(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ โดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม)
INTERNATIONAL CONVENTION FOR THE PROTECTION OF ALL PERSONS FROM ENFORCED DISAPPEARANCE
อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้หายสาปสูญ
อารัมภบท
รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯฉบับนี้
พิจารณาจากพันธกรณีภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ ในอันที่จะส่งเสริมการยอมรับนับถือ และการยึดถือปฎิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
เคารพในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
รำลึกถึง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง และตราสารอื่นๆระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม และกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ
ระลึกถึงปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้หายสาปสูญ ที่ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ สมัยสามัญ ตามข้อมติที่ 47/133 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1992
ตระหนักถึงความร้ายแรงของ การบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ ซึ่งตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศในบางสถานการณ์ ถือว่าเป็นอาชญกรรมต่อมวลมนุษยชาติ
ตัดสินใจที่จะป้องกันไม่ให้บุคคลถูกบังคับให้หายสาปสูญ และต่อต้านไม่ให้อาชญากรรมบังคับให้บุคคลหายสาปสูญอยู่เหนือกฏหมาย
พิจารณาถึงสิทธิของบุคคลที่จะไม่ถูกบังคับให้หายสาปสูญ สิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อที่จะได้รับความยุติธรรมและการชดเชยแก้ไข
ยืนยันถึงสิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อที่จะได้รับรู้ความเป็นจริงเกี่ยวกับสภาพการที่บุคคลถูกบังคับให้หายสาปสูญ และชะตากรรมของผู้ที่ถูกบังคับให้หายสาปสูญ และสิทธิเสรีภาพในการค้นหา ได้รับ และถ่ายทอดข้อมูลโดยตลอดจนกระทั่งถึงที่สุด
จึงได้ตกลงกันดังต่อไปนี้
ภาค 1
ข้อ 1
บุคคลใดๆจะถูกบังคับให้หายสาปสูญมิได้
จะไม่มีข้อยกเว้นใดๆเลย แม้แต่ในสภาวะสงคราม หรือภัยคุกคามของสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆที่อาจเกิดขึ้น ที่จะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อความชอบธรรมในการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญได้
ข้อ 2
เพื่อวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้ ให้ถือว่าการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญได้แก่ การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใดในการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพ ที่กระทำโดยตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำไปโดยการให้อำนาจ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และโดยที่รัฐปฎิเสธที่จะรับทราบว่ามีการทำให้สูญเสียเสรีภาพนั้น หรือโดยปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่อยู่ของผู้หายสาปสูญดังกล่าว โดยที่สถานที่อยู่ของบุคคลผู้หายสาปสูญนั้น กฎหมายไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้
ข้อ 3
แต่ละรัฐภาคีจะต้องใช้มาตราการที่เหมาะสมในการสืบสวนสอบสวนการกระทำตามที่ได้ให้นิยามไว้ใน ข้อ 2 ที่กระทำโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่กระทำโดยปราศจากอำนาจ โดยการสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และต้องนำผู้ที่รับผิดชอบมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
ข้อ 4
แต่ละรัฐภาคีจะต้องใช้มาตราการที่จำเป็นเพื่อประกันว่า การบังคับให้บุคคลหายสาปสูญเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายของประเทศตน
ข้อ 5
การบังคับให้บุคคลหายสาปสูญไปอย่างกว้างขวางหรือโดยการปฏิบัติอย่างเป็นระบบนั้น เป็นอาชญกรรมต่อมวลมนุษยชาติ ตามที่นิยามไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ และจะต้องให้ได้รับผลตามที่กฎหมายระหว่างประเทศเหล่านั้นกำหนด
ข้อ 6
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องดำเนินมาตราการที่จำเป็นที่จะให้มีความรับผิดทางอาญา อย่างน้อยที่สุดในกรณีดังต่อไปนี้
(ก) บุคคลใดที่กระทำ สั่งการ ร้องขอ หรือชักจูงให้มีการกระทำ หรือพยายามกระทำ ถือว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดหรือเป็นผู้ร่วมในการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ
(ข) ผู้บังคับบัญชาที่รู้ หรือทำเป็นไม่รับรู้ถึงข้อมูลที่ชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ภายใต้อำนาจสั่งการหรืออำนาจควบคุมของตนได้ก่อหรือกำลังจะก่ออาชญกรรมบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ ใช้อำนาจหน้าที่รับผิดชอบหรือการควบคุมกิจกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับอาชญกรรมบังคับให้บุคคลหายสาปสูญและ ไม่ใช้มาตรการที่จำเป็นและสมควรตามอำนาจของตน เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทำให้บุคคลหายสาปสูญ หรือไม่แจ้งเรื่องแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนและฟ้องร้องดำเนินคดี
(ค) บทบัญญัติในอนุวรรค (ข) ข้างต้นนั้น จะไม่มีผลเป็นการลบล้างมาตรฐานที่สูงกว่าของความรับผิดของผู้บัญชาการทหาร หรือผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นผู้บัญชาการทหารที่มีอยู่ตามกฎหมายระหว่างประเทศ
- 2. สั่งหรือคำชี้แนะจากเจ้าหน้าที่รัฐ พลเรือน ทหาร หรือบุคคลใด ที่จะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญได้
ข้อ 7
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องทำให้ความผิดในข้อหาบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ เป็นความผิดที่มีบทลงโทษที่เหมาะสม โดยถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องจัดให้มี
(ก) การลดหย่อนผ่อนโทษ โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ แต่ได้มีส่วนนำบุคคลที่หายไปนั้นกลับคืนมาโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือทำให้เกิดความกระจ่างในคดีที่บุคคลถูกบังคับให้หายสาปสูญ หรือโดยการชี้ว่าใครเป็นผู้กระทำผิดในการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญไป
(ข) โดยที่จะไม่เป็นการลบล้างกระบวนการยุติธรรมทางอาญา การเพิ่มมาตราการโดยเฉพาะในการเสียชีวิตของบุคคลที่ถูกบังคับให้สาปสูญหรือการบังคับบุคคลให้หายสาปสูญในกรณีที่เป็นหญิงมีครรภ์ ผู้เยาว์ ผู้พิการ หรือบุคคลที่ด้อยโอกาสต่างๆ
ข้อ 8
โดยที่จะไม่เป็นการลบล้างบทบัญญัติในข้อ 5
- สำหรับรัฐภาคีที่มีกฏหมายจำกัดด้านอายุความนั้น ในเรืองการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญนี้ จะต้องใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อทำให้มั่นใจว่าข้อจำกัดด้านกระบวนการยุติธรรมนี้จะ
(ก) มีอายุความยาวนาน และเหมาะสมกับความร้ายแรงของความผิด
(ข) ให้ถือว่าเป็นการทำความเป็นความผิดต่อเนื่อง โดยให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่การบังคับให้บุคคลหายสาปสูญสิ้นสุดลงเป็นต้นไป
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องรับประกันสิทธิของผู้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ ว่าจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างมีประสิทธิผลในระหว่างอายุความนั้น
ข้อ 9
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องใช้มาตราการที่จำเป็นในการจัดให้มีระบบตุลาการที่มีเขตอำนาจ ที่สามารพิจารณาความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญได้
(ก) เมื่อความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ ได้เกิดขึ้นในดินแดนที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของตน หรือบนเรือ หรืออากาศยานที่จดทะเบียนในรัฐภาคีนั้น
(ข) เมื่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเป็นคนสัญชาติของรัฐภาคี
(ค) เมื่อบุคคลที่หายสาปสูญเป็นบุคคลสัญชาติตน และรัฐภาคีพิจารณาเห็นว่าสมควร
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นที่จะให้ศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญได้ เมื่อมีบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอยู่ในดินแดนภายภายใต้เขตอำนาจศาลของตน เว้นแต่จะได้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน หรือมอบตัวผู้ถูกกล่าวหานั้นให้แก่อีกรัฐหนึ่ง ตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ หรือมอบตัวผู้ถูกกล่าวหาให้กับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดี
- อนุสัญญาฯฉบับนี้จะไม่จำกัดกีดกัน การดำเนินเป็นคดีอาญาอื่นๆเพิ่มเติมตามกฎหมายในประเทศต่อผู้ถูกกล่าวหา
ข้อ 10
- ภายหลังจากที่มีการสอบสวนข้อมูลที่มีอยู่จนเป็นที่พอใจแล้ว ถ้ามีสถาพการที่รัฐภาคีพบว่ามีผู้ต้องสงสัยในการกระทำความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญมาปรากฎตัวอยู่ ก็ให้ควบคุมตัว หรือดำเนินมาตรการที่จำเป็นตามกฎหมาย เพื่อจะให้แน่ใจว่ามีตัวผู้กระทำผิดอยู่ การควบคุมตัวและมาตรการทางด้านกฏหมายอื่นๆให้เป็นไปตามกฏหมายของรัฐภาคีนั้น แต่ก็อาจใช้เฉพาะคราวตามความจำเป็นเพื่อที่จะให้บุคคลดังกล่าวถูกดำเนินคดี มอบตัว หรือ ถูกส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
- รัฐภาคีที่ได้ดำเนินมาตรการตามที่อ้างไว้ใน วรรค 1 ข้างต้นจะต้อง ดำเนินการสืบสวนสอบสวนขั้นต้นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน และจะต้องแจ้งรัฐภาคีที่ระบุไว้ในข้อ 9 วรรค 1 ให้ทราบถึงมาตรการที่ได้ใช้ดำเนินการตามวรรค 1 ดังกล่าว รวมทั้งสถานที่ควบคุมตัว และสภาพการของการควบคุมตัว และสิ่งที่พบจากการสืบสวนสอบสวน โดยระบุด้วยว่ามีความตั้งใจที่จะใช้อำนาจศาลของตนในการดำเนินคดีบุคคลดังกล่าวหรือไม่
- บุคคลที่ถูกควบคุมตัวตามวรรค 1 อาจจะติดต่อกับตัวแทนที่ใกล้ที่สุดของรัฐที่ตนเป็นผู้มีสัญชาติได้โดยทันที หรือถ้าตนเป็นบุคคลที่ไร้สัญชาติ ก็อาจติดต่อกับตัวแทนของรัฐที่ตามปกติตนมีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้น
ข้อ 11
- รัฐภาคีที่มีเขตอำนาจศาลเมื่อได้บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญแล้ว ถ้าไม่ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหรือมอบตัวบุคคลดังกล่าวให้กับอีกรัฐหนึ่งตามพันธกรณีระหว่างประเทศ หรือมอบบุคคลนั้นให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับว่ามีเขตอำนาจในการดำเนินคดีแล้ว ก็จะต้องส่งเรื่องให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของตนเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป
- พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาดำเนินการในลักษณะเดี่ยวกันกับคดีที่เป็นความผิดอาญาร้ายแรงอื่นๆตามกฎหมายของรัฐภาคีนั้น ในกรณีที่อ้างถึงตามข้อ 9 วรรค 2 มาตราฐานของพยานหลักฐานที่ใช้ในการฟ้องเป็นคดีอาญาและใช้ในการพิพากษาลงโทษนั้นต้องไม่ต่ำกว่าที่ใช้กับกรณีที่อ้างถึงในข้อ 9 วรรค 1
- บุคคลที่ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญจะต้องมีหลักประกันว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในทุกขั้นตอน บุคคลใดที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาบังคับให้บุคคลหายสาปสูญจะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมโดยศาล หรือคณะตุลาการที่มีอำนาจหน้าที่และที่เป็นอิสระ ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย
ข้อ 12
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ที่ร้องเรียนกล่าวหาว่าได้มีบุคคลถูกบังคับให้หายสาปสูญ มีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานตรวจสอบข้อกล่าวหาโดยพลันและอย่างเที่ยงธรรม หากจำเป็น ก็จะต้องดำเนินการโดยไม่ชักช้าและอย่างเป็นกลางตลอดกระบวนการสืบสวนสอบสวน ทั้งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ร้องเรียน พยาน ญาติของบุคคลที่หายสาปสูญ และทนายความของบคุลลดังกล่าว รวมทั้งบุคคลที่มีส่วนในการสืบสวนสอบสวนทั้งหมด ได้รับการป้องกันจากการปฏิบัติที่มิชอบ หรือการข่มขู่คุกคามอันเนื่องมาจากการร้องเรียนหรือให้พยานหลักฐานของตน
- ในกรณีที่มีมูลอันน่าเชื่อได้ว่ามีบุคคลถูกบังคับให้หายสาปสูญ เจ้าหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในวรรค 1 จะต้องทำการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะไม่มีการร้องเรียนอย่างเป็นทางการก็ตาม
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องทำให้แน่ใจได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่อ้างถึงตามวรรค 1 นั้น
(ก) มีอำนาจหน้าที่และได้รับปัจจัยที่จำเป็นเพื่อให้การสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวน
(ข) มีอำนาจในการเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีเหตุผลอันสมควรที่น่าเชื่อได้ว่าจะเป็นสถานที่ที่มีผู้ถูกบังคับให้หายสาปสูญอยู่ โดยหากจำเป็นก็อาจต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน ซึ่งศาลจะต้องมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวโดยพลัน แต่ละรัฐภาคีจะต้องมีมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันและลงโทษการกระทำใดๆที่จะให้มีการยุติการสืบสวนสอบสวน จะต้องทำให้มั่นใจว่าบุคคลที่ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการทำความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญนั้น ไม่อยู่ในตำแหน่งที่มีอิทธิพลสามารถขัดขวางความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวน โดยการกดดัน หรือกระทำการอันเป็นการข่มขู่คุกคาม หรือตอบโต้ ต่อผู้ร้องเรียน พยาน ญาติของบุคคลที่หายสาปสูญ หรือทนายความของบุคคลเหล่านั้น หรือต่อบุคคลที่มีส่วนในการสืบสวนสอบสวนคดีนั้น
ข้อ 13
- เพื่อจุดประสงค์ในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐภาคีด้วยกัน ความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญนั้นจะต้องไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง หรือเป็นการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมือง หรือเป็นความผิดที่เกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ด้วยเหตุดังกล่าว การขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนในข้อหาบังคับให้บุคคลหายสาปสูญนั้น จะต้องไม่ถูกปฏิเสธโดยอาศัยเพียงเหตุผลดังกล่าวเท่านั้น
ความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญนั้น ให้ถือเป็นความผิดที่สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีอยู่แล้วระหว่างรัฐภาคี ก่อนอนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับ
รัฐภาคีทั้งหลายจะต้องนำความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ ไประบุไว้ในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่จะทำกันต่อไป โดยให้ถือเป็นความผิดที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้
ถ้ารัฐภาคีหนึ่งมีข้อกำหนดส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาที่มีอยู่ ได้รับการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากอีกรัฐภาคีหนึ่งที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน ก็อาจพิจารณาใช้อนุสัญญาฯฉบับนี้มาเป็นพื้นฐานทางกฎหมายที่จำเป็นสำหรับการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญได้
รัฐภาคีทั้งหลายที่ไม่มีข้อกำหนดส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามสนธิสัญญาที่มีอยู่ จะต้องยอมรับว่าความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ เป็นฐานความผิดที่สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐภาคีได้
- 2. การส่งผู้ร้ายข้ามแดนในทุกกรณี ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยกฏหมายของประเทศที่ถูกร้องขอ หรือโดยสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่อาจใช้บังคับได้ รวมทั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงื่อนไขที่เกี่ยวกับโทษขั้นต่ำสำหรับคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน และมูลเหตุที่ประเทศที่ถูกร้องขออาจใช้ปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือตั้งเงื่อนไขต่างๆในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
- 3. จะต้องไม่ตีความอนุสัญญานี้ ไปในทางที่บังคับพันธกรณีเพื่อให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถ้ารัฐภาคีที่ถูกร้องขอมีเหตุผลที่เพียงพอที่เชื่อได้ว่า คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นมีความมุ่งหมายที่จะฟ้องร้องดำเนินคดี หรือลงโทษบุคคลใดๆอันเนื่องมาจากมูลเหตุทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ เผ่าพันธุ์กำเนิด ทัศนะทางการเมือง หรือการเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคม หรือ การปฏิบัติตามคำร้องขอจะเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวนั้นได้รับอันตรายด้วยเหตุดังกล่าวนั้น
ข้อ 14
- รัฐภาคีทั้งหลายจะต้องช่วยเหลือกันและกันอย่างเต็มที่ โดยจัดให้มีมาตรการที่จให้มีความช่วยเหลือทางกฎหมายร่วมกัน ในการดำเนินคดีเกียวกับข้อหาความผิดฐานบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ รวมทั้งการให้พยานหลักฐานทั้งหมดที่ตนมีอยู่ซึ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินคดี
- การให้ความช่วยเหลือกันทางกฎหมายให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายในประเทศของรัฐภาคีที่ถูกร้องขอ หรือโดยสนธิสัญญาต่างๆที่ใช้บังคับได้สำหรับการช่วยเหลือกันทางกฏหมาย รวมทั้งโดยเฉพาะ เงื่อนไขเกี่ยวกับมูลฐานที่ประเทศที่ถูกร้องขออาจใช้ปฎิเสธในการจัดให้มีความช่วยเหลือกันทางกฏหมาย หรืออาจให้มีความช่วยเหลือกันโดยมีเงื่อนไข
ข้อ 15
รัฐภาคีทั้งหลายจะให้ความร่วมมือกัน และจะช่วยให้มีมาตรการอย่างดีที่สุดในการให้ความช่วยเหลือกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของการถูกบังคับให้หายสาปสูญ และในการค้นหา การหาตำแหน่งแหล่งที่ และการปล่อยบุคคลที่ถูกบังคับให้หายสาปสูญเป็นอิสระ และในกรณีที่เสียชีวิต จะให้มีการขุดศพ ระบุเอกลักษณ์บุคคล และส่งกลับร่างของบุคคลที่หายสาปสูญ
ข้อ 16
- จะไม่มีรัฐภาคีใดกระทำต่อบุคคลใดๆโดยการเนรเทศ ผลักดันกลับ ส่งมอบตัวหรือส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่อีกรัฐหนึ่ง หากมีมูลที่เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะประสบกับอันตรายจากการถูกบังคับให้หายสาปสูญ
- เพื่อความมุ่งหมายที่จะตัดสินว่ามีมูลเหตุดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐดังกล่าว เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงกว้างขวาง หรือการละเมิดกฎหมายด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง
ข้อ 17
- 1. จะต้องไม่มีบุคคลใดๆถูกคุมขังอย่างลับๆ
- 2. โดยที่จะไม่เป็นการลบล้างพันธกรณีระหว่างประเทศของรัฐภาคีเกี่ยวกับการทำให้สูญเสียเสรีภาพของบุคคล ดังนั้นในกฏหมายของแต่ละรัฐภาคีจะ
(ก) มีการตั้งเงื่อนไขของการที่อาจจะมีการออกคำสั่งในการทำให้สูญเสียเสรีภาพของบุคคล
(ข) ระบุผู้มีอำนาจในการออกคำสั่งที่ทำให้สูญเสียเสรีภาพของบุคคล
(ค) รับประกันว่าบุคคลที่ถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพจะถูกควบคุมตัวเฉพาะในสถานที่ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเป็นสถานที่ใช้สำหรับการการนั้นเท่านั้น
(ง) รับประกันว่าบุคคลที่ถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพจะได้รับอนุญาตให้ติดต่อสื่อสารกับและได้รับการเยี่ยมเยียนจากครอบครัว ทนายความ หรือผู้ที่บุคคลนั้นเลือก ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฏหมาย หรือถ้าบุคคลดังกล่าวเป็นชาวต่างประเทศ ก็จะได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ทางการทูตตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้อยู่
(จ) รับประกันว่าจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ และผู้มีอำนาจตามกฏหมายสามารถเข้าถึงสถานที่อยู่ของผู้ที่สูญเสียเสรีภาพนั้นได้ ถ้าจำเป็นก็ให้ขออนุญาตจากศาลที่มีเขตอำนาจเสียก่อน
(ฉ) รับประกันว่าบุคคลใดๆที่สูญเสียเสรีภาพ หรือกรณีที่ต้องสงสัยว่าบุคคลถูกบังคับให้หายสาปสูญ เนื่องจากบุคคลที่สูญเสียเสรีภาพนั้นไม่สามารถที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ บุคคลใดๆเพื่อประโยชย์อันชอบธรรม เช่น ญาติของผู้ที่สูญเสียเสรีภาพนั้น หรือผู้แทน หรือทนายความของบุคคลดังกล่าว ในทุกสภาวการณ์ จะมีสิทธที่จะดำเนินดำเนินการทางศาล เพื่อให้ศาลตัดสินโดยไม่ชักช้าว่า การทำให้บุคคลนั้นสูญเสียเสรีภาพชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และให้สั่งปล่อยตัว ถ้าพบว่าการทำให้สูญเสียเสรีภาพนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- 3. แต่ละรัฐภาคีจะต้องทำให้มั่นใจว่ามีการรวบรวมและเก็บรักษาเอกสารทางทะเบียนที่เป็นปัจจุบัน ที่บันทึกเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพ ซึ่งจะต้องนำมาแสดงได้โดยพลันเมื่อมีการร้องขอ โดยจะต้องแสดงต่อศาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่หรือสถาบันที่มีอำนาจหน้าที่ตามความมุ่งหมายของกฏหมายของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง หรือตามกฏหมายระหว่างประเทศที่รัฐภาคีนั้นเกี่ยวข้อง โดยมีข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) ระบุเอกลักษณ์บุคคลของผู้ที่ถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพ
(ข) วัน เวลา และสถานที่ที่บุคคลถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพและระบุเจ้าหน้าที่ที่ทำให้บุคคลดังกล่าวสูญเสียเสรีภาพ
(ค) เจ้าหน้าที่ที่มีคำสั่งที่ทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพ และเหตุผลในการทำให้สูญเสียเสรีภาพ
(ง) เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการทำให้สูญเสียเสรีภาพ
(จ) สถานที่ที่ใช้ในการทำให้สูญเสียเสรีภาพ วัน เวลาที่รับตัวเข้ามาควบคุม และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบสถานที่ที่ใช้ในการทำให้สูญเสียเสรีภาพ
(ฉ) ระบุสภาวะทางสุขภาพของบุคคลที่ถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพ
(ช) ในกรณีการเสียชีวิตระหว่างถูกทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ จะต้องระบุสภาพการณ์และสาเหตุการตายและสถานที่ปลายทางที่ไว้ศพของผู้ตาย
(ซ) วัน และเวลาของการปล่อยตัว หรือการย้ายสถานที่คุมขัง จุดหมายปลายทาง และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการย้ายที่คุมขัง
ข้อ 18
- 1. ภายใต้บทบัญญัติของข้อ 19 และ 20 แต่ละรัฐภาคีจะต้องรับประกันต่อบุคคลใดๆก็ตามที่มีส่วนได้เสียโดยชอบด้วยกฏหมายในการได้มาซึ่งข้อมูล เช่นญาติของบุคคลที่ถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพ ผู้แทนหรือทนายความของคนเหล่านั้น โดยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างน้อยที่สุดดังต่อไปนี้:
(ก) ชื่อเจ้าหน้าที่ที่มีคำสั่งทำให้สูญเสียเสรีภาพ
(ข) วันเวลาและสถานที่ที่บุคคลถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพและวันที่เข้าไปอยู่ในสถานที่นั้น
(ค) ชื่อเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ควบคุม
(ง) สถานที่ควบคุมตัวบุคคลที่ถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพ รวมถึงกรณีที่มีการย้ายไปอีกสถานที่หนึ่ง จุดหมายปลายทางและชื่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการย้าย
(จ) วันเวลาสถานที่ที่ถูกปล่อยตัว
(ฉ) สภาวะทางสุขภาพของบุคคลที่ถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพ
(ช) ถ้าเป็นกรณีการเสียชีวิตระหว่างที่สูญเสียเสรีภาพ จะต้องระบุสาเหตุการตายและสถานที่ปลายทางที่ไว้ศพของผู้เสียชีวิต
- 2. จะต้องมีมาตราการที่เหมาะสม เมื่อจำเป็น ในการป้องกันบุคคลตามวรรค 1 รวมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวน จากการปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรม การถูกข่มขู่คุกคามและการแทรกแซงในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่สูญเสียเสรีภาพ
ข้อ 19
- 1. ข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งรวมถึงข้อมูลทางการแพทย์และพันธุกรรม ซึ่งถูกเก็บรวบรวมและ/หรือส่งให้ตามกรอบของการค้นหาบุคคลที่ถูกบังคับให้หายสาปสูญ จะต้องไม่ถูกนำไปใช้หรือมีไว้เพื่อการอย่างอื่นนอกเหนือจากการใช้เพื่อการค้นหาผู้หายสาปสูญ แต่ทั้งนี้บทบัญญัตนี้จะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อลบล้างการที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการดำเนินคดีอาญาอันเกี่ยวข้องกับความผิดฐานบังคับให้บุคคลนั้นหายสาปสูญ หรือการใช้สิทธิเพื่อจะได้รับการชดใช้เยียวยา
- 2. การเก็บรวบรวม การจัดทำ การใช้ หรือการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงข้อมูลทางการแพทย์และพันธุกรรมจะต้องไม่ละเมิดสิทธิหรือส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐานหรือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล
ข้อ 20
เฉพาะกรณี เมื่อบุคคลได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมาย และการทำให้สูญเสียเสรีภาพนั้นอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของศาลเท่านั้น ที่ สิทธิทีจะได้รับข้อมูลตามข้อ 18 อาจถูกจำกัดลงได้ ซึ่งถือเป็นกรณีที่เป็นข้อยกเว้น อันมีความจำเป็นอย่างยิ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และถ้าการส่งข้อมูลนั้นจะเป็นการกระทบต่อความเป็นส่วนตัว หรือความปลอดภัยของบุคคล หรือเป็นขัดขวางการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา หรือเป็นเหตุผลอื่นๆตามกฎหมายซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้ นอกจากนี้แล้วจะต้องไม่มีกรณีใดๆเลยที่จะมีการจำกัดสิทธิในข้อมูลข่าวสารตามที่ระบุไว้ในข้อ 18 ที่สามารถก่อให้เกิดการดำเนินการตามที่นิยามไว้ในข้อ 2 หรือเป็นการละเมิดข้อ 17 วรรค 1
โดยที่จะไม่เป็นการลบล้างต่อการพิจารณาว่าการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รัฐภาคีทั้งหลายจะต้องประกันว่าบุคคลตามที่ระบุไว้ในข้อ 18 วรรค 1 มีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาโดยกระบวนการยุติธรรมโดยพลันและอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นหนทางในการที่จะได้รับข้อมูลตามที่ระบุไว้ในข้อ 18 วรรค 1 โดยไม่ชักช้า สิทธิในอันที่จะได้รับการเยียวยานี้จะต้องไม่ถูกระงับหรือจำกัดไม่ว่าในสถาพการใดๆ
ข้อ 21
แต่ละรัฐภาคีจะต้องดำเนินมาตราการที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลที่ถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพจะได้รับการปล่อยตัวในลักษณะที่มีข้อพิสูจน์ยืนยันที่ตรวจสอบได้ว่ามีการปล่อยตัวแล้วจริง แต่ละรัฐภาคีจะต้องดำเนินมาตราการที่จำเป็นเพื่อทำให้มั่นใจว่าร่างกายของบุคคลนั้นอยู่ในสภาพที่แข็งแรง และอยู่ในสภาพที่สามารถที่จะใช้สิทธิของตนได้อย่างเต็มที่ในขณะที่ได้รับการปล่อยตัว และโดยที่จะไม่เป็นการลบล้างพันธกรณีที่บุคคลดังกล่าวนั้นอาจมีอยู่ตามกฏหมาย
ข้อ 22
โดยที่จะไม่เป็นการลบล้างบทบัญญัติในข้อ 6 แต่ละรัฐภาคีจะต้องมีมาตราการที่จำเป็นที่จะป้องกันและลงโทษการกระทำต่อไปนี้
(ก) การทำให้ เกิดความล่าช้าหรือขัดขวางการเยียวยาตาม ข้อ 17 วรรค 2 (ฉ) และข้อ 20 วรรค 2
(ข) การไม่ลงบันทึกเรื่องการทำให้สูญเสียเสรีภาพของบุคคลใดๆ หรือ ทำบันทึกข้อมูลใดๆ ที่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการลงทะเบียนอย่างเป็นทางการทราบ หรือควรจะทราบ โดยลงบันทึกอย่างไม่ละเอียดถูกต้อง
(ค) การปฏิเสธในการจัดให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำให้สูญเสียเสรีภาพของบุคคล หรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแม่นยำ ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามที่กฏหมายกำหนดแล้วก็ตาม
ข้อ 23
- แต่ละรัฐภาคีจะทำให้มั่นใจว่า จะมีการอบรมเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร บุคคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวหรือการปฏิบัติต่อผู้ถูกทำให้สูญเสียเสรีภาพ ซึ่งรวมถึงการให้การศึกษาและให้ข้อมูลที่จำเป็นอันเกี่ยวกับอนุสัญญาฯฉบับนี้ ทั้งนี้เพื่อ:
(ก) ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีส่วนในการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ
(ข) เน้นถึงความสำคัญในการป้องกันและการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ
(ค) ทำให้แน่ใจว่าจะตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการคลี่คลายคดีบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ
- 2. แต่ละรัฐภาคีจะต้องทำให้แน่ใจว่า คำสั่ง หรือคำชี้แนะ ที่ระบุ ให้อำนาจ หรือส่งเสริมให้มีการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญนั้นเป็นสิ่งที่จะกระทำมิได้ แต่ละรัฐภาคีจะต้องประกันว่าผู้ที่ปฏิเสธที่จะปฎิบัติตามคำสั่งนั้นจะไม่ต้องถูกลงโทษ
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องมีมาตรการที่จำเป็นที่ทำให้แน่ใจได้ว่าบุคคลกล่าวถึงในวรรค 1 ที่มีเหตุผลที่จะเชื่อได้ว่ามีการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญเกิดขึ้น หรือได้มีการวางแผนเกิดขึ้นแล้ว โดยจะต้องรายงานเรื่องนี้ต่อผู้บังคับบัญชา และ ถ้าจำเป็นจะต้องรายงานให้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจในการตรวจสอบและเยียวยาแก้ไข
ข้อ 24
- เพื่อวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯฉบับนี้ “ ผู้เป็นเหยื่อ” หมายถึง บุคคลที่หายสาปสูญ หรือบุคคลใดๆที่ได้รับความเสียหายอันเป็นผลโดยตรงการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ
- ผู้ตกเป็นเหยื่อแต่รายมีสิทธิในการรับรู้ความจริงอันเกี่ยวข้องกับการสภาพการของการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ ความคืบหน้าและผลของการสืบสวนสอบสวน และชะตากรรมของบุคคลที่หายสาปสูญ แต่ละรัฐภาคีจะต้องมีมาตราการอย่างเหมาะสมต่อเรื่องนี้
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องมีมาตราการที่เหมาะสมในการค้น หาตำแหน่งแห่งที่ควบคุมตัว และปล่อยตัวบุคคลที่หายไป และในกรณีที่มีการเสียชีวิต จะต้องหาตำแหน่งแห่งที่ เคารพและส่งคืนร่างของผู้หายสาปสูญ
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องทำให้มั่นใจว่าตนมีระบบกฎหมายที่ผู้ที่เป็นเหยื่อของการบังคับให้หายสาปสูญจะได้รับสิทธิในการชดใช้ค่าเสียหายอย่างเป็นธรรมและเพียงพอโดยพลัน
- สิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายตามวรรค 4 ให้ครอบคลุมถึงความเสียหายทางด้านวัตถุและด้านจิตใจ โดยจะต้องมีรูปแบบการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม ดังเช่น
(ก) การทำให้กลับคืนดังเดิม
(ข) การบำบัด
(ค) การคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และชื่อเสียงเกียรติยศจนเป็นที่พึงพอใจ
(ง) การรับประกันว่าจะไม่เกิดเรื่องซ้ำอีก
- โดยที่จะไม่เป็นการลบล้างพันธกรณีที่จะให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดความกระจ่างเกี่ยวกับชะตากรรมของบุคคลที่หายสาปสูญ รัฐภาคีแต่ละรัฐจะต้องจัดให้มีมาตราการที่เหมาะสมเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านกฎหมายของบุคคลที่ถูกบังคับให้หายสาปสูญผู้ซึ่งไม่สามารถให้ความกระจ่างเกี่ยวกับชะตากรรมของบุคคลนั้นได้ และรวมถึงญาติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการทางสังคม การเงิน กฎหมายครอบครัวและสิทธิในทรัพยสินต่าง ๆ
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องประกันสิทธิในการรวมตัวกันจัดตั้งและเข้าร่วมอย่างเสรีในองค์กร หรือสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการพยายามที่จะทราบถึงสภาพและชะตากรรมของบุคคลที่หายไป และให้ความช่วยเหลือผู้เป็นเหยื่อของการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ
ข้อ 25
- แต่ละรัฐภาคีจต้องมีมาตราการที่จำเป็นในการป้องกันและลงโทษตามกฎหมายอาญา
(ก) (ก) การพรากเด็กไปโดยไม่ชอบ ให้เป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้หายสาปสูญ จากบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมายซึ่งเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้หายสาปสูญ หรือที่เกิดระหว่างที่มารดาเป็นบุคคลถูกบังคับให้หายสาปสูญ
(ข) (ข) การปลอมแปลง การปิดบัง การทำลายเอกสารที่เกี่ยวกับการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของเด็กตามอนุวรรค (ก)
- แต่ละรัฐภาคีจะต้องมีมาตราการที่จำเป็นในการค้นหาและระบุถึงเด็กตามวรรค 1 (ก) แล ส่งคืนเด็กเหล่านั้นให้กับครอบครัวต้นกำเนิด ที่สอดคล้องกับกระบวนการตามกฎหมายและตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ใช้บังคับ
- รัฐภาคีทั้งหลายจะช่วยเหลือกันและกันในการค้นหาหรือระบุเอกลักษณ์บุคคลและสถานที่ควบคุมตัวของลูกตามวรรค 1 (ก)
- ให้ความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองผลประโยชน์สูงสุดของเด็กที่อ้างไว้ในวรรค 1 (ก) และสิทธิของพวกเขา ที่จะรักษาไว้หรือกลับคืนซึ่งเอกลักษณ์บุคคล รวมทั้ง สัญชาติ ชื่อและความสัมพันธ์ในทางเครือญาติ ตามที่ยอมรับโดยกฎหมาย โดยรัฐภาคีทั้งหลายที่ยอมรับระบบการรับรองบุตรบุญธรรม หรือรูปแบบใดๆในการให้มีการดูแลเด็ก จะต้องมีกระบวนการทางกฎหมายเพื่อทบทวนการรับเป็นบุตรบุญธรรม การดูแลเด็ก และ ถ้าเป็นกรณีที่เหมาะสมก็ให้ยกเลิกการรับเป็นบุตรบุญธรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กของบุคคลที่ถูกบังคับให้หายสาปสูญ
- ในทุกคดี และโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับข้อ 25 นี้ทั้งหมด หลักเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กจะต้องเป็นหลักประการแรกในการพิจารณา และถ้าเด็กสามารถมีความคิดเห็นด้วยตนเองได้ เด็กจะต้องมีสิทธิในการแสดงออกซึ่งทัศนะข้อคิดเห็นของตนอย่างเสรี ทัศนะและความคิดของเด็กก็ให้ถือว่ามีน้ำหนักตามอายุและวุฒิภาวะของเด็ก
ภาค 2
ข้อ 26
- ให้จัดตั้งคณะกรรมการเรื่องการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ (ต่อไปในที่นี้เรียกว่า “คณะกรรมการฯ” ) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯฉบับนี้ คณะกรรมการฯ ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้ทรงคุณธรรมและมีคุณวุฒิเป็นที่ยอมรับในด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในฐานะส่วนบุคคล เป็นอิสระ และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด สมาชิกของคณะกรรมการฯ จะได้รับการเลือกตั้งโดยรัฐภาคีทั้งหลาย โดยเฉลี่ยกันไปตามที่ตั้งทางภูมิศาตร์โดยเท่าเทียมกันตาม
- สมาชิกของคณะกรรมการฯ จะได้รับเลือกตั้งโดยการลงคะแนนลับจากรายชื่อของบุคคลสัญชาติที่ถูกเสนอโดยรัฐภาคีต่างๆ ในระหว่างการประชุมรัฐภาคีทั้งหลายทุกๆสองปีที่จัดขึ้นโดยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเพื่อวัตถุประสงค์นี้ การประชุมนั้นต้องประกอบด้วยรัฐภาคีสองในสามจึงจะครบเป็นองค์ประชุม บุคคลที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นคณะกรรมการฯจะต้องได้รับคะแนนสูงสุดโดยลำดับซึ่งเป็นคะแนนเสียงข้างมากโดยเด็ดขาดจากผู้แทนรัฐภาคีทั้งหลายที่ร่วมประชุมและร่วมลงคะแนน
- การเลือกตั้งครั้งแรกจะจัดให้มีขึ้นอย่างช้าภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่อนุสัญญาฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้ โดยสี่เดือนก่อนวันที่จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการฯ แต่ละครั้ง เลขาธิการองค์การสหประชาชาติจะต้องออกจดหมายเชิญ รัฐภาคีทุกรัฐ ให้เสนอชื่อบุคคลที่จะเข้ารับการเลือกตั้งภายกำหนดเวลาสามเดือน เลขาธิการฯ จะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะรับการเลือกตั้งโดยเรียงตามลำดับตัวอักษร โดยระบุว่าเสนอชื่อโดยรัฐภาคีใด แล้วเสนอบัญชีนั้นต่อรัฐภาคีทุกรัฐ
- กรรมการฯ จะวาระในตำแหน่งคราวละสี่ปี โดยมีสิทธิรับเลือกตั้งได้อีกหนึ่งวาระ อย่างไรก็ตามสมาชิกจำนวนห้าคนที่ได้รับเลือกตั้งในคราวแรกจะสิ้นสุดลงหลังจากครบกำหนดสองปี โดยในทันทีหลังจากการเลือกตั้งครั้งแรก ให้ประธานกรรมการฯ ตามที่อ้างไว้ในวรรค 2 เลือกรายชื่อทั้งห้านั้นโดยวิธีจับฉลาก
- ถ้ากรรมการฯท่านใด เสียชีวิต หรือลาออก หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุผลใดๆก็ตามอีกต่อไป ก็ให้รัฐภาคีที่เสนอชื่อกรรมการผู้นั้นเสนอชื่อบุคคลสัญชาติตนเข้ารับการเลือกตั้งให้เป็นกรรมการแทน แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมากของรัฐภาคีทั้งหลาย โดยให้ถือว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐภาคแล้ว เว้นแต่ว่าจะมีรัฐภาคีย่างน้อยที่สุดกึ่งหนึ่งหรือมากกว่าปฎิเสธภายใน 6 สัปดาห์ หลังจากที่ได้รับแจ้งชื่อผู้เข้ารับเลือกตั้งจากเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
- ให้คณะกรรมการฯ กำหนดระเบียบข้อบังคับของตนเอง
- เลขาธิการองค์การ สหประชาชาติจะจัดหาเจ้าหน้าที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของคณะกรรมการฯ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติจะเป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการฯนัดแรก
- กรรมการฯจะได้รับการอำนวยความสะดวก เอกสิทธิ์ และความคุ้มกันในการปฏิบัติงานเป็นผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ ดังที่ได้ระบุไว้ตามข้อบัญญัติของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกันขององค์การสหประชาชาติ
- แต่ละรัฐภาคีจะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการฯ และช่วยเหลือกรรมการฯ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินการตามภาระหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ตามที่รัฐภาคีได้ให้การยอมรับไว้
ข้อ 27
ให้มีการประชุมรัฐภาคีอย่างเร็วที่สุดหลัง สี่ปีแต่อย่างช้าไม่เกิน 6 ปีหลังจากวันที่อนุสัญญาฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้ เพื่อประเมินผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯ และตัดสินตามกระบวนการที่ระบุไว้ใน ข้อ 44 วรรค 2 ว่าสมควรที่จะโอนย้ายอำนาจหน้าที่ไปให้หน่วยงานอื่นหรือไม่ โดยไม่ตัดเความเป็นไปได้ใดๆ ที่จะตรวจตราอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในข้อ 28 ถึงข้อ 36 ของอนุสัญญานี้
ข้อ 28
- ในกรอบการทำงานที่ได้รับมอบหมายภายใต้อนุสัญญาฯฉบับนี้ คณะกรรมการฯ จะต้องร่วมมือกับองค์การหน่วยงานต่างๆ สำนักงาน และองค์การชำนัญพิเศษ และกองทุนขององค์การสหประชาชาติ และกรรมการของสนธิสัญญาที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายระหว่างประเทศ กับกระบวนการพิเศษขององค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค รวมทั้งสถาบัน หน่วยงาน สำนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้หายสาปสูญ
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกำหนดมอบหมาย ให้คณะกรรมการฯ จะต้องปรึกษาคณะกรรมการอื่นๆ ที่จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่จัดตั้งขึ้นตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อทำให้มั่นใจว่ามีความต่อเนื่องในเรื่องการปฏิบัติตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ
ข้อ 29
- แต่ละรัฐภาคีจะส่งรายงานต่อคณะกรรมการฯ โดยผ่านทางเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในเรื่องมาตราการที่ได้ดำเนินไปตามพันธะผูกพันที่ตนมีภายใต้ภายใต้อนุสัญญาฯฉบับนี้ ภายในเวลาสองปีหลังจากอนุสัญญาฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับประเทศนั้นๆ
- เลขาธิการขององค์การสหประชาติจะต้องส่งรายงานนี้ให้แก่รัฐภาคีทั้งหลาย
- รายงานแต่ละฉบับจะได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ ซึ่งจะมีการออกรายงานข้อวิจารณ์ ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะตามที่กรรมการเห็นสมควร ข้อวิจารณ์ ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะจะส่งให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจตอบสนองต่อสิ่งเหล่านั้นเอง หรือตามที่คณะกรรมการฯร้องขอ
- คณะกรรมการฯ อาจจะร้องขอให้รัฐภาคีทั้งหลายจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯฉบับนี้ได้
ข้อ 30
- อาจมีการขอให้มีการเสนอรายงานการค้นหาบุคคลที่ถูกบังคับให้หายสาปสูญต่อคณะกรรมการฯเป็นกรณีเร่งด่วนจากญาติของบุคคลที่หายสาปสูญ และผู้แทนตามกฎหมาย และทนายความหรือบุคคลใดๆที่ได้รับมอบอำนาจ หรือบุคคลใดๆที่มีส่วนได้เสียโดยชอบธรรม
- ถ้าคณะกรรมการฯได้พิจารณาการร้องขอเป็นกรณีเร่งด่วนตามวรรค 1 จะต้อง
(ก) ไม่มีการประกาศว่าเป็นบุคคลที่ไม่พบ
(ข) ไม่เป็นการก่อตั้งการร้องขอโดยละเมิดสิทธิ
(ค) ได้มีการดำเนินการนำเสนอโดยถูกต้องต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ของรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนซึ่งน่าจะเป็นไปได้ที่จะมีอยู่
(ง) ไม่มีการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับข้อบทต่าง ๆของอนุสัญญาฯฉบับนี้ และ
(จ) เรื่องเดียวกันนี้ไม่ได้ถูกดำเนินการตรวจสอบภายใต้กระบวนอื่นๆในการสอบสวนระหว่างประเทศอื่น ๆ หรือมีการยุติแล้วในลักษณะเดียวกันแล้วก็ให้คณะกรรมการร้องขอให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องนั้นจัดให้ข้อมูลสถานการณ์ของบุคคลที่ค้นหาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการฯกำหนด
- ตามข้อมูลที่รัฐภาคีจัดให้ตามวรรค 2 คณะกรรมการฯอาจจะส่งข้อเสนอแนะไปยังรัฐภาคีนั้น ซึ่งรวมถึงข้อเรียกร้องให้รัฐภาคีดังกล่าวดำเนินมาตราการที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงมาตราการชั่วคราว ในการระบุตำแหน่งแหล่งที่และการปกป้องคุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้องตามอนุสัญญาฯฉบับนี้ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการฯทราบเกี่ยวกับมาตรการที่ใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยให้คำนึงถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์นั้นๆ ให้คณะกรรมการฯแจ้งผู้ที่ยื่นเรื่องขร้องขอในกรณีเร่งด่วนนั้นให้ทราบถึงข้อเสนอแนและข้อมูลที่ได้รับจากรัฐภาคีดังกล่าว
คณะกรรมการฯ จะต้องใช้ความพยายามต่อไปที่จะทำงานกับรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง ตราบใดที่ยงไมทราบชะตากรรมของบุคคลดังกล่าว โดยจะต้องรายงานให้ผู้ร้องเรียนได้รับทราบตลอดเวลา
ข้อ 31
- รัฐภาคีใดๆในขณะที่ลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ หรือเมื่อใดก็ตามหลังจากนั้นอาจทำประกาศยอมรับอำนาจของคณะกรรมการฯที่จะรับและพิจารณาข้อสื่อสารร้องเรียนจากหรือแทนปัจเจกบุคคลที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลตนที่อ้างว่าตกเป็นเหยื่อของการละเมิดบทบัญญัติของอนุสัญญานี้โดยรัฐภาคีนั้น คณะกรรมการฯจะไม่รับข้อสื่อสารร้องเรียนเกี่ยวกับรัฐภาคีใดๆที่ยังไม่ได้ทำประกาศดังกล่าว
- คณะกรรมการฯจะพิจารณาข้อสื่อสารร้องเรียนว่าไม่สามารถรับฟังได้ ในกรณี
(ก) เป็นบัตรสนเท่ห์
(ข) เป็นข้อสื่อสารร้องเรียนที่ละเมิดสิทธิของการยื่นข้อสื่อสารร้องเรียนนั้น หรือไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาฯฉบับนี้
(ค) เรื่องเดียวกันนี้ไม่เคยมีการตรวจสอบภายใต้กระบวนการอื่นๆระหว่างประเทศในการสืบสวนหรือหาข้อยุติในลักษณะเดียวกันมาก่อน
(ง) ได้มีการเยียวยาในประเทศอย่างได้ผลแล้ว หลักการนี้จะใช้ไม่ได้กับการเยียวยาที่ล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- ถ้าคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อสื่อสารร้องเรียนใดเป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในวรรค 2 แล้ว ก็ให้ส่งข้อสื่อสารร้องเรียนนั้นให้กับรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทำข้อสังเกตและข้อคิดเห็นกลับมาภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการฯ กำหนด
- เมื่อใดก็ตามภายหลังจากได้รับข้อสื่อสารร้องเรียน และก่อนที่จะตัดสินว่ามีมูลหรือไม่ คณะกรรมการฯ อาจส่งเรื่องให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ใช้มาตรการชั่วคราวตามความจำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เหยื่อที่ถูกละเมิดได้รับความเสียหายที่ที่ไม่อาจแก้ไขได้ ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ใช้ดุลยพินิจไปเช่นนั้นแล้ว ก็ไม่หมายความว่าคณะกรรมการฯ จะรับข้อสื่อสารร้องเรียน หรือถือว่าข้อสื่อสารร้องเรียนนั้นมีมูลแล้ว
- คณะกรรมการฯ จะต้องจัดการประชุมลับในการพิจารณาตรวจสอบข้อสื่อสารร้องเรียนตามข้อบทนี้ คณะกรรมการฯ จะต้องแจ้งให้ผู้ทำข้อสื่อสารร้องเรียนทราบการตอบสนองจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง เมื่อคณะกรรมการฯ ตัดสินที่จะยุติกระบวนการ ก็จะต้องส่งความเห็นไปให้รัฐภาคีและผู้ทำข้อสื่อสารร้องเรียนให้ทราบด้วย
ข้อ 32
รัฐภาคีรัฐใดรัฐหนึ่งตามอนุสัญญาฯฉบับนี้อาจทำคำประกาศเมื่อไดก็ได้ เพื่อยอมรับอำนาจของคณะกรรมการฯ ที่จะรับและพิจารณาข้อสื่อสารร้องเรียนของรัฐภาคีอื่น ที่กล่าวอ้างว่าตนไม่ทำตามพันธกรณีในอนุสัญญาฯฉบับนี้ คณะกรรมการฯจะต้องไม่รับข้อสื่อสารร้องเรียนเกี่ยวกับรัฐภาคีที่ยังไม่ได้ทำคำประกาศไว้ หรือข้อสื่อสารร้องเรียนจากรัฐที่ยังไม่ได้ทำคำประกาศนั้นเช่นกัน
ข้อ 33
- ถ้าคณะกรรมการฯ ได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่ารัฐภาคีใดได้กระทำการอันเป็นการละเมิดข้อบทในอนุสัญญาฯฉบับนี้อย่างร้ายแรง ภายหลังการปรึกษาหารือรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็อาจขอให้กรรมการคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน ไปตรวจเยี่ยมและจัดทำรายงานกลับมาให้คณะกรรมการฯโดยไม่ล่าช้า
- คณะกรรมการฯ จะต้องแจ้งให้รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องทราบเป็นลายลักษณ์อักษรถึงความตั้งใจที่จะไปตรวจเยี่ยม โดยระบุว่าประกอบด้วยใครบ้าง และมีวัตถุประสงค์ย่างไรในการตรวจเยี่ยม รัฐภาคีดังกล่าวจะต้องตอบคณะกรรมการฯ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
- เมื่อรัฐภาคีนั้นได้มีคำร้องขอที่รับฟังได้ คณะกรรมการฯ อาจจะตัดสินใจเลื่อน หรือยกเลิกการตรวจเยี่ยมก็ได้
- ถ้ารัฐภาคีนั้นเห็นด้วยกับการตรวจเยี่ยม คณะกรรมการฯ และรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานด้วยกันเพื่อกำหนดรูปแบบวิธีการตรวจเยี่ยม โดยรัฐภาคีดังกล่าวจะต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นให้คณะกรรมการฯ เพื่อให้การตรวจเยี่ยมประสบผลสมบูรณ์
- ภายหลังการตรวจเยี่ยม คณะกรรมการฯ จะต้องส่งหนังสือรายงานข้อสังเกตและข้อเสนอแนะถึงรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องนั้น
ข้อ 34
ถ้าคณะกรรมการฯ ได้รับข้อมูลที่ปรากฎว่ามีเนื้อหาที่ชี้บ่งและหนักแน่นว่ามีการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและอย่างเป็นระบบในเขตแดนภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลของรัฐภาคีใด ภายหลังจากค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวจากรัฐภาคีนั้นแล้ว คณะกรรมการฯ อาจให้นำเรื่องเสนอต่อการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติเป็นการเร่งด่วน โดยส่งเรื่องผ่านเเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ
ข้อ 35
- คณะกรรมการฯ จะมีอำนาจหน้าเฉพาะที่เกี่ยวกับบุคคลที่ถูกบังคับให้หายสาปสูญ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่นุสัญญาฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้เท่านั้น
- ถ้ารัฐใดเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ พันธกรณีของรัฐนั้นที่ต่อคณะกรรมการฯ จะเกี่ยวข้องกับการบังคับให้บุคคลหายสาปสูญ ที่เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐนั้นได้เข้าเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฯ แล้วเท่านั้น
ข้อ 36
- คณะกรรมการฯ จะต้องส่งรายงานกิจกรรมประจำปีภายใต้อนุสัญญาฯ ฉบับนี้ต่อรัฐภาคีทั้งหลาย และต่อที่ประชุมใหญ่สามัญองค์การสหประชาชาติด้วย
ก่อนที่จะการตีพิมพ์ข้อสังเกตการณ์เกี่ยวกับรัฐภาคีใดในรายงานประจำปี รัฐภาคีที่เกี่ยวข้องจะต้องได้รับแจ้งล่วงหน้าและจะต้องมีเวลาที่เหมาะสมในการให้คำตอบ รัฐภาคีนั้นอาจร้องขอให้ตีพิมพ์ข้อคิดเห็น หรือข้อสังเกตไว้ในรายงานด้วย
การติดต่อส่วนตัวซึ่งมีเอกสิทธิ์ไม่จำเป็นต้องเปิดเผย
ภาค 3
ข้อ 37
ไม่มีสิ่งใดในอนุสัญญาฯฉบับนี้ที่กระทบต่อบทบัญญัติที่มีประโยชน์ในการคุ้มครองบุคคลจากการถูกบังคับให้หายสาปสูญได้มากกว่า ซึ่งบทบัญญัติต่าง ๆ นั้นอาจบรรจุอยู่ใน
(ก) กฎหมายภายในของรัฐภาคี
(ข) กฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับใช้กับรัฐนั้นได้
ข้อ 38
- อนุสัญญาฯ ฉบับนี้เปิดให้มีการลงนามโดยรัฐสมาชิกทั้งหลายขององค์การสหประชาชาติ
- อนุสัญญาฯ ฉบับนี้เปิดรับสัตยาบันโดยรัฐสมาชิกทั้งหลายขององค์การสหประชาชาติ โดยให้มอบสัตยาบันสารไว้ที่ เลขาธิการสหประชาชาติ
- อนุสัญญาฯ ฉบับนี้เปิดให้ภาคยานุวัติโดยรัฐสมาชิกทั้งหลายของสหประชาชาติ การภาคยานุวัตรจะมีผลต่อเมื่อมีการมอบภาคยานุวัตรสารแก่เลขาธิการสหประชาชาติเก็บรักษา
ข้อ 39
- อนุสัญญาฯ ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่สามสิบหลังจากที่ได้มีการมอบมอบสัตยาบันสาร หรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบต่อเลขาธิการสหประชาชาติแล้ว
- สำหรับแต่ละรัฐที่สัตยาบันหรือภาคยานุวัตินุสัญญาฯ ฉบับนี้หลังจากที่มีการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัตสารฉบับที่ยี่สิบแล้ว อนุสัญญาฯ ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่สามสิบหลังจากที่รัฐนั้นได้มอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารของตนแล้ว
ข้อ 40
เลขาธิการสหประชาชาติจะต้องแจ้งรัฐสมาชิกทุกรัฐขององค์การสหประชาชาติ และทุกรัฐซึ่งได้ลงนาม หรือภาคยานุวัติอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ทราบเรื่องต่อไปนี้
(ก) การลงนาม การให้สัตยาบัน และการภาคยานุวัติ ตามข้อบทที่ 38
(ข) วันที่อนุสัญญาฯฉบับนี้มีผลใช้บังคับตามข้อบทที่ 39
ข้อ 41
บทบัญญัติของอนุสัญญานี้ให้ปรับใช้โดยครอบคลุมทุกภาคส่วนของสหพันธ์รัฐโดยไม่มีข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นใด ๆ
ข้อ 42
- ถ้ามีข้อพิพาทระหว่างรัฐภาคีสองรัฐหรือมากกว่าเกี่ยวกับการตีความหรือการปรับใช้อนุสัญญาฯฉบับนี้ ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้โดยการต่อรองหรือโดยกระบวนการที่ได้ระบุไว้ในอนุสัญญาฯฉบับนี้ เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ก็ให้ส่งเรื่องพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ แต่ถ้าหากภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งเรื่องให้อนุญาโตตุลาการแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้โดยการอนุญาโตตุลาการ ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจจะส่งเรื่องพิพาทนี้ไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยยื่นข้อร้องเรียนตามธรรมนูญของของศาล
- รัฐใดก็ตามในขณะที่ลงนามหรือให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ หรือทำภาคยานุวัติ อาจทำคำประกาศว่าจะไม่เข้าผูกพันตามวรรค 1 ในข้อบทนี้ ก็ได้ โดยก็จะมีผลให้รัฐภาคีอื่นๆไม่ผูกพันตามวรรค 1 ของข้อบทนี้ ต่อรัฐที่ได้ทำคำประกาศนั้นด้วยเช่นกัน
- รัฐภาคีที่ได้แสดงเจตนาไว้ในบทบัญญัติในวรรค 2 ในข้อบทนี้อาจจะเพิกถอนคำประกาศโดยำเป็นคำบอกกล่าวแจ้งให้เลขาธิการสหประชาชาติทราบ
ข้อ 43
อนุสัญญาฯฉบับนี้ไม่มีผลลบล้างกฎหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม รวมถึงพันธกรณี ของ High Contracting Parties ที่มี ต่ออนุสัญญาเจนีวาทั้งสี่ฉบับของวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ.1949 และในพิธีสารเลือกรับของปี ค.ศ. 1977 หรือโอกาสสำหรับรัฐภาคีใดๆ ที่จะมอบอำนาจให้คณะกรรมการกาชาดสากล เพื่อเยี่ยมสถานที่คุมขังในสถานการณ์ซึ่งไม่ครอบคลุมโดยกฏหมายระหว่างประเทศด้านมนุษยธรรม
ข้อ 44
- รัฐภาคีใดของอนุสัญญาฯ ฉบับนี้อาจเสนอการแก้ไขโดยยื่นเรื่องให้กับเลขาธิการสหประชาชาติ เลขาธิการสหประชาชาติจะต้องเรื่องการเสนอแก้ไขไปยังรัฐภาคีอื่นๆของอนุสัญญาฯฉบับนี้ โดยการขอให้รัฐภาคีระบุว่าเห็นชอบท่จะให้มีการจัดประชุมเพื่อพิจารณาและลงคะแนนข้อเสนอแก้ไขหรือไม่ ในกรณีที่ภายในระยะเวลา 4 เดือนนับแต่วันที่ส่งจดหมายออกไป หากอย่างน้อยหนึ่งในสามของรัฐภาคีเห็นชอบต่อข้อเสนอให้มีการประชุม ก็ให้เลขาธิการสหประชาชาติจะนัดประชุมภายใต้การอุปถัมภ์ ของสหประชาชาติ
- การแก้ไขใดๆที่เห็นชอบด้วยคะแนนสนับสนุนด้วยเสียงส่วนใหญ่สองในสามของรัฐภาคีที่เข้าประชุมและลงคะแนน จะส่งให้เลขาธิการสหประชาชาติเพื่อส่งให้รัฐภาคีทุกรัฐเพื่อให้การยอมรับ
- การแก้ไขอนุสัญญาฯที่ผ่านความเห็นชอบตามวรรค 1 ของข้อบทนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อรัฐภาคีจำนวนสองในสามของอนุสัญญาฯฉบับนี้ได้ให้การยอมตามกระบวนการรัฐธรรมนูญแล้ว
- เมื่อการแก้ไขอนุสัญญาฯ ฉบับนี้มีผลบังคับ ก็ให้มีผลผูกพันรัฐภาคีที่ได้ให้การยอมรับข้อแก้ไขนั้น สำหรับรัฐภาคีอื่นๆก็จะยังคงผุกพันตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯฉบับนี้ และข้อแก้ไขก่อนหน้านั้นที่ตนได้ยอมรับไปแล้ว
ข้อ 45
- อนุสัญญาฯฉบับนี้ ฉบับที่เป็นภาษาอาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน มีฐานะใช้ได้เท่าเทียมกัน โดยจะมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ
- เลขาธิการสหประชาชาติจะส่งสำเนาที่รับรองถูกต้องของนอนุสัญญาฯฉบับนี้ ให้แก่รัฐภาคีทั้งหมดตามที่ระบุในข้อ 38