เผยแพร่วันที่ 18 พฤษภาคม 2557
ใบแจ้งข่าว ศาลปกครองกลางไต่สวนปู่คออี้และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาบ้านและยุ้งฉาง โดยนัดในวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม
ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนปู่คออี้ มีมิและผู้ฟ้องคดีทั้งหกซึ่งเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อยู่อาศัยอยู่หมู่บ้านบางกลอยบน ถูกเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบุกรุก เผาบ้านและยุ้งฉางข้าว พร้อมขับไล่ออกจากชุมชนเดิม โดยนัดที่ศาลปกครองกลาง ในวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2557 เวลา 10.00 น.
เนื่องจากในวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ (“ปู่คออี้” ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งป่าแก่งกระจาน ขณะนั้นอายุ 101 ปี) พร้อมชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยการรื้อทำลาย เผาบ้านเรือน ยุ้งฉาง และทรัพย์สิน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 และขอสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่บรรพบุรุษป่าแก่งกระจาน
ด้วยเมื่อวันที่ 5-9 พฤษภาคม 2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้เข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบริเวณตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กว่า 20 ครอบครัว จนได้รับความเสียหายแก่สิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สิน โดยมีบ้านพักอาศัย และยุ้งฉาง ถูกจุดไฟเผาราว 100 หลัง ตาม“โครงการขยายผลการอพยพ ผลักดัน/จับกุม ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแนวชายแดนไทยพม่า” มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยุทธการตะนาวศรี”
นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่เรียกตัวเองว่า “ปกาเกอะญอ” (จกอว์ หรือสกอว์) มี “อัตลักษณ์ชาติพันธุ์” เป็นของตัวเอง ตั้งรกรากถิ่นฐานบนพื้นที่สูงบริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบางกลอย ที่ “บ้านบางกลอยบน” ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มาเป็นเวลานานกว่า 100 ปีนับแต่ครั้งบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคน ประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียนอย่างพอเพียง ซึ่งได้รับการวิจัยและพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับจากนักวิชาการทางด้านเกษตรศาสตร์ วนศาสตร์ นิเวศวิทยา และมานุษยวิทยานิเวศ แล้วว่า เป็นการทำไร่เชิงคุณภาพที่รักษาสมดุลของธรรมชาติ
นายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ในฐานะผู้ฟ้องคดี จึงได้นำคดีมาสู่ศาลปกครองกลาง เพื่อยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ในฐานะหน่วยงานซึ่งกำกับดูแลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะเหตุที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ละทิ้ง/ ออกจากบ้านเรือนที่อาศัยอยู่มาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย-บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการออกคำสั่งโดยมีความผิดพลาดในข้อเท็จจริง (l’erreur de fait)
นายชัยัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติและกฎหมายทะเบียนราษฎรของ ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน รวมถึงไม่ตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนดั้งเดิมเสียก่อน โดยกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน เป็น “ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน” ทั้งยังรื้อ เผา ทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการทางปกครอง การกระทำทางปกครองที่ขัดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และขัดต่อหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
ทั้งยังเป็นการใช้ดุลพินิจของฝ่ายปกครองที่ขัดต่อหลักกฎหมายปกครอง เพราะตามข้อเท็จจริงเห็นได้ชัดว่ามีมาตรการที่เหมาะสมอยู่หลายมาตรการ แต่มาตรการที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในฐานะฝ่ายปกครอง เลือกที่จะเผาทำลายบ้านและทรัพย์สินของชาวบ้าน มิใช่มาตรการที่มีความรุนแรงน้อยที่สุดแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีมาตรการอื่นๆ ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักกฎหมายปกครองมากกว่า คือ การยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม, การเพิกถอนพื้นที่ที่รับประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้อนุรักษ์ ป่าสงวน ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ได้อยู่อาศัยดำเนินชีวิตและใช้ประโยชน์ที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานานหรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมายหรือนโยบายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว
การกระทำของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน และชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ทำให้ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่ทำกิน และสูญเสียอัตลักษณ์ชาติพันธุ์และศักยภาพในการสืบทอดวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมซึ่งเป็นวิถีที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียงตามรัฐธรรมนูญ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 หน่วยงาน ชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,533,090 บาทและขอสิทธิในการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษ โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ศาลได้มีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหก และมีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555
ศาลได้นัดไต่สวนผู้ฟ้องคดีทั้งหกในวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 นี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งวันนัดดังกล่าวเป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีอย่างรอบด้าน ดังนั้น การมาขึ้นศาลในครั้งนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกจะได้นำเสนอข้อมูลต่างๆ ต่อศาล ทั้งความเสียหาย วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ภายหลังจากที่ต้องสูญเสียที่อยู่อาศัย ทรัพย์สิน พื้นที่ทำกิน และสิ่งสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งคือการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งหกรวมทั้งชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ไม่สามารถสืบทอดอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมของชาวกะเหรี่ยงต่อไปได้