บันทึกสรุปไม่เป็นทางการฉบับสมบูรณ์
ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษากรณีสารพิษตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ ระหว่าง ชาวบ้านคลิตี้ล่าง จำนวน ๒๒ คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรมควบคุมมลพิษ (ผู้ถูกฟ้องคดี) วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๕ เวลา ๙.๐๐ – ๑๐.๑๐ น. คดีหมายเลขแดงที่ อ. ๗๔๓/๒๕๕๕
สรุปคำพิพากษา
เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๕ เวลา ๙.๑๕ น. ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษากรณีสารพิษตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ ระหว่างชาวบ้านคลิตี้ล่าง (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรมควบคุมมลพิษ (ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยศาลได้วินิฉัยประเด็นสำคัญ ๓ ประการ ดังนี้
๑.๑ กรมควบคุมมลพิษละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดล่าช้าเกินสมควรหรือไม่
กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้านการควบคุมมลพิษและกฎหมายอื่นในการจัดทำแผนหรือกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษที่มีผลกระทบต่อคุณภาพแหล่งน้ำ แก้ไขอันตรายจากการแพร่กระจายของสารอันตรายโดยจัดทำไว้ล่วงหน้าเพราะเมื่อเกิดปัญหาจะสามารถเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงทีไม่ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง
โดยเริ่มตั้งแต่การจัดทำแผน ประสานงานปฏิบัติตามแผน และติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน แก้ไขอันตรายจากการแพร่กระจายของมลพิษและสภาวะแวดล้อมเป็นพิษที่มีผลกระทบต่อคุณภาพแหล่งน้ำหรือที่เกิดจากการจัดการสารอันตรายและกากของเสียที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการประสานการกำหนดเขตควบคุมมลพิษ ตลอดจนดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง กรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่รับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตนในท้องถิ่นของตน
ดังนั้น ศาลจึงวินิจฉัยดังต่อไปนี้
(๑) กรมควบคุมมลพิษไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและมาตรการในการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องจากภาวะมลพิษ อีกทั้งไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินไว้ล่วงหน้า ดังนั้น ศาลเห็นว่ากรมควบคุมมลพิษละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
(๒) กรณีที่กรมควบคุมมลพิษปล่อยปละละเลยไม่ประสานและควบคุมตรวจสอบให้มีการปฏิบัติการตามแผนที่กำหนดอย่างทันท่วงทีเป็นเหตุให้สารตะกั่วที่ขุดลอกและวางไว้ข้างลำห้วยกลับแพร่กระจายไปที่ลำห้วยอีกครั้ง ศาลเห็นว่ากรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
(๓) กรณีที่กรมควบคุมมลพิษได้จัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อก่อสร้างเขื่อนดักตะกอนที่ปนเปื้อนสารตะกั่วในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๔๔ เป็นเวลาสามปีนับแต่ทราบเหตุ ศาลเห็นว่ากรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
(๔) กรณีที่กรมควบคุมมลพิษอ้างว่าต้องประสานกับกรมป่าไม้เพื่อขออนุญาตดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติโดยประสานในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๔๒ เป็นเวลาเก้าเดือนนับแต่ทราบเหตุ ศาลเห็นว่ากรมควบคุมมลพิษปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร
(๕) กรณีที่กรมควบคุมมลพิษได้ประเมินค่าเสียหายและประสานไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษจากบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัดผู้ก่อมลพิษ ศาลเห็นว่ากรมควบคุมมลพิษได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว
(๖) กรณีที่กรมควบคุมมลพิษได้มีคำสั่งเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๓ แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กลุ่มอนุรักษ์เมืองกาญจน์ และมูลนิธิโลกสีเขียว ศาลเห็นว่ากรมควบคุมมลพิษไม่ละเลยต่อการให้สิทธิบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงเห็นว่ากรมควบคุมมลพิษได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว
(๗) กรณีที่กรมควบคุมมลพิษได้เสนอถึงแนวทางการฟื้นฟูของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และถึงผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมทั้ง ได้เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้ลำห้วยคลิตี้เป็นเขตควบคุมมลพิษ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๘ แล้ว แต่การประกาศให้พื้นที่เป็นเขตควบคุมมลพิษเป็นอำนาจเฉพาะของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ศาลจึงเห็นว่ากรมควบคุมมลพิษได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว
๑.๒ หากกรมควบคุมมลพิษละเลยต่อหน้าที่จะถือเป็นการละเมิดต่อชาวบ้านคลิตี้ล่างผู้ฟ้องคดีหรือไม่
เมื่อบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัดปล่อยสารตะกั่วและกรมควบคุมมลพิษผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดล่าช้าเกินสมควรทำให้มีสารตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ไม่สามารถนำไปใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้จึงเป็นผลโดยตรงต่อการละเมิดสิทธิชาวบ้านคลิตี้ล่างผู้ฟ้องคดี
๑.๓ หากเป็นการละเมิดแล้ว กรมควบคุมมลพิษจะต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือดำเนินการแค่ไหนเพียงใด
ในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนจากการละเมิดศาลสามารถกำหนดตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งศาลรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่ามีการปนเปื้อนของสารตะกั่วในน้ำ ดินและตะกอนดินท้องน้ำ สัตว์น้ำ และพืชผัก ทำให้ชาวบ้านคลิตี้ล่างผู้ฟ้องคดีมีภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจนถึงปัจจุบัน และศาลได้รับรองสิทธิของชุมชนชาวคลิตี้ล่างในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยศาลพิจารณาถึงวิถีการดำรงชีวิตดั้งเดิมของชุมชนชาวคลิตี้ล่างที่ใช้ประโยชน์จากป่าและลำห้วยคลิตี้ ตลอดจนยืนยันว่ากรมควบคุมมลพิษยังคงมีหน้าที่ดำเนินการฟื้นฟูทุกฤดูกาลและต้องเปิดเผยผลการดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้องทราบแม้ไม่อาจมีแผนการดำเนินการภายใต้กำหนดเวลาที่ชัดเจนได้
ดังนั้น ศาลจึงวินิจฉัยดังต่อไปนี้
(๑) ค่าเสียหายจากการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕ ถึงสิงหาคม ๒๕๔๗ เดือนละ ๗๐๐ บาทต่อคน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี รวมเป็นเงินรายละ ๑๗,๓๙๙.๕๕ บาท
(๒) ค่าเสียหายในอนาคต จากการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๔๗ ถึงมิถุนายน ๒๕๕๕ เดือนละ ๗๐๐ บาทต่อคน รวมเป็นเงินรายละ ๖๕,๐๐๐ บาท
(๓) ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่ชาวบ้านคลิตี้ล่างผู้ฟ้องคดีถูกละเมิดสิทธิในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๔๗ ถึงมิถุนายน ๒๕๕๕เดือนละ ๑,๐๐๐ บาทต่อคน รวมเป็นเงินรายละ ๙๔,๐๐๐ บาท
(๔) กรมควบคุมมลพิษผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ ๑ ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้จะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นเวลาอย่างน้อย ๑ ปี
ดังนั้น ศาลจึงพิพากษาว่า
“พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็น ให้ยกคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่พิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่กรณีไม่ดำเนินการเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท ตะกั่วคอนเวนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟูตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ ๑ ครั้ง จนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นเวลาอย่างน้อย ๑ ปี และแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนทราบโดยวิธีการเปิดเผยโดยต้องทำการปิดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านคลิตี้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน เป็นเงินรายละ ๑๗๗,๑๙๙.๕๕ บาท คืนค่าธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนตามส่วนของการชนะคดี ทั้งนี้ ภายใน ๙๐ วันนับแต่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก”
ประเด็นพิจารณาต่อไป
๒.๑ การกำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู โดยให้ชุมชนชาวคลิตี้เข้ามามีส่วนร่วม โดยคำพิพากษาศาลได้รับรองว่ากรมควบคุมมลพิษมีหน้าที่ในการให้สิทธิบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ หากไม่ดำเนินการย่อมเป็นการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
๒.๒ การกำหนดมาตรการเยียวยาชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติเดือนละ ๗๐๐ บาทจนกว่าจะฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้เพราะคำพิพากษาได้รับรองว่ากรมควบคุมมลพิษยังคงมีหน้าที่ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จนกว่าจะพบว่า ค่าสารตะกั่วในน้ำ ดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ จะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานครอบคลุมทุกฤดูกาลเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีแล้ว ดังนั้น จึงสมควรมีมาตรการเยียวยาชั่วคราวในระหว่างการฟื้นฟูสำหรับภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนมาตรการทางสุขภาพอื่นจนกว่าการฟื้นฟูเป็นผลสำเร็จ
งานอันไม่มีลิขสิทธิ์ สามารถเผยแพร่ปรับปรุงได้ตามที่เห็นสมควรหน้า ๑