[:th]CrCF Logo[:]
[:th]กฎอัยการศึก[:]

10 ปี กฎอัยการศึกในบริบทจังหวัดชายแดนใต้ ตอนที่ 1 โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

Share

ตอนที่ 1: ลำดับการประกาศใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนใต้

สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้นับแต่เหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 10 ที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก และพร้อมกับการใช้พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสอง 2 ฉบับพร้อมๆ กัน

ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตความจำเป็นจนทำให้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานความมั่นคงก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตลอดระยะเวลาเป็นระยะเวลาเกือบสิบปี

โดยจะมีใครซักกี่คนทราบว่ามีการยกเว้นการใช้กฎอัยการศึกในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2549 เป็นเวลาหนึ่งปีสองเดือน

ลำดับการประกาศใช้ และยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีความสับสนไม่น้อย เริ่มจากหลังเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 มีประกาศกองทัพภาคที่ 4 เรื่องการใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ คือ นราธิวาส เฉพาะ อ.บาเจาะ อ.รือเสาะ อ.ตากใบ อ.สุไหวปาดี อ.ยี่งอ และ อ.สุไหงโก-ลก ปัตตานี

เฉพาะ อ.กะพ้อ และ ยะลา เฉพาะ อ.รามัน ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2547 และต่อมาเมื่อในปี พ.ศ. 2548 เมื่อประเทศไทยไปรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนองค์การสหประชาชาติในวันที่ 15-16 กรกฎาคม 2548 ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

เหตุผลของที่ทางประเทศไทยได้ให้กับทางองค์กรสหประชาชาติในการนั้นคือการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในครั้งนั้นจะนำมาทดแทนการใช้กฎอัยการศึกเพื่อลดการใช้อำนาจทหารที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน และขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

ต่อมาในวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ปีเดียวกันรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา

ในประกาศพระราชกฤษฎีกาพร้อมกันนั้นประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในวันเดียวกันในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา และต่อมานายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรในสมัยนั้นก็ได้ยกเลิกกฎอัยการศึกไปได้เพียงระยะเวลาหนึ่งปีสองเดือน

ต่อมาในวันที่ 20 กันยายน 2549 ได้มีการประกาศในพระราชกฤษฎีกาเรื่องประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศหนึ่งวันภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน เมื่อหลังการปฎิวัติเวลาล่วงเลยมาระยะหนึ่ง นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ตัดสินยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกทั้งสิ้นสองครั้งคือในเดือนมกราคม 2550 ประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกจำนวน 35 จังหวัดทั่วประเทศ

และในช่วงเดือนมกราคม 2551 ประการยกเลิกกฎอัยการศึกจำนวน 31 จังหวัด โดยไม่ได้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลานั้นทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีการใช้กฎหมายอัยการศึกควบคู่กับการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินทุกๆ สามเดือน

มาตรการการใช้กฎหมายสองฉบับทับซ้อนกันดังกล่าวเป็นเครื่องมือของฝ่ายทหารได้ใช้อ้างในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ แต่สถานการณ์ความรุนแรงยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติได้ในเร็ววัน และกลับทวีความรุนแรงขึ้นตามจังหวัดที่เกิดเหตุการณ์ฆ่ารายวันจำนวนมากขึ้น และมีเหตุการณ์ความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ