[:th]CrCF Logo[:]
ศาลทหาร

เกร็ดความรู้ เรื่อง ศาลทหาร โดย กองพระธรรมนูญ กรมสารบรรณทหาร

Share

๑ กล่าวนำ

“ศาลทหาร” เป็นเรื่องที่มีผู้สนใจและให้ความสำคัญน้อย แม้แต่ในแวดวงของทหารเอง ก็มีผู้ที่รู้หรือให้ความสนใจในเรื่องนี้น้อยมาก ทำให้มักมีปัญหาว่าศาลทหารมีความสำคัญหรือจำเป็น อย่างไรต่อกิจการของทหาร และในภาพลักษณ์ของบางคนก็มองว่าศาลทหารเป็นเครื่องมือของระบอบเผด็จการเพราะเป็นการให้ทหารมามีอำนาจในการตัดสินลงโทษประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นยังเห็นว่าศาลทหารเป็นการให้อภิสิทธิ์พิเศษแก่ทหารที่กระทำความผิดอาญาแล้วไม่ต้องถูกลงโทษ

ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ผิดเพราะศาลทหารเป็นกระบวนการยุติธรรมทางด้านทหาร ที่มีควบคู่มากับกระบวนยุติธรรมทางด้านฝ่ายพลเรือนมานานแล้ว และมีวิธีการหรือกระบวนในการดำเนินคดีเป็นของตนเอง ซึ่งบางเรื่องก็คล้ายกับของพลเรือนแต่บางเรื่องก็แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมในการปกครองบังคับบัญชาทหาร กองพระธรรมนูญ กรมสารบรรณทหาร ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทหารดังกล่าว จึงได้จัดทำบทความนี้เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องของศาลทหารแก่ข้าราชการทหารและผู้สนใจ จะได้ใช้เป็นข้อมูลเพื่อศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป

๒ บททั่วไป

ในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย “ศาล” ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มีสถานะเทียบเท่ากับรัฐสภา และรัฐบาล เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบ่งแยกการใช้อำนาจรัฐออกเป็น สาม อำนาจ คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยมีองค์กรที่ใช้อำนาจทั้งสามประกอบด้วยรัฐสภาเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ รัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทย ได้วางหลักการโดยแบ่งแยกศาลออกจากฝ่ายบริหารอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีศาล ๔ประเภท ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร โดยศาลแต่ละประเภทจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีแต่ละประเภทแตกต่างกันไป ทั้งนี้ตามที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายจัดตั้งศาลนั้นๆ จะได้กำหนด กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมก็จะรับพิจารณาและวินิจฉัยในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญาทั่วไป ส่วนศาลปกครองจะรับพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการปกครองระหว่างรัฐหรือองค์กรของรัฐกับประชาชน

สำหรับศาลทหารนั้นรัฐธรรมนูญกำหนด ให้มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาทหารและคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ กำหนดให้ ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาลงโทษทางอาญาต่อบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้นั้น หมายถึงข้าราชการทหารทั่ว ๆไปนั่นเอง (รายละเอียดในเรื่องบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารนี้จะได้กล่าวถึงต่อไป)

๓ เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องมีศาลทหาร

เนื่องจากศาลทหารมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาลงโทษทางอาญาต่อบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ทำให้ดูเหมือนว่าเขตอำนาจของศาลทหารซ้ำซ้อนกับเขตอำนาจของศาลยุติธรรมในเรื่องของการดำเนินคดีอาญาซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา ด้วยเหตุนี้จึงมักจะมีปัญหาถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการทางกฎหมายและนักประชาธิปไตยว่า ในปัจจุบันยังสมควรต้องมีศาลทหารต่อไปหรือไม่ โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีศาลทหารเนื่องจากว่าเป็นการให้อภิสิทธิ์พิเศษแก่ทหาร

ซึ่งทหารและประชาชนสมควรจะต้องมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน เมื่อทหารกระทำผิดก็สมควรให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาลงโทษ การให้แยกไปขึ้นศาลทหาร ซึ่งมีทหารด้วยกันเป็นผู้พิจารณาตัดสินลงโทษอาจจะมีการลำเอียงช่วยเหลือกันได้ และทำให้ประชาชนที่เป็นผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม ประกอบกับในความคิดของนักประชาธิปไตยมองว่าศาลทหารเป็นภาพลักษณ์ของระบอบเผด็จการ เพราะในสมัยที่มีการปฏิวัติรัฐประหารก็มักจะมีคำสั่งของคณะปฏิวัติให้คดีบางประเภทมาขึ้นศาลทหารพิจารณาเช่น คดีการกระทำอันเป็นคอมมูนิตส์ เป็นต้น นักวิชาการเหล่านั้นจึงเห็นว่าเมื่อประเทศไทยได้มีการปกครองเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบแล้วก็ไม่สมควรที่ต้องมีศาลทหารอีกต่อไป

ส่วนฝ่ายที่เห็นว่ายังสมควรต้องมีศาลทหารให้เหตุผลว่าการมีศาลทหารนั้นถือเป็นหลักสากลซึ่งในนานาอารยะประเทศต่างก็มีศาลทหารแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ-อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือจีน เว้นแต่ในประเทศที่พ่ายแพ้สงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๒) อย่างเช่น เยอรมัน หรือญี่ปุ่น ที่ถูกจำกัดไม่ให้มีศาลทหาร นอกจากนี้ศาลทหารมีวิธีพิจารณาคดีที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานะการณ์ได้ ซึ่งต่างจากศาลพลเรือน(ศาลยุติธรรม) ที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ดังนั้นในเวลาไม่ปกติ เช่น เวลาสงคราม ก็จำเป็นที่ต้องใช้ระบบของศาลทหาร เพื่อแก้ไขสถานะการณ์ของประเทศให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศสามารถดำเนินต่อไปได้และเหมาะสมต่อสถานะการณ์ในขณะนั้น ประกอบกับในเรื่องเขตอำนาจศาลพลเรือน(ศาลยุติธรรม)จะมีเขตอำนาจจำกัดอยู่แต่ในพื้นที่ตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้น ในกรณีที่กองทัพต้องไปปฏิบัติภาระกิจ หรือเข้ายึดดินแดนข้าศึกในต่างประเทศ ศาลพลเรือน(ศาลยุติธรรม) ก็จะไม่สามารถติดตามกองกำลังของกองทัพไปทำหน้าที่ในการให้ความยุติธรรมได้ นอกจากนี้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศบางเรื่องได้กำหนดห้ามไม่ให้ฟ้องคดีบุคคลบางประเภทต่อศาลในระบบปกติ เช่น กรณีของเชลยศึก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เห็นว่าเหตุผลและความจำเป็นอย่างหนึ่งในการมีศาลทหาร เนื่องจาก การรักษาความมั่นคงของประเทศถือได้ว่าเป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งการรักษาความมั่นคงนั้นจำเป็นต้องพึงพา กองกำลังทหารที่เข็มแข็ง มีหลักการที่ถือได้ว่าเป็นหลักการยุทธสากลได้อย่างหนึ่งคือ หลักเอกภาพในการบังคับบัญชา หมายถึงการให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบังคับบัญชาได้ ซึ่งถ้าเทียบกับการบริหารประเทศในปัจจุบันก็เทียบได้กับการที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้มี ผู้ว่าซีอีโอ ที่มีอำนาจเด็ดขาดในการสั่งการแก่ข้าราชการต่างๆในจังหวัดนั่นเอง การมีศาลทหารเป็นการแสดงถึงอำนาจของผู้บังคับบัญชาทหารในการปกครองแบบรวมอำนาจและเป็นเอกภาพ เพราะผู้บังคับบัญชาทหารจะมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมทหาร เช่น การเป็นตุลาการร่วมในการตัดสินคดี และมีอำนาจอุทธรณ์ ฎีกา อำนาจสั่งลงโทษต่อทหารที่ศาลได้พิพากษาให้ลงโทษแล้ว เป็นต้น ซึ่งอำนาจต่างๆ ดังกล่าวนี้ไม่มี

ในกระบวนพิจารณาของศาลพลเรือน นอกจากนี้การที่ผู้บังคับบัญชาทหารได้เข้ามาร่วมเป็นตุลาการ ก็จะได้ทราบถึงสาเหตุที่ทำให้กำลังพลดังกล่าวไปกระทำความผิดอาญาของบ้านเมืองและจะได้หาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขไม่ให้มีกำลังพลไประทำผิดเช่นนั้นอีก ด้วยเหตุนี้การศาลทหารจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครองบังคับบัญชาทหารโดยตรง นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่เป็นหลักสากลอยู่ว่าการปกครองทหารจะใช้วิธีการเช่นเดียวกับการปกครองพลเรือนไม่ได้ เนื่องจากทหารเป็นผู้ถืออาวุธร้ายแรงอยู่ในมือ จึงจำเป็นต้องอยู่ในระเบียบวินัยที่เข็มงวดยิ่งกว่าพลเรือน หากทหารไร้ซึ่งระเบียบวินัย ก็อาจนำอาวุธร้ายแรงดังกล่าวมาสร้างความวุ่นวายในสังคมให้เป็นที่เดือนร้อนแก่ ประชาชน ได้ ดังนั้นวินัยของทหารจึงเข็มงวด ความผิดวินัยบางอย่างของพลเรือนอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทางทหารถือเป็นเรื่องร้ายแรงต้องถูกลงโทษเช่นเดียวกับความผิดทางอาญาของบ้านเมืองทั่วไปเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง เช่นการขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือการหนีราชการ เป็นต้น

และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือแม้จะมีกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาลงโทษทหารที่กระทำผิดวินัยได้ แต่เนื่องจากกองทัพประกอบด้วยกำลังพลจำนวนมาก และบางครั้งการกระทำผิดวินัยของกำลังพลดังกล่าวเป็นการผิดต่อกฎหมายของบ้านเมืองด้วยบางเรื่องมีผลกระทบต่อประชาชนการจะให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษลงทัณฑ์ตามวินัยทหารย่อมเป็นการไม่ถูกต้องต่อหลักกฎหมายบ้านเมืองและอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทั้งต่อประชาชนผู้เสียหายและตัวทหารที่กระทำผิดเอง แต่ การจะให้ทหารที่กระทำผิดไปขึ้นศาลและใช้วิธีการเช่นเดียวกับพลเรือน โดยผู้บังคับบัญชาทหารไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ได้ก็จะเป็นการบั่นทอนอำนาจผู้บังคับบัญชาทหารว่าไม่สามารถให้คุณให้โทษต่อทหารได้ย่อมส่งผลกระทบต่อการสั่งการในอำนาจของผู้บังคับบัญชาทหารทั้งในยามปกติและยามสงคราม

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้มีศาลทหารเพื่อใช้จัดการกับทหารที่กระทำผิดดังกล่าวให้เป็นไปตามครรลองของบ้านเมือง จึงถือได้ว่าศาลทหารเป็นการรองรับอำนาจของผู้บังคับบัญชาเพื่อให้เกิดดุลยภาพในทางปกครองและการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง และด้วยเหตุผลและความจำเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันจึงได้บัญญัติให้มีศาลทหารเป็นองค์กรหนึ่งตามรัฐธรรมนูญเช่น เดียวกับ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และศาลปกครอง

๔ ประวัติและความเป็นมาของศาลทหารไทย

ศาลทหารได้มีขึ้นเป็นของคู่กันมาตั้งแต่มีการทหารไว้ป้องกันประเทศ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบบศาลทหารไทยปรากฎตามกฎหมายลักษณะขบฎศึก จุลศักราช ๗๙๖
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๕ ในเรื่องการศาลจะมีศาลหลายศาลสังกัดอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ศาลใดสังกัดอยู่กระทรวง ทบวงใด เขตอำนาจของศาลก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม นั้น เช่น ศาลกรมท่า มีอำนาจชำระคดีความต่างประเทศ

ศาลกรมนา ชำระคดีเรื่องนา ศาลกลาโหม ชำระความที่เกี่ยวกับทหารและยังชำระความพลเรือนด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสมุหพระกลาโหมนั้นมิได้มีเพียงอำนาจหน้าที่เฉพาะการบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่จัดการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลที่ขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมมีทั้งศาลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และศาลในหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลกลาโหมจึงมีลักษณะเป็นทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ปรับปรุงในเรื่องการศาลทั้งหมด โดยให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น และรวบรวมศาลซึ่งกระจัดกระจายสังกัดอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เข้ามาสังกัดกระทรวงยุติธรรมจนหมดสิ้นทุกศาล ยกเว้นแต่เพียงศาลทหารเพียงศาลเดียวที่ยังคงให้สังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ตามเดิม ศาลในประเทศไทยจึงแบ่งได้เป็นศาลกระทรวงยุติธรรมกับศาลทหารนับแต่นั้นมา

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลทหารบก ร.ศ.๑๒๖ (พ.ศ.๒๔๕๐) และพระธรรมนูญศาลทหารเรือ ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) ศาลทหารบกและศาลทหารเรือ ตามลำดับ และในปี พ.ศ.๒๔๕๕ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลทหารบกว่าด้วยตำรวจภูธรรัตนโกสินทรศก ๑๓๑ ตามพระราชบัญญัตินี้ตำรวจภูธรเป็นบุคคลที่อยู่ใต้อำนาจ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๙ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ออกประกาศกำหนดอำนาจ “ศาลทหารรักษาวัง” ซึ่งกำหนดให้ ศาลทหารรักษาวังมีอำนาจพิจารณาคดีที่ทหารรักษาวังกระทำความผิดเป็นอาญาวัง มีกฎมณเฑียรบาล ต่อมาพระธรรมนูญศาลทหารบก ร.ศ.๑๒๖ ได้ถูกยกเลิก และใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารบก พ.ศ.๒๔๖๕ แทนและในปี พ.ศ.๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกอำนาจศาลทหารรักษาวังไปรวมกับศาลทหารบก

ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ได้รวมพระธรรมนูญศาลทหารบกกับพระธรรมนูญศาลทหารเรือเข้าเป็นฉบับเดียวกัน โดยตราเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พุทธศักราช ๒๔๗๗ จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๙๘ จึงได้ถูกยกเลิกไป และใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ แทน คือฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันโดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมจนถึง ฉบับที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๒๖ และแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ และฉบับที่ ๒๕ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๐

๕ กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร

ศาลทหาร จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ นอกจากจะมีลักษณะเช่นเดียวกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่จัดตั้ง ศาลยุติธรรมแล้ว พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารยังมีบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความในศาลทหาร รวมไปถึงบทบัญญัติในเรื่องการแต่งตั้งและถอดถอนตุลาการอีกด้วย จึงเป็นการนำเอาบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับระบบศาลและตุลาการ(ในศาลพลเรือนเรียกว่า “ผู้พิพากษา”) ทั้งหมดมารวมไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งถ้าหากเทียบเป็นกฎหมายในปัจจุบันก็คงเรียกชื่อว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทหารและวิธีพิจารณาความในศาลทหาร เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

๖ ประเภทของศาลทหาร

ศาลทหารสามารถแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ

(๑) ศาลทหารในเวลาปกติ
(๒) ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
(๓) ศาลอาญาศึก

(๑) ศาลทหารในเวลาปกติ
ศาลทหารในเวลาปกติ คือ ศาลทหารที่ดำเนินการอยู่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองสงบสุขไม่มีศึกสงคราม อย่างเช่นปัจจุบันนี้ โดยศาลทหารในเวลาปกติจะมีการพิจารณาพิพากษาคดีที่สามารถอุทธรณ์ และฎีกาได้สามชั้น ดังนั้นศาลทหารในเวลาปกติจึงประกอบด้วย

ก. ศาลทหารชั้นต้น
ข. ศาลทหารกลาง (ชั้นอุทธรณ์)
ค. ศาลทหารสูงสุด (ชั้นฎีกา)

ก. ศาลทหารชั้นต้น ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.๒๔๙๘ มาตรา ๗ ได้จำแนกศาลทหารชั้นต้นไว้ ๔ ศาล คือ

๑ ศาลทหารกรุงเทพ มีที่ตั้งอยู่ในกรมพระธรรมนูญ และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมาย โดยไม่จำกัดพื้นที่ และไม่จำกัดชั้นยศของจำเลย นายทหารชั้นนายพลก็ตกเป็นจำเลยในศาลทหารกรุงเทพได้ แต่โดยปกติถ้าการกระทำผิดเกิดในพื้นที่ที่มีศาลทหาร ก็ให้พิจารณาพิพากษาในศาลทหารท้องถิ่น และเนื่องจากจังหวัดทหารบกกรุงเทพและมณฑลทหารบกที่ ๑๑ เป็นที่ตั้งของศาลทหารกรุงเทพ ฉะนั้นกฎหมายจึงไม่ยอมให้มีการจัดตั้งศาลจังหวัดทหารบกกรุงเทพ และศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๑ จึงมีผลให้ศาลทหารกรุงเทพมีเขตอำนาจครอบคลุม กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร

๒ ศาลมณฑลทหาร มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวง เฉพาะความผิดที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่มณฑลทหารนั้น ๆ แต่จำกัดชั้นยศของจำเลยว่าจำเลยจะต้องไม่ใช่นายทหารชั้นนายพล ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร มาตรา ๘ ให้มีศาลมณฑลทหาร ๑ ศาล ในแต่ละมณฑลทหาร
ยกเว้นมณฑลทหารอันเป็นที่ตั้งของศาลทหารกรุงเทพ ดังนั้นมณฑลทหารบกที่ ๑๑ อันเป็นที่ตั้งของ
ศาลทหารกรุงเทพจึงไม่มีศาลมณฑลทหาร ปัจจุบันมีศาลมณฑลทหาร ๑๒ แห่ง ได้แก่

๑. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๒ อยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี มีเขตอำนาจครอบคลุม จังหวัดปราจีนบุรี นครนายก
๒. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๓ อยู่ที่จังหวัดลพบุรี มีเขตอำนาจครอบคลุม จังหวัดลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง
๓. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๔ อยู่ที่จังหวัดชลบุรี มีเขตอำนาจครอบคลุม จังหวัดชลบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง
๔. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๒๑ อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ
๕. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๒๒ อยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดอุบลราชธานี มุกดาหาร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ
๖. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๒๓ อยู่ที่จังหวัดขอนแก่น มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม
๗. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๒๔ อยู่ที่จังหวัดอุดรธานี มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู
๘. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๓๑ อยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี
๙. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๓๒ อยู่ที่จังหวัดลำปาง มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดลำปาง
๑๐. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๓๓ อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน
๑๑. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๔๑ อยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดนครศรีธรรมราช (นอกจากอ.ทุ่งสง ) กระบี่ พังงา ภูเก็ต
๑๒. ศาลมณฑลทหารบกที่ ๔๒ อยู่ที่จังหวัดสงขลา มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดสงขลา พัทลุง สตูล

๓ ศาลจังหวัดทหาร มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาได้ทั้งปวง แต่ต้องเป็นคดีที่จำเลยไม่ใช่นายทหารสัญญาบัตร ซึ่งตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร ให้ทุกจังหวัดทหารมีศาลจังหวัดทหารได้ศาลหนึ่ง ปัจจุบันมีศาลจังหวัดทหารบกที่เปิดทำการเพียง ๑๒ ศาล ได้แก่

​๑. ศาลจังหวัดทหารบกสระบุรี อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๓ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา
​๒. ศาลจังหวัดทหารบกสุรินทร์ อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๒๑ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดสุรินทร์
​๓. ศาลจังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๒๒ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร
​๔. ศาลจังหวัดทหารบกพิษณุโลก อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบก
ที่ ๓๑ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย
​๕. ศาลจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบก
ที่ ๓๑ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร
​๖. ศาลจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์ อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๓๒ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดอุตรดิตถ์ แพร่
​๗. ศาลจังหวัดทหารบกเชียงราย อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๓๓ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดเชียงราย
​๘. ศาลจังหวัดทหารบกชุมพร อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๔๑ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดชุมพร ระนอง
​๙. ศาลจังหวัดทหารบกปัตตานี อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๔๒ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดปัตตานี
​๑๐. ศาลจังหวัดทหารบกราชบุรี อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๑ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดราชบุรี สมุทรสงคราม
​๑๑. ศาลจังหวัดทหารบกเพชรบุรี อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบกที่ ๑๑ มีอำนาจครอบคลุมจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์
​๑๒. ศาลจังหวัดทหารบกกาญจนบุรี อยู่ในเขตพื้นที่ของศาลมณฑลทหารบก ที่ ๑๑ มีเขตอำนาจครอบคลุมจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี

๔. ศาลประจำหน่วยทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร มาตรา ๙

กำหนดว่าเมื่อหน่วยทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่นอกราชอาณาจักร หรือกำลังเดินทางเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่
นอกราชอาณาจักร และมีกำลังทหารไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน จะให้จัดตั้งศาลประจำหน่วยทหาร นั้นก็ได้ และศาลประจำหน่วยทหารมีอำนาจเหนือบุคคลที่สังกัดอยู่หน่วยทหารนั้นโดยไม่จำกัดพื้นที่

๒. ศาลทหารกลาง มีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรมพระธรรมนูญ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลทหารชั้นต้น
๓. ศาลทหารสูงสุด มีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรมพระธรรมนูญ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลทหารกลาง คดีที่ศาลทหารสูงสุดได้พิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งแล้ว ให้เป็นอันถึงที่สุด

๘ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ

​ในเวลาไม่ปกติ หมายถึง ในเวลาที่มีการรบ หรือสถานะการณ์สงคราม หรือได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารซึ่งมีอยู่แล้วในเวลาปกติคงพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามอำนาจ แต่ถ้าผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ประกาศ หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้สั่งตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาใด ๆ อีก ก็ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามประกาศ หรือคำสั่งนั้นได้ด้วย ​เมื่อหมดภาวะการรบ หรือสถานะสงคราม หรือเลิกใช้กฎอัยการศึก ศาลทหาร ยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างอยู่ในศาล หรือที่ยังมิได้ฟ้องโดยมีอำนาจแต่งตั้งตุลาการ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจสั่งโอนคดี หรือส่งผู้ต้องหาไปดำเนินคดียังศาลทหารแห่งอื่นได้และให้การพิจารณาพิพากษาคดีเช่นนี้มีอำนาจและหน้าที่ดังศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร มาตรา ๓๖

๙ ศาลอาญาศึก

ศาลอาญาศึกเป็นศาลทหารอีกประเภทหนึ่งที่ได้แยกออกมาต่างหากจากศาลทหารในเวลาปกติและศาลทหารในเวลาไม่ปกติ การตั้งศาลอาญาศึกจะเกิดขึ้นได้เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังนี้

(๑) เมื่อมีการรบเกิดขึ้น โดยได้มีการกำหนดเขตยุทธบริเวณ
(๒)ในเขตยุทธบริเวณดังกล่าว มีกำลังทหารไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือมีเรือรบ ป้อม หรือที่มั่นอย่างใด ๆ ของทหาร
(๓) ผู้บังคับบัญชาของกองกำลังทหารที่ไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือผู้บังคับบัญชาประจำเรือรบ ป้อม หรือที่มั่นดังกล่าวตามข้อ ๒ หรือผู้ทำการแทนผู้บังคับบัญชาดังกล่าว ได้ตั้ง
ศาลอาญาศึกขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีอาญาที่เกิดขึ้นในยุทธบริเวณนั้น ๆ

๑๐ คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ มาตรา ๑๓ กำหนดให้ศาลทหาร มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด สั่งลงโทษบุคคลใดๆ ที่กระทำผิดฐาน ละเมิดอำนาจศาล นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีอำนาจในการพิจารณาคดีอย่างอื่นได้อีกตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติเพิ่มเติม ที่เคยมีมาแล้วเช่น ความผิดฐานกระทำการอันเป็นคอมมูนิตส์ เป็นต้น

สำหรับอำนาจในการรับฟ้องคดีของศาลทหารแบ่งได้ดังนี้ ศาลจังหวัดทหารจะรับฟ้องคดีที่จำเลยมีชั้นยศเป็นนายทหารประทวน ศาลมณฑลทหารจะรับฟ้องคดีที่จำเลยมีชั้นยศตั้งแต่ชั้นประทวนจนถึงชั้นยศสัญญาบัตรแต่ไม่เกินพันเอก ส่วนศาลทหารกรุงเทพจะรับฟ้องได้หมดทุกชั้นยศ นอกจากนี้ชั้นยศจำเลยมีผลต่อการแต่งตั้งองค์คณะตุลาการที่จะพิจารณาคดีด้วย โดยองค์คณะตุลาการที่จะแต่งตั้งนั้นอย่างน้อยต้องมีผู้ที่มียศเท่ากันหรือสูงกว่าจำเลย

๑๑ คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารมาตรา ๑๔ ได้บัญญัติถึงคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร แยกเป็น ๔ ประเภท ซึ่งเป็นข้อยกเว้นจากหลักทั่วไปตามมาตรา ๑๓ ดังนี้คือ

ประเภทแรก ได้แก่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน ซึ่งอาจเป็นกรณีร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓ ใช้ จ้าง วาน ตามมาตรา ๘๔ สนับสนุนตามมาตรา ๘๖ รวมไปถึงต่างฝ่ายต่างกระทำความผิด เช่น วิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ขับรถยนต์โดยประมาททั้งสองฝ่ายเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย

ประการที่สอง ได้แก่คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน ซึ่งคดีที่เกี่ยวพันในประเภทนี้ก็อาศัยหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔ เช่น ทหาร ลักทรัพย์ พลเรือนรับของโจร ทหารปลอมเอกสารให้พลเรือนเอาไปใช้

ประการที่สาม ได้แก่คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากอายุของผู้กระทำความผิด ซึ่งคงจะมีแต่เฉพาะนักเรียนทหาร

ประการที่สี่ ได้แก่คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คดีประเภทนี้คงจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ๒ ประการ ประการแรก คือ ได้มีการฟ้องคดียังศาลทหารแล้ว

ประการที่สอง คือ เป็นคดีที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในสามประการแรก แต่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร เช่น คดีที่จำเลยกระทำความผิดร่วมกับผู้อื่นซึ่งยังไม่เป็นการแน่ชัดว่าบุคคลอื่นนั้นเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารหรือไม่

๑๒ บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารนั้น มาตรา ๑๖ ได้จำแนกไว้ ๘ อนุมาตรา ถ้าจะแยกอธิบายแต่ละอนุมาตราก็คงจะทำให้เกิดความสับสน จึงขออธิบายโดยแยกเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก ได้แก่ ทหาร ทหาร นั้นแยกเป็น ๒ ประเภท คือ ทหารประจำการ และทหารกองประจำการ

ทหารประจำการ คือ ทหารที่เข้ามารับราชการเป็นทหารตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ.๒๕๒๑ และทหารกองประจำการก็คือทหารที่เข้ามารับราชการทหารตาม
พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗ ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ทหารประจำการได้แก่ทหารที่ยึดเอาการรับราชการทหารเป็นอาชีพ ซึ่งมีทั้งทหารประจำการชั้นสัญญาบัตร ชั้นประทวน และทหารที่ไม่มียศที่เรียกกันว่า พลทหารอาสาสมัคร ส่วนทหารกองประจำการ คือ ทหารเกณฑ์ หรือทหาร ที่สมัครเข้ากองประจำการเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องเป็นทหาร

กลุ่มที่สอง ได้แก่ นักเรียนทหาร หมายถึง นักเรียนทหารที่กำหนดขึ้นโดยกระทรวงกลาโหม เช่น นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ นักเรียนเตรียมทหาร นักศึกษาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นักเรียนทหารดังกล่าวหากมีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องดำเนินคดีในศาลเยาวชนและครอบครัว หากพ้นเกณฑ์อายุก็จะต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร
กลุ่มที่สาม คือบุคคลที่มิได้เป็นทหาร จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ

๑. บุคคลที่เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือน เป็นลูกจ้างในสังกัดกระทรวงกลาโหม เฉพาะเมื่อ
กระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการโดยมาจำกัดพื้นที่ หรือความผิดอาญาอื่นโดยจำกัดพื้นที่เฉพาะในบริเวณที่ตั้งหน่วยทหาร

๒. บุคคลที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น พยานที่ถูกศาลทหารออกหมายจับมาเพื่อเบิกความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๑๑(๒) ได้กระทำผิดในระหว่างที่เจ้าหน้าที่กักขังตัวไว้ก่อนเบิกความ

๓. บุคคลที่เป็นเชลยศึกหรือชนชาติศัตรูในช่วงเวลาที่มีศึกสงคราม

๑๓ การแต่งตั้งตุลาการ

การแต่งตั้งและถอดถอนตุลาการในศาลทหารตามรัฐธรรมนูญ กำหนดให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในทางปฏิบัติได้มีการมอบพระราชอำนาจดังกล่าวให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บังคับบัญชาทหาร โดยจะมีวิธีการปฏิบัติ ดังนี้

(๑) ตุลาการศาลทหารสูงสุด และ ตุลาการศาลทหารกลาง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งและถอดถอน
(๒) ตุลาการศาลทหารชั้นต้น และ ศาลประจำหน่วยทหาร พระมหากษัตริย์ทรงมอบพระราชอำนาจแก่ผู้บังคับบัญชาทหาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน
(๓) ตุลาการในศาลทหารชั้นต้น ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาจังหวัดทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลจังหวัดทหาร ผู้มีอำนาจบังคับบัญชามณฑลทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลมณฑลทหาร ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลประจำหน่วยทหารและ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหารกรุงเทพ

๑๔ การดำเนินคดีในศาลทหาร

​พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร กำหนดให้ศาลทหารใช้วิธีพิจารณาคดีตามกฎหมาย กฎ
ข้อบังคับ ซึ่งออกตามกฎหมายฝ่ายทหารมาใช้บังคับก่อน ซึ่งถ้าไม่มี จึงจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้ และถ้าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่มี จึงให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ ซึ่งพอสรุปได้ว่า กรณีที่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารไปกระทำผิดอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลทหารนั้น ถ้าผู้เสียหายไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร จะต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนแล้วส่งสำนวนคดีให้อัยการทหารเป็นผู้ฟ้องคดีในศาลทหาร แต่ถ้าผู้เสียหายเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็อาจแต่งทนายความ หรือทนายทหาร เพื่อฟ้องคดีต่อศาลทหารเองได้ หรือในกรณีที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร ผู้บังคับบัญชาจะต้องแต่งตั้งกรรมการสอบสวน หรืออาจให้นายทหารพระธรรมนูญเป็นผู้สอบสวน เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วจึงส่งสำนวนคดีไปให้อัยการทหารเพื่อฟ้องคดีต่อศาลทหารต่อไป

ในขั้นตอนการดำเนินคดีดังกล่าว เมื่อศาลทหารชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้ว เป็นหน้าที่ของจ่าศาลทหาร จะต้องแจ้งผลคดีนั้นไปให้ผู้บังคับบัญชาของจำเลยทราบ และพิจารณาว่าจะอุทธรณ์หรือฎีกา หรือไม่ ถ้าผู้บังคับบัญชาทหารดังกล่าวมีความประสงค์จะอุทธรณ์ หรือฎีกา ก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ – ฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง หรือจะไม่อุทธรณ์ฎีกาก็ได้ และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว การบังคับตามคำพิพากษาจ่าศาลทหารก็จะดำเนินการแจ้งคำพิพากษานั้นให้ผู้บังคับบัญชาทหารเพื่อดำเนินการบังคับโทษ เช่น ศาลให้ลงโทษจำคุก จ่าศาลก็จะส่งคำพิพากษาและหมายแจ้งโทษเด็ดขาดให้ผู้บังคับบัญชาทหารลงชื่อในหมาย ซึ่งในทางกฎหมายจะเรียกผู้บังคับบัญชาทหารดังกล่าวว่าผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ จะเห็นได้ว่าการบังคับโทษของศาลทหารนี้แตกต่างจากศาลพลเรือน เพราะในศาลพลเรือน เมื่อศาลพิพากษาแล้วจะเป็นผู้ออกเพื่อบังคับโทษตามคำพิพากษาได้เลย

๑๕ บทสรุป
​งานศาลทหารถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองบังคับบัญชาทหาร เพื่อให้เกิด ความเข็มแข็งเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันอธิปไตยของประเทศ แล้วยังเป็นงานที่ต้องอำนวยความ ยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยตามภารกิจที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ บทความนี้จัดทำขึ้นเพียงให้ ความรู้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับงานศาลทหาร ซึ่งอาจจะได้ไม่ครบทุกประเด็นเพราะเนื่องจากเป็นเรื่อง ละเอียดอ่อน มีขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมาย ทั้งมีขอบจำกัดตามรัฐธรรมนูญ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของจำเลยในคดี รวมทั้งสิทธิของผู้เสียหายที่ต้องถูกกระทบ ดังนั้น ผู้บังคับบัญชาทหาร ซึ่งถือเป็น กลไกสำคัญในกระบวนการยุติธรรมทหาร สมควรที่จะได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้ต่อไป