[:th]CrCF Logo[:]

แอมเนสตี้ เปิดเผย 10 วิธีการที่ทั่วโลกใช้ปราบปรามผู้สื่อข่าว

Share

3 พฤษภาคม 2556

แอมเนสตี้ฯ เปิดเผย 10 วิธีการที่ทั่วโลกใช้ปราบปรามผู้สื่อข่าว

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกพยายามพัฒนาเทคนิคเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวเปิดโปงการคอรัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการตั้งข้อหาเท็จ การเพิกถอนใบอนุญาตนักข่าว ไปจนถึงการสังหาร ต่อไปนี้เป็น 10 วิธีการที่ใช้เพื่อปราบปรามและป้องกันไม่ให้ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวอย่างเสรีและเป็นธรรม

1. การทำร้ายร่างกาย

ในบางประเทศ อย่างเช่น ซีเรีย เติร์กเมนิสถาน และโซมาเลีย รัฐบาล กองทัพ และกลุ่มติดอาวุธทำร้ายร่างกายหรือสังหารผู้สื่อข่าว ที่ถูกมองว่าพยายามวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการปฏิบัติของตน

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ฮัสซัม ซาลาเมห์ (Hussam Salameh) ช่างภาพวีดิโอชาวปาเลสไตน์ และมามุด อัล-เคามี (Mahmoud al-Koumi) ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ Al-Aqsa ของกลุ่มฮามัส ถูกทางการอิสราเอลสังหารด้วยการยิงขีปนาวุธใส่รถยนต์ของพวกเขาระหว่างอยู่ในเมืองกาซา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่พบหลักฐานว่าบุคคลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับกิจการอย่างอื่นนอกเหนือจากการเป็นผู้สื่อข่าวพลเรือนทั่วไป แม้ว่ากองทัพอิสราเอลจะแถลงว่าบุคคลทั้งสองเป็น “สายลับของกลุ่มฮามัส”

ในเดือนพฤษภาคม 2555 อาบัด อัล-ฆานี คายาเก (Abd al-Ghani Ka’ake) ผู้สื่อข่าวพลเมือง อายุ 18 ปี ได้ถูกหน่วยซุ่มยิงของรัฐบาลซีเรียยิงจนเสียชีวิต ระหว่างถ่ายภาพการชุมนุมประท้วงที่กรุงอาเล็บโป (Aleppo) กลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ติดอาวุธก็ทำร้ายและสังหารผู้สื่อข่าวเช่นกัน

มิเกล แองเจล โลเปส เวลัสโก (Miguel Ángel López Velasco) ผู้สื่อข่าว ภรรยาและลูกชายของเขาถูกยิงจนเสียชีวิตที่บ้านในเมืองเวราครูซ (Veracruz) เม็กซิโก โดยไม่ทราบตัวมือปืนเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ก่อนหน้านั้นเขาได้รับคำขู่ว่าจะสังหารหลายครั้ง

อับดีฮาเร็ด ออสมัน อาเด็น (Abdihared Osman Aden) จากโซมาเลียถูกมือปืนที่ไม่ปรากฏชื่อสังหารระหว่างเดินไปทำงานเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 เขาเป็นหนึ่งในผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 23 คนที่ถูกสังหารในประเทศนี้นับแต่ปี 2554

2. การขู่จะขังคุก

ผู้สื่อข่าวยังเสี่ยงที่จะถูกตั้งข้อหาตามกฎหมายที่ใช้ปราบปรามการแสดงความเห็นอย่างสงบ หรือไม่ก็มีการตั้งข้อหาเท็จโดยมีแรงจูงใจทางการเมือง (อย่างเช่น ข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครองและฉ้อโกง) ทั้งนี้เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการรายงานข่าว

ในวันที่ 12 มีนาคม 2556 อาวาซ เซนาลี (Avaz Zeynali) ได้ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานติดสินบน ใช้กำลังข่มขู่รีดไถ หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และข้อหาหนีภาษี เขาถูกลงโทษจำคุกเก้าปีที่ประเทศอาเซอร์ไบจาน ที่ผ่านมาเขามักรายงานเปิดโปงการคอรัปชั่นและวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามของประธานาธิบดีที่จะคุกคามสื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหว

ในอิหร่าน ผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 18 คนถูกจับกุมนับแต่เดือนมกราคม 2556 และถูกตั้งข้อหาว่าร่วมมือกับหน่วยงานสื่อนอกประเทศอิหร่าน “ที่ต่อต้านการปฏิวัติ” ผู้สื่อข่าวหลายสิบคนเป็นผู้จัดทำเว็บบล็อกและได้ถูกทางการอิหร่านคุมขัง

ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 อับเดียซิซ อับนูร์ อิบราฮิม (Abdiaziz Abdnur Ibrahim) ได้ถูกศาลพิพากษาจำคุกหนึ่งปีที่กรุงโมกาดิชู (Mogadishu) โซมาเลีย ในข้อหาหมิ่นสถาบันแห่งชาติ หลังจากเขาได้สัมภาษณ์ผู้หญิงคนหนึ่งที่ให้ข้อมูลว่าถูกทหารของรัฐบาลข่มขืนกระทำชำเรา ต่อมาศาลฎีกาได้ยกฟ้องคดีนี้เมื่อเดือนมีนาคม
ในเดือนมกราคม 2555 เรโยต์ อาเลมู (Reyot Alemu) และวูบเช็ต ทาเย (Woubshet Taye) ผู้สื่อข่าวได้ถูกศาลสั่งลงโทษข้อหาก่อการร้ายที่ประเทศเอธิโอเปีย ในระหว่างการไต่สวนคดี มีการจำกัดการเข้าถึงทนายความ ไม่มีการจัดล่ามที่ดีพอให้ ทั้งศาลยังยอมให้มีการใช้พยานหลักฐานที่ได้มาจากการข่มขู่บังคับ

3. การข่มขู่คุกคาม

รัฐบาลหลายประเทศพบว่าการข่มขู่ผู้สื่อข่าวหรือญาติของพวกเขาเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลเพื่อปิดปากพวกเขา

ทางการอิหร่านออกคำสั่งห้ามเดินทางสำหรับญาติของเนการ์ โมฮัมมาดี (Negar Mohammadi) ผู้สื่อข่าว Voice of America และยังยึดหนังสือเดินทางของญาติคนหนึ่งไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555

ในเยเมน อับดุล คาริม อัล-ไควานี (Abdul Karim al-Khaiwani) ได้ถูกคุกคามตั้งแต่ต้นปี 2556 หลังจากเขาเขียนบทความเปิดโปงคุกลับและการทรมานของหน่วยทหารเกราะที่หนึ่ง มีการยิงอาวุธสงครามใส่บ้านเขาสองครั้ง และเขายังได้รับโทรศัพท์ถามว่าได้ยินเสียงปืนหรือไม่

มูซา โมฮัมหมัด ออวัล (Musa Mohammad Auwal) ได้ถูกทหารฝ่ายความมั่นคงจับกุมที่บ้านที่กรุงกาดูนา (Kaduna) ไนจีเรียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่แล้ว เขาถูกขังไว้แปดวัน และมีการสอบปากคำเกี่ยวกับหน่วยงานข่าวของเขา รวมทั้งสอบถามที่อยู่ของบรรณาธิการบริหาร (ซึ่งอยู่ระหว่างการหลบซ่อนตัวเพราะถูกคุกคาม) ต่อมาเขาได้รับการประกันตัวออกไป

4. การจับตามอง

ในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งคิวบาและจีน นักเคลื่อนไหวและผู้สื่อข่าวมักประสบปัญหาในการรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากทางการมักเฝ้าติดตามการสื่อสารของพวกเขา

ในเดือนมีนาคม 2555 เยานี ซานเชซ (Yoani Sánchez) ผู้จัดทำเว็บบล็อกและผู้สื่อข่าวในคิวบา ไม่สามารถรับข้อความสั้นหรือรับโทรศัพท์ได้ในระหว่างที่สมเด็จพระสันตปปาเสด็จเยือนประเทศ

ในจีน ศาลสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลานานสำหรับคนที่จัดทำเว็บบล็อกหรือส่งข้อมูลที่ถือว่ามีความละเอียดอ่อนเมื่อปี 2555

ในเดือนมีนาคม 2556 มีรายงานข่าวว่าทางการซาอุดิอารเบียขู่ที่จะปิดกั้นการใช้งาน Skype, WhatsApp, Viber และ Line หากบริษัทสื่อสารเหล่านี้ไม่ยอมให้ทางการเจาะข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสในโปรแกรมได้

5. การปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต

รัฐบาลที่กดขี่บางแห่งพยายามควบคุมการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพื่อจำกัดการดำเนินงานของผู้สื่อข่าว

ทางการจีนได้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ New York Times และ Bloomberg เป็นการชั่วคราว และยังห้ามไม่ให้เสิร์ชหาคำว่า ‘New York Times’ หลังจากสำนักข่าวเหล่านี้เปิดโปงข้อมูลด้านการเงินที่อื้อฉาวของผู้นำรัฐบาลจีนบางคน

6. การออกกฎหมายหมิ่นประมาทที่รุนแรง

ในบางประเทศมีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทอย่างมิชอบเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สื่อข่าววิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้มีอิทธิพล

ในติมอร์เลสเต้ ออสการ์ มาเรีย ซานซินฮา (Oscar Maria Salsinha) และไรมันโด โอกิ (Raimundo Oki) ถูกตั้งข้อหาว่า “หมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำร้ายแรง” หลังจากตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับอัยการเขตซึ่งถูกกล่าวหาว่ารับสินบนในคดีอุบัติเหตุด้านจราจรซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554

ในเดือนสิงหาคม 2555 อิสลาม อาฟีฟี (Islam Affifi) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ El-Dostor อียิปต์ ต้องเข้ารับการไต่สวนของศาลฐานที่ตีพิมพ์ข้อมูลเท็จ ซึ่งเป็น “การดูหมิ่นประธานาธิบดี” การไต่สวนยังดำเนินต่อไป

หน่วยงานความมั่นคงของทางการปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ และหน่วยงานความมั่นคงของกลุ่มฮามัสในเขตฉนวนกาซา มีมักสอบปากคำและคุกคามผู้สื่อข่าว ในเดือนมีนาคม 2556 มัมดูห์ ฮามัมเรห์ (Mamdouh Hamamreh) ชาวปาเลสไตน์ได้ถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปีในข้อหาดูหมิ่นประธานาธิบดีมามุด อับบาส (Mahmoud Abbas) ต่อมาเขาได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีและได้รับการปล่อยตัว

7. การเพิกถอนวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน

ในบางประเทศ รวมทั้งซีเรีย รัฐบาลปฏิเสธหรือเพิกถอนวีซ่าผู้สื่อข่าวต่างชาติเพื่อหยุดยั้งไม่ให้พวกเขาสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนผู้สื่อข่าวในประเทศก็เจอกับความเสี่ยงที่จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตทำงานเช่นกัน

ในปี 2554 ทางการซีเรียได้เพิกถอนใบอนุญาตของอายัด ชาบี (Ayad Shabi) หลังจากเขาไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่กำหนดโดยกระทรวงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรายงานข่าวการประท้วง

แอนเดซ พ็อกโซบูต์ (Andrzej Poczobut) ได้รับโทษจำคุกสามปีแต่รอลงอาญาที่ประเทศเบลารุส ซึ่งมีผลเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ในข้อหา “หมิ่นประมาทประธานาธิบดี” เนื่องจากตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับนักโทษด้านความคิดในประเทศ ตามเงื่อนไขของบทลงโทษ เขาจะต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นประจำ และไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่เดินทางไปประเทศแกมเบียเพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับการรื้อฟื้นการประหารชีวิต ถูกกักตัวที่สนามบิน และได้รับแจ้งให้เดินทางออกนอกประเทศ แม้จะได้รับอนุญาตล่วงหน้าให้เข้าประเทศมาทำงานได้

ในเดือนพฤษภาคม 2555 สำนักข่าว Al Jazeera ภาคภาษาอังกฤษได้ปิดสำนักงานที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีนหลังจากทางการปฏิเสธที่จะต่ออายุวีซ่าของเมลิสสา เฉิน (Melissa Chan) นักข่าวที่รายงานเกี่ยวกับการคุมขังแบบลับและการบังคับทำแท้ง

8. การไม่ยอมสอบสวนเมื่อเกิดกรณีการทำร้ายผู้สื่อข่าว

การที่รัฐบาลไม่นำตัวผู้ทำร้ายผู้สื่อข่าวมาลงโทษ เป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่ง ทำให้นักข่าวไม่กล้ารายงานข้อมูลในประเด็นที่ละเอียดอ่อน

มีการยกฟ้องคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าทรมานนาซีฮา ซาอีด (Nazeeha Saeed) ผู้สื่อข่าวระหว่างที่เธอถูกจับกุมตัวที่ประเทศบาห์เรน ในปี 2554 แม้จะมีหลักฐานทางนิติเวชว่าเธอได้ถูกทรมานจริง นาซีฮาได้ถูกควบคุมตัวและทรมานช่วงที่ออกมาเปิดโปงว่ามีการสังหารผู้ประท้วง ซึ่งเธอมีส่วนเป็นพยานรู้เห็นและเกิดขึ้นที่วงเวียน Pearl Roundabout

ในเดือนเมษายน 2555 อีดรัก อับบาซอฟ (Idrak Abbasov) และอาดาเล็ต อับบาซอฟ (Adalet Abbasov) ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลที่อาเซอร์ไบจาน หลังจากถูกทำร้ายร่างกายโดยพนักงานราชการและตำรวจ 25 คน พวกเขาพยายามถ่ายภาพการรื้อบ้านอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ชานกรุงบากุ (Baku) ทางการไม่เคยสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ที่ผ่านมายังไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษในปากีสถาน กรณีที่มีการลักพาตัวและสังหารซาลีม ชาซัด (Saleem Shahzad) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ก่อนเขาจะเสียชีวิตสองวัน ชาซัดได้ตีพิมพ์บทความกล่าวหาว่ามีการแทรกซึมของกลุ่มอัลกออีดะห์ในกองทัพ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องห้ามในประเทศนี้

9. การสั่งปิดหน่วยงานสื่อ

ทางการในหลายประเทศสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุที่ถูกมองว่ามุ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2555 ทางการซูดานได้สั่งพักการดำเนินงานของหนังสือพิมพ์สามฉบับ โดยใช้กฎหมายที่ให้อำนาจในการยุติการดำเนินงานของสิ่งพิมพ์ที่มีข้อมูลซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติ

เมื่อเดือนกันยายนที่แล้ว หนังสือพิมพ์ The Standard และ Daily News newspapers ในแกมเบียได้ถูกสั่งปิด หลังจากมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองเข้าไปในสำนักงาน และสั่งการให้พวกเขายุติการดำเนินการใด ๆ เป็นการชั่วคราว

ในโซมาเลีย เมื่อเดือนเมษายน 2556 ทางการในเขตพันต์แลนด์ (Puntland) ได้สั่งปิดสถานีวิทยุสามแห่ง ซึ่งถูกมองว่าเป็นความพยายามคุกคามต่อสื่อมวลชนก่อนจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น

10. สนับสนุนการใส่ร้ายป้ายสี

ในหลายประเทศ รัฐบาลส่งเสริมให้มีการใส่ร้ายป้ายสีผู้สื่อข่าวที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์ทางการ

ในศรีลังกา รัฐได้สนับสนุนแผนการใส่ร้ายป้ายสีฆนาสิริ ก็อดเตโกดา (Gnanasiri Kottegoda) จนเป็นเหตุให้เขาต้องหนีหายไปจากบ้านเมื่อปี 2555 และต้องไปลี้ภัยในที่อื่นเนื่องจากถูกคุกคามด้านความปลอดภัย

ที่เวเนซูเอลา รายมา ซูปรานี (Rayma Suprani) ถูกข่มขู่และดูหมิ่นทั้งโดยผ่านข้อความสั้นและสื่อสังคมออนไลน์ เธอเชื่อว่าเป็นความพยายามที่จะทำร้ายเธอเนื่องจากเธอทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนการเมืองและเป็นผู้สื่อข่าว

AMNESTY INTERNATIONAL
FEATURE

3 May 2013
Ten ways to repress a journalist
Governments and other organizations across the world are p