[:th]CrCF Logo[:]

แอมเนสตี้ เป็นกังวลต่อกรณี “สมบัด สมพอน” เรียกร้องลาวตรวจสอบการหายตัวอย่างโปร่งใส และรอบด้าน

Share

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นกังวลต่อกรณี “สมบัด สมพอน” เรียกร้องรัฐบาลลาวตรวจสอบการหายตัวอย่างโปร่งใสและรอบด้าน

แอมเนสตี้ อินเตอร์ชั่นแนล ส่งปฏิบัติการด่วนถึงสมาชิกที่มีอยู่กว่า 3 ล้านคนใน 150 ประเทศ เรียกร้องส่งจดหมายถึงรัฐบาลลาวให้ดำเนินการสอบสวนการลักพาตัวและการหายตัวไปของนายสมบัด สมพอนโดยทันที อย่างโปร่งใสและอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสอบสวน เพื่อให้ครอบครัวและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ อีกทั้งกระตุ้นให้ทางการลาวประกันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอน เพื่อช่วยเหลือและนำตัวเขากลับมายังครอบครัวอย่างปลอดภัยและโดยเร็วสุด

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 นายสมบัด สมพอน นักกิจกรรมอาวุโสของภาคประชาสังคมในลาว ซึ่งมีชื่อเสียงจากการทำงานส่งเสริมการศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้ถูกบุคคลไม่ทราบชื่อจับตัวไปในรถกระบะ หลังจากตำรวจเรียกตรวจเขาที่ด่านตรวจในกรุงเวียงจันทน์ นครหลวงของลาว และจนถึงปัจจุบันยังไม่มีใครทราบข่าวคราวเกี่ยวกับเขา

นายสมบัด สมพอน อายุ 62 ปี ขับรถออกจากสำนักงานเวลาประมาณ 17.30 น. วันที่ 15 ธันวาคม 2555 ตำรวจที่ด่านท่าเดื่อ อ.ศรีสัตตนาค กรุงเวียงจันทน์ ได้เรียกตรวจรถยนต์ของเขาตอน 18.00 น. จากภาพถ่ายวงจรปิดของตำรวจจราจร เขาเดินออกจากรถเพื่อพูดคุยกับตำรวจ จากนั้นมีคนขี่มอเตอร์ไซด์มา เข้าไปในรถ และขับรถของนายสมบัด สมพอนออกไป ทิ้งมอเตอร์ไซด์ที่ขี่มาเอาไว้ จากนั้นมีรถกระบะเปิดไฟกระพริบขับมาถึง และมีคนนำตัวนายสมบัด สมพอนใส่รถกระบะและขับหนีออกไป ครอบครัวและมิตรสหายเชื่อว่าผู้ชายที่อยู่ในภาพทีวีวงจรปิดเป็นนายสมบัด สมพอน

ทางการลาวปฏิเสธว่าไม่ได้จับกุมนายสมบัด สมพอน และไม่มีส่วนรู้เห็นกับการหายตัวไปของเขา โดยระบุว่าเขาอาจถูกลักพาตัวเนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัวหลังจากถูกตำรวจเรียกตรวจซึ่งเป็นการตรวจเอกสารตามปรกติ แม้ว่ารัฐบาลลาวออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 อ้างว่า “ทางการมีความกังวล” และ “กำลังสอบสวนอย่างจริงจัง” แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวนเพื่อให้ครอบครัวหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่า การสอบสวนที่เป็นอยู่ขาดความโปร่งใส และอาจไม่จริงจังมากพอ

นายสมบัด สมพอนก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมฮ่วมพัฒนา (Participatory Development Training Centre – PADECT) ในปี 2539 เพื่อส่งเสริมการศึกษา ทักษะความเป็นผู้นำ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศลาว เมื่อปี 2548 เขาได้รับรางวัลรามอนแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน เขายังมีส่วนร่วมจัดการประชุมเวทีภาคประชาชนเอเชีย-ยุโรปที่กรุงเวียงจันทน์เมื่อเดือนตุลาคม 2555

ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเรียกร้องสมาชิกที่มีอยู่กว่า 3 ล้านคน ใน 150 ประเทศ ส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง และสำเนาจดหมายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของลาว ก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2556 เพื่อกระตุ้นให้ทางการประกันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอน เพื่อช่วยเหลือและนำตัวเขากลับมายังครอบครัวอย่างปลอดภัยและโดยเร็วสุด โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

· เรียกร้องทางการลาวให้ดำเนินการสอบสวนการลักพาตัวและการหายตัวไปของนายสมบัด สมพอนโดยทันที อย่างโปร่งใสและอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
· เรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับความคืบหน้าในการสอบสวน เพื่อให้ครอบครัวและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ

ข้อมูลเพิ่มเติม

การสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายสมบัด สมพอน ที่ขาดความโปร่งใส ทำให้มีการตั้งคำถามต่อความพยายามในการหาตัวเขาว่ามีความจริงใจและรอบด้านเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น ไม่เป็นที่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ลาวซึ่งสอบสวนเรื่องนี้ได้เรียกตัวตำรวจที่ด่านตรวจมาให้ปากคำหรือไม่ ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้พยายามขัดขวางการนำตัวนายสมบัดหรือการขับรถยนต์ของเขาออกไปเลย ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และผู้ครอบครอง หรือมีการดูภาพวงจรปิดจากกล้องตัวอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงเพื่อวิเคราะห์ว่ามีการนำตัวเขาไปที่ใด

ครอบครัวและมิตรสหายของนายสมบัด สมพอน ภาคประชาสังคมระดับภูมิภาคและนานาชาติ รัฐบาลในประเทศต่างๆ และองค์การสหประชาชาติต่างเรียกร้องให้มีการสอบสวนการหายตัวไปในครั้งนี้อย่างรอบด้าน และให้นำตัวเขากลับมาอย่างปลอดภัย บรรดามิตรสหายได้เริ่มรณรงค์ทางอินเตอร์เน็ตให้มีการปล่อยตัวเขา มีการจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูล ลิงค์ไปยังข่าวที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมรณรงค์อื่นๆ ที่เว็บไซต์ http://sombath.org/

ลาวเป็นประเทศภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ข้อบทที่ 9 ของกติกา ICCPR คุ้มครองสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย โดยห้ามจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ และเมื่อถูกจับกุมหรือควบคุมตัว จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาล และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัวไป รัฐจะต้องประกันว่าเจ้าหน้าที่ของตนเคารพสิทธิดังกล่าว นอกจากนั้นรัฐยังมีหน้าที่คุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิจากบุคคลและหน่วยงานอื่นใด และรัฐยังมีพันธกรณีตามข้อบทที่ 2 (3(a)) ของกติกา ICCPR ซึ่งกำหนดให้มี “การเยียวยาอย่างเป็นผล” สำหรับบุคคลใดๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิตามกติกาฉบับนี้ หากรัฐไม่ดำเนินการที่เป็นผลเพื่อป้องกันพฤติการณ์ดังกล่าว และไม่สามารถเยียวยาอย่างเป็นผล รวมทั้งไม่สอบสวนและยุติการละเมิดสิทธิและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ย่อมถือว่ารัฐดังกล่าวละเมิดพันธกรณีตามกติกา ICCPR

ลาวยังลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน อนุสัญญาฉบับนี้ห้ามการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยกำหนดนิยามว่าหมายถึง “การจับกุม การควบคุมตัว การลักพาตัว หรือการจำกัดอิสรภาพในรูปแบบใดโดยหน่วยงานของรัฐ หรือโดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ทำงานภายใต้ความเห็นชอบของรัฐ ได้รับความสนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจโดยรัฐ และมีการปฏิเสธไม่ยอมรับว่ามีการควบคุมตัวบุคคล หรือมีการปกปิดชะตากรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้สูญหาย เป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย” รัฐจะต้องดำเนินการเพื่อสอบสวนพฤติการณ์เหล่านี้ รวมทั้งพฤติการณ์ที่คล้ายคลึงกันของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอื่นที่กระทำการโดยไม่ได้รับความเห็นชอบ ความสนับสนุนหรือการรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และให้นำตัวผู้รับผิดชอบมาลงโทษ

เอกสารแนบคือปฏิบัติการด่วน (Urgent Action) ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งถึงสมาชิกทั่วโลกให้ร่วมปฏิบัติการเพื่อ “สมบัด สมพอน”
—-
Amnesty International Thailand
90/24 Ladpro Soi 1, Jomphol, Chatuchak, Bangkok THAILAND 10900
Phone: +66 (0) 2 513 8754, +66 (0) 2 513 8745
Fax: +66 (0) 2 939 2534
info@amnesty.or.th
http://www.amnesty.or.th
http://www.facebook.com/amnestythailand
—-
Amnesty International is a Nobel Peace Prize-winning grassroots activist organization with more than 3 million supporters, activists and volunteers in more thank 150 countries and territories campaigning for human rights worldwide. The organization investigates and exposes abuses, educates and mobilizes the public, and works to protect people wherever justice, freedom, truth and dignity are denied.