ใบแจ้งข่าว เรียนเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าว Zero Children Victim โครงการ รณรงค์เด็กบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นศูนย์ในปี 2556 ในจังหวัดชายแดนใต้
ในวันที่ 9 มกราคม 2556 เวลา 9:00-16:00 น. โครงการ Children Voices For Peace ร่วมด้วยกลุ่มด้วยใจ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพและเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ TK PARK อ.เมือง จ.ยะลาเรียนเชิญสื่อมวลชน ร่วมทำข่าวเผยแพร่การรณรงค์ Zero Children Victim โครงการรณรงค์เด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นศูนย์ในปี 2556 ในจังหวัดชายแดนใต้
นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวว่า จากสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2555 มีเด็กเสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บจำนวน 345 คน นอกจากนี้จากยังมีเด็กที่กำพร้าพ่อ แม่ จำนวน 4,942 คน ซึ่งในหลายๆ เหตุการณ์เด็กกลายมาเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากขึ้น เช่น เหตุการณ์คนร้ายกรานยิงชาวบ้านที่ร้านน้ำชา ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2555 ทำให้เด็กเสียชีวิต 1 รายบาดเจ็บ 1 คน
เหตุการณ์คนร้ายลอดวางระเบิดรถไฟ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2555 บาดเจ็บ 3 คน และมีแนวโน้มว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มีเด็กเสียชีวิตมากขึ้นและเด็กที่ได้รับผลกระทบมีอายุน้อยลง ดังนั้นทางกลุ่มด้วยใจและเครือข่ายจึงจัดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะทุกภาคส่วนได้ตระหนักในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ และประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเด็กๆดังกล่าวเป็นลูกหลานของทุกคน โดยในวันจัดงานจะมีกิจกรรมกลางแจ้ง (OUT DOOR) เป็นกิจกรรมเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะ และกิจกรรมในที่ร่ม (IN DOOR) เป็นกิจกรรมของผู้ใหญ่ โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “ความท้าท้ายและอุปสรรค์ในการป้องคุ้มครองเด็กภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง” และหัวข้อ “กลไกการป้องกันเด็กจากความรุนแรงในพื้นที่”
โดยทางโครงการจัดให้มีหนังสือเผยแพร่โดยการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์โพรงกระต่ายในการจัดพิมพ์หนังสือ “เสียงลมหายใจในวาลูแบ” เป็นหนังสือรวมเรื่องเล่าของเยาวชนนักเขียนชายแดนใต้ ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับสถานการณ์ความไม่สงบ และหนังสือความรู้เรื่องสิทธิเด็ก รายได้จากการขายหนังสือใช้สำหรับกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพเยาวชนภายใต้โครงการของสำนักพิมพ์โพรงกระต่าย และตอนท้ายของงานในเวลา 15:15 ถึง 16.00 น. จะมีกิจกรรมแสดงเจตจำนงร่วมแสดงจุดยืนยุติความรุนแรงต่อเด็กในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ในชื่อการณรงค์ว่า Zero Children Victim 2013 หรือขอให้ตัวเลขเด็กเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นศูนย์ในปี 2556
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม: นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานโครงการฯ 081-8098609
คำนำ
หนังสือ “เสียงลมหายใจในวาลูแบ” รวมเรื่องเล่าของเยาวชนนักเขียนชายแดนใต้ ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับสถานการณ์ความไม่สงบ
สถานีรถไฟยะลาที่เคยมาบ่อย ๆ ตอนยังเรียนหนังสืออยู่ที่นี่ดูไม่คุ้นตาเอาเสียเลย ไม่ใช่เพราะทหารในชุดลายพรางที่ปฏิบัติหน้าที่คุ้มกันดูแลรักษาความสงบให้สถานที่แห่งนี้ ไม่ใช่เพราะร้านขายของฝากเล็ก ๆ ใกล้ช่องขายตั๋ว ที่บอกว่าเป็นของดีประจำจังหวัดยะลา หากเป็นเรื่องราวของอับดุลวาฮิดพี่ชายของฉันต่างหากที่ทำให้การกลับบ้านของฉันครั้งนี้แปลกไป สองวันก่อน อุซตาสอับดุลวาฮับโทรมาบอกว่าพี่ชายของฉันกลับมาอยู่บ้านแล้ว ฉันดีใจมากรีบเก็บของกลับบ้านช่วงวันฮารีรายออีดิลอัฎฮาที่กำลังจะมาถึง…รายอฮัจน์ปีนี้ฉัน จะกลับบ้าน รายอฮัจน์ปีนี้ฉันจะได้อยู่กับครอบครัว รายอฮัจน์ปีนี้ฉันมีเงินมากพอจะทำกุรบาน ด้วยการเชือดวัวสักตัวแล้วเอาเนื้อไปแจกจ่ายให้กับคนในหมู่บ้าน ครอบครัวที่ตอนนี้เหลือเพียงฉันกับพี่ชายเท่านั้น
“ยิ้มอะไรคนเดียวน่ะมูนา” อุซตาสอับดุลวาฮับญาติห่าง ๆ ของฉันถามขึ้นขณะช่วยฉันถือกระเป๋าเสื้อผ้าออกมาจากสถานีรถไฟ
“หนูยิ้มดีใจที่จะได้กลับบ้านไปเจอแบดุล และหนูดีใจที่อุซตาสมารับหนู ไม่รังเกียจหนู เหมือนญาติคนอื่น ๆ”
อุซตาสหนุ่มถอนหายใจแล้วบอกฉันว่า “ไม่มีใครรังเกียจหนูหรอกมูนา เพียงแต่ทุกคนไม่กล้าคุยกับหนูเท่านั้นเอง ที่ทุกคนกลัวก็เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ตอนที่น้ากลับจากไปเรียนหนังสือที่อินโดนีเซีย น้าก็ไม่เจอหนูแล้ว ญาติ ๆ เล่าเรื่องราวของ หนูและครอบครัวให้ฟัง มีหลายเสียง หลายเรื่องมาก บางคนก็ว่าบ้านของหนูเป็นสายให้ขบวน การก่อความไม่สงบ บางคนก็ว่าเป็นสายให้กับทหาร แต่ไม่ว่าจะเป็นสายให้กับใคร ทุกคนก็กลัวทั้งนั้น กลัวว่าจะโดนเหมารวมไปด้วยว่าเป็นพวกใดพวกหนึ่ง แล้วอันตรายจะมาถึงครอบครัวพวกเขาเหมือนที่ครอบครัวหนูโดน นี่ล่ะคือสาเหตุที่ไม่มีใครกล้าคุยกับหนู แต่น้าน่ะอยากฟังจากหนูเองมากกว่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับหนูบ้าง”
คราวนี้เป็นฉันเองที่ถอนหายใจ “หนูก็ไม่รู้จะเล่ายังไง เริ่มตรงไหน เรื่องมันผ่านมา เจ็ดแปดปีแล้ว”…
บางส่วนจากเรื่องสั้น “มูนา”
ทุกครั้งที่มีสงครามเกิดขึ้น สิ่งที่ตายก่อนเป็นอันดับแรกคือ ‘ความจริง’ เกือบทศวรรษที่สถานการณ์ความไม่สงบดำเนินไป เรื่องราว เรื่องเล่า ข่าวลือ จึงมีอิทธิพลอยู่เหนือความจริงที่ถูกผู้ใช้ความรุนแรงพยายามฆ่าให้ตาย บางคนอาจบอกว่าความจริงไม่มีวันตาย เพียงแต่ต้องอยู่อย่างสงบเงียบ เพื่อรอบอกเล่า เหมือนเสียงบางเสียง เสียงของเด็ก ๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียงที่แทบจะไม่มีใครเคยรับฟัง
เรื่องราวของมูนา และเรื่องเล่าของเยาวชนนักเขียนชายแดนใต้ทั้ง 12 เรื่อง เป็นความจริงที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ จำนวนไม่น้อยในชายแดนใต้ และ น้อยยิ่งกว่าน้อยของการ ตกเป็นเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบที่จะหนักแน่นในคำสอนของศาสนา ไม่กลายเป็นเหยื่อของความ หวาดระแวง และพกพาความเจ็บปวดนั้นติดตามไปทุกหนแห่งระหว่างมีชีวิต
เสียงลมหายใจในวาบูแล จึงเกิดขึ้นเพราะเด็ก ๆ อยากพูดความจริง ความจริงที่เป็นเช่นวาบูแล หรือว่าววงเดือน ก่อนที่เรื่องเล่าของเด็ก ๆ จะปรากฏในรูปตัวอักษร ก็ผ่านการขึ้นโครง เช่นเดียวกับโครงว่าว ผู้ใหญ่อย่างเราที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเด็กมาก่อน จะไม่ยอมฟังความจริงบ้างเลยหรือ เพราะบางที…เสียงลมหายใจของวาบูแลเล็ก ๆ เหล่านี้อาจเป็นการเริ่มต้นของความจริงที่จะพาสันติสุขกลับคืน
ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน
สำนักพิมพ์โพรงกระต่าย