ส่วนหนึ่งของ หนังสือ สันติภาพและยุติธรรมที่ยั่งยืน เผยแพร่ปี 2556 ประสบการณ์การทำงานโครงการเข้าถึงความยุติธรรม และการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สนับสนุนโดย KAS และ EU
บทสัมภาษณ์ ท่านประคอง เตกฉัตร อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลอาญา ปัจจุบันรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
ความเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรมที่ผมมองเห็นในฐานะที่เป็นผู้พิพากษาก็คือ ตอนนี้คดีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ล่าช้าแล้วในการพิจารณาคดีในศาล ในช่วง 2 ปีที่ผ่าน มีการเร่งรัดให้มีการพิจารณาคดี แต่ข้อเสียก็คือ หากเขาจะขอเอาพยานมาเพิ่มอีก ศาลตัดเลย ไม่ให้ เพราะถือว่าเสียเวลามาหลายครั้งแล้ว บางทีขัดใจกับทนาย ทนายจะให้เลื่อนศาลไม่ให้เลื่อน ทนายจะไปธุระไหนไม่ได้ แต่ข้อดีคือ ไม่ต้องขังคนไว้นานๆ แล้วมายกฟ้อง นอกจากนั้น สิ่งที่ผมเห็นมากขึ้นๆ คืออัยการกล้าหาญที่จะสั่งไม่ฟ้องมากขึ้น ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ โดยไม่ต้องโยนมาให้ศาลยกฟ้อง นี่เห็นชัดเลย
และความเปลี่ยนแปลงอีกประการที่เห็นชัดก็คือทนายหลายคนกล้าที่จะเข้ามาทำคดีความมั่นคงมากขึ้น จากเดิมที่ไม่กล้าจะรับคดีพวกนี้ ไม่อยากไปยุ่งเกี่ยว เพราะไม่รู้ว่าเป็นคนร้ายจริงไหม บางครั้งทนายก็กลัวจะเป็นผลร้ายกับครอบครัวตัวเอง เจ้าหน้าที่รัฐก็เพ่งเล็ง คนร้ายก็เพ่งเล็ง โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง นี่หมายถึงทนายข้างนอกที่ไม่ใช่ทนายพวกคุณนะ ซึ่งผลดีที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือทำให้ผู้ที่เดือดรร้อน ไม่ต้องไปรอทนายกลุ่มเดียว
ก่อนหน้านี้ ศาลเราก็ถูกตำหนิมาก เพราะเราส่งแต่ผู้พิพากษาอายุงานน้อยลงไป ตอนนี้เราจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้วิธีตั้งตำแหน่งใหม่ เรียกว่า ‘รองหัวหน้าศาล’ เริ่มอย่างเป็นทางการในปีนี้ ทำให้จากนี้ไป ในศาลจะมีผู้พิพากษาอาวุโสรุ่นผู้ใหญ่อยู่ครึ่งหนึ่ง แล้วพวกอายุงานน้อยๆ ก็จะมีอยู่อีกครึ่งหนึ่ง จากที่เมื่อก่อน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่มีแต่ผู้พิพากษาอายุงานน้อยๆ เช่น ถ้ามีผู้พิพากษา 50 คน จะมีผู้พิพากษาออกใหม่สัก 40 คนแต่ปีที่ผ่านมา เราแก้ปัญหาให้มีผู้พิพากษาออกใหม่แค่ 30 คน และสำหรับปีหน้าจะให้มีผู้พิพากษารุ่นผู้ใหญ่อยู่ในศาลสัก 30 คนเลย คนใหม่ให้มีแค่ 10 หรือ 20 คนเท่านั้น และทำได้โดยที่ไม่ต้องบังคับเลย เขาสมัครใจ
สำหรับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผมทำงานอยู่ที่นั่นนานมาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แต่จริงๆ แล้วปัญหามันมีมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ฝีกลัดหนองหรือความขัดแย้งมันมีมานานแล้ว เพียงแต่ปะทุขึ้นมาในปี 2547
เราต้องยอมรับความจริงกันก่อนนะ ว่าผู้ที่ก่อเหตุนั้น คนเหล่านี้ไม่ใช่คนเลวร้ายโดยสันดาน คนที่เราเรียกว่าเขาทำผิดกฏหมายอาญานี่ ในมุมหนึ่งเขาคือคนที่เป็นวีรบุรุษของเชื้อชาติหรือชนเผ่าเขาเลยนะ คนเหล่านี้เขาเป็นชนชาติแล้วและเขาต้องการให้ชนชาติเขาเป็นอิสระจากชนชาติอื่น จากความเชื่ออื่น เราต้องมองว่าเขาไม่ใช่คนเลวร้ายมาก่อน คนทำผิดไม่ใช่คนเลวร้ายเสมอไป แต่เป็นคนผิด บางทีคนที่มีอำนาจตามกฏหมาย คนที่ทำถูกกฏหมายอาจจะเลวร้ายกว่าเขาก็ได้นะ ดังนั้น เราต้องมองคนละมุมและการที่คุณลงไปช่วยเขาก็ต้องมองว่าเขาไม่ใช่คนชั่วร้าย แต่เขาทำผิด
บางคนอาจไม่ได้ทำผิดแต่ถูกกวาดมาด้วย บางคนทำผิดนิดเดียวแต่เขาถูกกล่าวหาว่าทำผิดมาก หรือบางทีเขาไม่ได้ทำผิดแต่โดนกวาดมาด้วยเพราะเพื่อนเขาทำผิด ญาติเขาทำผิด หรือบางทีเขารู้ว่าใครทำผิดแต่เขาปกปิดหรือเมินเฉยไม่ยอมบอกเจ้าหน้าที่เพราะกลัวภัยมาถึงตัว คนเหล่านี้มีเยอะมาก
เมื่อเรามองเขาว่าไม่ใช่คนเลวร้าย เราก็ต้องทำใจว่าเราไม่สามารถไปหยุดยั้งเขาด้วยคำสั่งได้หรอก คุณสั่งให้เขาหยุดไม่ได้ คุณสั่งให้เขาหยุดด้วยการใช้อาวุธเหมือนที่ทหารทำนั้นหยุดไม่ได้หรอก คุณอาจหยุดได้แต่ทางร่างกายแต่เสรีภาพทางความคิดคุณควบคุมไม่ได้
อีกสิ่งหนึ่งที่เราไปแก้ไม่ได้คือประวัติศาสตร์ เพราะมันเกิดขึ้นไปแล้ว ตอนนั้นใครยกทัพไปรบกับใคร ใครเผาใคร ใครจับใคร ใครขังใคร มันเกิดไปแล้ว คุณจะมาแก้ประวัติศาสตร์ แก้ไม่ให้มีความคับข้องใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ คุณว่าทำได้เหรอ ยากมาก กระบวนการยุติธรรมเป็นเพียงปลายเหตุ ปลายเหตุมากๆ ไม่มีทางทำได้เลย ถ้าคนที่กุมอำนาจมากๆ ในรัฐ ในประเทศ หรือในโลกก็ตาม ไม่ยอมรับและหยิบยื่นอะไรให้เขา
ปัญหาประการหนึ่งที่เห็นชัดมากก็คือคนในพื้นที่เข้าใจระบบกระบวนการยุตฺธรรมทางอาญาน้อยมาก ถามว่าทำไมเขาไม่ยอมเรียนหนังสือ ก็เพราะหลักสูตรเราเป็นไปตามบริบทของกรุงเทพฯ คุณไปสอนเขาเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เรื่องพระสุริโยทัย คนในพื้นที่เขาเกี่ยวอะไรด้วย คุณเคยไปสอนเขาไหมเรื่องสุลต่านๆ ต่างของเขาที่ปกครองกันตามลำดับชั้นสืบมา เขารู้เรื่องไหม เราไม่เคยสอนเลย แล้วสิ่งที่เขาเรียน เป็นเรื่องที่เขาไม่ได้นำมาใช้ในชีวิต เป็นคุณคุณจะเบื่อหน่ายไหม เวลาสอบราชการ เราก็สอบตามบริบทกรุงเทพ ถ้าเขาสอบข้าราชการได้ แล้วไปบรรจุทั่วประเทศ เมื่อไปอยู่ที่อื่นแล้วไม่มีมัสยิดเขาจะอยู่ยังไง ไม่มีอาหารแบบของเขาแล้วเขาจะอยู่ยังไง เขาก็เกิดความกลัว
คุณสังเกตุไหม เวลาคุณไปทำคดี เวลาเขามาศาล เขามากันเป็นรถบรรทุก มากันทั้งโรงเรียน มากันทั้งหมู่บ้าน เพราะเขากลัวเขาจึงต้องมาดูแลกัน มาปกป้อง มาให้ความอบอุ่นกัน แต่ทำไมเราไปคนเดียวได้ แต่เขามาคนเดียวไม่ได้ เพราะสำหรับเขามันน่ากลัวมากเลย น่าประหวั่นพรั่นพรึงมากเพราะมีแต่คนใช้อำนาจกับเขา เขารู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมยุ่งยาก ซับซ้อน วุ่นวาย นี่คือปัญหา
ดังนั้น เขาต้องไปเรียนกฏหมายทางนี้ให้เชี่ยวชาญให้มาก ต้องเรียนให้รู้ แต่จะทำยังไงให้เขาสนใจ มีคนไปตำหนิว่าเขาเรียนแต่ศาสนาจะทำอะไร ก็แล้วจะให้เขาเรียนอะไร ถ้าให้มาที่กรุงเทพฯ เขาจะเรียนอย่างไร แล้วที่บ้านเขามีมหาวิทยาลัยไปเปิดไหม มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็อยู่แต่ในกรุงเทพฯ ทั้งนั้น วนกันอยู่ในนี้ ดังนั้น จะไปว่าเขาก็ไม่ได้นะ เราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างนั้น เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่ง ผมก็เป็นส่วนหนึ่ง
และคนที่พยายามเข้าไปก็เป็นคนต่างพื้นที่ บริบทนี้มันสัมพันธ์กันนะกับปัญหาด้านอื่น คุณไปดูสิว่าในพื้นที่นั้นทรัพยากรส่วนใหญ่ใครยึดครอง สัมปทานเหมืองแร่ สัมปทานเหมืองหิน เป็นของคนในพื้นที่ไหม เปล่าเลย เขาเป็นเพียงลูกจ้าง สัมปทานป่าไม้ เขาก็เป็นเพียงลูกจ้าง แม้แต่ในทะเล เรือประมงลำใหญ่ๆ คนในพื้นที่ก็ได้แต่มองตาปริบๆ เพราะเขาเป็นเพียงลูกจ้าง
คือรัฐไทยต้องยอมรับว่าเราเป็นรัฐเดี่ยว เมื่อเป็นรัฐเดี่ยว ประชากรในรัฐย่อมสามารถเคลื่อนย้ายหาประโยชน์ได้ นี่เป็นเรื่องปรกติ เพราะเราไม่มีรัฐเล็กๆ ที่คอยป้องกันคนต่างรัฐ ดังนั้น เมื่อคนในพื้นที่เขามีความรู้น้อยกว่า เขาจะเอาอะไรไปแข่งกับนายทุนส่วนอื่นที่เคลื่อนเข้าไป เขาสู้ไม่ได้ เพราะเขาอยู่กับวัฒนธรรมท้องถิ่น เขาไม่รู้เรื่องการครอบครองที่ดิน เรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ เรื่อง น.ส. 3 ก. แล้วข้าราชการที่ไปปกครองเขา ทุกกระทรวง ทบวง กรม ไปจากคนต่างบ้านต่างเมืองทั้งนั้น ไม่ว่า ทหาร ตำรวจ ศุลกากร ผู้พิพากษา อัยการ
แล้วปัญหาอีกประการหนึ่ง ที่ผมมองเห็นเมื่อครั้งประจำตำแหน่งอยู่ที่นั่นก็คือเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าทหารหรือตำรวจ ทุกคนไม่มีใครไปอยู่ถาวร คนที่เป็นผู้ใหญ่นั้นก็ไปอยู่เพื่อเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง อยากได้ความดีความชอบ หรือบางทีเมื่อทหาร ตำรวจเครียด เขาก็มีการหมุนวนคนเข้าไปสับเปลี่ยน ดังนั้น พวกตรวจ พวกจับ พวกค้น พวกสอบสวนทั้งหลาย เมื่อทำงานเสร็จ ยังไม่ทันได้ขึ้นศาลเลย ก็ย้ายไปอยู่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูนกันหมดแล้ว ครั้นจะสืบคดีก็มาไม่ได้ ทำให้คดีเลื่อน ทำให้คดีช้า ซับซ้อนไปอีก นี่คือปัญหา
แต่ปัญหาหลักที่สำคัญประการหนึ่งคือ คนที่รู้กฎหมายไม่รู้ภาษา ภาษายาวีท้องถิ่น คนที่รู้ภาษายาวีท้องถิ่นไม่รู้กฎหมาย ส่วนนิติวิทยาศาสตร์นี่นอกจากค่าใช้จ่ายสูงแล้ว แม้เครื่องไม้เครื่องมือแพงขนาดไหน ถ้าคนใช้ขาดคุณภาพก็ช่วยอะไรไม่ได้ การจัดเก็บ วิธีการรักษา วัตถุมีการสับเปลี่ยนไหม มีการกลั่นแกล้งได้ไหม ทำได้ทั้งนั้น แล้วถ้าไปพิสูจน์ว่าเขาเป็นคนร้ายทั้งที่เขาไม่ได้เป็น แบบนี้ก็มีปัญหา
ปัจจุบัน นิติวิทยาศาสตร์ที่นำมาช่วยในกระบวนการยุติธรรมมีผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน ผมยืนยันได้ แต่ที่มีปัญหาคือมีบุคลากรด้านนี้น้อย เรามีนักนิติวิทยาศาสตร์ประจำกรมสอบสวนสักกี่คน เราสร้างคนเหล่านี้ได้แค่ไหน
นอกจากนั้น เมื่อเกิดเรื่อง ทหารกั้นพื้นที่เลย ตำรวจเข้าไม่ได้ แล้วจะมีประโยชน์อะไรไปเก็บหลักฐาน ทั้งที่ในความเป็นจริง อย่าลืมว่าคนที่ส่งสำนวนคดีคืออัยการ คือพนักงานสอบสวน ไม่ใช่ทหาร ทหารมีหน้าที่ตามกฏหมายที่ไหน ตอนนี้ที่มีปัญหามากคือการจับการค้นนั้น ไปทำตามกฏหมายทหารทั้งสิ้น ไม่ว่ากฏอัยการศึกก็ดี หรือพรก. ก็ดี แต่การสอบสวนนั้นกลับใช้ป. วิอาญา ทำให้เกิดความลักลั่น
ผมเคยพูดไว้เสมอ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย กฏหมายพิเศษ 3 ฉบับ ของทหารนั้น คล้ายๆ กับท่อพญานาคใหญ่ที่มันดูดน้ำเข้าไป เหมือนดูดคดีเข้าไปในศาล แล้วเวลาจะเอาน้ำออกกลับใช้กระบวยเล็กๆ มาตักออก ดูปลิง ดูมดทีละตัว แล้วน้ำจะออกทันกันไหมกับท่อพญานาคที่ดูดเข้าไป ผมก็เคยเสนอไปว่ามี 2 วิธี ประการแรก ตัดท่อพญานาคทิ้งไปเสีย เอากฏหมายพิเศษออกไป ประการที่สอง เอาท่อพญานาคมาใส่ข้างในระบบยุติธรรมด้วย ให้ระบายออกเท่าๆ กับที่ดูดเข้ามา คดีจะได้ไม่ค้าง แต่มันทำยาก เพราะมันมีคนได้ผลประโยชน์กับท่อพญานาคเยอะ แต่ถ้าจะเอาท่อพญานาคมาใส่ไว้ในระบบก็ต้องใช้เงินเยอะ ใครจะใส่ล่ะ เพราะนั่นหมายความว่า คุณต้องเพิ่มอัยการมาอีกห้าเท่าตัว เพิ่มพนักงานสอบสวนที่มีคุณภาพ เพิ่มศาลมาอีกห้าเท่าตัว เพิ่มศาลมาทุกอำเภอได้ไหม? แล้วใครจะทำ เพราะต้องใช้งบประมาณเยอะ นี่คือการใส่ท่อพญานาคข้างในระบบ ครั้นทำแล้ว ทนายพอไหมล่ะ เพราะแม้ทนายจะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าเขาไม่ไม่ทำ คุณจะบังคับอะไรเขาได้ เพราะทนายความนั้น เขาทำงานด้วยความศรัทธาและเต็มใจที่จะทำ
กระบวนการยุติธรรมมีส่วนทำให้เกิดสันติภาพ แต่เป็นเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งสำคัญที่ผมอยากฝากแก่พวกคุณก็คือควรกลับไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะการสร้างคน สร้างนักกฏหมายรุ่นใหม่ๆ พยายามผลักดันให้มีคณะนิติศาสตร์ในพื้นที่หรือหากคนในพื้นที่ไปเรียนนิติศาสตร์อยู่ที่ไหนๆ แล้ว ก็ พยายามดึงให้เขากลับมาช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ ผมว่านี่เป็นการแก้ปัญหาได้ดีกว่าการที่คุณจะไปเป็นทหารถือทวนฟาดฟันอยู่บนหลังม้า มัวไปฟาดฟันอยู่ในสนามรบ
การใช้กฏหมายหรือกระบวนการยุติธรรมในการแก้ไขปัญหามันเป็นการทำงานที่ต้องใช้เวลานาน แต่ก็จำเป็นต้องยอมให้มันยาวนาน เพราะมันเป็นการแก้ที่ถาวร แต่ถ้าคุณทำอย่างฉาบฉวย ปิดกั้น อาจเหมือนดูสงบ แต่จริงๆ แล้วเป็นการกวาดขยะไว้ใต้พรม แล้วมันจะเกิดระเบิดเหมือนปี พ.ศ. 2547 นั่นแหละ คือการแก้ปัญหาที่ใต้พรม ไม่ได้แก้ที่รากเหง้า ไม่ได้แก้ที่ความเข้าใจ
การทำให้สำเร็จในระยะสั้นเป็นเรื่องยากมาก ประการแรกย่อมขัดผลประโยชน์คนบางกลุ่ม ประการที่สอง การจะสร้างให้คนในพื้นที่เขาเกิดความเชื่อมั่นนั้นทำได้มากแค่ไหน เขาเชื่อมั่นเราขนาดไหน ผมว่าสิ่งที่ดีที่สุดก็คือเราจะสนับสนุนอย่างไรให้องค์กรท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เขามีความรู้ในเรื่องหลักกฏหมายและหลักยุติธรรมได้อย่างมีคุณภาพ ทำให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจบนิติศาสตร์ คุณทำได้ไหม