เผยแพร่วันที่ 17 มิ.ย. 2556
แถลงการณ์สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เรื่อง ขอให้ทุกฝ่ายเคารพเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็น
จากกรณีกลุ่มคนรักเชียงใหม่ 51 ได้เข้าปะทะกับกลุ่มหน้ากากขาวที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นจาก กลุ่มหน้ากากขาวได้เชิญชวนให้ผู้ที่มีความเห็นด้วยในการต่อต้านการทำงานของรัฐบาลมาชุมนุมกันที่สวนสุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ถนนนิมมานเหมินท์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ก็ได้มารวมตัวชุมนุมกัน ณ สถานที่เดียวกัน เพราะไม่ยอมให้กลุ่มหน้ากากขาวใช้พื้นที่เชียงใหม่ในการชุมนุมจนเป็นเหตุให้มีการกล่าววาจาโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่ง ลามไปถึงการทำลายทรัพย์สินและทำร้ายผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ ทำให้ความวุ่นวายเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว และถึงแม้ว่าอีกฝ่ายจะได้ถอยร่น เลิกมีความคิดที่จะชุมนุมแล้วก็ยังคงมีการติดตามคุกคามผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องนั้น1http://prachatai.com/journal/2013/06/47214
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)2สนส. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2551 โดยทนายความและนักกฎหมายที่มุ่งมั่นทางานด้านสิทธิมนุษยชนมีวัตถุประสงค์ในการเป็นสถาบันที่มีภารกิจเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยส่งเสริมให้มีการศึกษาและเผยแพร่สิทธิมนุษยชนให้เป็นที่ยอมรับในสังคมส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมสิทธิเสรีภาพของประชาชนบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ มีความเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุม อันเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐและประชาชนทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเคารพเสรีภาพดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
รัฐธรรมนูญมาตรา 63 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”ประชาชนทุกกลุ่มจึงมีสิทธิเสรีภาพในการใช้พื้นที่เพื่อแสดงความคิดเห็นทั้งทางการเมืองหรือเรื่องอื่นใดเพื่อเป็นข้อเรียกร้องไปถึงรัฐบาลหรือภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง 3Thomas v. Collins(323 U.S. 516 (1945)) ถึงแม้ว่าความคิดเห็นดังกล่าวจะเป็นความคิดเห็นที่ตนหรือกลุ่มของตนไม่เห็นด้วย หรือไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตามเสรีภาพดังกล่าวก็ย่อมไม่อาจถูกทำลายลงได้ 4Edwards v. South Carolina และหากกลุ่มประชาชนกลุ่มใดจะชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้านอีกฝ่ายหนึ่ง กลุ่มบุคคลนั้นก็ย่อมมีเสรีภาพในการกระทำได้ ภายใต้หลักการของประเทศเสรีประชาธิปไตยที่เคารพในความเห็นต่าง
2. เสรีภาพในการชุมนุมต้องอยู่ภายใต้ความสงบและปราศจากอาวุธ
ถึงแม้ว่าประชาชนจะมีเสรีภาพในการชุมนุม แต่การชุมนุมดังกล่าว ย่อมต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายไม่เป็นการชุมนุมที่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือการกระทำเพื่อสร้างความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 5ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และแม้ในพื้นที่การชุมนุมจะมีความเห็นเป็นหลายฝ่ายก็ตาม แต่บุคคลทุกคนย่อมต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพและความคิดเห็นของทุกฝ่าย ไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดหรือเกินขอบเขตอำนาจที่ตนมีอยู่ 6รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร มาตรา 28 กล่าวคือ ไม่ตอบโต้ความเห็นต่างด้วยความรุนแรง ทั้งการกระทำทางกาย หรือทางวาจา ซึ่งรวมถึงการกระทำอันมีลักษณะยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง (hate speech) 7Terminiello v. Chicago (1949) จนเป็นสาเหตุให้มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่นหรือก่อให้เกิดความไม่สงบอย่างใดๆ โดยการใช้เสรีภาพในการชุมนุมเกินขอบเขตดังกล่าวจะทำให้เสรีภาพในการชุมนุมถูกยับยั้งและปฏิเสธ จากการขลาดกลัวด้วยความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตนหรือกลุ่มของตน อีกทั้งเสรีภาพในการชุมนุมเป็นช่องทางที่ประชาชนใช้ในการติดต่อกับผู้มีความเห็นเป็นอื่นมาอย่างช้านาน ทั้งนี้เพราะการมีความเห็นต่างจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาอย่างมีเหตุผลร่วมกัน 8The Third Alternative, Stephen R. Covey การละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่อาจแก้ปัญหาหรือแลกเปลี่ยนความเห็นใดๆในสังคมได้ อีกทั้งไม่เป็นการเคารพต่อสิทธิ เสรีภาพของตนเองและผู้อื่นอันได้บัญญัติเสรีภาพในการะแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมไว้ในฐานะเสรีภาพพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ
3. รัฐมีหน้าที่ที่ต้องคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน
รัฐบาลไทยได้เข้าเป็นภาคีในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการคุ้มครอง” โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2540 รัฐบาลไทยจึงมีหน้าที่ต้องปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน 9รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร มาตรา 27 และ United States v. Cruikshank(92 U.S. 542 (1875)) ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความขยาดหรือความกลัวในการใช้สิทธิ เสรีภาพของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมารัฐยังไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพพื้นฐานของประชาชนอย่างเพียงพอ ดังจะเห็นได้จากกรณีการสลายการชุม และการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ได้ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ 10คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 713/2547 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชุมนุมที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีความคิดเห็นแตกออกมาเป็นหลายฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรง หรือการละเมิดสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ รัฐยิ่งต้องมีบทบาทให้การให้ความคุ้มครองให้ผู้ชุมนุมสามารถชุมนุมได้โดยสงบและปลอดภัย อีกทั้งเสรีภาพในการชุมนุมเป็นหนึ่งในไม่กี่ช่องทางที่ประชาชนจะสามารถสื่อสารกับรัฐได้ในฐานะประชาชนเจ้าของประเทศคนหนึ่ง รัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการฟังความคิดเห็นของประชาชนและนำความเห็นดังกล่าวไปพิจารณา ทบทวนและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน เสรีภาพในการชุมนุมจึงเป็นเสรีภาพที่สำคัญ ซึ่งหากรัฐให้ความสำคัญจะทำให้รัฐได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปกป้อง คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
4. เจ้าหน้าที่ของรัฐจำต้องรักษาความสงบของบ้านเมืองและดูแลความปลอดภัยในการชุมนุม
นอกจากรัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมให้แก่ประชาชนแล้ว เจ้าพนักงานของรัฐ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ย่อมต้องมีหน้าที่เป็นอย่างเดียวกับรัฐ ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้การดำเนินการของรัฐเป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนไว้ เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงมีหน้าที่รักษาความสงบและดูแลความปลอดภัยในการชุมนุม ซึ่งถือเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขและคุ้มครองราษฎรอันเป็นบทบาทที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในฐานะข้าราชการพึงจะปฏิบัติอีกโสดหนึ่งด้วย การที่เจ้าหน้าที่ปล่อยปะละเลย จนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งถึงขนาดทำร้ายร่างกายกันดั่งเช่นกรณีนี้ ถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความสงบของบ้านเมือง ดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุม และเป็นการไม่คุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของประชาชนดั่งที่เจ้าหน้าที่รัฐพึงกระทำ จึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาให้ความดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยแก่การชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้อย่างชอบธรรมและถูกต้อง
ดังนั้นแล้ว ด้วยการชุมนุมที่เป็นไปในทางยุงยงให้เกิดความเกลียดชัง ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือกระตุ้นให้เกิดการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าทางร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้ที่มีความเห็นต่างจากตนจึงไม่อาจยอมรับได้ แม้ประชาชนจะมีเสรีภาพในการชุมนุมก็ตาม แต่การชุมนุมนั้นต้องเป็นไปในทางสงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีการกระทำถึงขนาดที่มีการทำร้ายบุคคลอื่น จึงเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพของตนเกินขอบเขตที่ตนมีอยู่ อันขัดกับหลักการในการเคารพความเห็นของผู้ที่เห็นต่างอันเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิในการจัดการชุมนุม เพื่อใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม รัฐและทุกภาคส่วนในสังคมไทยจึงมีหน้าที่ในการปกป้อง และคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าว อันเป็นการเคารพในสิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับความเห็นชอบจากปวงชนชาวไทย
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Crcf)
ศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
- 1
- 2สนส. ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2551 โดยทนายความและนักกฎหมายที่มุ่งมั่นทางานด้านสิทธิมนุษยชนมีวัตถุประสงค์ในการเป็นสถาบันที่มีภารกิจเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยส่งเสริมให้มีการศึกษาและเผยแพร่สิทธิมนุษยชนให้เป็นที่ยอมรับในสังคมส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมสิทธิเสรีภาพของประชาชนบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- 3Thomas v. Collins(323 U.S. 516 (1945))
- 4Edwards v. South Carolina
- 5ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
- 6รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร มาตรา 28
- 7Terminiello v. Chicago (1949)
- 8The Third Alternative, Stephen R. Covey
- 9รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร มาตรา 27 และ United States v. Cruikshank(92 U.S. 542 (1875))
- 10คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 713/2547