แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์ การต่ออายุกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้การแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ของไทยชะงักงัน
ประเทศไทยต้องยุติการงดเว้นปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ในระหว่างการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว ภายหลังการต่ออายุ พรก. ฉุกเฉินฯ ที่มีข้อบกพร่องอย่างมาก คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่บังคับใช้ในสามจังหวัดชายแดนใต้ออกไปอีกเป็นเวลาสามเดือน เป็นมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 และมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ธันวาคม 2555
บรรดาผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบยังคงเดินหน้าละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศต่อไปอย่างไม่ไยดี มีการเลือกเป้าโจมตีพลเรือนและเป็นการโจมตีอย่างไม่เลือกหน้าในภาคใต้
พรก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจอย่างกว้างขวางในการ “ควบคุมตัวเชิงป้องกัน” ในสถานที่ที่ไม่ได้กำหนดอย่างชัดเจนเป็นเวลาไม่เกิน 30 วัน ทั้งยังยกเว้นไม่ให้มีการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน
ยังคงมีรายงานที่น่าเชื่อถือว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงทรมานและปฏิบัติอย่างทารุณต่อผู้ถูกควบคุมตัวในภาคใต้
“ผลจากอำนาจ พรก. ฉุกเฉิน ในช่วงการขัดแย้งกันด้วยอาวุธแปดปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของรัฐมักได้รับการยกเว้นความผิดกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เราไม่อาจปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ได้ต่อไป รัฐบาลต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทุกคนมาลงโทษ และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดเช่นนี้อีกโดยให้การคุ้มครองดีขึ้นต่อผู้ถูกควบคุมตัว” พอลลี ทรัสคอตต์ (Polly Truscott) รองผู้อำนวยการแผนกเอเชีย-แปซิฟิกแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
“ในทางปฏิบัติแล้ว พรก.ฉุกเฉิน งดเว้นโอกาสที่จะเอาผิดกับรัฐ ฐานละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้
“กฎหมายที่มีข้อบกพร่องเช่นนี้ได้เริ่มประกาศใช้เมื่อปี 2548 และไม่ประสบความสำเร็จในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเพียงพอ ทั้งยังเป็นการเบี่ยงเบนจากพันธกรณีต่อกฎหมายระหว่างประเทศของไทย
“การต่อายุ พรก. ฉุกเฉิน อีกครั้งเท่ากับรัฐบาลส่งสัญญาณว่าการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในท่ามกลางความขัดแย้ง ไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญนัก”
ข้อมูลพื้นฐาน
พรก. ฉุกเฉิน ให้อำนาจหน่วยงานใดๆ ของรัฐ ในการควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา ในสถานที่ที่ไม่มีการกำหนด ได้เป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 วัน เป็นการควบคุมตัวตามคำสั่งของฝ่ายบริหารโดยไม่คำนึงว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นผู้ต้องสงสัยหรือไม่ การขอใช้อำนาจศาลเพื่อทบทวนการออกหมายจับและการขยายเวลาควบคุมตัวเพิ่มเติม เป็นสิ่งที่ไม่อาจกระทำได้ หรือไม่อาจบังคับใช้ได้ ส่วนการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวโดยหน่วยงานอิสระก็ไม่มีความสม่ำเสมอ
พรก. ฉุกเฉิน ยังจำกัดโอกาสที่จะฟ้องคดีทางอาญา ทางวินัยหรือทางแพ่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งละเมิดอำนาจตาม พรก. ฉุกเฉิน และละเมิดสิทธิมนุษยชน มีผู้มองว่ากฎหมายฉบับนี้ช่วยยกเว้นความผิดให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และป้องกันไม่ให้ผู้เสียหายเรียกร้องค่าชดเชยจากการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ในฐานะเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องงดเว้นการควบคุมตัวโดยพลการ รวมทั้งการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ที่ไม่ได้ประกาศไว้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันและยุติการซ้อมทรมานและการปฏิบัติที่ทารุณอื่น ๆ ในทุกบริบท ทั้งนี้เพื่อนำตัวผู้กระทำการละเมิดมารับโทษ และเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย
จบ
เอกสารสาธารณะ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ สำนักประชาสัมพันธ์แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน ที่เบอร์โทรศัพท์ +44 20 7413 5566 หรืออีเมล์: press@amnesty.org