เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (Migrants Working Group)
เผยแพร่วันที่ 15 มีนาคม 2557
แถลงการณ์ ต่อกรณีการควบคุมตัวชาวมุสลิมไม่ปรากฏสัญชาติจำนวนกว่า 200 คน
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภาค 6 จังหวัดสงขลา ได้เข้าควบคุมตัวชาวมุสลิม ไม่ปรากฏสัญชาติ จำนวน 213 คน ซึ่งหลบพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสวนยาง จังหวัดสงขลา จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการคัดแยกกลุ่มบุคคลดังกล่าวแล้ว พบว่า มีผู้หญิง 60 คน ผู้ชาย 73 คน และเด็ก 80 คนและข้อมูลจากไทยโพสต์ออนไลน์ วันที่ 14 มีนาคม 2557 รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่จากสถานฑูตตุรกีได้ลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ากลุ่มคนดังกล่าวจะเป็นชาวตุรกีหรือไม่ อีกทั้งยังมีข้อสันนิษฐานว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวอาจหนีภัยประหัตประหาร และต้องการคุ้มครองหรือสถานะผู้ลี้ภัย ปัจจุบันผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ไทย
จากข้อมูลดังกล่าวทางเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ขอแสดงความชื่นชมเจ้าหน้าที่จากหน่วยต่างๆ ของรัฐไทยในการเข้าให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่กลุ่มสตรีและเด็กการให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น รวมทั้งการเอื้ออำนวยให้ประชาชนและองค์กรการกุศลเข้าให้ความช่วยเหลือ แต่อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯและองค์กรท้ายแถลงการณ์นี้ ยังมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์การเข้ามาของชาวมุสลิมกลุ่มดังกล่าว และขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยพิจารณาต่อข้อเสนอดังต่อไปนี้
1.ขอให้รัฐบาลไทยสนับสนุนให้ เจ้าหน้าที่จากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติ สามารถปฎิบัติหน้าที่ในการสัมภาษณ์ชาวมุสลิมกลุ่มดังกล่าว อย่างเป็นอิสระ เพื่อพิสูจน์สถานะบุคคลและความต้องการของกลุ่มชาวมุสลิมตามกรอบหน้าที่ รวมทั้งสนับสนุนให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรภาคประชาชนจากหน่วยต่างๆ สามารถเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรม
2. ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาหลักการตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และข้อที่ 3 แห่งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในการยุตินโยบายการผลักดันชาวมุสลิม หากพิสูจน์ทราบได้ว่าชาวมุสลิมกลุ่มดังกล่าวนี้เป็นผู้หนีภัยประหัตประหารไม่ว่าจากประเทศใดก็ตาม หรือหากมีการส่งกลุ่มคนดังกล่าวนี้กลับไปอาจเสี่ยงต่อการถูกประหัตประหารและการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจต้องเผชิญกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศต้นทาง
3. ในระหว่างการดูแลและให้ที่พักพิงแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวในสถานที่ต่าง ๆ นี้ ขอให้หน่วยงาน เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อชาวมุสลิมที่ไม่ปรากฎสัญชาตินี้ ในฐานะผู้นับถือศาสนาอิสลามโดยสามารถปฏิบัติศาสนกิจและมีอาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนา เอื้ออำนวยให้เข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงสภาวะความเป็นผู้หญิงและเด็ก สภาพการเจ็บป่วย รวมทั้งห้ามมิให้มีการพันธนาการใด
4. ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างจริงจังต่อผู้กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 รวมทั้งให้มีการรณรงค์ให้ยุติการค้ามนุษย์ในประเทศไทยสำหรับกรณีของชาวมุสลิมที่ไม่ปรากฎสัญชาติทั้ง 200 คน นี้ให้ตกเป็นเหยื่อในสถานการณ์นี้ ต่อไป
5. ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการหารืออย่างเร่งด่วนกับประเทศสมาชิกแห่งประชาคมอาเซียน เพื่อร่วมกันหาทางออกร่วมกันในภูมิภาค อันเป็นหลักการร่วมกันที่รัฐสมาชิกอาเซียนต่างมุ่งหวังที่จะเห็นสันติภาพ ความมั่นคง ปลอดภัยและเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- เครือข่ายประชากรข้ามชาติ (Migrants Working Group)
- สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
- มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
- สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (stateless watch)
- มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Prorights Foundation)
- มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
- สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน