[:th]CrCF Logo[:]
คำสั่งแก้ไข ระเบียบตำรวจ

เปิดคำสั่งแก้ไข ระเบียบตำรวจ การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพ

Share

คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ที่ ๘๕๕ / ๒๕๔๘
เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพ
ต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์
——————————-
 
ด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายที่จะกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ การอนุญาตให้ใช้สถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ หรือยานพาหนะในการถ่ายทำภาพยนตร์ ละคร โฆษณาหรือบันทึกภาพนิ่ง ให้ทุกหน่วยงาน และข้าราชการตำรวจมีมาตรฐานการปฏิบัติเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ผลการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้อย่างถูกต้องตรงกัน ธำรงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชนในการให้ความร่วมมือกับข้าราชการตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงให้ปฏิบัติดังนี้
 
๑. การให้ข่าว แถลงข่าว และให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
 
๑.๑ ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข่าว แถลงข่าว และให้สัมภาษณ์
 
๑.๑.๑ ให้หัวหน้าหน่วยงานระดับสถานีตำรวจ แผนก งาน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเฉพาะ และผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง เฉพาะงานในหน้าที่รับผิดชอบหรือที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
 
กรณีที่ปรากฏมีข่าวในทางลบเกี่ยวกับหน่วยงานใด ให้เป็นดุลยพินิจของผู้มีหน้าที่ตามวรรคแรกเท่านั้นเป็นผู้พิจารณารายงานชี้แจงหรือชี้แจงข่าวนั้น ซึ่งรวมถึงการให้สัมภาษณ์หรือการไปร่วมรายการทางวิทยุหรือโทรทัศน์หรือการชี้แจงทางสื่ออื่น ๆ ด้วย
 
๑.๑.๒ ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าข้าราชการตำรวจตามข้อ ๑.๑.๑ หากประสงค์จะเป็นผู้ให้ข่าว แถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ให้ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงผู้บังคับการต้นสังกัด หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาที่ยังไม่ถึงที่สุด ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ข้าราชการตำรวจตามข้อ ๑.๑.๑ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
 
๑.๑.๓ กรณีที่ข้าราชการตำรวจระดับต่ำกว่าผู้บังคับการ ประสงค์จะให้สัมภาษณ์เป็นพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ หรือเข้าร่วมรายการต่างๆ ที่มีการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง เกี่ยวกับการให้ความรู้ ชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็นหรือการดำเนินการอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกันนอกเหนือ การดำเนินการตามข้อ ๑.๑.๑ ให้ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงผู้บังคับการ
 
๑.๒ แนวทางการปฏิบัติในการให้ข่าว แถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง
 
๑.๒.๑ ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้ข่าว แถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ต้องปฏิบัติภายในขอบเขต อำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ควรระมัดระวังถ้อยคำ หรือกิริยาท่าทาง อันจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น และควรใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางเพื่อไม่ให้เป็นการประจาน ดูหมิ่นเหยียดหยามผู้อื่น
 
๑.๒.๒ การให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ ให้ปฏิบัติตามประมวลระเบียบ การตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ ๓๐ รวมถึงห้ามให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้
 
๑.๒.๒.๑ เรื่องที่มีผลกระทบต่อการรักษาความปลอดภัยของ ประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
๑.๒.๒.๒ เรื่องหรือข้อความที่จะทำให้เกิดการเสียหายแก่ทางราชการ
๑.๒.๒.๓ เรื่องที่เกี่ยวกับคำสั่งให้ปฏิบัติในหน้าที่อันเป็นระเบียบการ ภายใน และคำสั่งหรือระเบียบการใด ๆ ที่ถือว่าเป็นความลับ
๑.๒.๒.๔ เรื่องที่จะเกิดการเสียหายทางชื่อเสียงหรือผลประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ความผิดฐานหมิ่นประมาท และเรื่องอื่นๆ ในลักษณะทำนองเดียวกัน
๑.๒.๒.๕ เรื่องที่อาจส่งผลกระทบหรือเสียหายต่อคดี โดยเฉพาะคดีที่อยู่ในระหว่างการสืบสวนหรือสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เช่น การเปิดเผยเกี่ยวกับเทคนิควิธีการปฏิบัติงานที่ควรปกปิดเป็นความลับ แนวทางการสืบสวนสอบสวน การจับกุม ตรวจค้น และการรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ในทุกขั้นตอน เป็นต้น
๑.๒.๒.๖ เหตุการณ์หรือเรื่องราวที่ไม่เหมาะสม ซึ่งถ้าหากเปิดเผยต่อประชาชนอาจเป็นแบบที่บุคคลอื่นจะถือเอาเป็นตัวอย่างในการกระทำขึ้นอีก เช่น แผนประทุษกรรมต่าง ๆ ของ คนร้าย หรือการที่แสดงถึงการฉ้อโกง การกระทำอัตวินิบาตกรรม และวิธีการอันชั่วร้ายอื่น ๆ 
๑.๒.๓ การให้สัมภาษณ์ โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นผู้ทำการสัมภาษณ์ในลักษณะเป็นคนกลาง ห้ามข้าราชการตำรวจตอบโต้กับฝ่ายผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือบุคคลใด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ
๑.๒.๔ ห้ามนำหรือจัดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาให้ข่าวแถลงข่าวหรือ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ให้ขออนุญาตต่อผู้บัญชาการ
ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ห้ามนำผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ พระภิกษุสามเณร นักพรต นักบวช ผู้เสียหายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มาให้ข่าวแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นอันขาด รวมตลอดถึงการชี้ตัวผู้ต้องหาในลักษณะที่เป็นการเผชิญหน้าต่อสื่อมวลชนทุกแขนง
๑.๒.๕ เพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นประโยชน์ในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทุกแขนง และให้ประชาชนได้รับทราบข่าวที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความจริง ควรจัดเตรียมเอกสารข่าวประกอบการ แถลงข่าว โดยเอกสารข่าวนั้นต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้องในคดี และรูปคดี
๑.๒.๖ เรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายของแต่ละหน่วยให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยระดับกองบัญชาการ หรือเทียบเท่า หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้นที่จะเป็นผู้ให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์
๑.๒.๗ กรณีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงหรือสถานการณ์วิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและภยันตรายของประชาชนให้ถือปฏิบัติในการให้ข่าว แถลงข่าว ให้สัมภาษณ์ หรือประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ 
 
๒. การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน
เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ป้องกันภยันตรายมิให้เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่ให้มีภาพที่ไม่เหมาะสมถูกนำออกเผยแพร่ทางสื่อมวลชนทุกแขนง อันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น จึงให้ปฏิบัติดังนี้
 
๒.๑ ห้ามนำสื่อมวลชนทุกแขนงไปทำข่าวหรือถ่ายภาพ ในขณะเข้าปฏิบัติการตรวจค้น จับกุม
๒.๒ ห้ามเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน หรือพนักงานสอบสวน อนุญาต หรือจัดให้สื่อมวลชน ทุกแขนงถ่ายภาพในห้องสืบสวน หรือห้องสอบสวน ในขณะทำการสืบสวนสอบสวน เว้นแต่เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน หรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดี
๒.๓ ห้ามอนุญาต หรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวของ ผู้ต้องหา หรือผู้ต้องกักขัง ในระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจทั้งภายใน และภายนอกที่ทำการ หรือ สถานีตำรวจ เว้นแต่พนักงานสอบสวนดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดี
๒.๔ ห้ามจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าทำข่าว ขณะเมื่อมีการให้ผู้ต้องหานำพนักงาน สอบสวนไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ และหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ใด ๆ ในลักษณะเป็นการโต้ตอบระหว่างพนักงานสอบสวนกับผู้ต้องหา หรือบุคคลใด โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นผู้สัมภาษณ์เนื่องจากอาจเป็นเหตุให้รูปคดีเสียหาย
พนักงานสอบสวนไม่ควรให้ผู้ต้องหานำไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพว่า ผู้ต้องหากระทำผิดอย่างไร เพราะการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่จะนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหา เพื่อให้เห็นว่าผู้ต้องหากระทำผิดตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๖๒/๒๕๓๗ แต่ถ้าเป็นการนำชี้ประกอบคำรับอื่น เช่น นำชี้จุดที่ซ่อนทรัพย์สินซึ่งได้มาจากการกระทำผิด สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ได้ใช้ หรือจะใช้ในการกระทำผิด หรือสงสัยว่าจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐาน ให้ผู้ต้องหานำชี้ได้และป้องกันมิให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปในที่นำชี้ ให้พึงระมัดระวังการใช้ถ้อยคำ หรือกิริยาท่าทางที่เห็นว่าเป็นการข่มขู่ หรือการปฏิบัติที่ไม่สมควรแก่ผู้ต้องหา รวมทั้งการทำร้ายร่ายกายผู้ต้องหา
 
ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ห้ามเจ้าพนักงานนำผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ เพราะจะเป็นการประจานเด็ก และอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก นอกจากนี้ห้ามนำผู้เสียหาย พยาน เข้าร่วมในการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของผู้ต้องหาเป็นอันขาด โดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นเด็ก สตรี พระภิกษุสามเณร นักพรต นักบวช
 
๓. การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ
๓.๑ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู พ.ศ. ๒๕๔๗
๓.๒ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางเว็บไซต์ของหน่วยงานให้ปฏิบัติตามหนังสือสำนักงานแผนงานและงบประมาณ ที่ ๐๐๐๗.๕๓/๑๙๘๙ ลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เรื่อง การจัดทำและบริหารระบบอินเทอร์เน็ตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 
๔. การอนุญาตให้ใช้สถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ หรือยานพาหนะของทางราชการ
การอนุญาตให้ใช้สถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ หรือยานพาหนะของสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ เข้าร่วมหรือประกอบฉากถ่ายทำ ภาพยนตร์ ละคร โฆษณา หรือบันทึกภาพนิ่ง เพื่อเผยแพร่ภาพทาง สื่อมวลชนทุกแขนง ให้ผู้ขออนุญาตยื่นเรื่อง พร้อมบท (script) และเนื้อหาที่จะนำเสนอต่อหัวหน้าหน่วยงานที่ได้รับการร้องขอ แล้วให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณามีความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงผู้บังคับการต้นสังกัด ยกเว้นอุปกรณ์ หรือยานพาหนะใดที่ระเบียบกำหนดไว้ ให้ขอนุญาตผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปก็ให้ดำเนินการตามระเบียบนั้น 
 
ให้ผู้บังคับการ พิจารณาบท (script) และเนื้อหา ในการอนุญาต โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการ และภาพลักษณ์ที่ดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นสำคัญ
เมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้หัวหน้าหน่วยงานที่ได้รับการร้องขอ เป็นผู้ดูแลสถานที่ อุปกรณ์และยานพาหนะ ของทางราชการมิให้เกิดความเสียหาย
 
๕. การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์
หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีความประสงค์จะว่าจ้างหรือขอความ ร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ใด ๆ ให้หน่วยงานนั้นตั้งคณะทำงานพิจารณาตรวจสอบการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ก่อนนำออกเผยแพร่ เกี่ยวกับรายละเอียดและเนื้อหาในการนำเสนอว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 
หากการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง มีการสัมภาษณ์ ข้าราชการตำรวจ หรือใช้สถานที่ อุปกรณ์ หรือยานพาหนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการถ่ายทำให้หน่วยงานผู้ว่าจ้าง หรือขอความร่วมมือ ดำเนินการตามข้อ ๑ หรือ ๔ แล้วแต่กรณี
 
๖. การกำกับดูแลและการควบคุมการปฏิบัติ
๖.๑ หากพบการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน การอนุญาตให้ใช้สถานที่ บุคลากร อุปกรณ์ หรือยานพาหนะของทางราชการ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ให้กองสารนิเทศ หรือผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือที่ตรวจพบ แจ้งข้าราชการตำรวจผู้นั้นยกเลิกการกระทำดังกล่าว หรืออาจจะมีข้อเสนอแนะในทางที่เหมาะสมด้วย ก็ได้
๖.๒ หากพบข้าราชการตำรวจผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามนัยคำสั่งนี้ ให้ผู้บังคับบัญชา ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัย และหากผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือตรวจพบว่า ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดละเลย ไม่ดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน ให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยเหนือที่ตรวจพบพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับผู้บังคับบัญชา ต้นสังกัดนั้นด้วย
๖.๓ ให้กองสารนิเทศเป็นเจ้าของเรื่องตามคำสั่งนี้ หากพบว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนให้ รายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาสั่งการต่อไป
 
๗. ให้ยกเลิกหนังสือดังต่อไปนี้
๗.๑ หนังสือกรมตำรวจ ที่ ๐๖๐๑(ป)/๒๗๓ ลงวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ เรื่องกำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว ให้สัมภาษณ์หรือแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน
๗.๒ หนังสือกรมตำรวจ ที่ ๐๖๒๕.๒๓/ ๑๑๔๑๒ ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๐ เรื่องกำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับให้ข่าว การแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
๗.๓ หนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด่วนมาก ที่ ๐๐๐๗.๒๓/๗๐๓๓ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๒ เรื่อง กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการกับผู้ต้องหาในการแถลงข่าวหรือเผยแพร่ข่าวต่อสื่อมวลชน
๗.๔ หนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๐๐๐๒.๖๒/๓๓๕ ลงวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๓ เรื่อง กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการกับผู้เสียหายในการแถลงข่าวหรือเผยแพร่ข่าว
๗.๕ หนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด่วนมาก ที่ ๐๐๒๕.๔๓/๖๔๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๓ เรื่อง กำหนดแนวทางในการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนเสนอข่าวพาดพิง
๗.๖ หนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๐๐๒๕.๔๓/๒๐๒ ลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ เรื่อง กำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ หรือเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน
๗.๗ หนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๐๐๐๖.๔๒/๑๔๒๒ ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เรื่อง กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน
๗.๘ หนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๐๐๒๕.๔๓/๔๙๘๖ ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๕ เรื่อง กำหนดแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ หรือเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน
๗.๙ หนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๐๐๐๗.๒๓/๑๐๒๑๒ ลงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๗ เรื่อง กำชับแนวทางการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุที่มีข้าราชการตำรวจเกี่ยวข้อง เฉพาะข้อ ๔ 
บรรดา หนังสือ หรือคำสั่งใดที่ขัด หรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามนัยคำสั่งนี้แทน
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘
พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ (โกวิท วัฒนะ) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
 
คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ที่ 465/2550
เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน
และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์
(แก้ไขเพิ่มเติม)
 
ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 855/2548 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ไว้แล้ว นั้น
 
เนื่องจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือ ที่ นร 0107/ว 782 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติตามข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพื่อคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล สิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว ทั้งนี้ โดยให้พิจารณาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 855/2548 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ครั้งที่ 1/2549
 
ดังนั้น จึงให้ยกเลิกความในข้อ 2.3 ของคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 855/2548 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
 
“2.3 ห้ามอนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนงถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวของบุคคลดังต่อไปนี้
2.3.1 ผู้ต้องหา ในระหว่างการควบคุมของตำรวจทั้งภายในและภายนอกที่ทำการหรือสถานีตำรวจ
2.3.2 เหยื่ออาชญากรรม รวมทั้งภาพที่มีลักษณะอุจาดหรือทารุณโหดร้าย หรือล่วงละเมิดสิทธิบุคคล หรือส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เว้นแต่พนักงานสอบสวนดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดี หรือได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหา เหยื่ออาชญากรรมหรือผู้เสียหาย”
บรรดาหนังสือ หรือคำสั่งใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งนี้แทน
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
สั่ง ณ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2550
 
พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
(เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส)
รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [162.00 B]

RELATED ARTICLES