ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.30 น. วันที่ 10 กันยายน 2556 ผู้แทนญาติผู้สูญหาย และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน นำโดย นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย นีละไพจิตร นายณัฐวัฒน์ เหล่าธนาทรัพย์ ทายาทของนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ ผู้สูญหายที่จังหวัดขอนแก่น และนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอทราบท่าทีและขอคำตอบจากรัฐบาลต่อปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยมีสาระสำคัญในจดหมายว่า
“เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นวันสากลแห่งการรำลึกถึงผู้สูญหาย (International Day of Disappearances) เครือข่ายญาติพี่น้องของผู้สูญหายได้มีโอกาสพบปะกัน ในระหว่างการเสวนาว่าด้วยปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน อาจารย์ นักวิชาการด้านกฎหมาย และสังคม ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และสิทธิเสรีภาพของประชาชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เรียนรู้ และรับรู้ว่าปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนานไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยที่รัฐยังมิได้ให้ความใส่ใจเท่าที่ควรจะเป็น
หรืออาจไม่มีความสามารถที่จะดำเนินการให้เกิดความกระจ่าง จากการแสวงหาความจริงให้แก่ญาติพีน้องผู้สูญหาย ให้ทราบว่าผู้ที่เป็นที่รักเหล่านั้นได้สูญหายไป ณ แห่งหน ตำบลใด ใครเป็นผู้ก่อให้เกิดการกระทำนั้นขึ้น” และยังระบุต่ออีกว่า “การรอคอยการกลับมาของผู้สูญหาย เป็นสิ่งที่นาเจ็บปวดเป็นอย่างยิ่ง แม้กระทั่งไม่มีหน่วยงานรัฐใดๆ ที่จะแสดงความรับผิดชอบในการคลี่คลายความสงสัยเหล่านั้นอย่างจริงจัง”
“จึงได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้นำรัฐบาล ได้ช่วยคลี่คลายข้อสงสัยดังต่อไปนี้
1. ให้ความกระจ่างว่า คดีนายทนง โพธิ์อ่าน มีความคืบหน้าอย่างไร มีกระบวนการค้นหาอย่างจริงจังหรือไม่ จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร
2. ให้ความกระจ่างว่า ผู้สูญหาย 39 ราย ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นั้น มีความคืบหน้าอย่างไร
3. ให้ความกระจ่างว่า กรณีนายสมชาย นีละไพจิตร มีความคืบหน้าอย่างไร ทั้งในทางคดี และการค้นหาบุคคล
4. ให้ความกระจ่างว่า คดีนายกมล เหล่าโสภาพันธ์ มีความคืบหน้าอย่างไร ทั้งในขั้นตอนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และการสืบค้นหาบุคคลอย่างจริงจัง
และขอให้รัฐบาลดำเนินการให้มีการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย โดยมิชักช้า รวมถึงการยกร่างกฎหมายเพื่ออนุวัตตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ และขอให้รัฐบาลได้แถลงถึงท่าทีให้ชัดเจนว่า จะจัดการกับปัญหาการถูกบังคับให้สูญหายอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร มีมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน และป้องกันมิให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิได้อย่างไร โดยเครือข่ายญาติของผู้สูญหาย และองค์กรสิทธิมนุษยชน จะมาขอคำตอบจากนายกรัฐมนตรี ภายในกำหนด 30 วัน”
“สิ่งที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปราศรัยระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา ว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจของประชาธิปไตย” ตลอดจนสาระอื่น ๆ ย่อมเป็นการประกาศต่อสาธารณชน และประชาคมระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงถือเป็นความจำเป็นยิ่งที่ท่านจะต้องดำเนินการให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้บรรลุมรรคผล อย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน” จดหมายดังกล่าวระบุ
ช่วงท้ายของหนังสือยังระบุถึงความคาดหวังว่า “ข้อสงสัย และข้อกังวลของเครือข่ายญาติของผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีการถูกบังคับให้สูญหาย และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนจะได้รับความใส่ใจด้วยดี ในฐานะพลเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และในฐานะมนุษย์ที่ยังมีลมหายใจ ซึ่งพึงจะได้รับสิทธิตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล”
โดยหนังสือฉบับดังกล่าวร่วมลงนามโดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ญาติผู้สูญหาย รวมทั้ง ดร. จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
นางอังคณา นีละไพจิตร ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ถึงความสำคัญ และความจำเป็นของ “การคุ้มครองพยาน ทั้งครอบครัวของเหยื่อ และประจักษ์พยาน รวมถึงพยานแวดล้อมที่เห็นเหตุการณ์ เนื่องจากพยานจำนวนไม่น้อย ถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในรูปแบบต่างๆ ทำให้เกิดความเกรงกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย ในจำนวนนี้ มีสองคดีที่อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของ DSI แต่ไม่มีความคืบหน้า ได้ทราบมาว่าคดีนายกมลฯ อาจจะถูกจำหน่ายคดีเร็วๆ นี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ระบุว่าไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม
ซึ่งตนเห็นว่า การแสวงหาข้อมูลเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนของ DSI จะมัวรอให้ข้อมูลเข้ามาหาคงไม่ได้ สำหรับคดีของทนายสมชายฯ ตนเห็นว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษควรศึกษาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในข้อบกพร่องของคดี เพื่อให้หลักฐานของคดีมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่นการยืนยันความถูกต้องของข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของกลุ่มบุคคลที่ติดตามทนายสมชาย ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 จนถึงเวลาที่ทนายสมชายถูกลักพาตัว นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเชิญคณะทำงานด้านการบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย เพื่อสร้างความโปร่งใส และให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อผู้ถูกกระทำ”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม campaign4hr@gmail.com หรือ โทร 081 866 2136 บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์