การปฏิบัติงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภายใต้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑
ทำไมต้องจัดตั้ง กอ.รมน.
จากความขัดแย้งและการแข่งขันของประชาคมโลก อันเนื่องมาจากการเพิ่มของจำนวนประชากร ความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้ส่งผลกระทบด้านความมั่นคงกับทุกประเทศทั่วโลก
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับผลกระทบดังกล่าวทั้งทางตรงและทางอ้อมประกอบกับระดับการพัฒนาของ หลายประเทศในภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้ระดับความรุนแรงของปัญหามีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ประเทศไทยได้รับผลกระทบต่อสถานการณ์โลกและสถานการณ์ในภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความหลากหลาย สลับซับซ้อนเชื่อมโยงกันหลายมิติ สามารถขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยหากเกิดขึ้นแล้วยากต่อการควบคุมและแก้ไข ซึ่งจำเป็นต้องมีการป้องกันที่ดี และมีประสิทธิภาพตั้งแต่ภาวะปกติ
จากสถานการณ์ข้างต้นนำไปสู่การกำหนดประเด็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยมีลำดับความสำคัญของภัยคุกคามที่ กอ.รมน.รับผิดชอบตามภารกิจ และอำนาจหน้าที่ ดังนี้
๑. ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
๒. ภัยจากยาเสพติด
๓. ปัญหาคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
๔. การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
๕. ภัยคุกคามจากการบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จะเห็นได้ว่าภัยคุกคามที่ประเทศไทยต้องเผชิญนั้น เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่มีความซับซ้อนและคาดการณ์ได้ยาก ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการบูรณาการและประสานการปฏิบัติร่วมกับทุกส่วนราชการในการดำเนินการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงได้มีการจัดตั้ง กอ.รมน. ขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว ทั้งนี้เป็นไปอำนาจที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑
นวัตกรรมใหม่อันเกิดจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑
ตาม พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.๒๕๕๑ ดังกล่าว ได้กำหนดให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายในการบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรี เป็น “ผอ.รมน.” และได้กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรี มอบหมายเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม/และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็น รองประธาน และมีรัฐมนตรีหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงกรม หรือเทียบเท่าที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเป็น กรรมการโดยมีเลขาธิการ กอ.รมน. เป็น กรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการที่เป็นผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
– รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
– ปลัดกระทรวงกลาโหม
– ปลัดกระทรวงต่างประเทศ
– ปลัดกระทรวงมหาดไทย
– อัยการสูงสุด
– เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
– ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
– เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
– เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
– ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
– ผู้บัญชาการทหารบก
– ผู้บัญชาการทหารเรือ
– ผู้บัญชาการทหารอากาศ
– ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
– อธิบดีกรมบัญชีกลาง
– อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
– ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
คณะกรรมการ ชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่กำกับให้คำปรึกษาและเสนอแนะการปฏิบัติงานในกรอบ
อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติ เป็นไปด้วยความรอบคอบ และครอบคลุมทุกมิติของงานด้านความมั่นคง
ภารกิจและอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.
กอ.รมน. มีภารกิจในการ วางแผน อำนวยการ ประสานงาน และกำกับดูแลการดำเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงภายในของรัฐ และดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่สำคัญของชาติ ตามที่ได้รับมอบในทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. นี้ คือ การดำเนินการเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใด ๆ ที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุขทำลายหรือทำความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ ให้กลับสู่สภาวะปกติ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ อย่างไรก็ตามขอบเขตแห่งอำนาจของ กอ.รมน. ตาม พ.ร.บ.นี้นั้น ได้แบ่งออกเป็น ๒ ระดับคือ
ในภาวะปกติ กอ.รมน. จะมีหน้าที่
๑) ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคง
๒) อำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยการจัดทำแผน และแนวทางการปฏิบัติงานให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ
๓) เมื่อได้รับการเห็นชอบแล้วก็จะอำนวยการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามแผนงาน และแนวทาง นั้น
๔) หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งนั้น คือ การเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ
๕) รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และความสงบเรียบร้อยของสังคม
ภาวะไม่ปกติ
ในกรณีที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเหตุการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอยู่ต่อไปเป็นเวลานาน ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาดังกล่าว อยู่ในอำนาจหน้าที่หรือความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐหลายหน่วย คณะรัฐมนตรีจะมีมติมอบหมายให้ กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบ ในการป้องกันปราบปรามระงับยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงนี้ รัฐบาลโดย ครม. ต้องประกาศพื้นที่การรักษาความมั่นคง/และกรอบเวลา ในการปฏิบัติอย่างชัดเจน สำหรับแผนที่ใช้ในการปฏิบัตินั้น กอ.รมน. ต้องหารือร่วมกับ สมช. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำแผนแล้วเสนอต่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบด้วย
นอกจากนั้นในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภาวะไม่ปกตินี้ในกรณีที่ต้องการให้มี หน่วยงานที่มีเอกภาพและมีการบูรณาการในการแก้ปัญหา ผอ.รมน. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ อาจจะจัดตั้งศูนย์อำนวยการหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น เพื่อปฏิบัติภารกิจอย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายอย่าง เป็นกรณีเฉพาะ เช่น การจัดตั้งกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
การแบ่งส่วนราชการภายใน กอ.รมน. เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความมั่นคงฯ อย่างไร
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำโครงสร้างการจัด และอัตรากำลังพลขึ้นใหม่ โดยแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนบริหาร: ประกอบด้วย ผอ.รมน., รอง ผอ.รมน. และ ลธ.รมน. โดยการดำเนินการใด ๆ อยู่ภายใต้การสั่งการและอำนวยการของ ผอ.รมน./นรม
ส่วนอำนวยการ: แบ่งงานเป็น ๒ ส่วน
– งานด้านการติดตามสถานการณ์ : จะมี “ ศูนย์ติดตามสถานการณ์” ขึ้นตรงกับ ลธ.รมน. ทำหน้าที่ในการติดตามสถานการณ์ ตลอด ๒๔ ชม. และเมื่อเกิดสถานการณ์จะสามารถปรับเป็น “ศูนย์อำนวยการ” ได้
– ส่วนอำนวยการส่วนที่ ๒ คือ/ งานด้านแผนการอำนวยการ/ และกำกับดูแลหน่วยงาน/ จะจัดในลักษณะ ๖ สาย ฝ่ายอำนวยการ ซึ่งจะทำให้การอำนวยการด้านความมั่นคง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
๑. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง
– เป็นหน่วยงานที่แปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยจัดทำแผนปฏิบัติราชการ ๔ ปี และ แผนรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรประจำปี โดยผ่านความเห็นชอบของ ครม. ซึ่งจะเป็นแผนหลัก ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการในส่วนของตน
– จัดการประเมินผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงเพื่อนำไปปรับปรุงนโยบายหรือแผนงานในปีต่อไป
๒. สำนักการข่าว
– เป็นหน่วยงานที่บูรณาการงานด้านการข่าว
– เป็นหน่วยงานที่จะทำฐานข้อมูลด้านความมั่นคง
– เป็นหน่วยงานที่ทำการประเมิน แนวโน้มของสถานการณ์
๓. สำนักกิจการมวลชนและสารนิเทศ
– ปลูกฝังอุดมการณ์ ความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
– การศึกษาอบรมเพื่อความมั่นคงของชาติ
– ปฏิบัติการจิตวิทยาและการประชาสัมพันธ์
๔. สำนักบริหารงานบุคคล
๕. สำนักบริหารงานทั่วไป เป็นส่วนสนับสนุน
๖. สำนักงบประมาณและการเงิน
ส่วนประสานงาน : ถือเป็นหัวใจการปฏิบัติในโครงสร้างใหม่ ดำเนินการโดยมี “ศูนย์ประสาน การปฏิบัติ” ที่จัดตั้งไว้ ๖ ศูนย์ มีหน้าที่ บูรณาการ แผนงานโครงการและประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการกระทรวง ทบวง กรมทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงในมิติต่าง ๆ ที่ศูนย์ประสานการปฏิบัตินั้นได้รับมอบหมาย โดยมี ผู้ที่จะรับผิดชอบแต่ละศูนย์ จะจัดจากหน่วยงานที่มีความชำนาญและ มีภาระงานที่เกี่ยวข้องกับภัยความมั่นคงในด้านนั้นให้มากที่สุดดังนี้
๑. ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๑ รับผิดชอบด้านยาเสพติด โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการดำเนินงาน
๒. ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๒ รับผิดชอบด้านแรงงานต่างด้าว และผู้หลบหนีเข้าเมืองโดย ผิดกฎหมาย โดยกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการดำเนินงาน
๓. ศูนย์ประสานการปฏิบัติการที่ ๓ รับผิดชอบด้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการดำเนินงาน
๔. ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๔ รับผิดชอบด้านความมั่นคงพิเศษ เช่น ชาวม้งลาว, การค้ามนุษย์ การฟอกเงิน และอื่น ๆ นอกเหนือจากความรับผิดชอบของศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๑ – ๓ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รับผิดชอบดำเนินการในภาพรวม
๕. ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๕ รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ (จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่อื่น ๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์) โดยกองทัพบกเป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบในการดำเนินการ
๖. ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ ๖ รับผิดชอบการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รับผิดชอบดำเนินการในภาพรวม
สำหรับกำลังพลที่บรรจุแต่ละศูนย์ประสานการปฏิบัติ นั้นมิได้หมายความว่าจะบรรจุจากหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดเพียงหน่วยเดียวแต่ประกอบด้วยกำลังพลทั้ง พลเรือน, ตำรวจ และทหาร ที่มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในเรื่องนั้น ๆ
บทสรุป
๑. การปฏิบัติของ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะ ที่อยู่ภายในสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจะประกอบไปด้วย ข้าราชการพลเรือนจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ตำรวจ และทหาร
๒. การดำเนินการใด ๆ ของ กอ.รมน. ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในฯ ได้กำหนดขั้นตอนไว้แล้วอย่างชัดเจน ผ่านคณะกรรมการฯ ในรูปแบบต่างๆ ทุกระดับ
๓. ในภาวะปกติ กอ.รมน. จะเป็นหน่วยงานกลางที่แปลงนโยบายด้านความมั่นคงของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ
๔. กอ.รมน. จะกำหนดกรอบแนวทางและความเร่งด่วนในการปฏิบัติในแผนการรักษาความมั่นคงภายในประจำปี ทำให้หน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐมีแนวทางในการจัดทำแผนงานโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงในส่วนที่ตนรับผิดชอบอย่างชัดเจน และไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น
๕. กอ.รมน. เป็นหน่วยงานกลางที่ให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง
๖. กอ.รมน. เป็นเวทีที่ใช้ในการแก้ปัญหาภัยคุกคาม ที่มีความซับซ้อนต้องใช้ความร่วมมือของหลายหน่วยงาน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคต่าง ๆ โดยแต่งตั้งเป็นคณะที่ปรึกษา กอ.รมน., กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จว.
๗. กลไกหลักของการดำเนินงานของ กอ.รมน. ประกอบไปด้วย กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด ซึ่งจะรับผิดชอบ การอำนวยการ ประสานงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามเป็นพื้นที่
๘. ศูนย์ประสานการปฏิบัติทั้ง ๖ ศูนย์ รับผิดชอบ อำนวยการและประสานงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามในแต่ละด้าน โดยศูนย์นี้จะมีหน้าที่ในการประสานงานระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐที่เกี่ยวข้องและยังเป็นหน่วยเชื่อมต่อระหว่าง กอ.รมน.ส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติงานในระดับพื้นที่
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานของ กอ.รมน. จะไม่สามารถบรรลุตามความมุ่งหมาย และเจตนารมณ์ของการจัดตั้งให้มีขึ้นได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งมีจิตสำนึกเชิดชูสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เคลื่อนไหวจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วยความริเริ่มของชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงออกให้เห็นว่าชุมชนนั้น ๆ ตระหนักถึงผลร้ายอันเกิดจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ที่จะส่งผลกระทบถึงชุมชน และส่วนรวม พร้อมจะให้ความร่วมมือกับทางราชการ และมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา อันจะนำไปสู่ความผาสุก และความมั่นคงของประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป