[:th]CrCF Logo[:]

รอยแผลบนดวงจันทร์ กระบวนการยุติธรรมต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 คดีความมั่นคง

Share

เรื่องราวจากประสบการณ์จริงของเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ในห้องซักถามนั้น เจ้าหน้าที่ให้ข้าฯ นั่งเก้าอี้ และเจ้าหน้าที่เดินไปมาระหว่างซักถาม เจ้าหน้าที่ซักถามข้าฯ ว่า ใครวางระเบิด ใครสั่ง ข้าฯ ก็ตอบว่าไม่รู้ แล้วเจ้าหน้าที่ก็ใช้กำปั้นทุบหลังข้าฯ 3-4 ครั้งระหว่างซักถามอีก ทั้งเอามีดยาวประมาณ 10 นิ้ว จี้ที่คอข้าฯ และเจ้าหน้าที่ถีบเก้าอี้ข้าฯ จนล้มทั้งข้าฯ และเก้าอี้ ”

“เจ้าหน้าที่ให้ข้าฯ อยู่ในห้องที่ทำด้วยไม้ ต้องนอนพื้น ไม่มีหมอน และไม่มีผ้าห่ม”

นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของคำให้การของเด็กที่ถูกจับกุมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทีมวิจัยหัวข้อ “ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชน กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนที่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” บันทึกเอาไว้ในหนังสือที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ “รอยแผลบนดวงจันทร์” ซึ่งเป็นงานที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จับมือกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ทำวิจัยร่วมกัน งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการบันทึกข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากปากคำของเด็กที่ถูกจับกุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกดำเนินการตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 (กฎอัยการศึก) พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พรก.ฉุกเฉิน) และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า พรบ.ความมั่นคง

งานวิจัยที่รวบรวมกรณีศึกษาเด็กและเยาวชนที่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ชิ้นนี้ ได้รวบรวมและสัมภาษณ์เด็กที่ถูกจับกุมตัวโดยตรง ไว้ 36 กรณี แต่เมื่อนำมาบอกเล่าเป็นเรื่องราวสู่สาธารณะในหนังสือ “รอยแผลบนดวงจันทร์” ผู้เขียนได้หยิบยกมาเฉพาะบางกรณี ใช้วิธีบอกเล่าเรื่องราวซึ่งก็คือประสบการณ์ตรงของเด็กๆที่ถูกจับโดยผ่านบุคคลในนามสมมุติสี่คนคือ จันทรา เมฆา ภูผา และวาโย ประสบการณ์ของพวกเขาคือการที่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ ซักถาม จับกุม คุมขัง และถูกทำร้ายร่างกาย ไม่ต่างไปจากคนทั่วไปแม้พวกเขาจะเป็นเยาวชนก็ตาม

ตอนหนึ่งของเรื่องเล่าของจันทราและเพื่อน

“ วันนั้นผมนอนอยู่ในบ้าน พอได้ยินเสียงปืนก็ลุกขึ้นมา เอ๊ะ เสียงอะไร จะออกไปดูก็เห็นทหารเต็มนอกบ้าน เขายืนอยู่แล้วก็บอกให้เราออกไป ถ้าไม่ออกเขาจะยิง เขาเรียกทุกคนในหมู่บ้านออกไปให้รวมตัวอยู่ในนา เขาเรียกผมแล้วก็ถามว่า ใครหนี ตอนที่เจ้าหน้าที่ยิงเมื่อกี้ ผมบอกว่าไม่รู้ แล้วเขาก็เตะอย่างเดียวเลย แล้วก็เอาด้ามปืนตีท้ายทอย ”

จันทราเล่าถึงวิธีการที่ถูกทำร้ายหลายรูปแบบ ถูกเอาใส่ลงไปในถังเหล็กแล้วก็เผาไฟรอบ ๆ ถัง ถูกจับกดน้ำ ถูกไฟลน

“ผมรู้สึกเจ็บใจที่เขาทำกับผมแบบนั้น ทำไมเขาไม่แยกแยะอะไรผิด อะไรถูก ผมอยากให้เขาคิดก่อนจะทำอะไร ”

ภูผา ตัวละครอีกตัวเล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้ประสบ วันนั้นมีเหตุการณ์ระเบิดเกิดขึ้น พี่ชายเขาถูกจับใกล้ ๆ กับที่เกิดเหตุและตกเป็นผู้ต้องสงสัยวางระเบิด ตัวเขาเองเจ้าหน้าที่ก็คิดว่าคงมีส่วนร่วมกับการก่อเหตุครั้งนั้นด้วย เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นที่บ้านแต่ก็ไม่พบอะไร แล้วเจ้าหน้าที่ก็ควบคุมตัวภูผาไปที่หน่วยเฉพาะกิจย่อย

“ภูผาบอกว่า เจ้าหน้าที่บอกให้เค้ารับสารภาพว่าเป็นคนดูต้นทางเพื่อให้คนร้ายวางระเบิด เจ้าหน้าที่พูดข่มขู่เสียงดัง แต่เขาปฏิเสธ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่จะเตะ จะต่อย หรือทำร้ายร่างกายอย่างไร ภูผาก็ยืนกรานที่จะปฏิเสธ และทุกครั้งที่เขาเอ่ยว่า ผมไม่ได้ทำ ผมไม่รับสารภาพ เขาก็จะถูกทำร้ายร่างกายซ้ำแล้วซ้ำอีก ”

รอยแผลบนดวงจันทร์ ไม่ได้บอกเล่าแค่เรื่องราวของเด็กๆที่ถูกจับกุม ซักถาม และถูกซ้อมเท่านั้น หากแต่ได้ตั้งคำถามไกลไปถึงประเด็นของการที่สังคมควรจะต้องปกป้องดูแลเยาวชน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะทำผิดก็ตาม และภายใต้กฎหมายที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เยาวชนที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต้องได้รับการคุ้มครองในฐานะที่พวกเขายังไม่บรรลุนิติภาวะ ความยั้งคิดอาจไม่เท่าเทียมกับผู้ใหญ่ สังคมทั่วไปจึงต้องปกป้องคุ้มครองเยาวชนให้มาก อย่างยูฮานี เจ๊ะกา เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และอยู่ในทีมรายงานวิจัยทิ้งความเนไว้ให้สังคมได้ฉุกคิดว่า ถึงแม้เด็กจะทำผิดจริง แต่การกระทำความผิดนั้น สังคมควรจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่ อาจจะต้องถามตัวเองว่ามีช่องโหว่หรืออะไรบางอย่างที่ทำให้เด็กเป็นเช่นนั้น

บทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้บอกเราว่า กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ.การรักษาความมั่นคงฯ ที่บังคับใช้อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นเครื่องมือที่ส่งผลให้เกิดการลิดรอนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของเยาวชนเหล่านี้และด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดกฎเกณฑ์เฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชนที่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายความมั่นคง กระบวนการดำเนินการตามกฎหมายเหล่านี้ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนโดยทั่วไป ตลอดจนเรื่องที่การใช้อำนาจของฝ่ายเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

สิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นก็คือการใช้กฎหมายพิเศษเพื่อการนำตัวบุคคลเข้าสู่กระบวนการซักถามพิเศษ ซึ่งภายใต้การซักถามอันนี้เองที่ทำให้ผู้คนที่ถูกนำตัวไปสอบถามนั้นอาจถูกซ้อมทรมาน เยาวชนที่ถูกนำตัวไปซักถามก็มีโอกาสพบสิ่งเหล่านี้ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง เคยมีการนำคำสารภาพที่ได้จากการซักถามแบบนี้ไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินคดี แม้ว่าจะมีการผ่องถ่ายกระบวนการทำงานจากเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่งที่ใช้อำนาจตามกฏหมายพิเศษไปสู่เจ้าหน้าที่อีกกลุ่มที่ใช้อำนาจตามกฏหมายทั่วไป แต่ในระยะหลังมีการตั้งคำถามค่อนข้างมากกับคำสารภาพที่ได้มาด้วยวิธีการเช่นนี้ เช่น ธีรยุทธ เบญจเดชา ทนายความสำนักงานกฎหมายอดิลแอนด์พีช ได้ตอกย้ำสิ่งที่นักกฎหมายในพื้นที่หลายคนได้กล่าวเอาไว้ นั่นคือในทางกฎหมาย คำสารภาพที่ได้มาด้วยวิธีการนี้เชื่อถือไม่ได้ ยิ่งในกรณีที่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กศาลพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ในบางกรณีแม้เด็กจะรับสารภาพจริงแต่ศาลก็ยังต้องพิจารณาเงื่อนไขแวดล้อมประกอบการสารภาพอันนั้น คำสารภาพที่ได้โดยเฉพาะที่มาจากการสอบปากคำผสมการซ้อมทรมานให้ประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่น้อยมาก นั่นทำให้มีการตั้งคำถามถึงประโยชน์ของการบังคับใช้กฏหมายพิเศษว่าได้ประโยชน์มากอย่างที่คิดจริงหรือ

หนังสือบรรจุรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้ทั้งสามฉบับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้มาตรการปิดล้อม ตรวจค้น การจับกุม กักตัวบุคคล ในภาคผนวกตอนท้ายของหนังสือ ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจจากบทสัมภาษณ์บุคคลหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งทีมคนทำวิจัย และทนายความ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร เช่นพลตรีอัคร ทิพย์โรจน์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เอาไว้จากมุมมองของเจ้าหน้าที่

“การที่จะให้เจ้าหน้าที่ทหารรักษากฎหมายได้ ก็จำเป็นต้องมีกฎหมายมารองรับ ดังนั้นเขาจึงประกาศใช้กฎอัยการศึก และได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สามารถทำการปิดล้อม ตรวจค้น จับยึด ทำลาย หรือห้ามได้โดยไม่ต้องมีหมายเรียก หมายจับ หรือหมายศาล ได้ในทันทีทันใด ”

ผลพวงของการใช้กฎหมายพิเศษที่กระทบไปถึงชีวิตของผู้คนทั่วไปจึงดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ตระหนัก ดังที่พลตรีอัครเองก็เปรียบเทียบไว้ว่ากฎหมายพิเศษก็เหมือนกับการรักษาพยาบาลเบื้องต้น เมื่อเกิดบาดแผลก็จำต้องทำความสะอาดแผล การทำความสะอาดอันนั้นย่อมทำให้เกิดอาการแสบคันในช่วงต้น แต่เมื่อเย็บปิดสมานแผลแล้ว ในที่สุดมันก็จะหายไป

คำถามก็คือ บาดแผลเช่นว่านั้น อันเป็นบาดแผลที่คนได้รับรู้สึกว่ามาจากการ “ถูกกระทำ” มันจะหายไปได้ง่ายๆเช่นนั้นจริงหรือ และบาดแผลอันนี้ไม่ได้เกิดกับคนแค่หนึ่งหรือสองคนเท่านั้นในพื้นที่ แต่เกิดกับทั้งเด็กและผู้ใหญ่จำนวนไม่ใช่น้อย สังคมที่มีคนบาดเจ็บมากมายจะมีพลังงานเหลือในการซ่อมแซมและเยียวยาตัวเองได้อย่างไร และในเมื่อเยาวชนในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า หากพวกเขาต้องพกพาความเจ็บแค้นติดตัวไปตลอดการเดินทางในชีวิตของพวกเขา สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันนี้จะมิกลายเป็นว่า การใช้อำนาจพิเศษเหล่านี้นั้น อีกนัยหนึ่งก็คือเรากำลังช่วยเติมพลังให้กับกระบวนการที่ใช้ความรุนแรงอยู่หรือมิใช่

อ้างอิง: contentdiy.wordpress.com