[:th]CrCF Logo[:]
กฎอัยการศึก

แถลงการณ์ร่วม องค์กรสิทธิ คัดค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึกด้วยขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

Share

แถลงการณ์ร่วม

คัดค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึกด้วยขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ทั่วราชอาณาจักรและออกประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 และ 2/2557 เมื่อคืนวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมของประชาชน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นตรงต่อกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) นั้น

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ ขอคัดค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. เนื่องจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก มีบทบัญญัติจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวางและรุนแรงการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2557 จึงต้องมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย เมื่อเกิดสงคราม หรือจลาจลโดยไม่มีหนทางอื่นใดที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้แล้วเท่านั้น แต่เหตุความรุนแรงในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ หากรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพตามกฎหมายในการควบคุมดูแลการชุมนุม และความปลอดภัยของประชาชน กรณีนี้จึงถือได้ว่าไม่มีเหตุจำเป็นเพียงพอที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่อย่างใด ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ประกาศใช้เพื่อยุติสถานการณ์ความรุนแรง และขัดต่อหลักการประชาธิปไตย

2. การประกาศกฎอัยการศึก ได้เพิ่มอำนาจฝ่ายทหารในการจับกุม ตรวจค้น ยึดได้โดยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินการตามกฎอัยการศึกของเจ้าหน้าที่ และให้อำนาจในการสั่งห้ามการชุมนุม ห้ามเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ ห้ามโฆษณา ห้ามใช้ทางสาธารณะ ฯลฯ อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของบุคคล จำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุม จำกัดสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน อันจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ประกาศใช้เพื่อยุติสถานการณ์ความรุนแรง ดังจะเห็นได้จากบทเรียนการใช้กฎอัยการศึก ในการจัดการกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้

3. แม้กฎอัยการศึกจะให้อำนาจในการประกาศ และอำนาจในการสั่งห้ามประชาชนในการกระทำการต่างๆอย่างกว้างขวาง แต่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจพึงต้องระลึกว่าการใช้อำนาจย่อมต้องผูกพันตามรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมต้องได้รับความคุ้มครองและผูกพันหน่วยงานของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 กองทัพจึงไม่อาจใช้อำนาจเกินกว่าจำเป็นและจะกระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้ ทั้งนี้หากเกิดความเสียหายขึ้นในการดำเนินการตามกฎอัยการศึกเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐยังคงต้องรับผิดในความเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ด้วยเหตุผลที่กล่าว มาข้างต้น องค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้จึงเห็นว่า การประกาศกฎอัยการศึกไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์และสร้างความไว้วางใจของสังคมได้ การที่จะนำไปสู่ความสงบภายในประเทศได้นั้นจะสำเร็จลุล่วงได้ก็ด้วยความจริงใจและความไว้วางใจระหว่างทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างคู่ขัดแย้ง และจะต้องเป็นการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และการมีส่วนร่วมของประชาชน บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย จึงขอให้กองทัพและรัฐบาลดำเนินการให้มีการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกฉบับนี้ โดยทันที

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

  1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
  2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  3. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  4. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [200.82 KB]