บทนำ
อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สมัชชาสหประชาชาติตกลงรับเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2527
อนุสัญญาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกระทำการสองประการที่ต้องห้ามเด็ดขาด ไม่ว่าในสถานการณ์หรือข้ออ้างใดๆ (Absolute Prohibition) ไม่ให้เจ้าพนักงานของรัฐกระทำการ (รวมทั้งละเว้นกระทำการ) ยุยง ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำ คือ ประการที่(1) “การทรมาน” และ ประการที่ (2) “การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ายีศักดิ์ศรี” ซึ่งรัฐภาคีของอนุสัญญามีพันธกรณีจะต้องปฏิบัติ โดยการจัดให้มีและใช้มาตรการต่างๆ ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิดการกระทำดังกล่าว และจะต้องชดใช้เยียวยาด้วยวิธีการต่างๆแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการลงโทษเจ้าพนักงานที่กระทำผิด
“การทรมาน” ตามความหมายของอนุสัญญาหมายถึง การกระทำของเจ้าพนักงานรัฐ หรือการกระทำของบุคคลอื่นที่เกิดจากการยุยง ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจของเจ้าพนักงานรัฐ ต่อบุคคล (1) ให้เกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ไม่ว่าทางร่างกาย หรือ จิตใจ เพื่อมุ่งประสงค์ให้ได้มาซึ่งข้อมูล ข้อสนเทศหรือคำรับสารภาพจากบุคคนั้นหรือบุคคลอื่น หรือ (2) การลงโทษ หรือข่มขู่ให้กลัว หรือบังคับขู่เข็ญ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด
ส่วน “การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ายีศักดิ์ศรี” อนุสัญญาไม่ได้ให้คำนิยามไว้ เหตุผลประการหนึ่งก็เนื่องจากแม้จะมีหลักการพื้นฐานร่วมกันบางประการ แต่ปัจจัยในเชิงสังคม ประเพณีและวัฒนธรรม การกระทำและสภาพแวดล้อม และความเป็นพลวัฒน์ของปัจจัยเหล่านั้น มีส่วนอย่างมากในการที่จะพิจารณาว่าการกระทำใดเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีหรือไม่ ทั้งการกระทำดังกล่าวมีหลากหลายรูปแบบ การให้คำนิยามอาจส่งผลให้เป็นการจำกัด ทำให้การกระทำบางอย่างในอนาคตไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามอนุสัญญานี้
ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา โดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 และอนุสัญญามีผลใช้บังคับกับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา มีผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาและจะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยเสนอต่อคณะกรรมการรต่อต้านการทรมาน (UN Committee against Torture) โดยรายงานฉบับแรกให้เสนอภายในหนึ่งปีหลังจากอนุสัญญามีผลบังคับ และหลังจากนั้นก็ต้องเสนอรายงานทุกๆ สี่ปี
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบรายงานฉบับแรก เกี่ยวกับมาตรการที่ประเทศไทยได้ดำเนินการไปตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) โดยหลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอรายงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน เมื่อเดือนมีนาคม 2556 คาดว่าจะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการต่อต้านการทรมานในการประชุมที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ณ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557
ในการจัดทำรายงาน กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้เป็นเจ้าภาพประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการจัดทำ มีการดำเนินการเผยแพร่ ความรู้ความเข้าใจอนุสัญญา เก็บรวบรวมข้อมูลในระดับพื้นที่ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อกำหนดเค้าโครงรายงาน ระดมข้อมูล โดยการสะท้อนปัญหาการดำเนินงาน ให้ข้อคิด ข้อเสนอแนะในการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทย รวมทั้งได้จัดการประชุมเพื่อนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยต่อสาธารณชน เพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะในภาพรวมจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อให้ได้รายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยฉบับสมบูรณ์ นอกจากรายงานของรัฐภาคีที่ต้องเสนอต่อคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานแล้ว คณะกรรมการยังเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม เสนอรายงานคู่ขนานที่ตรวจสอบการดำเนินการของรัฐตามพันธกรณีตามอนุสัญญาโดยรอบด้านหรือเฉพาะด้านได้ด้วย
การเสนอรายงานผลการดำเนินงานในการต่อต้านการทรมานจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีระหว่างประเทศ อันจะทำให้ได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่นจากนานาประเทศซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม การค้า การลงทุน ฯลฯ นอกจากนี้ประชาชนจะเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐบาลในการป้องกันการกระทำทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และมีหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของตนซึ่งทัดเทียมกับมาตรฐานสากล
ความยากลำบากประการหนึ่งของการปฏิบัตตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และการจัดทำรายงานนผลการดำเนินงานของรัฐภาคีก็คือ การขาดความรู้ ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐในข้อบทของอนุสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้ในบริบททางสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐดังนกิจต่างๆกัน ดังนั้นคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน นอกจากการพิจารณารายงานของรัฐภาคีแล้ว คณะกรรมการยังมีบทบาทในการจัดทำข้อเสนอตีความข้อบทในอนุสัญญาโดยจัดทำเป็น “ความเห็นทั่วไป” (General Comment) ซึ่งเท่ากับเป็นคำอธิบายข้อบทต่างๆในอนุสัญญาให้กระจ่างชัด ง่ายต่อการทำความเข้าใจและการนำไปปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ได้รับรองเอกสารหมายเลข CAT/C/GC/3 คือความเห็นทั่วไปฉบับที่ 3 ของคณะกรรมการต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาข้อ 14 ว่าด้วยเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทรมาน ที่มีข้อกำหนดให้รัฐภาคีทุกแห่ง “ประกันในระบบกฎหมายของตนว่าผู้ถูกทำร้ายจากการกระทำการทรมานได้รับการชดใช้ทดแทนและมีสิทธิซึ่งสามารถบังคับคดีได้ ที่จะได้รับสินไหมทดแทนที่เป็นธรรมและเพียงพอ รวมทั้งวิถีทางที่จะได้รับการบำบัดฟื้นฟูสภาพอย่างเต็มรูปแบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ถูกทำร้ายเสียชีวิตอันเป็นผลจากการกระทำการทรมาน ให้ผู้อยู่ในอุปการะของบุคคลนั้นมีสิทธิที่จะได้รับสินไหมทดแทน” โดยกำหนดว่าการชดใช้เยียวยาหมายถึง “การเยียวยาอย่างเป็นผล” และ “การชดเชย” แนวคิดการชดเชยอย่างรอบด้านหมายรวมทั้ง การทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม การชดใช้สินไหมทดแทน การบำบัดฟื้นฟูสภาพ การทำให้พอใจ และการประกันว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก และยังอ้างถึงมาตรการโดยสมบูรณ์ที่จำเป็นเพื่อให้เกิดการชดใช้เยียวยากรณีที่การละเมิดเกิดขึ้น
คณะกรรมการต่อต้านการทรมานได้เน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้เสียหายในกระบวนการชดใช้เยียวยา และการฟื้นฟูศักดิ์ศรีของผู้เสียหายซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สูงสุดของข้อบัญญัติว่าด้วยการชดใช้เยียวยา ที่สำคัญคือรัฐภาคีจะต้องออกกฎหมายหรือกำหนดให้มีกลไกรับข้อร้องเรียนร้องทุกข์ กำหนดให้มีหน่วยงานและสถาบันเพื่อสืบสวนสอบสวน รวมทั้งการมีหน่วยงานตุลาการที่เป็นอิสระซึ่งมีความสามารถจำแนกสิทธิและกำหนดให้มีการชดใช้เยียวยากับผู้เสียหายจากการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย และประกันว่าผู้เสียหายทุกคนสามารถเข้าถึงกลไกและหน่วยงานเหล่านี้อย่างเป็นผล รัฐภาคีต้องประกันว่าผู้เสียหายจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายได้รับการเยียวยาและการชดเชยอย่างเต็มที่และอย่างเป็นผล รวมทั้งค่าสินไหมทดแทนและช่องทางเพื่อการบำบัดฟื้นฟูสภาพอย่างสมบูรณ์เท่าที่จะเป็นไปได้
ในการช่วยให้ผู้เสียหายได้รับสิทธิที่จะได้รับการชดใช้เยียวยา หน่วยงานที่มีอำนาจของรัฐภาคีจะต้องสืบสวนสอบสวนและตรวจสอบตามข้อร้องเรียนร้องทุกข์โดยทันที อย่างเป็นผล และอย่างไม่ลำเอียง ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดีทางอาญา รวมทั้งผลการตัดสินในคดีอาญาไม่ควรส่งผลกระทบต่อการฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง ทั้งนี้รวมถึงการสร้างกลไกการเข้าถึงการได้รับการชดใช้เยียวยา การขจัดอุปสรรคต่อการใช้สิทธิที่ การสนับสนุนกองทุนโดยสมัครใจเพื่อสนับสนุนผู้เสียหายจากการทรมานขององค์การสหประชาชาติ และการติดตามตรวจสอบและการรายงานผลการดำเนินงานของรัฐภาคี
ในวาระที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันรณรงค์สนับสนุนนผู้เสียหายจากการทรมาน วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี มูลนิธิผสานวัฒนธรรมโดยการสนับสนุนของ Open Society Foundation ได้จัดทำโครงการรณรงค์การต่อต้านการทรมานในประเทศไทย จึงได้จัดพิมพ์คำแปล ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 3 ของคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ต่อการปฏิบัติตามข้อ 14 ว่าด้วยเรื่องการชดใช้เยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานและการปฎิบัติที่โหดร้ายฯ เพื่อเป็นประโยชน์ในส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจต่อวัตถุประสงค์ของข้อบัญญัติว่าด้วยการชดใช้เยียวยาผู้เสียหาย และนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับเจตนารมย์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การทรมานเป็นอาชญากรรม และเป็นข้อห้ามเด็ดขาด
Torture is a crime and absolutely prohibited
คณะผู้จัดพิมพ์
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
มิถุนายน 2556