[:th]CrCF Logo[:]
การนำเสนอภาพข่าวเด็กที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา

จดหมายเปิดผนึก มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา เรื่องการนำเสนอภาพข่าวเด็กที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา

Share

จดหมายเปิดผนึก

เรื่อง การนำเสนอภาพข่าวเด็กที่ตกเป็นเหยื่อในคดีอาญา
เรียน คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย

1. หนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 http://www.thairath.co.th/content/region/326036
2. หนังสือพิมพ์ข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 http://m.dailynews.co.th/thailand/184026

ตามที่ได้มีสื่อมวลชนตามสำนักข่าวหลายสำนัก เช่นสำเนาภาพข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐออนไลน์ ประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 สำเนาภาพข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ ประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้น ทั้งหมดได้เผยแพร่ข่าวกรณีเด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงอายุ 12 ปี ซึ่งเป็นแรงงานบังคับทำงานเป็นหญิงรับใช้ในบ้านในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร และต่อมาถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส กระทั่งเด็กได้รับความช่วยเหลือจากพลเมืองดีและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ คดีนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณะชนเป็นอย่างมาก โดยมีการเผยแพร่เรื่องรวมทั้งภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นถึงรอยแผลตามร่างกายของเด็กที่ถูกทารุณกรรมจากนายจ้างตามสื่อมวลชนต่างๆ นั้น

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมด้านสังคม รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย และให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่แรงงานข้ามชาติ และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์โดยไม่คิดมูลค่า ขอแสดงความชื่นชมหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือ เป็นอย่างดีต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็กและอาจตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ รวมทั้งสื่อมวลชนที่ช่วยเผยแพร่ข่าวให้สาธารณะชนทั่วไปได้รับทราบเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิฯ ยังมีข้อกังวลต่อภาพข่าวที่ประกอบกับเนื้อหานั้น พบว่าบางภาพข่าวเป็นการนำเด็กหญิงที่อยู่ในลักษณะของการเปลือยบริเวณท่อนบนของร่างกายทั้งหมด โดยมีนักข่าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบันทึกภาพจากด้านหน้า และบางภาพได้นำเสนอภาพเปลือยของเด็กจากส่วนหน้าของร่างกายโดยไม่มีการใช้เทคนิคการแก้ไขภาพในลักษณะของการปกปิดอวัยวะที่เป็นส่วนสำคัญของร่างกาย อันเป็นการเผยแพร่ภาพที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียง เกียติคุณ หรือประโยชน์อื่นใดของเด็ก

ซึงเป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 16 ที่ว่า เด็กจะไม่ถูกแทรกแซงโดยพลการ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว บ้าน หรือหนังสือโต้ตอบ รวมทั้งจะไม่ถูกกระทำโดยมิชอบต่อเกียรติ และชื่อเสียง เด็กมีสิทธิได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายจากการแทรกแซง หรือการกระทำดังกล่าว

และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ข้อ 27 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใดซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ และข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2541 ข้อที่ 15 ระบุว่า ในการเสนอข่าวหรือภาพใดๆ หนังสือพิมพ์ต้องคำนึงมิให้ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัด ต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรีและผู้ด้อยโอกาส

จากข้อเท็จจริงตามที่เสนอมานั้น ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จึงมีข้อเรียกร้องและเสนอแนะดังต่อไปนี้

  1. ขอให้หนังสือพิมพ์ออนไลน์ รับผิดชอบต่อการนําเสนอข่าวทีอาจจะขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็ก และจริยธรรมของหนังสือพิมพ์ โดยการแก้ไขภาพข่าวที่ก่อให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จิตใจของเด็กโดยปรับปรุงการเสนอภาพข่าวเด็กรายนี้ให้เหมาะสมทันที
  2. ขอให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติตรวจสอบการนําเสนอภาพข่าวในกรณีดังกล่าว ตลอดจนดําเนินมาตรการสร้างความเข้าใจกับบุคคลากรสื่อมวลชนเพื่อให้เกิดความระมัดระวังและป้องกันมิให้มีการเผยแพร่ภาพข่าวที่มีความอ่อนไหว หรือหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดต่อสิทธิของเด็กอีก

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา จึงขอให้ท่านตรวจสอบการนําเสนอภาพข่าวดังกล่าวและพฤติกรรมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวด้วย

ขอแสดงความนับถือ

(นางสาวปรีดา ทองชุมนุม)
ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา