปแล้ว ประชาชนก็ยังต้องเฝ้าระวังว่า การใช้อำนาจในสถานการณ์เช่นนี้ยังเป็นไป “เพื่อประชาชน” ไม่ใช่เพื่อระบบราชการ หรือเพื่อชนกลุ่มใดมากกว่ากลุ่มอื่น และสภานิติบัญญัติควรมีเกณฑ์การตัดสินใจที่เป็นธรรมาธิปไตยมากกว่าอัตตาธิปไตย
6) หลังการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวควรศึกษาและติดตามการร่างรัฐธรรมนูญรวมทั้งการปฏิรูปการเมืองอย่างใกล้ชิดท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างฝ่ายจารีตกับฝ่ายประชาธิปไตยดังที่นิยามไว้ข้างต้น อำนาจส่วนใหญ่ในขณะนี้อยู่กับฝ่ายจารีต ซึ่งอาจถือโอกาสวางโครงสร้างทางการเมืองที่สอดคล้องกับฐานคติของตน โครงสร้างดังกล่าวจะกำหนดที่มาและอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่ใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรเหล่านี้ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจหากไม่สมดุลหรือไม่เปิดกว้างให้มีการคลี่คลายความขัดแย้งโดยสันติวิธี ก็จะเป็นการวางกติกาการเมืองที่เอนเอียง อันจะนำไปสู่ระบบการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ ดังที่เราเผชิญมาโดยตลอด
7) กติกาการเมืองก็ดี พฤติกรรมทางการเมืองก็ดี พึงคำนึงถึงการช่วยกันป้องกันภัยจากวงจร “รัฐประหาร-การเขียนรัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้ง-รัฐประหาร” โดยชี้ข้อเสียของรัฐประหารจนคนส่วนใหญ่รับเอามาเป็นวาทกรรมหลัก โดยชี้ข้อดีของการมีรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมยอมรับและเคารพโดยศึกษาตัวอย่างประเทศทั้งที่ตกอยู่และไม่ตกอยู่ในวงจรดังกล่าว โดยเฉพาะควรศึกษาผลของการยึดมั่นและใช้อำนาจเต็มที่ของฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเปรียบเทียบของการที่ฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งและฝ่ายที่กุมกำลังรู้จักผ่อนปรน ตัวอย่างที่ควรศึกษาคือกรณี อาหรับสปริง เช่นกรณี อียิปต์ ลิเบีย ซีเรีย โมรอคโค และตูนีเซีย เป็นต้น
แต่เรื่องที่ยากที่สุดคงเป็นการต่อสู้ทางการเมืองในระดับคุณค่าและอุดมการณ์ ซึ่งฝ่ายจารีตและฝ่ายประชาธิปไตยดังนิยามข้างต้นจะต้องมาปะทะสังสรรค์กันอย่างหนักในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ฝ่ายจารีตเริ่มต้นแล้วด้วยการปลูกฝังค่านิยมรักชาติ ความซื่อสัตย์และพระมหากษัตริย์ ฝ่ายประชาธิปไตยคงต้องนำเสนอการฟังเสียงประชาชน การเคารพสิทธิของประชาชน และคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ฝ่ายจารีตควบคุมสื่อและระบบโรงเรียน ฝ่ายประชาธิปไตยคงต้องใช้สื่อทางเลือกและการศึกษานอกโรงเรียน แต่ก็ต้องพยายามขอพื้นที่สื่อและพื้นที่ในระบบโรงเรียนคืนมาให้ได้มากที่สุดด้วย
9) การจะนำสังคมการเมืองออกจากวิกฤตไม่ใช่เรื่องง่าย หากผู้มีอำนาจมีวิสัยทัศน์ประชาธิปไตยอยู่ และสามารถปล่อยวางจากอำนาจซึ่งมีความหอมหวนยิ่งได้สำเร็จ ก็จะสามารถอำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ ในกรณีเช่นนี้ ก็เป็นบทบาทของฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสันติวิธีที่จะให้ความร่วมมือ