[:th]CrCF Logo[:]
ซ้อมทรมาน

รายงานสถานการณ์การทรมานในประเทศไทย การปฏิบัติตามข้อ 14 ของรัฐภาคีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เรื่องการชดเชยเยียวยา

Share

รายงานสถานการณ์การทรมานในประเทศไทย การปฏิบัติตามข้อ 14 ของรัฐภาคีต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เรื่องการชดเชยเยียวยา โดย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นำเสนอเวทีนำเสนอสถานการณ์การทรมานในประเทศไทย

วันที่ 25 มิถุนายน 2556

ข้อ 14 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยมีข้อกำหนดให้รัฐภาคีทุกแห่ง “ประกันในระบบกฎหมายของตนว่าผู้เสียหายจากการทรมานได้รับการชดใช้ทดแทนและมีสิทธิซึ่งสามารถบังคับคดีได้ ที่จะได้รับสินไหมทดแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอ รวมทั้งวิถีทางที่จะได้รับการบำบัดฟื้นฟูสภาพอย่างเต็มรูปแบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” คณะกรรมการเห็นว่า ข้อ 14 มีผลบังคับใช้กับผู้เสียหายจากการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (นับจากนี้เรียกว่า “การปฏิบัติที่โหดร้าย”)

รายงานฉบับนี้เป็นการวิเคราะห์จากกรณีศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 76 กรณีโดยการสัมภาษณ์จากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ การปราบปรามยาเสพติด จำนวน 10 กรณีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทนายความอิสระ การปราบปรามอาชญกรรมธรรมดา จำนวน 2 กรณี โดยทนายความและอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน การปราบปรามการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 60 กรณี โดยกลุ่มด้วยใจและเครือข่ายสิทธิมนุษยชน HAP การปราบปรามการชุมนุมจำนวน 4 กรณี รวมทั้งศึกษาจากจำนวนกว่า 300 กรณีสัมภาษณ์จากญาติที่มาร้องเรียนกับหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จากทำงานของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สรุปได้ดังนี้

1. ประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุมการชดใช้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมาน เนื่องจากในกฎหมายพรบ.ค่าชดเชยผู้เสียหายในคดีอาญา ระบุว่าผู้เสียหายในคดีอาญาเป็นคดีอาญาตามกฎหมาย ประเทศไทยยังไม่มีข้อหาการทรมานบัญญัติไว้ ดังนี้ “การเยียวยาอย่างเป็นผล” และ “การชดเชย” ในทางกฎหมายไม่มีในประเทศไทย ทั้งนี้หมายรวมถึงในระบบกฎหมายไทยยังไม่มีการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม การชดใช้สินไหมทดแทน การบำบัดฟื้นฟูสภาพ การทำให้พอใจ และประกันว่าการทรมานจะไม่เกิดขึ้นอีก สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมาน

2. การทรมาน การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ยังไม่เป็นความผิดทางอาญาในกฎหมายไทย ร่างการแก้ไขกฎหมายอาญาเพื่อให้มีข้อหาความผิดการทรมานเป็นความผิดอาญาตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 (2010) และต่อมาได้มีการพิจารณายกร่างใหม่อีกครั้งระหว่างเดือนมกราคม ถึงมีนาคม ปีพ.ศ. 2556 ไม่รวมถึงการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตามนิยามในอนุสัญญานี้

3. ขั้นตอนการร้องเรียนของผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมานในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มาก หากผู้เสียหายจะดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษอย่างเป็นทางการต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ เพราะตามกฎหมายอาญาการเริ่มกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเริ่มที่การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในเขตพื้นที่ที่เกิดเหตุ ทั้งในกรณีการบังคับใช้กฎหมายบ้านเมืองปกติและกรณีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่นการปราบปรามการค้ายาเสพติด ปราบปรามการชุมนุม ปราบปรามการก่อความไม่สงบ ฯลฯ หรือแม้แต่กรณีที่ทนายความสิทธิมุษยชนดำเนินการฟ้องร้องคดีเองก็ไม่สามารถนำผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ เช่นกรณีอิหม่าม ยะผา เมื่อผู้ต้องสงสัยเป็นทหาร ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารที่ทางญาติผู้เสียหายไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการส่งเสริมภาวะการปล่อยให้คนผิดลอยนวลเนื่องจากข้อจำกัดในการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินคดีอาญาต่อผู้สงสัยกระทำผิด เช่นมีตัวอย่างการร้องทุกข์ของญาติ ตำรวจไม่รับแจ้งความ กรณีศาลระบุว่าการไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษเรื่องทรมาน ทำให้ข้ออ้างไม่น่าเชื่อถือ เป็นต้น

4. หากเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยหรือการพบเห็นว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บในระหว่างที่ผู้เสียหายจากการทรมานยังอยู่ในระหว่างการควบคุมตัว ญาติหรือสมาชิกในครอบครัวได้รับรู้เรื่องการทรมานและการปฎิบัติอย่างโหดร้าย ญาติหรือสมาชิกในครอบครัวไม่สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับสถานีตำรวจท้องที่ได้

5. ในกรณีที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ทนายความไม่สามารถพบกับผู้เสียหายเพื่อสอบข้อเท็จจริงอย่างเป็นเฉพาะตัวได้ องค์กรอิสระเช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหากได้รับเรื่องร้องเรียนก็จะต้องแจ้งและขออนุญาตเพื่อเข้าพบซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 3 วัน

6. ประเทศไทยมีผู้เสียหายได้แก่บุคคลทั้งที่เป็นปัจเจกหรือกลุ่มซึ่งได้รับอันตรายทั้งในทางกายหรือใจก็ดี ความทุกข์ด้านอารมณ์ ความเสียหายด้านเศรษฐกิจ หรือความเสียหายใหญ่หลวงต่อสิทธิพื้นฐานของตนเองจำนวนมาก โดยจากการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีจำนวน 102 กรณี นับแต่ปีพ.ศ. 2550 ถึง ปี 2556
จากจำนวนเรื่องร้องเรียนที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมีจำนวน 300 กรณีนับแต่ปีพ.ศ. 2550 ถึงปี 2555

7. ความเสี่ยงในการร้องเรียนกรณีทรมาน แม้แต่ทนายความที่ให้ความช่วยเหลือคดีทรมานแก่ผู้ต้องหาตกเป็นผู้ที่ได้รับอันตราย เช่นกรณีทนายสมชาย ถูกบังคับให้หายตัวไป กลุ่มผู้เสียหายที่ร้องเรียนขอความช่วยเหลือและต้องการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดการทรมานถูกฟ้องดำเนินคดีกลับข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ เช่นกรณีนายซูดีรือมัน มาเละ กำนันโต๊ะเด็ง และกลุ่มผู้เสียหายกรณีปล้นปืน ปี พศ. 2547 ตำรวจผู้ถูกกล่าวหาไม่ถูกตั้งข้อหา ไม่ถูกสั่งให้พักราชการ แม้จะถูกทางปชช. แจ้งข้อกล่าวหา แต่มาด้วยแรงกดดันทางการเมืองปปช. มีคำสั่ง “ไม่มีมูล” ส่งผลให้ตำรวจกลุ่มดังกล่าวลอยนวลและเริ่มฟ้องกลับผู้รอดพ้นจากการทรมาน

การมีส่วนร่วมของผู้เสียหายในกระบวนการเยียวยา และการบำบัดฟื้นฟูศักดิ์ศรีของผู้เสียหายซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สูงสุดของข้อบัญญัติว่าด้วยการเยียวยา

8. ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายหรือกำหนดให้มีกลไกรับข้อร้องเรียนเป็นการเฉพาะ เพื่อกำหนดให้มีหน่วยงานและสถาบันเพื่อสอบสวน รวมทั้งการมีหน่วยงานตุลาการที่เป็นอิสระซึ่งมีความสามารถจำแนกสิทธิและกำหนดให้มีการเยียวยากับผู้เสียหายจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย และประกันว่าผู้เสียหายทุกคนสามารถเข้าถึงกลไกและหน่วยงานเหล่านี้อย่างเป็นผล

9. การตรวจบาดแผลโดยแพทย์มักเกิดขึ้นเมื่อมีการร้องขอจากหน่วยงานระดับสูงขึ้นไป เช่นการตรวจโดยแพทย์ทหารในค่ายย่อย การตรวจโดยแพทย์โรงพยาบาลทหารในค่ายหลัก หากแต่ญาติและทนายความไม่สามารถเข้าถึงหลักฐานการตรวจบาดแผลและอาการเจ็บปวดระหว่างการควบคุมตัวของทหารได้ และอีกทั้งไม่มีความน่าเชื่อถือ

10. หากมีการขอตรวจร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัวตามคำร้องข้อเช่น กรณีผู้ต้องสงสัยที่เป็นเยาวชนในจังหวัดเชียงใหม่สองราย เหตุเกิดเดือนเมษายน 2556 เมื่อสถานพินิจอนุญาตให้นำตัวผู้เสียหายจากการทรมานที่โรงพยาบาลภายนอกได้ แต่ผลการตรวจร่ายกายของแพทย์ ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มีความละเอียดไม่เพียงพอและญาติ ทนายความ อาสาสมัครไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยหรือแนะนำการสื่อสารหรือร้องขอให้แพทย์ตรวจร่างกายอย่างละเอียด

11. ประเทศไทยขาดความเข้าใจเรื่องผลกระทบจากการทรมานในหมู่บุคคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นอย่างมาก แพทย์ที่ปฎิบัติหน้าที่ปกติในสถานพยาบาลมักไม่ให้ความสำคัญกับการตรวจร่างกายและการตรวจรักษาอย่างละเอียด

12. การย้ายสถานที่ควบคุมตัวในบางครั้งมีการถ่ายรูปเก็บบันทึกข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบเช่น กรณีเรือนจำต่างๆ หากแต่ข้อมูลดังกล่าวกลับถูกบันทึกโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องสาธารณสุขหรือเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ไม่ใช่แพทย์ ที่ไม่มีความรู้ชำนาญ อีกทั้งไม่สามารถตรวจรักษาหรือบันทึกรายละเอียดของบาดแผลได้ดีพอ ต่อการรักษา บำบัดฟื้นฟูสภาพ

ข้อจำกัดของสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาภายใต้กลไกปัจจุบัน การเยียวยามีด้วยกันห้ารูปแบบ ได้แก่ การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม การชดใช้สินไหมทดแทน การบำบัดฟื้นฟูสภาพ การทำให้พอใจ และหลักประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก

13. การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ตามหลักการการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมต้องมีจำนวนเพียงพอ เป็นผล และครอบคลุม มีการกำหนดมาตรการเยียวยาและชดใช้ค่าเสียหายสำหรับผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย จะการพิจารณาเงื่อนไขเฉพาะและพฤติการณ์ของแต่ละกรณี การเยียวยาควรมีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้เสียหาย และมีสัดส่วนเหมาะสมเมื่อคำนึงถึงความรุนแรงของการละเมิดที่เกิดขึ้น การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยตัวของมันเองย่อมมีผลในเชิงป้องกันและระงับไม่ให้เกิดการละเมิดขึ้นอีกในอนาคต

14. หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่ในนามของหน่วยงานรัฐทราบ หรือมีเหตุผลอันควรที่เชื่อได้ว่าการกระทำที่เป็นการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายเกิดขึ้นจากผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หรือเป็นเอกชน แต่กลับมิได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกัน สอบสวน ฟ้องร้องดำเนินคดี และลงโทษผู้ที่ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หรือเป็นเอกชนดังกล่าวให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับนี้ ย่อมถือได้ว่ารัฐมีความรับผิดชอบต้องจัดให้มีการเยียวยาสำหรับผู้เสียหาย

สินไหมทดแทน

15. สภาพเสี่ยงที่มีอยู่ของเหยื่อที่ถูกทรมานและปฎิบัติย่างไร้มนุษยธรรม ปรากฎในสถานการณ์ต่างๆแบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างจากจำนวนกรณีศึกษาสามสถานการณ์คือการปราบปราบยาเสพติด ปราบปรามการก่อความไม่สงบฯ ยกเว้นในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการกำหนดการจ่ายสินไหมทดแทนเป็นตัวเงินต่อกรณีการทรมานตามระเบีบบสำนักนายกฯ และศอบต. แต่มีผู้ได้รับค่าชดเชยเป็นตัวเงินเพียง 5 กรณี ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 ทั้งๆ ที่มีเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2547- ปัจจุบันจำนวน 102 กรณี ทั้งนี้ผู้เสียหายจากการทรมานฯ ทั่วประเทศยังไม่สามารถขอรับค่าเสียหายในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญาได้ ตามพรบ. และระเบียบของกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมได้ เนื่องจากข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานยังไม่เป็นคดีอาญา นั้นหมายความว่าเหยื่อส่วนใหญ่ทั่วประเทศไม่สามารถเข้าถึงการชดเชยโดยพลัน การชดเชยอย่างเป็นธรรม และอย่างเพียงพอ ในเชิงเศรษฐกิจและเป็นผล และไม่สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลแต่อย่างไร

16. ปัญหาในการประเมินค่าความเสียหายทั้งที่ประเมินเป็นเงินได้และที่ประเมินไม่ได้ โดยเป็นผลมาจากความเจ็บปวดทางกายและจิตใจที่เกิดขึ้น การสูญเสียรายได้ที่มีอยู่และรายได้ที่ควรจะได้รับอันเนื่องมาจากความพิการอันเป็นผลมาจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย และการสูญเสียโอกาสอย่างเช่น โอกาสที่จะมีงานทำและมีการศึกษา เหล่านี้ไม่สามารถประเมินได้

ยกตัวอย่างแนวคำสั่งศาลปกครองในคดีแพ่งต่างๆเช่นคดีนายรายูฯ ได้รับค่าค่าเสียหายจากการได้รับทุกขเวทนาต่อจิตใจและต่อสิทธิและเสรีภาพในร่างกาย อนามัย และจิตใจ จำนวน 200,000 บาท และ- ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ จำนวน 10,800 บาท จากคำสั่งศาลปกครองสงขลา หรือในคดีนศ.ยะลา ศาลปกครองสงขลาตัดสินให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายจากการสูญเสียเสรีภาพ จำนวน 250,000 บาทและค่ารักษาพยาบาล 5000 บาท คดีทั้งสองคดีผู้เสียหายเป็นผู้รอดพ้นจากการทรมานทางอัยการและผู้เสียหายอุทธรณ์คำสั่งฯ ทั้งนี้

17. การให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายหรือความช่วยเหลือเฉพาะทางอย่างอื่น และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกรณีที่ต้องมีการฟ้องร้องคดีเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือคดีหรือข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการทรมานยังมีไม่มากนักในระดับประเทศยกเว้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ​สำหรับการให้ความช่วยเหลือจากสภาทนายความและการรับเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหลายกรณีไม่เป็นคดีความและไม่สามารถเรียกร้องสิทธิทางศาลได้

การบำบัดฟื้นฟูสภาพ

18. ประเทศไทยยังไม่มีความรู้และการทำงานที่เป็นลักษณะเป็นองค์รวมและครอบคลุมการดูแลด้านการรักษาและจิตใจ รวมทั้งบริการทางกฎหมายและสังคม การบำบัดฟื้นฟูสมรรถนะหรือการฝึกทักษะใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการยอมรับว่ามีการทรมานเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างเป็นทางการจึงไม่มีแผนงานการสนับสนุนให้เกิดให้มีการสร้างให้เกิดสมรรถนะทางกาย ใจ สังคม และอาชีพ และการกลับเข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แม้ตามหลักการคณะกรรมการต่อต้านการทรมานจะย้ำว่า พันธกรณีของรัฐภาคีที่จะต้องจัดให้มีช่องทางเพื่อ “การบำบัดฟื้นฟูสภาพอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” หมายถึงความจำเป็นที่จะต้องบำบัดฟื้นฟูและชดเชยต่ออันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย

19. ปัญหาที่ไม่สามารถบำบัดฟื้นฟูศักดิ์ศรี สุขภาพ และการพึ่งตนเองอย่างเต็มที่ได้ ทั้งนี้โดยเป็นผลมาจากการทรมานอย่างรุนแรงเนื่องจากขาดบุคคลากรที่เข้าใจและมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการบำบัดฟื้นฟูเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการทรมาน หลายคดีตัวอย่างจากการทำงานของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ทนายความมุสลิม กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (HAP) พบว่าเหยื่อในกรณีศึกษาทั้ง 76 กรณีไม่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจากหน่วยงานใดใด นอกจากการให้ความช่วยเหลือกันเองจากเพื่อนและญาติ ซึ่งปรากฎว่าหลายกรณีปรากฎว่ามีอาการ PTSD โรคซึมเศร้า ฯลฯ การที่รัฐอ้างว่าไม่มีงบประมาณของรัฐไม่ได้ และไม่ได้กำหนดให้สามารถงดเว้นการให้ความช่วยเหลือบำบัดฟื้นฟูเหยื่อกลุ่มนี้ไปได้ในทางปฏิบัติ รวมทั้งจากการสัมภาษณ์เหยื่อทั้ง 10 กรณีจากสถานการณ์การทรมานในภาคเหนือโดยทนายความอิสระในเรือนจำ แห่งหนึ่งพบว่าเหยื่อทั้ง 10 กรณีไม่เคยได้รับการบำบัดฟื้นฟูสภาพแต่อย่างใด

20. ทางคณะทำงานฯศึกษาได้นำแนวทางการใช้คู่มือการสอบสวนและการเก็บข้อมูลอย่างเป็นผล กรณีที่เกิดการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พิธีสารอีสตันบูล (Manual on the Effective Investigation and Documentation of Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – the Istanbul Protocol) มาใช้ในการสัมภาษณ์กรณีตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 40 กรณีระหว่างเดือน เมษายน 2553 ถึง กรกฎาคม 2553 และ จำนวน 20 กรณีระหว่างเดือนมกราคมพ.ศ. 2556 –มิถุนายน 2556

21. การสัมภาษณ์พบว่าอาการทางจิตใจของผู้ที่ถูกซ้อมทรมานคือ อาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า รู้สึกผิด หวาดระแวง สับสนนอนไม่หลับ ฝันร้าย และสูญเสียความทรงจำ ผู้ที่ถูกซ้อมทรมานบ่อยครั้งที่จะไม่เต็มใจเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้าย พวกเขาอาจจะ สงสัย หวาดกลัว หรือ กังวลใจกับการลืมเหตุการณ์ที่เกิด ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเหตุให้พวกเขาท้อถอยที่จะค้นหาความช่วยเหลือในสิ่งที่ตนเองต้องการผู้ที่ถูกซ้อมทรมานที่ยังคงเป็นผู้ต้องขัง และครอบครัวจะสูญเสียคุณค่า และ ความเชื่อบางอย่าง ที่จะยังคงอยู่กับพวกเขาก่อนที่พวกเขาจะผ่านความเจ็บปวด พวกเขาอาจจะไม่สามารถเชื่อคนอื่น และ ทำให้กลายเป็นความเข้าใจผิด นี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและเป็นผลกระทบระยะยาว ของผู้ที่ถูกซ้อมทรมาน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่คนในครอบครัวถูกคุมขังที่เผชิญกับความยากลำบาก อาทิเช่น เด็กต้องยุติการเรียนก่อนวัยอันควร และปัญหาความสัมพันธ์ของเด็ก ๆ กับสังคม ชุมชน

22. การทรมานกรณีการปราบปรามความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบทางจิตใจต่อสังคมและสมควรได้รับการเปิดเผยอย่างกว้างขวาง การคุมขังและซ้อมทรมานสามารถใช้เป็นอาวุธทางการเมือง โดยผู้ปกครองที่ต้องการปราบปรามผ่านรูปแบบพฤติกรรมของความกลัว นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ที่ผลกระทบจากการคุมขัง ซ้อมทรมาน จะขยายความเกลียดชัง และต่อต้านเจ้าหน้าที่ และ การล่าวหาเรื่องการทรมานสามารถทำให้ความขัดแย้งยังคงอยู่ต่อไป ผลกระทบของการคุมขัง ซ้อมทรมาน จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน จะสูญเสียความเป็นผู้นำ ประชาชนต้องต่อสู้ในการเข้าสู่สังคมในที่สาธารณะ และการขาดความเชื่อใจอย่างลึกซึ้งต่อสังคม ตำรวจ และ ศาล​เหล่านี้คือลักษณะของการขาดประชาธิปไตย และ ทำลายหลักกฎหมายในสังคม ประชาชนที่ได้รับความการปราบปรามเช่นนี้สามารถที่จะหันไปสู่วิธีการใช้ความรุนแรง และกระทำการต่อต้านสังคม ผู้ถูกคุมขัง ซ้อมทรมาน เป็นประชาชนที่อ่อนแอ และต้องการความช่วยเหลือที่ยั่งยืนเพื่อนำพวกเขาเข้าสู่สังคมอย่างภูมิใจในตนเอง

23. บทบาทสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมมีบทบาทในการชันสูตรศพของผู้ต้องสงสัยที่เสียชีวิตในการควบคุมตัวอย่างน้อยสองกรณีในจังหวัดชายแดนใต้ มีบทบาทในการระบุถึงสภาพศพของผู้ตายที่อาจบ่งบอกได้ถึงการถูกทำร้ายร่างกายมาก่อนการเสียชีวิต เช่นกรณีนายยาการียา ปะโอมานิ กรณีนายยะผา กาเซ็ง เป็นต้น อย่างไรก็ดีสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการตรวจรักษาบาดแผลอันเกิดจากการทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

24. กรมสุขภาพจิตที่ 15 จังหวัดปัตตานีอาจเป็นเพียงหน่วยงานรัฐหน่วยงานเดียวในประเทศไทยที่มีแผนการเยี่ยมเยือนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงซ้ำซ้อนที่รวมถึงเหยื่อที่ถูกทรมาน ซึ่งเป็นเพียงพื้นที่เดียวที่มีสถานการณ์พิเศษอย่างเช่นในจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้การบริการของกรมสุขภาพจิตในพื้นที่ทั่วประเทศไทยนั้นยังไม่บริการและโครงการบำบัดฟื้นฟูสภาพโดยคำนึงถึงศาสนา วัฒนธรรม บุคลิกภาพ ประวัติและความเป็นมาของผู้เสียหาย และส่งเสริมให้ผู้เสียหายเข้าถึงบริการเหล่านี้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เช่นกรณีกลุ่มชายขอบหรือกลุ่มที่เสียเปรียบ รวมทั้งผู้ที่เป็นผู้แสวงหาที่พักพิงและผู้ลี้ภัย ในกรณีที่ถูกควบคุมตัวยาวนานในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลูกรุงเทพ เป็นต้น

25. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในระดับบริหารมีความเข้าใจปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเข้าใจผู้ต้องหาคดีความมั่นคงทั้งในด้านอุดมการณ์ ปัญหาของกระบวนการยุติธรรม และเข้าใจในหลักการของสิทธิมนุษยชน แต่ในการดูแลผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในเรือนจำนั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละเรือนจำอาทิเช่น การจัดการอาหารฮาลาล การดูแลผู้ป่วยในเรือนจำ หากแต่ในกรมราชทัณฑ์ หรือในเรือนจำเกือบทุกแห่งยังขาดการประเมินของแพทย์ผู้เป็นอิสระและมีคุณสมบัติเหมาะสมในสถานที่ควบคุมตัวในกรณีที่พบเห็นสภาพของผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย อาจมีการจัดเก็บภาพถ่ายก่อนและหลังการเข้าสู่กระบวนการกักขังโดยกรมราชทัณฑ์หากแต่ ประเทศไทยยังไม่ได้ให้มีบริการบำบัดฟื้นฟูโดยตรง หรือสนับสนุนเงินทุนให้หน่วยงานแพทย์ หน่วยงานกฎหมาย และหน่วยงานอื่น ๆ ของเอกชนให้บริการเหล่านี้แทน

26. ประเทศไทยควรกำหนดให้มีมาตรการและโครงการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อการบำบัดฟื้นฟูสภาพของผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย ผู้เสียหายจากการทรมานไม่สามารถเข้าถึงโครงการบำบัดฟื้นฟูสภาพโดยเร็ว อีกทั้งหน่วยงานทางการแพทย์อาจไม่มีบริการล่ามแปลภาษา ในการรักษาหรือตรวจรักษาอันเกี่ยวกับการทรมาน การบริการขององค์กรพัฒนาเอกชนเป็นไปเพียงตามกำลังและศักยภาพ เช่นในกรณีจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งรัฐยังไม่ให้การสนับสนุน แม้ว่าจะยังไม่มีคุกคามต่อหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเหล่านี้

การทำให้พอใจและสิทธิที่จะเข้าถึงความจริง

27. การสอบสวนและฟ้องร้องคดีทางอาญาโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ปปช. ปปท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพฯ ยังมีอุปสรรคในการทำให้ความจริงปรากฎในกรณีข้อร้องเรียนเรื่องการทรมาน ในบางคดีหน่วยงานดังกล่าวยังขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการเปิดเผยความจริงที่ค้นพบอย่างเต็มที่ต่อสาธารณะ มาตรการลงโทษทางวินัย และทางอาญาต่อบุคคลที่ทำการละเมิด ไม่มีการขอโทษต่อสาธารณะหรือการยอมรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและยอมรับความรับผิดชอบ ยกตัวอย่างความล่าช้าของคดีอิหม่ามยะผา ในส่วนที่เกี่ยวกับปปช. การไม่ทำการสอบสวน ฟ้องร้องคดี หรือดำเนินการทางแพ่งเมื่อเกิดข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานขึ้นโดยทันที อาจถือเป็นการปฏิเสธไม่ให้มีการเยียวยาในทางพฤตินัย และย่อมถือเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีข้อ 14

การประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก

28. มาตรการเพื่อแก้ปัญหาการลอยนวลพ้นผิด อาจหมายรวมถึง คำสั่งการให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับข้อบัญญัติทราบอย่างชัดเจน กรณีโดยเฉพาะข้อห้ามโดยสมบูรณ์ต่อการทรมาน มาตรการอื่น ๆ การส่งเสริมความเป็นอิสระของตุลาการ การคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน และผู้ให้ความช่วยเหลือต่อผู้เสียหายจากการทรมานทั้งในด้านกฎหมาย สุขภาพ และบริการอื่น ๆ ในปัจจุบันทางรัฐบาลอนุญาตให้อนุญาตให้ ICRC ตรวจเยี่ยมในเรือนจำในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และในพื้นที่อื่นๆ ครอบคลุมกว้างขวางมาขึ้น โดยการกำหนดให้มีระบบการเข้าเยี่ยมเพื่อตรวจสอบสถานคุมขังทุกแห่งอย่างสม่ำเสมอและเป็นอิสระ ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงสภาพของเรือนจำในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล

29. นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหลักสูตรของกระทรวงยุติธรรม อบรมเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งทหารและหน่วยงานความมั่นคงอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการอบรมเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจถึงความต้องการเฉพาะของกลุ่มชายขอบและกลุ่มผู้เสียเปรียบ

30. แต่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดีเอสไอ ปปช. ปปท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ยังไม่มีการจัดอบรมเป็นการเฉพาะโดยใช้คู่มือการสอบสวนและการเก็บข้อมูลอย่างเป็นผล กรณีที่เกิดการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและกฎหมาย และเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย ทำให้การสืบสวนสอบสวนต่อการร้องเรียนเรื่องทรมานยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่รวดเร็วและไม่เป็นกลาง

31. อีกทั้งขณะนี้ข้อหาการทรมานยังไม่เป็นความผิดทางอาญาตามอนุสัญญาฯ ทำให้ยังไม่มีการส่งเสริมให้ข้าราชการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ราชทัณฑ์ การแพทย์ จิตวิทยา บริการด้านสังคม และทหาร การทบทวนและปฏิรูปกฎหมายที่มีส่วนสนับสนุนหรือเปิดให้มีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย เนื่องจากโดยหลักการแล้วข้าราชการทุกคนที่ปฏิบัติตามกฎหมายต้องถือว่าการทรมานเป็นอาชญกรรมและเป็นข้อห้ามโดยเด็ดขาด

กลไกร้องเรียนและสอบสวนที่เป็นผล

32. ประเทศไทยยังขาดกลไกรับข้อร้องเรียนที่เป็นอิสระและอย่างเป็นผล เพื่อให้การเข้าถึงการชดใช้เยียวยาอย่างเต็มที่ ประชาชนไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของกลไกรับข้อร้องเรียนเป็นกลไกและสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งคนที่ถูกควบคุมตัว ไม่ว่าจะอยู่ในสถานควบคุมตัว สถานพยาบาล ผู้มีอาการทางจิต หรือที่อื่น ๆ ทั้งนี้การร้องเรียนอาจกระทำผ่านโทรศัพท์สายด่วน หรือการเปิดตู้รับข้อร้องเรียนในสถานควบคุมตัวและมีการเก็บข้อมูลเป็นความลับ หรือการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มคนชายขอบหรือผู้เสียเปรียบ รวมทั้งผู้ที่มีความสามารถจำกัดในการสื่อสารทางภาษาและความรู้ทางกฎหมาย

33. เมื่อพบว่ามีการทรมานเกิดขึ้นแล้วปัญหาที่ตามมาในการพิสูจน์ผู้กระทำความผิดคือ ผู้ถูกกระทำทรมานมักไม่ทราบตัวบุคคลที่กระทำ ผู้กระทำมีหลายราย หรือมีการอำพรางตัวบุคคล อีกทั้งไม่มีพยานบุคคล ส่วนร่างกายที่ถูกทำร้ายนั้นหากไม่ได้รับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงทีร่องรอยเหล่านั้นมักจะหายไป หรือในบางกรณีร่องรอยการทำร้ายอาจจะไม่ชัดเจนเช่นการใช้ผ้าพันไม้แล้วทุบ การใช้เข็มทิ่มเนื้อเยื่ออ่อนส่วนต่างๆของร่างกาย หรือการทำให้ขาดอากาศหายใจ เป็นต้น ปัญหาอีกประการคือ หากมีการร้องเรียนแล้วผู้ร้องเรียนหลายรายได้รับการปฏิเสธไม่รับแจ้งความ หรือเมื่อดำเนินคดีไปก็มักจะติดขัดอยู่ในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด กับเจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนบางครั้งมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด หรือบางครั้งผู้ที่ร้องเรียนเองอาจได้รับอันตรายจากการข่มขู่คุกคาม อันเป็นเหตุให้ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่กระทำทรมานยังคงลอยนวลและไม่ได้รับโทษที่ตนเองกระทำผิด

34. การสอบสวนและตรวจสอบตามข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการร้องเรียนเรื่องการทรมาน นั้นต้องดำเนินการโดยทันที อย่างเป็นผล และอย่างเป็นกลาง ต้องมีมาตรการทางการตรวจนิติเวช ซึ่งเป็นการตรวจทางนิติเวชอย่างเป็นอิสระ ทั้งทางกายและใจ ตามเนื้อหาที่สอดคล้องกับคู่มือการสอบสวนและการเก็บข้อมูลอย่างเป็นผล กรณีที่เกิดการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พิธีสารอีสตันบูล แสดงจำนวนหมอนิติเวช เชี่ยวชาญเรื่องนี้ในประเทศไทย ล้าช้า ไม่เหมาะสมอาจถือว่าละเมิดมาตรา 14

35. แม้ประเทศไทยเราไม่มีกฎหมายที่ห้ามการทรมานโดยเฉพาะเจาะจง แต่เนื่องจากการทำร้ายร่างกายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญา อีกทั้งการห้ามการทรมานถูกรองรับในมาตรา 32 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 โดยบัญญัติรับรองให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในร่างกายและห้ามการทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม และในกรณีที่มีการกระทําซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่งผู้เสียหาย พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายมีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับ หรือเพิกถอนการกระทําเช่นว่านั้นรวมทั้งจะกําหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความ เสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้ นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาในหมวดความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย ความผิดต่อสิทธิเสรีภาพ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการซึ่งสามารถปรับใช้ในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

36. อย่างไรก็ตามเนื่องจากความผิดฐานกระทำทรมานนั้นไม่ได้เน้นคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายเพียงประการเดียว แต่เนื่องจากผู้กระทำความผิดในฐานดังกล่าวต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ที่กระทำภายใต้อำนาจหน้าที่ของรัฐจึงเป็นเรื่องความไว้เนื้อเชื้อใจของระบบกระบวนการยุติธรรม ผู้รักษากฎหมายที่จะไม่เป็นผู้กระทำความผิดเสียเองเพราะไม่เช่นนั้นแล้ว สิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นจริง ฐานความผิดดังกล่าวจึงแตกต่างจากฐานความผิดต่อชีวิตและร่างกายทั่วไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบัญญัติเป็นฐานความผิดเรื่องการกระทำทรมานแยกออกมาต่างหากจากฐานความผิดทางอาญาทั่วไป และกำหนดโทษของผู้กระทำผิดให้สูงขึ้นเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการรักษากฎหมายแต่กลับกระทำความผิดเสียเองทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบกระบวนการยุติธรรม

37. ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะมีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นสถาบันของรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่ และมีคำตัดสินที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย หากแต่โดยกฎหมายที่ทางกรมคุ้มครองสิทธิใช้ในการเยียวยายังคงไม่เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายจากการทรมานเข้าถึงการเยียวยาได้ เนื่องจากพรบ.ดังกล่าวเป็นพรบ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา เมื่อการทรมานไม่มีการร้องเรียน ไม่มีการแจ้งข้อหา ไม่มีการดำเนินคดีเป็นคดีอาญา ทำให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ไม่สามารถช่วยให้ผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายเข้าถึงการเยียวยา รวมทั้งค่าชดเชยและการบำบัดฟื้นฟูสภาพใดๆ

38. บทสรุป ปัญหาการทรมานจะสามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การกำหนดมาตราการป้องกันและติดตามตรวจสอบการทำงาน รวมถึงให้ความร่วมมือในการแจ้งเหตุเพื่อให้มีบุคคลที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงเพื่อระงับการทรมานได้รวดเร็วที่สุด และหากเกิดการทรมานขึ้นกับตัวเราพยานหลักฐานในการตรวจสอบสภาพร่างกาย จิตใจ สภาพบาดแผลเป็นพยานหลักฐานสำคัญในลำดับต้นของการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ อย่างไรก็ตามแม้จะมีกฎหมายเพื่อป้องกันการทรมานในอนาคต การทรมานก็อาจจะดำรงอยู่หากคนในสังคมยังเพิกเฉยและไม่ตระหนักถึงปัญหานี้ร่วมกัน

อ้างอิง

1. คำถาม คำตอบสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทรมาน พ.ศ….
2. การศึกษาผลกระทบจากการทรมาน โดยกลุ่มด้วยใจ จังหวัดสงขลา
3. ข้อมูลจากการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีจำนวน 102 กรณี นับแต่ปีพ.ศ. 2550 ถึง ปี 2556
4. ข้อมูลจากจำนวนเรื่องร้องเรียนที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมมีจำนวน 300กรณีนับแต่ปีพ.ศ. 2550 ถึงปี 2555
5. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์กรณีศึกษาการปราบปรามยาเสพติด จำนวน 10 กรณีในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทนายความอิสระ
6. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์กรณีศึกษาการปราบปรามอาชญกรรมธรรมดา จำนวน 2 กรณี โดยทนายความและอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน
7. ข้อมูลจากการสัมภาษณ์กรณีศึกษาการปราบปรามการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 60 กรณี โดยกลุ่มด้วยใจและเครือข่ายสิทธิมนุษยชน HAP
8. ข้อมูลจากการสัมภาณ์ กรณีศึกษาการปราบปรามการชุมนุมปีพ.ศ. 2553 จำนวน 4 กรณี

Loader Loading…
EAD Logo Taking too long?

Reload Reload document
| Open Open in new tab

Download [1.34 MB]