เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2556
ใบแจ้งข่าว ขอเชิญเข้าร่วมฟังคำพิพากษาคดีปีนรั้วรัฐสภาเหตุจำเลยทั้ง 10 คัดค้านการออกกฎหมายของ สนช. สมัยรัฐประหารปี 49
ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษา คดีพนักงานอัยการฟ้อง นายจอน อึ้งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยกรณีปีนเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เพื่อคัดค้านการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2556 เวลา 10.00 น. นี้ ณ ห้องพิจารณาคดี 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก
คดีนี้ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ (ฝ่ายพนักงานอัยการ) และจำเลยทั้งสิ้นรวม 51 ปาก โดยเริ่มสืบพยานนัดแรกตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 และสิ้นสุดการสืบพยานในวันที่ 7 มีนาคม 2556 ในช่วงการสืบพยานมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน และผู้ร่วมสังเกตการณ์คดีทั้งภายในและจากต่างประเทศเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี เพราะเล็งเห็นความสำคัญของการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามมาตรา 63 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้คุ้มครองไว้ อีกทั้งยังเป็นการใช้สิทธิพลเมืองในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 อีกด้วย
เหตุในคดีนี้จำเลยทั้งสิบและประชาชนจำนวนมากได้เรียกร้องทุกวิธีเพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับฟัง ใช้ทุกช่องทางเท่าที่สามารถทำได้มาเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อมีการชุมนุมและการสื่อสารกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติถูกปิดกั้นในวันเกิดเหตุ จึงมีเหตุจำเป็นที่ต้องหาช่องทางเข้าไปในรัฐสภาเพื่อยับยั้งผลร้ายที่จะเกิดกับประชาชน สังคม และระบบกฎหมายในอนาคต ซึ่งเป็นไปโดยสอดคล้องกับความเห็นของ
ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเบิกความต่อศาลว่า “ การพิจารณากฎหมายจะต้องผ่านการพิจารณาและเห็นพ้องต้องกันของสังคมใช้กับการออกกฎหมายทุกฉบับโดยทั่วไป ซึ่งกฎหมายบางฉบับจำเป็นต้องได้รับความเห็นพ้องมาก ในกรณีที่ผู้พิจารณาอยู่ในฐานะชั่วคราว เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ควรจะรอให้สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณา แต่ไม่ใช่เป็นการตัดอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะต้องพิจารณาว่าเรื่องใดมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำเพื่อส่งผ่านอำนาจไปยังผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา และเรื่องใดไม่จำเป็นต้องรอ หากมีผู้ต้องการคัดค้านการทำหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติย่อมเป็นสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ
การชุมนุมสาธารณะปกติมีขึ้นเพื่อจะทำความคิดเห็นของตนให้ปรากฏแก่สาธารณะชนเป็นสิทธิตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อปรากฏมีเหตุการณ์ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติตรากฎหมายโดยฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเองเพราะกฎหมายบางฉบับกลับผ่านการพิจารณาออกมาทั้งที่ไม่ครบองค์ประชุม ยิ่งเป็นความชอบธรรมในการชุมนุมประท้วงการกระทำนั้น ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของพลเรือนในสังคมที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย หากมีผู้ใดฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พลเรือนมีหน้าที่ต้องป้องกันไม่ให้การกระทำนั้นเป็นผล หรือทำให้การกระทำนั้นสิ้นผลไป ถ้าปรากฏว่ามีการกระทำอันชอบด้วยกฎหมายประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงความเห็นคัดค้าน รวมทั้งมีสิทธิชุมนุมประท้วงการกระทำนั้นๆด้วย โดยจะต้องอยู่ในกรอบที่รัฐธรรมนูญไว้ โดยสงบปราศจากอาวุธ ”
ประกอบกับความเห็นในเรื่องการทำหน้าที่สภาเดียว สมัย สนช. ซึ่ง นางสาวรสนา โตสิตระกูล ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา เบิกความว่า “…หากเป็นสภาปกติที่มีสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา หากมีประชาชนมาร้องเรียนหรือมาเสนอความเห็นก็จะมีการเชิญประชาชนหลายเข้ามาให้ความคิดเห็น และพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อตอบสนองต่อประโยชน์ของประชาชน แต่การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่รับฟังความเห็นของประชาชนเป็นเรื่องที่ เห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรม…”
ประเด็นท้าทายสำหรับคดีนี้คือทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมรับฟังถึงหลักการและคุณค่าที่จำเลยทั้งสิบยึดถือปฏิบัติ อันเป็นเหตุผลที่มาของการปีนเข้าไปในรัฐสภาซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบการรักษาความปลอดภัยของรัฐสภาและกฎหมายอาญา ทั้งนี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชนอันเป็นหัวใจสำคัญในระบอบประชาธิปไตย
คดีนี้พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายจอน อึ้งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหาบุกรุกรัฐสภา ยุยงให้ประชาชนละเมิดต่อกฎหมาย และชุมนุมมั่วสุมเกิน 10 คนโดยเป็นแกนนำ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 มาตรา 116(3) มาตรา 215 วรรคสามตามลำดับ) ศาลรับฟ้อง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4383/2553 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 จากสถานการณ์บ้านเมืองภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติ ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและรัฐสภา พิจารณาร่างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างรีบเร่งและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
โดยเฉพาะกฎหมายที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น เช่น พระราชบัญญัติความมั่นคง พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2550 เครือข่ายภาคประชาชนจึงได้ร่วมตัวกันใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเพื่อคัดค้านการปฏิบัติหน้าที่และเรียกร้องการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตยบริเวณหน้ารัฐสภา ต่อมามีประชาชนจำนวนมากร่วมกันปีนเข้าไปภายในรัฐสภา เพื่อขอให้สภานิติบัญญัติ รับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน เนื่องจากประตูรัฐสภาถูกปิดโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าไปในรัฐสภาได้ ประกอบกับไม่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติหรือเจ้าหน้าที่รัฐสภาคนใดออกมารับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน นำมาสู่การถูกฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลในคดีนี้
รายละเอียดข้อมูลคดีติดตามย้อนหลังได้ที่
http://www.naksit.org/2012-02-03-08-40-11/2012-02-03-09-22-49/45-2012-02-23-09-24-40/231–10-.html
http://naksit.org/2012-02-03-08-40-11/2012-02-03-09-22-49/45-2012-02-23-09-24-40/432–10-49.html
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คุณนคร ชมพูชาติ ทนายความ 081-8473086
คุณวราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ 084-8091997
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
โทรศัพท์ /แฟ๊กซ์ : 02-6930682
อีเมล์ : hrla2008@gmail.com
http://www.naksit.org
Human rights Lawyers Association (HRLA)
email: hrla2008@gmail.com tel/fax : 02-6930682
http://www.naksit.org