นัดฟังคำพิพากษาคดีท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ของศาลปกครองสูงสุดมาให้เพื่อเรียนเชิญนักข่าวไปติดตามทำข่าวในวันที่ 16 มกราคม 2556 นี้ และเรียนเชิญท่านที่สนใจไปให้กำลังใจและติดตามคดีที่ศาลปกครองจังหวัดสงขลา
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีประวัติศาสตร์
ละเมิดเสรีภาพการชุมนุม อันเกี่ยวเนื่องจากการใช้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชน กรณีสลายการชุมนุมชาวบ้านผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซีย วันที่ 16 มกราคม 2556 เวลา 9.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสงขลา
ศาลกำหนดวันอ่านคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ หลังผ่านมานานกว่า 10 ปี ศาลปกครองสงขลานัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 454/2546
คดีหมายเลขแดงที่ 51/2549 ระหว่าง นายเจ๊ะเด็น อนันทบริพงศ์ ที่ 1 กับพวกรวม 30 คน ผู้ฟ้องคดี กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 1, จังหวัดสงขลา ที่ 2 และกระทรวงมหาดไทย ที่ 3
โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ของบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย(ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลไทยให้ดำเนินโครงการ โดยประกาศให้พื้นที่อำเภอจะนะ อำเภอนาหม่อม อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในทะเลและบนบก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาและพื้นที่ทำงานของผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีและประชาชนในอำเภอจะนะ และใกล้เคียง เห็นว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลไทยนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ กระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกระทำไปโดยไม่ชอบ
อีกทั้งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ก็จัดทำโดยคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วนตามความเป็นจริง และมีหลักฐานหลักฐานน่าเชื่อถือได้ว่า ผลการดำเนินโครงการจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชุมชน และเป็นการจัดการทรัพยากรของชาติที่ส่งผลเสียหายต่อส่วนรวม ทำให้ประเทศไทย เสียเปรียบ ได้รับผลประโยชน์จากโครงการเพียงร้อยละ 15 ของผลประโยชน์ทั้งหมด ซึ่งต้องแลกกับการสูญเสีย ทรัพยากรของชาติ กระทบต่อวิถีชีวิต และสิทธิชุมชนของประชาชนในพื้นที่
ผู้ฟ้องคดีจึงร่วมกับประชาชน รณรงค์คัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าว ด้วยวิธีการชุมนุมเรียกร้อง และยื่นข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาล พิจารณาทบทวนยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เรื่อยมาอันเป็นการ ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมีส่วนร่วมในการจัดการ ปกป้องและบำรุงรักษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน
เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 บริเวณสะพานจุติ บุญสูง ใกล้โรงแรม เจ.บี. หาดใหญ่ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้รวมตัวกันเพื่อใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เตรียมไปยื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้อง ให้รัฐบาลทบทวนการอนุมัติโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ซึ่งมีกำหนดการเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ โรงแรมดังกล่าว ในวันที่ 21 ธันวาคม 2545
เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงอำเภอหาดใหญ่ บริเวณถนนจุติอนุสรณ์ ใกล้โรงแรม เจ.บี. หาดใหญ่ ก็ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำหนดให้เส้นทางโดยรอบโรงแรมเป็นพื้นที่ รักษาความปลอดภัย โดยตั้งแผงเหล็กและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแถวปิดกั้นไว้บริเวณสะพานจุติ บุญสูง ซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมประมาณ 400 เมตร ผู้ร่วมชุมนุมจึงหยุดรอหน้าแผงเหล็ก และรอการเจรจาเพื่อขอ เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมเข้าไปบริเวณสวนหย่อมใกล้อาคารจอดรถของโรงแรม อันเป็นจุดนัดหมายที่ได้กำหนดไว้ก่อนแล้ว
แต่ในระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านหยุดรอการเจรจา และกำลังจับกลุ่มกันรับประทานอาหาร และประกอบพิธีละหมาดตามหลักทางศาสนาอิสลามอยู่นั้น ในเวลาประมาณ 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ชุมนุมบางส่วน เป็นเหตุให้มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ รถยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะ ได้รับความสียหาย และไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมได้ต่อไป
ผู้ใช้เสรีภาพในการชุมนุมจึงได้ยื่น ขอให้สภาทนายความดำเนินการยื่นฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลา เป็นคดีหมายเลขดำที่ 545/2546 เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามที่มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้รับรองและคุ้มครองไว้ โดยมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งถือเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากการละเมิดเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ
ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษา (คดีหมายเลขแดงที่ 51/2549) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2549 โดยพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 24
“เมื่อการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง ผู้ฟ้องคดีที่ 24 กับกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้บัญญัติรับรองไว้การที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม ด้วยการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดที่มีความร้ายแรง เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เห็นสมควรกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว ชดใช้ค่าเสียหาย ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 คน เป็นเงินคนละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น” ส่วนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสังกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (จังหวัดสงขลา) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (กระทรวงมหาดไทย) ไม่ปรากฎว่ามีส่วนร่วมในการกระทำละเมิดกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ด้วย จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด และขณะนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยศาลปกครองสงขลากำหนดนัดอ่านคำพิพากษา ของศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 16 มกราคม 2556 เวลา 9.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสงขลา
การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เพื่อแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการ ปกป้องและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากตัวอักษรที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กำลังจะปรากฎรูปธรรมว่าจะสามารถบังคับใช้และนำมาคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน ผู้ปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้หรือไม่ เพียงไร คดีนี้จะเป็นการวางบรรทัดฐานที่สำคัญ ซึ่งสังคมต้องติดตามกันต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สุรชัย ตรงงาม 081-6409506 ส.รัตนมณี พลกล้า 081-7725843